ภาพก่ร์ตูนเสียดสีสังคมไทยจากสำนักข่าวออนไลน์ต่างประเทศ |
สรุปบทเรียน 22 พ.ค. 2557 (4): ขบวนนิสิตนักศึกษา
โดย รศ.ดร.พิชิต
ลิขิตกิจสมบูรณ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน 'โลกวันนี้วันสุข' ฉบับวันศุกร์ที่
6 กุมภาพันธ์ 2558
รัฐประหาร
22 พ.ค. 2557
เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญขั้นประวัติศาสตร์ของขบวนประชาธิปไตย
รัฐประหารได้ทำให้ตระกูลชินวัตร พรรคเพื่อไทยอ่อนแอลงอย่างมากและสูญเสียสถานะการต่อรองไปจนหมด
และทำให้ขบวนคนเสื้อแดงซึ่งเกิดการแตกแยกอย่างถึงรากมาตั้งแต่กรณีนิรโทษกรรมเหมาเข่ง
ยิ่งอ่อนแอลงไปอีก เครือข่ายกลุ่มคนเสื้อแดงของพรรคเพื่อไทยเกิดการสลายตัวอย่างช้าๆ
ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ปฏิเสธนิรโทษกรรมเหมาเข่งก็แยกทางเดินไปโดยอิสระ
แต่รัฐประหารครั้งนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนิสิตนักศึกษาปัญญาชนเช่นกัน
เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองอย่างสำคัญในหมู่นิสิตนักศึกษาแล้ว
ยังเป็นการโยนภาระหน้าที่การเป็นกองทัพหน้าในการต่อต้านเผด็จการ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ลงมาบนหน้าตักของพวกเขาโดยตรงอีกด้วย
ป้ายโผล่ที่สำนักบัณฑิตอาสา มธ. ศูนย์รังสิต |
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียตะวันออกไม่กี่ประเทศที่มี
‘ตำนาน’ การต่อสู้ทางการเมืองของนักศึกษาปัญญาชน เช่น ประเทศจีนนับจากการเคลื่อนไหวใหญ่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919 ถึงการประท้วงของนักศึกษาที่จตุรัสเทียนอันเหมิน
ปี 2532 กระทั่งล่าสุดคือการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาฮ่องกงในปลายปี
2557
นักศึกษาเกาหลีใต้ที่ยืนหยัดต่อต้านเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่องยาวนานจนได้ประชาธิปไตยในปี
2530 นักศึกษาไต้หวันชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติทางตรงอย่างเสรีจนได้ประชาธิปไตยในปี
2533 รวมทั้งนักศึกษาประชาชนอินโดนีเซียเดินขบวนขับไล่เผด็จการซูฮาร์โต้เป็นผลสำเร็จในปี
2541
ขณะที่ประเทศไทยก็มีตำนานการต่อสู้ของนักศึกษาปัญญาชน
ตั้งแต่การเดินขบวน ‘ทวงมหาวิทยาลัยคืน’ โดยนักศึกษาธรรมศาสตร์จากการยึดครองของทหารในปี 2494 จนถึงขบวนการนิสิตนักศึกษาช่วงปี 2516-2519
บทบาทของนิสิตนักศึกษาในช่วงปี 2516-19
ที่พวกเขาหันไปสู่ประเด็นปัญหาความเป็นธรรมทางสังคม สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกรรมกร
ชาวนา สลัม ไปสู่โรงงานและชนบท บางส่วนได้รับอิทธิพลทางความคิดจากลัทธิสังคมนิยม
จนพวกจารีตนิยมต้องกระทำการสังหารหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม
2519
เหล่านี้ทำให้พวกเขาสรุปบทเรียนว่า
มหาวิทยาลัยอาจเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดอิสระที่ท้าทายและเป็นอันตรายต่อการปกครองแบบอำนาจนิยมของพวกเขาได้
ด้วยเหตุนี้ ตลอดยุค 2520 จนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยทุกแห่งจึงถูกกลุ่มจารีตนิยมแทรกแซงครอบงำอย่างเป็นระบบ
ผ่านอำนาจราชการและเครือข่ายผู้บริหารที่รับใช้เผด็จการมาทุกยุคทุกสมัย ทำให้พวกจารีตนิยมประสบความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จในการครอบงำมึนชานักศึกษา
ให้หมกมุ่นอยู่แต่เสพสุขนิยม ละเลยปัญหาการเมืองและสังคมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยโดยสิ้นเชิงยาวนานถึงสี่สิบปี
พวกจารีตนิยมยังประสบความสำเร็จในการปลูกฝังลัทธิชนชั้นนำในหมู่นิสิตนักศึกษา
ทำให้พวกเขาเต็มไปด้วยทัศนะดูถูกประชาชน ยกย่องบูชาชนชั้นสูงจารีตนิยม
เกลียดชังระบบการเมืองแบบเลือกตั้ง พรรคการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังจะเห็นได้ว่า
แม้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จะมีผลไปกระตุ้นให้นักศึกษาปัญญาชนจำนวนหนึ่งเกิดการตื่นตัวทางการเมืองในทางประชาธิปไตย
แต่สำหรับนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่แล้ว พวกเขายังคงมึนชาต่อเผด็จการ
และอีกจำนวนหนึ่งก็สนับสนุนรัฐประหารอีกด้วย
เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลสะเทือนต่อนักศึกษาปัญญาชนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งก็คือ
การชุมนุมใหญ่ของขบวนคนเสื้อแดงในช่วงมี.ค.-พ.ค. 2553 ซึ่งจบลงด้วยการเข่นฆ่าประชาชนอย่างนองเลือด
เหล่านี้ได้กระตุ้นให้นักศึกษาปัญญาชนสงสัย ตั้งคำถาม
และค้นหาคำตอบต่อวิกฤตการเมืองที่เป็นอยู่ต่อหน้าพวกเขา ได้เรียนรู้และเก็บรับบทเรียนอันนองเลือดจากการต่อสู้เสียสละของขบวนคนเสื้อแดง
จนพวกเขาเกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างช้าๆ
รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นการปลุกให้นิสิตนักศึกษาปัญญาชนกลุ่มใหญ่
‘สดุ้งตื่นขึ้นจากภาวะหลับใหล’ พวกเขาได้เผชิญกับอำนาจเผด็จการที่เปล่าเปลือย
ไร้ยางอาย กดขี่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก การตื่นตัวของนิสิตนักศึกษาแต่ละแห่งมีจำนวนคนเพียงเล็กน้อย
แต่มีกระจัดกระจายอยู่ในวิทยาเขตทั่วประเทศ
และนับแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา พวกเขาคือกลุ่มพลังทางสังคมเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการมาได้อย่างต่อเนื่อง
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การเคลื่อนไหวของพวกเขาที่มีจำนวนน้อยและการกดขี่ของเผด็จการกำลังทำให้เกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยแพร่กระจายไปในหมู่นิสิตนักศึกษาวงกว้างอย่างรวดเร็ว
ขบวนนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่นี้มีลักษณะเด่นสำคัญหลายประการที่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน
ประการแรก
หัวหอกของนิสิตนักศึกษาปัจจุบันจำนวนหนึ่งตื่นตัวมาจากการรับรู้ ‘การกดขี่และอยุติธรรม’ ที่เกิดกับคนเสื้อแดงในช่วงปี
2553 ไปสู่การรับรู้ลักษณะเผด็จการของพวกจารีตนิยม และท้ายสุดคือ
เผด็จการทหารเต็มรูปที่มีพวกจารีตนิยมเป็นเสาค้ำ
นัยหนึ่ง
จุดแข็งของพวกเขาคือ ความชัดเจนในความรับรู้ทางการเมืองไปถึงรากเง่าและเสาค้ำของเผด็จการ
ข้อนี้แตกต่างกับขบวนนิสิตนักศึกษา 14 ตุลา 16 ที่รับรู้เผด็จการทหารของ ถนอม-ประภาส
แต่ไม่รับรู้หรือไม่ชัดเจนในอำนาจที่แท้จริงของพวกจารีตนิยม ซึ่งเป็นผลให้ดอกผลแห่งการต่อสู้ของพวกเขาถูกปล้นชิงไปโดยพวกจารีตนิยมในที่สุด
ประการที่สอง
นิสิตนักศึกษาปัจจุบันเติบโตมาในยุคโลกาภิวัฒน์
ที่มีกระแสเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นกระแสหลัก
เมื่อพวกเขาตื่นตัวทางการเมืองครั้งแรก ก็เป็น ‘เสรีนิยมและประชาธิปไตย’ อย่างชัดเจนแต่ต้น
มีเพียงส่วนน้อยที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดที่ปฏิเสธเสรีนิยม
นัยหนึ่ง
จุดแข็งของพวกเขาคือ ‘ความเป็นเสรีประชาธิปไตย’ ที่ทำให้พวกเขามีลักษณะก้าวหน้า มีความชอบธรรม ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนและจากประชาคมโลก ประเด็นนี้ พวกเขาต่างจากนักศึกษา
‘เดือนตุลาฯ’ ที่เติบโตมาในยุคสงครามเย็น
ได้รับอิทธิพลจากลัทธิสังคมนิยมมาแต่ต้น และปฏิเสธเสรีนิยม
ประการที่สาม
การที่นิสิตนักศึกษาปัจจุบันเป็น ‘เสรีนิยม’ อย่างยิ่ง ก็ได้ทำให้พวกเขาเป็น ‘ปัจเจกชนนิยม’ อย่างยิ่งไปด้วย ซึ่งมีผลต่อรูปแบบการจัดตั้งและวิธีการเคลื่อนไหวของพวกเขา
ที่มีลักษณะกระจัดกระจายเป็นปัจเจกชนเสรี
๕ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นชูสามนิ้วต้อนรับหัวหน้าคณะรัฐประหาร |
ฉะนั้น
แม้พวกเขาจะสามารถท้าทายเผด็จการและสร้างผลสะเทือนได้ระดับหนึ่ง
แต่ก็จะยังไม่สามารถขยายตัวเติบใหญ่จนเข้มแข็งพอที่จะสั่นคลอนระบอบเผด็จการได้แม้แต่น้อย
ประการที่สี่ แม้ว่าในหมู่นิสิตนักศึกษาวงกว้างจะมีอารมณ์ที่ไม่พอใจเผด็จการอยู่ทั่วไปและมีปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
แต่นิสิตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวอย่างเอาการเอางานกลับยังมีจำนวนน้อยมาก
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากข้อสามข้างต้น คือ นิสิตนักศึกษาที่เป็นหัวหอกและเอาการเอางานนั้น
ยังขาดรูปแบบการจัดตั้งและวิธีการทำงานที่สามารถดึงเอามวลชนนิสิตนักศึกษาจำนวนมากให้เข้ามาร่วมได้อย่างเป็นรูปธรรม
ความท้าทายเบื้องหน้าของนิสิตนักศึกษาที่ต่อต้านเผด็จการคือ
จะต้องลดทอนและแก้ไขจุดอ่อนสองประการหลัง จะต้องพัฒนารูปแบบการจัดตั้งและวิธีการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมต่อลักษณะทางชนชั้นของพวกเขา
ที่ยังเป็นเสรีนิยมและปัจเจกชน แต่ก็มีเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย