วันจันทร์, พฤษภาคม 25, 2558

ปากคำนักเรียน ม.4: สิ่งที่พบเห็นในเหตุการณ์จับกุมนักศึกษาที่หอศิลป์ + บันทึกท่านอื่น ๆ





Sun, 2015-05-24 23:00
ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์
ที่มา ประชาไท

(ชมคลิป) ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หนึ่งในผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ความรุนแรงหน้าหอศิลป์ 22 พฤษภาคม 58 ลำดับเหตุการณ์ชะตากรรมที่เขาเผชิญ หลังจากที่่พวกเขารวมตัวทำกิจกรรมรำลึกหนึ่งปีรัฐประหาร

๐๐๐๐

เนื่องจากในเหตุการณ์การจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ของนิสิต นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานครฯ ได้เกิดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งได้เกิดกระแสข่าวขึ้นมาอย่างมากมาย ทั้งที่ได้รับจากการแถลงการณ์ด้านเดียวของรัฐบาลและจากสำนักข่าวหลายสำนัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่ชอบธรรมแก่ข้อมูลที่บุคคลทั่วไปจะได้รับ การแถลงการณ์ในจดหมายฉบับนี้จึงเขียนขึ้นมาจากนักศึกษาบางส่วนที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์นั้น

ในเวลา 18.00 น. มีนักศึกษาบางส่วนได้เข้าไปในพื้นที่ที่ได้มีการเตรียมการนัดไว้ คือบริเวณลานกิจกรรมข้องหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานครฯ โดยพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพยายามปิดกั้นไม่ให้ผู้มาร่วมกิจกรรม หรือบุคคลทั่วไปสามารถไปรวมตัวกันได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้ปิดพื้นที่บริเวณสะพานขาลงไปหน้าลานกิจกรรมดังกล่าว ปิดพื้นที่บริเวณประตูด้านหน้าของหอศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีการตั้งแผงเหล็กกั้นการบุกรุกไว้ที่บริเวณรอบๆ ของลานกิจกรรมดังกล่าว

แต่ถึงอย่างนั้นกลุ่มนักศึกษาก็ยังตัดสินใจที่จะทำกิจกรรมต่อไปโดยสันติวิธี โดยให้ความเคารพแก่เจ้าหน้าที่ เช่นไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง ไม่มีการตะโกนเสียงดัง ไม่มีการยั่วยุเจ้าหน้าที่ ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ใช้คำผรุสวาทก่อนก็ตาม ด้วยสภาพของลานกิจกรรมที่มีรั้วปิดกั้นเอาไว้ จึงทำให้กลุ่มนักศึกษาและผู้มาเข้าร่วมดังกล่าวเลือกที่จะทำกิจกรรมรอบนอกรั้ว ซึ่งหลังจากนั้นก็เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารขึ้น คือการที่กองกำลังทหารและเจ้าหน้าที่พยายามที่จะจับกุมและบุกเข้าชาร์จดึงผู้เข้าร่วมกิจกรรม ให้เข้าไปในพื้นที่รั้ว เพื่อจับกุมนักศึกษาบางคน (แล้วภายหลังนำไปอ้างว่าผู้ร่วมกิจกรรมกลุ่มนั้นได้ใช้กำลังบุกเข้าไปในรั้ว ทั้งที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังแขนดึงกลุ่มนักศึกษาเข้าไปในเขตรั้วเอง)

ถึงแม้สภาพการณ์จะเป็นการที่นักศึกษาพยายามต่อต้านการจับกุมดังกล่าว ในการปะทะครั้งแรกนี้ มีนักศึกษาบางส่วนถูกจับตัวไปมีการใช้กำลังกับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการกระชากผม รัดคอ หรือแม้กระทั่งการจับโยนบก เสียงจากบุคคลทั่วไปบางท่านในขณะนั้นมีการส่งเสียงเชียร์ให้เจ้าหน้าที่ว่า “เจ้าหน้าที่มีปืน ทำไมไม่ใช้ยิงพวกมันเลย” หลังจากการปะทะครั้งแรกนั้น ก็มีการปะทะของเจ้าหน้าที่ในครั้งที่ 2 ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้เข้าชาร์จนักศึกษา โดยในตอนแรกอ้างว่า จะให้นักศึกษาออกไปนอกรั้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่พยายามที่จะผลักตัวกลุ่มนักศึกษาไปนอกบริเวณฟุตบาทสำหรับเดิน ให้ไปตกที่ถนนใหญ่

กลุ่มนักศึกษาถึงแม้ว่าจะแสดงอาการต่อต้านเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน แต่ก็ยังโต้ตอบด้วยเหตุผล เช่น เราทำอะไรผิดถึงได้จับพวกเรา?, ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง? ฯลฯพร้อมๆกับเวลานั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ชื่อว่า พ.ต.ต. กิตติศักดิ์ บุญเติม ได้ตะโกนยั่วยุกลุ่มนักศึกษาอยู่ตลอด ซึ่งต่อมาหลังดันนักศึกษาไปจนเกือบถึงถนนใหญ่แล้ว เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ยังไม่หยุดยั่วยุนักศึกษา ด้วยการตะโกนออกมาว่า

“น้องเงียบ ฟังพี่นิดนึง ตรงเนี้ยเป็นวังพระเทพฯ ถ้าทำอย่างเนี้ยไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”




ซึ่งทำให้ผู้คนบริเวณนั้นโห่ร้องใส่เจ้าหน้าที่ ด้วยความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่กล่าวพาดพิงสถาบัน เนื่องจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันเลยสักนิด และพื้นที่นี้ก็เคยถูกกลุ่มการเมืองกลุ่มอื่นๆใช้สำหรับจัดกิจกรรมทางการเมืองที่พาดพิงสถาบันหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่กลับจะใช้สถาบันเป็นข้ออ้าง ราวกับว่ากิจกรรมของเรานั้นจาบจ้วงพระองค์ท่าน

หลังจากการสลายขบวนของเจ้าหน้าที่ในครั้งที่ 2 นักศึกษายังยืนยันที่จะจัดกิจกรรมกันต่อไป เพราะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีเหตุผลมากพอที่จะหยุด นักศึกษาทั้งหมดนั่งลงและล้อมวงกันเป็นวงกลม และผลัดกันพูดความในใจ ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเจรจาขอให้นักศึกษาสลายการทำกิจกรรมแต่นักศึกษาทั้งหมดยืนกรานในสิทธิอันพึงกระทำของพวกเขา อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังขอให้ส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุย แต่กลุ่มนักศึกษาไม่มีใครเป็นตัวแทนใครได้ เนื่องจากต่างคนต่างมา บางคนไม่รู้จักกันเลยด้วยซ้ำ (เช่น พี่ปณต ศรีโยธา ที่โดนลากไปทันที เพียงเพราะอยู่ใกล้ๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกลุ่มนักศึกษากลุ่มใดเลย)

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความประสงค์ให้ทางเจ้าหน้าที่มาเจรจากับทางสาธารณะ ต่อมาจึงเกิดการปะทะกันครั้งที่ 3 ขึ้น โดยเจ้าหน้าที่เข้ามาลากตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวร่วมๆ 20 คน บางคนไม่ได้เป็นคนของกลุ่มกิจกรรมใด บางคนไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่เลย ซึ่งก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมากขึ้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เหลือจึงยืนกรานที่จะทำกิจกรรมกันต่อไป

ในวินาทีที่เพลง แสงดาวแห่งศรัทธา และ เพื่อมวลชน ดังขึ้นนั้น ได้มีกระแสไฟฟ้าช็อตผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาจากทางเจ้าหน้าที่อย่างแน่นอน ถึงแม้จะมีข่าวอ้างมาว่าเกิดไฟรั่วขึ้นบริเวณนั้นก็ไม่สามารถเป็นไปได้ในทางเทคนิค ในครั้งนี้มีนักศึกษาถูกรวบตัวไปอีก 11 คน ซึ่งรวมผู้เขียนบทความนี้ด้วย

ในการจับกุมครั้งนี้ มีทั้งการจับนักศึกษาโยนบก การใช้คำขู่สารพัดนานาแก่นักศึกษา นำเข็มขัดมัดมือนักศึกษา และตอนที่กลุ่ม 11 คนเข้าไปในรถตู้ พบเห็นว่านายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ หรือ เดฟ หนึ่งในนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมถูกทำร้ายร่างกายถึงขั้นชัก หมดสติ อีกทั้งบางคนพบเห็นว่ามีการซ้อมทำร้ายโดยการโยนบกและเตะที่ชายโครงอีกด้วยต่างหาก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทำเพียงถอดเสื้อและเอาน้ำราดไม่มีการประสานงานกับโรงพยาบาลใดๆทั้งสิ้น จนเพื่อนนักศึกษาต้องโทรประสานงานเอง

หลังจากนั้นนักศึกษากลุ่ม 11 คน ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน ห้องคดีการจราจร ซึ่งหลังจากนั้นเกิดการปะทะครั้งสุดท้ายขึ้น ซึ่งมีคนถูกจับกุมเป็นชุดสุดท้ายจำนวน 5 คน ตามมาในภายหลัง หลังจากนั้นเราจึงทราบว่า มีเพื่อนนักศึกษาอีกคนต้องนำตัวไปที่โรงพยาบาล แต่มีการดำเนินการที่เป็นไปด้วยความล่าช้าเป็นอย่างมากเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ความสนใจ นักศึกษาคนดังกล่าวต้องรอถึง 2 ชั่วโมง ถึงจะได้รับการนำตัวไปโรงพยาบาล

และในขณะอยู่ในห้องควบคุมของกลุ่ม 11 คน ได้มีนักศึกษาหญิงอีกคนหนึ่งที่มีอาการไม่สบายและโรคหัวใจกำเริบ เจ้าหน้าที่ได้อ้างว่าจะนำตัวส่งพบแพทย์ทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่พานักศึกษาหญิงคนนั้นไปไว้ที่ห้องสอบสวนถึง 30 นาที กว่าจะได้ไปโรงพยาบาล ซึ่งต่อมาในเวลาตี 2 ได้นำตัวกลับมาที่ สน.ปทุมวัน ทั้งๆที่ควรจะให้เขาพักตามคำสั่งแพทย์

สิ่งที่แย่ที่สุดในสถานการณ์ตอนนั้น คือเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า การดำเนินคดีจะเป็นไปตามกฎหมาย ป.วิ.อาญา ทั่วไป และแต่ละคนยังไม่ทราบข้อกล่าวหาจากทางเจ้าหน้าที่ว่ามีความผิดฐานอะไร การจับตัวมาโดยผิดปรกติ ไม่มีความผิดชัดเจนเช่นนี้ จึงผิดหลักยุติธรรมทั่วไป โดยสุดท้าย ผมได้ถามกับเจ้าหน้าที่ว่า


“ถ้าคุณจะอ้างกฎหมายปกติจริงๆ การที่นักศึกษามารวมตัวกันแสดงความคิดเห็นทางด้านการเมืองนั้นเป็นไปตามกฎหมายปรกติ ถ้าเช่นนั้นแล้วคุณจะมาจับพวกผมทำไม”

เจ้าหน้าที่จึงบอกว่าเป็นเพราะตอนนี้เราต้องใช้มาตรการพิเศษซึ่งมันขัดกับสิ่งที่เขาได้กล่าวไว้ในทีแรกอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเจ้าหน้าที่บอกว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคล 9 คนในภายหลัง

สถานการณ์ ณ ขณะนั้น มีการแบ่งนักศึกษาและผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้ 3 ห้อง ห้องหนึ่ง 21 คน ห้องหนึ่ง 11 คน ห้องหนึ่ง 5 คน การต่อรองเงื่อนไขของนักศึกษาทั้งหมดคือต้องการให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยปราศจากเงื่อนไขอันเป็นข้อผูกมัดใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากพวกเราไม่ได้ทำอะไรผิด ซึ่งต่อมาทางฝั่งเจ้าหน้าที่ได้ยื่นข้อเสนอแรกกับห้อง 21 ว่าจะมีการขอชื่อและที่อยู่แล้วจะปล่อยตัวทันที แต่ในขณะเดียวกันที่ห้อง 11 คน และห้อง 5 คน กลับได้รับข้อเสนอแรกว่า จะให้มีการสอบถาม ซักประวัติเบื้องต้น แล้วปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทางฝั่งเจ้าหน้าที่สร้างเงื่อนไขว่าจะมีบุคคล 9 คน ซึ่งหลังออกไปจาก สน.ปทุมวันแล้ว อาจจะมีการดำเนินคดีย้อนหลัง ซึ่งนักศึกษาทุกคนไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวได้ เพราะการจับตัวมานั้นมันไม่ยุติธรรมตั้งแต่แรก และเราไมจะทิ้งใครคนใดคนหนึ่งไว้เด็ดขาด ถ้าจะไม่ยอมก็จะไม่ยอมกันทั้งหมด

ต่อมากลุ่มนักศึกษาทั้ง 3 ห้อง ยืนยันว่าต้องการประชุมกันทั่วทุกคนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกันและเข้าใจกันมากที่สุด แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้นักศึกษาทั้งหมดได้มีโอกาสพบกันด้วยข้อกล่าวอ้างว่าสถานที่คับแคบ และสิ่งที่เราได้ทราบในภายหลังคือเงื่อนไขในการยอมความในแต่ละห้องไม่เหมือนกัน เพราะถ้าเรารวมกลุ่มกันเมื่อไรอาจสร้างเงื่อนไขการต่อรองที่เป็นไปไม่ได้ขึ้นมา เขาต้องการสร้างเงื่อนไขของการแบ่งแยกแล้วปกครอง (Divide and rule) รวมถึงการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความเข้าใจผิดซึ่งกันและกันขึ้น

การเจรจาเริ่มตั้งแต่ช่วง 2 ทุ่มจนถึง 6 โมงเช้า จึงได้ยอมรับข้อเสนอที่เหมือนกันทั้งหมด คือการเขียนคำว่า “ไม่เคลื่อนไหว” บนสำเนาบัตรประชาชน หลังจากการเจรจาต่อรองเงื่อนไขหลายรอบและถูกปล่อยตัวมาพบกันทั้งหมด เราจึงทำความเข้าใจว่าที่มีการแตกคอกันเองเป็นเพราะการปลุกปั่นภายในโดยเจ้าหน้าที่ ยกตัวอย่างเช่นทางห้อง 21 คน ได้รับข้อเสนอว่า ไม่ขอชื่อและที่อยู่ใดๆทั้งสิ้น ไม่มีการเซ็นอะไร แค่สัญญาลูกผู้ชายปากเปล่า ในขณะเดียวกัน ห้อง 11 คน กับ 5 คน ดันได้ข้อเสนอว่า ขอชื่อ ที่อยู่ และข้อความเขียนด้วยลายมือว่าจะไม่ทำอีก แล้วจะปล่อยตัวโดยทันที

จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขไม่ตรงกัน แถมพอนักศึกษา ห้อง 11 คน ยอมรับเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่แล้ว กลับกลายเป็นว่าให้เอาบัตรประชาชนออกมาด้วย และให้เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปเก็บไว้อีก ซึ่งไม่ตรงกับเงือนไขที่แจ้งมา แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าถ้าไม่เอาก็เข้าคุกทันที รวมถึงมีการสร้างข่าวลวงมาว่ากลุ่ม 5 คน ได้เซ็นชื่อเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่ได้เซ็นอะไรทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีการปล่อยข่าวลือไปให้กลุ่มคนที่มารอเราบริเวณหน้า สน.ปทุมวัน อยู่เป็นระยะๆ

หลังจากนักศึกษาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว กลุ่มของผู้เขียนได้รีบหลบหนีไปสถานที่อื่นพักหนึ่งเนื่องจากได้ข่าวมาว่ามีทหารไปตรวจสอบที่อยู่ของพวกเรา และตัดสินใจที่จะเขียนแถลงการณ์ชิ้นนี้ขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่ตัวผู้ถูกจับกุมให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

ลงชื่อ
ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์
ผู้ถูกควบคุมตัวในกลุ่ม 11 คน

วิญญัติ ชาติมนตรี (คนยืนกลาง) ภาพจาก Peace TV

Sun, 2015-05-24 21:30
ที่มา ประชาไท

วิญญัติ ชาติมนตรี

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน ( กนส.) บันทึกความทรงจำในเหตุการเจรจาต่อรองให้มีการปล่อยตัว 38 นักศึกษาที่ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์ชุมนุมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร คสช.

๐๐๐๐

บันทึกนี้เขียนขึ้นจากเหตุการณ์จริงที่ผู้เขียนประสบด้วยตนเอง หากมีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากนี้ ผู้เขียนขอสงวนไว้สำหรับผู้อื่น ทั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เวลา 21 นาฬิกา ของวันที่ 22 พฤษภาคม 58 จนถึงเวลา 6 นาฬิกา 11 นาที ของวันที่ 23พฤษภาคม 58 ”หนึ่งปี ของการรัฐประหาร”

นักศึกษา 38 คน ถูกจับหน้าหอศิลป์

ภายหลังทำกิจส่วนตัวในเวลาเกือบสามทุ่ม ผู้เขียนทราบข่าวจากทางโซเชียลมีเดียว่า นักศึกษาหลายคนที่ไปแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ทางการเมือง ในวาระครบ 1 ปี การทำรัฐประหาร หรือ การยึดอำนาจของ คสช. ที่หน้าหอศิลป์ฯ แยกปทุมวัน ถูกจับกุมหลายสิบคน และมีบางคนได้รับบาดเจ็บ จึงโทรศัพท์หาทนายรุ่นน้อง คือทนายอานนท์ นำภา จากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน (คนละกลุ่มกับผู้เขียน แต่มีความตั้งใจช่วยเหลือประชาชนตามสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน ) แล้วตัดสินใจขับรถไปสน.ปทุมวันทันที ไปถึงที่นั่น สามทุ่มเศษ ได้พบประชาชนร่วมร้อยคนยืนพูดคุยจับกลุ่มที่ลานหน้า สน.ปทุมวัน ผมได้พบมิตรสหายในสายสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว นักสิทธิมนุษยชน เช่น คุณสุณัย ผาสุขนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายท่าน อาทิ อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล , อ.ธีระ สุธีวรางกูร ,อ.ปูนเทพ ศิริพงษ์, อ.วิโรจน์ อาลี , อ.อนุสรณ์ อุณโณ, อ.สุดสงวน สุธีสร อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และอีกหลายท่านที่มาให้กำลังใจนักศึกษา

ผู้เขียนเริ่มจากการสอบถามว่านักศึกษาหาข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากหลายคนที่อยู่ที่นั่น ทราบว่าถูกจับ และถูกแยกคุมตัวไว้ 3 ห้อง แยกเป็น ห้องใหญ่ 20 คน ห้องขนาดกลาง 11 คน และห้องขนาดเล็ก 5 คน มีผู้บาดเจ็บถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล 2 คน รวมทั้งสิ้น 38 คน เข้าใจว่าแยกตามพฤติการณ์จาการทำกิจกรรม ส่วนห้องที่สี่ คือห้องของพนักงานสอบสวนที่ถูกปิดล็อคด้วยระบบสแกนลายนิ้วมือ การเข้าออกของผู้ไม่เกี่ยวข้องเป็นไปได้ยาก นอกจากได้รับอนุญาต เนื่องจากในห้องนั้น มีนายตำรวจระดับสูงของนครบาล ผู้กำกับ สารวัตรฯ นายทหารระดับผู้การคุมเหตุการณ์ นายทหารพระธรรมนูญ จนท.ทหารนอกเครื่องแบบ และพนักงานสอบสวนอีกหลายสิบนาย เป็นศูนย์ปฏิบัติการในคืนนั้น

กระบวนการทางคดีเริ่มต้นแล้ว

ผู้เขียนทราบว่า มี อ.ปริญญาฯ และ คุณสุณัย ผาสุข ซึ่งอยู่ที่นั่นก่อนที่ผู้เขียนจะไปถึงได้เจรจากับเจ้าหน้าที่และกลุ่มนักศึกษาอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทราบว่า นักศึกษามีการตกลงกันว่าจะไม่ยอมรับเงื่อนไขใดๆจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ แม้กระทั่งการให้ชื่อสกุลของแต่ละคน และนั่นคือ ความยากที่จะหาข้อยุติ แต่สิ่งที่หนึ่งที่ดำเนินการไปแล้วคือการคัดแยกบุคคลที่จะต้องถูกดำเนินคดีและแจ้งข้อหาในคืนนั้น 9 คน จากทั้งหมด 38 คน อ.ปริญญา ได้แจ้งแก่นักศึกษาทั้งหมดว่า จะมีการขอชื่อที่อยู่ และสอบประวัติไว้ จากนั้นจะดำเนินคดีกับนักศึกษา 9 คน ตามหลักฐานของตำรวจที่ได้รวบรวมไว้ แต่ไม่มีใครรู้ว่า 9 คนนั้นเป็นใครบ้าง ส่วนที่เหลืออีก 29 คน จะถูกปล่อยตัวไป นี่คือข้อตกลงที่ผู้เขียนรับทราบจากผู้กำกับฯ สน.ปทุมวัน

เหตุการณ์ดูเหมือนจะจบลงได้ตามแนวทางที่เจ้าหน้าที่ตั้งใจไว้ มีการเริ่มนำนักศึกษาบางส่วนมาสอบปากคำตามกระบวนการทำประวัติ แต่เหตุการณ์กลับไม่ง่ายเหมือนที่หวัง เมื่อนักศึกษามีเงื่อนไขว่า ต้องไม่มีการสอบประวัติหรือมีเงื่อนไขว่าจะปล่อยเพียงบางคน และถ้าดำเนินคดีกับบางคน นักศึกษาทั้งหมดจะไม่ยินยอมและจะไม่ยอมกลับบ้าน ทำให้การสอบปากคำที่กำลังเริ่มขึ้นต้องยุติลง เพราะมีกำแพงใจหนามากั้นไว้ เพราะนักศึกษาเชื่อว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิด และไม่ควรถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ด้วยการใช้ความรุนแรง

สิ่งที่อาจเกิดตามมาก็คือการต้องดำเนินคดีกับนักศึกษาทั้งหมด ตามกฎหมายที่ออกมาควบคุมพิเศษ คือ ตามประกาศ หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 นั่นเอง นั่นคือ คำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง

3 ห้องกับการพูดคุยยกแรก

ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ได้แก่ พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานการข่าวบางคน ได้รับแจ้งให้ทราบแนวทางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และให้โอกาสผู้เขียนได้เข้าพบน้องนักศึกษาทั้ง 3 ห้อง ผู้เขียนขอเริ่มที่ห้องขนาดกลางก่อน ผู้เขียนบอกตามตรงว่าไม่เคยรู้จักน้องๆเหล่านี้มาก่อนเป็นการส่วนตัว แต่การทำงานที่ผ่านมาได้ทราบข้อมูลนักศึกษากลุ่มนี้พอสมควร ความไม่รู้จักกันจึงเป็นเรื่องยากที่จะพูดคุยกับเขาเหล่านั้น แต่ด้วยเจตนาดีที่อยากช่วยไม่ให้น้องๆต้องถูกดำเนินคดี และต้องการให้พวกเขามีอนาคตต่อไปในทางที่ดี ออกมาสู้ตามวิถีอย่างปัญญาชน จึงไม่คิดอะไร สิ่งที่เดียวที่คิดคือจะทำให้ดีที่สุด ตามแนวทางของการทำงานของทนายความ

สิ่งแรกที่ผมพูดกับน้องๆ คือ ให้กำลังใจและชื่นชมที่แสดงออกทางการเมืองตามสิทธิพลเมือง และเข้าใจถึงการออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกในครั้งนี้อย่างดี สิ่งที่ผู้เขียนมองเห็นขณะนั้น คือ ความเหนื่อยล้า ความวิตกกังวล ความรู้สึกอื่นๆที่ยากจะรู้ได้อีก ภาพที่ปรากฎในห้องแรกนี้ คือ มีน้องนักเรียนคน 2 คน อายุน้อยสุด 16 ปี อีกคนสวมชุดนักเรียน บางคนสวมชุดนักศึกษา ผู้เขียนรู้สึกทันทีว่า ต้องช่วยให้ถึงที่สุดเพราะพวกเขายังมีอนาคต และคำพูดที่ออกไป คือ "การต่อสู้ของน้องๆยังต้องดำเนินต่อไป หาใช่จะมีเฉพาะวันนี้ ทำอย่างไรให้ตัวเองมีโอกาสได้ยืนหยัดต่อสู้ได้อีก และมีอนาคตในทางสังคม เป็นกำลังสำคัญให้กับคนในครอบครัว” มันเป็นเรื่องยากมากที่จะพูดกับวัยรุ่น กับวัยนักศึกษา เพราะพวกเขามีพลังหนุ่มสาวอยู่เต็มเปี่ยม เลือดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและตามวิธีคิดที่พวกเขาเชื่อมีสูงมาก และดูเหมือนว่า พร้อมกับการที่ต้องแลกด้วยการการต่อสู้ที่อาจเสื่อมเสียอิสระภาพ การศึกษา ร่างกาย หรืออาจถึงชีวิต แต่นั่นมิใช่สิ่งที่ผู้เขียนและหลายคนอยากให้เกิดขึ้น

ข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวถูกปฏิเสธในทันที ที่ผู้เขียนได้พูดจบลง น้องๆยืนยันว่า เราต้องไปด้วยกัน เราจะไม่ทิ้งกัน ประโยคนี้สั้นจะได้ใจความ ผู้เขียนทราบดีถึงความรู้สึกร่วมกันแบบนี้ เพราะเคยผ่านการต่อสู้แบบนี้มา สถานการณ์ในห้องแรก ทำให้รู้คำตอบอีก 2 แล้ว แต่ผู้เขียนก็ได้รับโอกาสจากผู้กำกับฯให้พบอีก 2 ห้อง

ต่อมาเดินมาที่ห้องใหญ่ ผมจึงขออนุญาตผู้กำกับฯ ให้ อ.ธีระฯ ช่วยกันอีกแรงหนึ่ง ห้องนี้ห่างกับห้องกลางประมาณ 50 เมตร เป็นคนละอาคาร ห้องนี้มีนักศึกษาชายอยู่นับสิบคน มีนักศึกษาหญิง 2-3 คน ทราบว่าเป็นห้องที่ค่อนข้างมีพลังมาก จึงถูกคุมจากตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบหลายสิบนาย ผมเดินเข้าห้องไป แนะนำตัวและแจ้งแนวทาง และมอบความปราถนาดีให้พวกเขาได้คิด แต่ก็ถูกปฏิเสธและมีเงื่อนไขใหม่เกิดขึ้นในทันที คือ ขอให้พวกเขาทั้งหมดที่แยกคุมทั้ง 3 ห้อง มารวมตัวและปรึกษากันอีกครั้ง ผมรู้ทันทีว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะนั่นทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความลำบากและอาจเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีก แต่ผู้เขียนก็รับปากว่าจะไปคุยให้ตามที่ร้องขอ มาถึงตอนนี้เวลาเดินไปที่เกือบห้าทุ่มแล้ว การพูดคุยห้องเล็ก ก็ได้รับคำตอบอย่างเดียวกัน แต่ห้องนี้พูดคุยง่ายที่สุด


การเจรจารอบใหม่มีขึ้นอีกครั้ง

จากการพูดคุยทั้งสามห้องพบว่านักศึกษามีจิตใจของนักสู้สูงมาก และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ผู้เขียนจึงได้ปรึกษากับผู้กำกับฯ และคุณ บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ว่าขอนำเสนอแนวทางเพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายและยุติได้ในทางสันติ พูดถึงสถานการณ์ที่อาจบานปลาย และอาจเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อผู้ใช้อำนาจอย่างรุนแรงขึ้นอีก โดยขอให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดในคืนนี้ไป โดยจะขอชื่อที่อยู่ไว้ แต่ไม่ควรตั้งข้อหาหรือดำเนินคดี เหตุผลคือ เพราะเห็นว่า การเคลื่อนไหวแสดงออกของนักศึกษามิได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย หากแต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ทางการเมือง หรือเป็นแสดงออกที่ไม่ถึงขนาดเป็นความผิดนั่นเอง

ข้อเสนอของผู้เขียนถูกนำไปแจ้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงของตำรวจในห้องศูนย์ปฏิบัติการ และก็ได้รับโอกาสให้มีการพูดคุยเจรจากันอีกครั้ง คราวนี้ นอกจากผู้เขียนแล้ว ยังมีอ.ปริญญา อ.ธีระ อ.วิโรจน์ และ อ.อนุสรณ์ อุณโณ เข้าร่วมการเจรจา การพูดคุยเริ่มยกข้อเท็จจริงที่พูดคุยกับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าจับกุม การบาดเจ็บ การดำเนินคดี การปล่อยตัว และการตั้งเงื่อนไข การเจรจาดำเนินไปกว่า 30 นาที ได้ข้อยุติเบื้องต้น คือ เจ้าหน้าที่ยืนยันต้องมีการดำเนินคดีกับนักศึกษาบางคนที่มีประวัติและเคยเคลื่อนไหวมาแล้ว มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายและอาจพิจารณาให้ประกันตัวออกไปในชั้นฝากขังที่ศาลทหารในวันรุ่งขึ้น ส่วนที่เหลือจะปล่อยตัวไปแบบมีเงื่อนไขว่าห้ามชุมนุมเคลื่อนไหวอีก โดยไม่ตั้งข้อหา และข้อเรียกร้องของนักศึกษา ที่จะขอรวมตัวกันเพื่อปรึกษาก็ถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่อย่างที่คิดไว้ จากนั้นผู้เขียนและคณาจารย์ได้ปรึกษาหารือกัน และมีความเป็นไปได้ที่จะถูกนำตัวไปยังค่ายทหารซึ่งจะทำให้การเข้าไปดูแลเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงไม่รอช้าที่ว่าจะเริ่มพุดคุยในห้องเล็กก่อน ห้องนี้เริ่มมีคำถามว่า ใครจะเป็นผู้ถูกดำเนินคดี และจะมีหลักประกันใดๆที่ปล่อยตัวไปแล้วจะไม่มีการมาถูกจับดำเนินคดีในภายหลัง การพูดคุยกับนักศึกษาเกิดขึ้นทีละห้องจนครบทั้งสามห้อง ผู้เขียนและคณาจารย์ถูกเร่งเร้าให้ได้รับคำตอบอย่างต่อเนื่อง เพราะผ่านไปหลายชั่วโมงจนดึกไม่มีข้อยุติ

สถานการณ์เปลี่ยน

ระหว่างที่นำแนวทางที่เจรจากับเจ้าหน้าที่และให้เวลานักศึกษาปรึกษากันเพื่อให้คำตอบอยู่นั้น เวลาผ่านเข้าสู่วันใหม่อย่างรวดเร็ว ประมาณ 2 นาฬิกา ห้องใหญ่เกิดปัญหาขึ้น ระหว่างที่ผู้เขียนได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ให้พานักศึกษา 1-2 คนเพื่อพบและพูดคุยให้ยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัว ผู้เขียนเดินกลับไปที่ห้องใหญ่อีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่พบคือ นายทหารระดับสูงที่บัญชาการเหตุการณ์พร้อมคณะได้เข้าไปพูดคุยกับนักศึกษาห้องใหญ่ เกิดการโต้เถียงเสียงดัง เล็ดลอดออกมาภายนอกห้อง แต่เราไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในห้องดังกล่าว ได้แต่คอยสังเกตการณ์ว่าจะมีการทำร้ายร่างกายกันหรือไม่ แต่ก็เป็นไปด้วยดีว่ามีไม่การลงมือลงไม้กันเกิดขึ้น

สิ่งที่ได้รับแจ้งจากจากเจ้าหน้าที่ในเวลาต่อมา คือ ถ้านักศึกษาทั้งหมดไม่ยินยอมที่จะให้มีการทำประวัติแจ้งชื่อที่อยู่ไว้ และจะถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีฝ่าฝืนประกาศคสช. 9 คน จะต้องถูกดำเนินคดีทั้ง 38 คน อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆอีก และปฏิบัติการนั้นก็ได้เริ่มขึ้นทันที จากการสังเกตมีการเตรียมคณะทำงานสอบสวนนับสิบนายเพื่อสอบสวนเป็นชุดๆ และแยกนักศึกษาออกทีละกลุ่ม ผู้เขียนถูกเชิญให้เป็นสักขีพยานว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ใช้ความรุนแรงใดๆในการดำเนินการ

ระหว่างนั้นเองผู้เขียนได้พูดคุยกับนายทหารท่านนั้น และนายทหารพระธรรมนูญเป็นการเฉพาะ มีการนำเสนอเงื่อนไขและขอเวลาเจรจาพูดคุยอีกครั้ง เป็นแนวทางใหม่ว่า “ทางเจ้าหน้าที่จะขอชื่อที่อยู่ไว้ พร้อมกับรับปากว่าจะไม่เคลื่อนไหวชุมนุมเช่นนี้อีก โดยจะไม่ดำเนินคดีและแจ้งข้อหากับนักศึกษาคนใด” เพียงเท่านี้ สำหรับผู้เขียนห็นว่าเป็นโอกาสดีที่มีเวลาอีกไม่นานก่อนที่จะเช้า จึงรีบปรึกษากับคณาจารย์ว่า จะต้องทำให้นักศึกษาเข้าใจบทบาทของการต่อสู้ที่ต้องไม่ตกเป็นผู้ต้องหาโดยไม่จำเป็น และต้องรักษาตัวเองเพื่อให้ไม่มีคดีติดตัว ประกอบว่ามีนักศึกษาบาคนเหนื่อยล้า อิดโรย และมีความเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ลดเงื่อนไข และมีมาตรการจากเดิมมาก จะต้องพิจารณาให้ดีกับอนาคตการศึกษาและแนวทางการต่อสู้ที่ยังต้องดำเนินต่อไป

ประมาณ 5 นาฬิกา พวกเราผู้ร่วมเจรจา ต่างก็ตระหนักถึงอนาคตนักศึกษาทั้งหมด จึงเริ่มจากพูดคุยกับนักศึกษาห้องเล็กอีกครั้ง เมื่อน้องๆนักศึกษาเห็นด้วยและยอมรับที่จะให้ชื่อที่อยู่ และรับว่าจะไม่เคลื่อนไหวอีก จึงเริ่มกระบวนการนำกลุ่มแรก 5 คน เข้าพบพนักงานสอบสวน และถ่ายภาพประกอบสำเนาบัตรประชาชนไว้ แต่สถานการณ์มาถึงจุดที่เกิดปัญหาขึ้นอีกครั้งในห้องศูนย์ปฏิบัติการ เมื่อเจ้าหน้าที่เพิ่มวิธิการให้นักศึกษาทุกคน ต้องเขียนสามคำ ด้วยลายมือตนเองว่า “ไม่เคลื่อนไหว” ลงในสำเนาบัตรประชาชน แต่นักศึกษาบางคนไม่ยินยอม และเกิดความไม่พอใจที่เหมือนถูกหักหลัง และไม่ยอมรับวิธีการดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงแยกนักศึกษาคนดังกล่าวออกไปสอบสวนแจ้งหาทันที

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนจึงปรึกษากับ อ.ปริญญา เข้าใจความรู้สึกของนักศึกษาดี เพราะอยู่ในเหตุการณ์ตลอด และเจรจากันด้วยตนเอง แต่เมื่อพิจารณาแล้วกับการที่นักศึกษาทั้ง 38 คน ไม่ต้องถูกดำเนินคดี ไม่ต้องส่งศาลฝากขังและต้องหาหลักทรัพย์ประกันตัว ต้องมีประวัติถูกดำเนินคดีอาญาติดตัวตลอดไป กับการเขียนด้วยลายมือตนเอง มันน่าจะยอมรับได้ จึงได้ต่อรองกับเจ้าหน้าที่กันอีกครั้งว่า ไม่ต้องลงลายมือชื่อไว้ เพื่อให้เกิดเป็นมาตรการที่ทางเจ้าหน้าที่ได้เลือกใช้กับนักศึกษากลุ่มนี้อย่างเหมาะสม น่าจะเป็นการดีต่อทั้งสองฝ่าย


สุดท้าย

อาจด้วยสถานะของอาจารย์ลูกศิษย์ และสถานการณ์ที่ทอดยาวมาทั้งคืน ทำให้นักศึกษาคิดว่า นั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ซึ่งผู้เขียนก็เชื่อว่าบางคนหรือทั้งหมดไม่เต็มใจนักกับวิธีการแบบนี้ นักศึกษาถูกทยอยนำตัวมา ห้องปฏิบัติการฯ และทั้งหมดก็ได้รับการปล่อยตัวอย่างไม่มีคดีหรือต้องตกเป็นผู้ต้องหาทางคดีอาญาจากเหตุการณ์หน้าหอศิลป์ครั้งนี้

ผู้เขียนได้แต่หวังว่า นักศึกษา ประชาชน ที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง ย่อมเป็นสิทธิทางการเมืองของพลเมืองในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องถูกอำนาจรัฐเข้ามาจัดการต่างๆ พวกเขาเหล่านั้น ควรจะมีแนวทางที่ดีต่ออิสรภาพ สถานะทางสังคม และความปลอดภัยต่อชีวิตร่างกายอย่างดีที่สุด และรัฐนั้นจะไม่ใชอำนาจของตนไปอย่างตามอำเภอใจแล้ว ความสามัคดีของคนในชาติย่อมจะมีอนาคตที่ดีต่อไปได้ และผู้เขียนเองไม่ได้อยากให้การตัดสินใจใดๆของพวกเขาจะส่งผลให้การต่อสู้ หรือแสดงออกตามอุดมการณ์ต้องถูกจำกัดหรือสะดุดหยุดอยู่ด้วยการต้องเป็นเหยื่อทางการเมืองอย่างไม่จำเป็นจากสถานการณ์เช่นนี้ จึงขอให้นักศึกษและประชาชนยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมต่อไป.

ooo


บันทึกนักเรียนคนหนึ่ง "ก่อนถูกควบคุมตัว 10 ชั่วโมงในเหตุการณ์ 22 พฤษภาคม 2558"






จากนั้นเราทุกคนในวงร่วมร้องเพลง "เพื่อมวลชน" กันอีกรอบ ยังไม่ทันจบดีๆนี่แหละ เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารเปิดรั้วของเขาออกมา และปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว และทีนี้ก็ถึงตาผม

พวกเขาเข้ามาจับทุกคนในวง ผมกับเพื่อนที่อยู่ติดกันจับมือกันแน่นไม่ปล่อย แต่สุดท้ายเราก็ไม่อาจต้านทานได้ ผมถูกลากตัวเข้าไป รองเท้าข้างหนึ่งของผมหลุดหายไป บอกว่าจะไม่หนีขอไปเก็บรองเท้าก็ไม่ได้ ผมจึงมีรองเท้าข้างเดียวเหลืออยู่ให้ใส่

เพื่อนผมที่อายุน้อยกว่าผมเรียน กศน. อายุ 16 ปี เจ้าหน้าที่ใช้แขนรัดคอ และลากตัวเข้าไป และยังโยนเขาลงด้วย นักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่งถูกรัดคอจนหายใจไม่ออก และเอาเข็มขัดรัดมือ พร้อมทั้งด่าหยาบคาย เราถูกบังคับให้ขึ้นรถตู้ไป สน.ปทุมวัน คนหนึ่งถูกโยนขึ้นไปด้วย เรารวมกันในรอบนี้ 11 คน เป็นนักศึกษา นักเรียน กศน. และพี่รุ่นวัยทำงานซึ่งพวกเขามาเห็นความไม่เป็นธรรมจึงเข้าร่วม เราร่วมกันขึ้นรถตู้ไป สน. ปทุมวัน

มีเพื่อนของเราอีกคนชื่อ ทรงธรรม เดฟ เขาเป็นรุ่นพี่ผมไม่กี่ปี ถูกลากตัวมาพร้อมกันกับเรา แต่เขาไม่ได้ขึ้นรถตู้กับเราหรอกนะครับ เขาถูกเตะ ถูกกระชากลากอย่างรุนแรง จนเขาสลบไป พวกเราโกรธกันมาก

พวกเราบางคนคนตระโกนว่า "พวกมึงฆ่าเพื่อนเรา"

แต่โชคดีไปที่เดฟปลอดภัย เข้าโรงพยาบาลทัน แต่บาดแผลก็ยังมีให้เห็นอยู่ และต้องออกค่าใช้จ่ายเองซึ่งแพงพอสมควรเลย

เรื่อง 10 ชั่วโมงใน สน.เป็นอย่างไรบ้าง ผมอาจจะมาเล่าไว้ในครั้งหน้า แต่คิดว่าข้อมูลส่วนนี้ จะมีหลายคนเขียน เราถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่ม 21 คน 11 คน และ 5 คน แต่ละกลุ่มถูกการเล่นเกมส์ให้เงื่อนไขการปล่อยตัวอะไรที่ต่างกันไป จนวุ่นวายทีเดียว คิดว่าน่าจะมีคนมาเล่าได้ดีกว่าผม

ผมไม่ได้กะว่าจะเคลื่อนไหวอะไรหรอกนะครับงานนี้ จะแค่มาดูตามที่บอกไปแล้ว คิดว่าจะไปซื้อหนังสือ ที่คิโนะคูนิยะ จะผ่านไปสักสิบห้ายี่สิบนาที ผมไม่อยากเชื่อเลยว่า เหตุการณ์มันจะเลวร้ายได้ขนาดนี้ แล้วผมจะทนนิ่งดูดายหรือ

ใครเล่าจะทนกับความป่าเถือนอย่างนี้ได้ ถ้าคนนั้นยังสติดีอยู่ ที่แน่ๆก็คือเรามาอย่างสันติ ทำไมถูกทำร้ายอย่างนี้

ที่ผมเขียนมานี้ เป็นการเล่าเรื่องราวส่วนตัวและอาจจะตอบโต้ข้อกล่าวหามั่วๆที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ต เช่น เราถูกจ้างมา เราถูกจัดตั้งมาก็ได้ เราแทบไม่รู้จักกันเลยด้วยซ้ำที่ไปเจอกัน อย่างที่ผมเล่าเรื่องพี่ที่เป็นครูสอนพิเศษผมไม่รู้เรื่องก็ถูกจับไปเหมือนกันอยู่กลุ่ม 21 คน

ที่เขียนมานี้ผมอยากจะเล่าประวัติศาสตร์ของปัจเจกบุคคล และมุมมองหนึ่งของเหตุการณ์ 22 พฤษภาคม 2558 และมันคุ้มค่ามากสำหรับนักเรียนคนหนึ่งที่ได้ทำอะไรอย่างนี้ สิทธิเสรีขั้นพื้นฐานต้องมี

จะรออะไร ทำไมให้ผู้ใหญ่มารังแกเราอยู่ได้ ปากเสียงเราอยู่ไหน ผมดีใจที่ได้ร่วมกับพวกเขาคนหนุ่มสาวเหล่านี้ มันทุกข์ใจไม่น้อยที่ถูกควบคุมตัวอย่างยาวนานและตึงเครียด

แต่การได้เห็นการตั้งใจดีของพวกเรานักเรียนนักศึกษาคนธรรมดา การเสียสละ การใช้เหตุผลการยืนหยัดในสิทธิความเป็นมนุษย์ มันน่าภูมิใจมิใช่หรือ มันคุ้มแล้วต่อที่จะต้องแลกมิใช่หรือ