ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
01 มี.ค. 2558
10 เดือนเป็นอย่างน้อยบน "หลังเสือ" ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้ารัฐประหาร หลังจากนี้ ยังต้องประคององคาพยพบนความเสี่ยงนานัปการ
ทั้ง "คนกันเอง" ในเรื่องของการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หลังกระทรวงพลังงานตั้งท่า "ขึงขัง"
หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรจะต้องเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ให้ได้
ถึงแม้ว่าบน "สังเวียนพลังงาน" ณ ทำเนียบรัฐบาล "ฝ่ายรัฐบาล" จะชนะคะแนนเทคนิค แต่สุดท้ายต้อง "ถอย" เพราะเจอวาทกรรม "ผลประโยชน์ทับซ้อน-อำนาจอธิปไตยทางกฎหมาย" ของ "ฝ่ายต่อต้าน" ที่มีหัวขบวนอย่าง "รสนา โตสิตระกูล" สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) ด้านพลังงาน และ "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" แกนนำ พธม. คอยเสิร์ฟข้อมูล-เป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้างเวที
ทว่า "ไม้เด็ด" ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องหลบฉาก ทั้ง ๆ ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ-เต็มมือ คือ การร่วมวง-ลงชื่อคัดค้านของนักการเมือง-ไฮด์ปาร์กระดับ "บิ๊กเนม" -ต้นทุนสูง
อีก 1 สัญญาณถอยคือนโยบาย "ลดช่องว่าง" ระหว่างคนรวยกับคนจน-ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ล่าสุดต้องลดเพดานการจัดเก็บภาษีลงจากเดิมถึง "ครึ่ง"
นอกจากนี้ ยังเจอ "หางเลข" ปรองดองพ่นพิษหลัง "ข้อเสนอร้อน" ถูกโยนให้ พล.อ.ประยุทธ์ต่อสาย "เจรจา" กับอดีตนายกฯ-พ.ต.ท.ทักษิณ
จน "พี่-น้องบูรพาพยัคฆ์" ต้องออกมาประสานเป็น "เสียงเดียวกัน" ว่า ไม่มีอำนาจไปคุย-ให้ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณกันได้แล้ว
อีกทั้งคดีความที่เป็นชนักปักหลัง "ฝ่ายตรงข้าม" ถูกจับจ้อง-รอก่อแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาล
ด้าน ปัจจัยเสี่ยงเรื่องรัฐธรรมนูญที่มี "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" และพรรคพวกอีก 34 คนเป็นผู้ยกร่างนั้น ใกล้เสร็จในร่างแรกแล้ว โดยสิ่งที่เป็นจุดวิพากษ์วิจารณ์ที่สุดคือ
กรณีที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติขึ้นมา หนึ่งในหลายหน้าที่คือ คณะกรรมการปรองดองชุดนี้สามารถเสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาได้ด้วย
จนมีหลายฝ่ายจับตามองว่าอาจมีการอภัยโทษให้กับนักการเมืองบางคนหรือไม่
เพราะอย่าลืมว่าชนวนเหตุของความขัดแย้งที่บานปลายกระทั่งเกิดการยึดอำนาจขึ้นเมื่อ 22 พ.ค.มาจากการนิรโทษกรรม
นอกจากนี้ "ชะตากรรมบั้นปลาย" ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยังไม่รู้ว่าจะ "ออกหัว-ออกก้อย" เพราะต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากแม่น้ำทั้ง 4 สายประกอบด้วย ครม. คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
และในตอนจบร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องผ่านการเห็นชอบจาก สปช.รับรอง โดยผลมีทั้ง "บวกและลบ" ซึ่ง "เทียนฉาย กีระนันทน์" ประธาน สปช.ตอบแบบ "แบ่งรับแบ่งสู้" ว่า "อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น สปช.อาจไม่เห็นชอบก็ได้" เป็นสัญญาณลังเลหลังจากที่ก่อนหน้าที่มั่นใจว่า สปช. "จะไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า" คว่ำรัฐธรรมนูญ
หาก สปช.ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โรดแมป คสช.เกือบทั้งหมดต้องเริ่มขั้นตอนแรกใหม่ โดยสรรหา สปช. 250 คน สรรหา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
นั่นเท่ากับว่าต่อเวลาให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจมากกว่า 1 ปี อาจทำให้รัฐบาลเจอแรงเสียดทานทางการเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหลายเท่าตัว