ที่มา เด็กหลังห้องประชาไท
Sat, 2015-02-28
วันนี้เมื่อเวลา 13.47 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย’ เผยแพร่ภาพป้ายผ้าที่มีข้อความ "ผมเกลียดชังเผด็จการไม่ว่าจะมีรูปแบบสีสันอย่างไรก็ตาม" ของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นข้อความเดียวกันกับที่จารึกไว้ ณ ฐานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
โดยเฟซบุ๊กศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาฯ บรรยายภาพป้ายดังกล่าวด้วยว่า บัณฑิตอาสาฯ ขึ้นป้ายต้อนรับ รองนายกฯ และที่ปรึกษา คสช. (ยงยุทธ) ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นคำของ อ.ป๋วย อึงภากรณ์ เนื่องในงาน 100 ปี ป๋วย ณ สำนักบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต วันนี้
พร้อมระบุด้วยว่า 13.45 น. ขณะนี้ตำรวจกำลังเข้าเจรจากับกลุ่ม นศ.ธรรมศาสตร์เพื่อสอบถามเรื่องกิจกรรม
โพสต์ by Piyarat Chongthep.
สำหรับข้อความเต็มของป๋วยที่บันทึกไว้ใน บันทึกความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ระบุว่า "ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นในระบอบประชาธิปไตย และในศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน ผมเชื่อในเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนตามที่บัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลของสหประชาชาติ ผมเชื่อในสิทธิของชายหญิงทุกคน ที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมสังคมที่เขาอาศัยอยู่ การปฏิเสธไม่ให้สิทธิเหล่านั้นแก่เขา เพราะเขายากจน หรือเพราะเขาขาดการศึกษา ผมถือว่าเป็นความร้ายกาจอย่างหนึ่ง ผมเกลียดชังเผด็จการไม่ว่าจะมีรูปแบบสีสันอย่างใดก็ตาม ผมมีความเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยควรจะได้มาอย่างสันติวิธี เพราะผมต้องการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธในการรักษาอำนาจของรัฐบาล"
ooo
ผมจะรู้สึกโกรธมากเวลามีคนบางคนอ้างว่าคุณพ่อของผมเคยรับใช้เผด็จการสมัยจอมพลแปลกจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม การพูดเช่นนี้เสมือนเป็นการพยายามแก้ตัวแทนคนสมัยนี้ที่พร้อมรับใช้เผด็จการยุคใหม่โดยการรับตำแหน่งทางการเมืองต่างๆว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดหรือแตกต่างจากการกระทำของคุณพ่อของผมในอดีต
ข้อเท็จจริงประการแรกคือคุณพ่อปฏิเสธการรับตำแหน่งทางการเมืองที่ผู้นำเผด็จการเสนอให้มาโดยตลอด ได้แต่รับราชการเพื่อตอบแทนสังคมที่ให้ทุนการศึกษาไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ คุณพ่อทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระปลอดจากการถูกควบคุมทางการเมือง และตลอดเวลาที่รับราชการคุณพ่อได้กล้าฝ่าฝืนผู้มีอำนาจเผด็จการที่พยายามเข้ามาแสวงผลประโยชน์จากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือพยายามตั้งธนาคารพาณิชย์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์อย่างผิดจริยธรรม เท่าที่คุณแม่เคยเล่ามาคุณพ่อเคยทักท้วงจอมพลสฤษดิ์หลายครั้งในเรื่องการค้าแร่ที่ผิดกติกาสากล ส่วนเมื่อจอมพลถนอมทำรัฐประหารตัวเองเพื่อยุบสภาผู้แทนราษฎรคุณพ่อก็ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกจาก"นายเข้ม เย็นยิ่ง"ถึงจอมพลถนอมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
คุณพ่อต้องถือเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่เคยยอมสยบต่ออำนาจเผด็จการและไม่เคยรับใช้ผลประโยชน์อันมิชอบของผู้นำเผด็จการ ดังนั้นเมื่อคุณพ่อตายแล้วโปรดอย่าเอาชื่อของคุณพ่อมารับรองบุคคลหรือการกระทำที่รับใช้เผด็จการในยุคปัจจุบันเลย
ต่อไปนี้เป็นข้อความที่ผมคัดลอกมาจาก http://www.puey.in.th/index.…/component/content/article/…/22
วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2496 คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้ ดร.ป๋วย พ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไปรับราชการเป็นผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง เนื่องจาก ดร.ป๋วย ปฏิเสธการที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องการซื้อ สหธนาคารกรุงเทพ จำกัด แต่เนื่องจากธนาคารแห่งนั้น กระทำผิดระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย และกำลังถูกปรับเป็นเงินหลายล้านบาท จอมพลสฤษดิ์ ขอให้ ดร.ป๋วย ยกเลิกการปรับ แต่ ดร.ป๋วย ปฏิเสธ และยืนกรานให้คณะรัฐมนตรีปรับธนาคารแห่งนั้น ในที่สุดคณะรัฐมนตรี ก็ปฏิบัติตามข้อเสนอของ ดร.ป๋วย
ต่อมา พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็พยายาม เสนอให้บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตนเองมีผลประโยชน์อยู่ด้วย เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรไทยแทน บริษัท โทมัส เดอลารู, คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ดร.ป๋วยเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ ดร.ป๋วย ตรวจพบว่า บริษัทดังกล่าวฝีมือไม่ดี ปลอมง่าย และมีชื่อเสียงในการวิ่งเต้น จึงไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอให้เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตร จึงทำรายงานเสนอ ให้ใช้ บริษัทโทมัส เดอลารูตามเดิม แต่ถ้าหากจะตัดสินใจให้บริษัทอเมริกันเป็นผู้พิมพ์ธนบัตร ก็จะออกจากราชการ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ ดร.ป๋วย, เหตุการณ์ครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นอย่างมาก ผู้มีอำนาจในประเทศขณะนั้น ต่างไม่พอใจ ดร.ป๋วย เพื่อความปลอดภัย พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ให้ ดร.ป๋วย ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2499 และยังได้เป็นผู้แทนไทย ประจำคณะมนตรีดีบุกระหว่างประเทศ มีผลทำให้ ไทยสามารถขายแร่ดีบุก เป็นสินค้าออกสำคัญของประเทศได้มากขึ้น
ปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง จอมพลสฤษดิ์ได้ให้ ดร.ป๋วย กลับเมืองไทยเข้ามาช่วยงาน ต่อมาเมื่อ นายโชติ คุณะเกษม ลาอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จอมพลสฤษดิ์ได้โทรเลขไปถึง ดร.ป๋วย ซึ่งกำลังประชุมคณะรัฐมนตรีดีบุกโลกที่กรุงลอนดอน เสนอให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ ดร.ป๋วย ปฏิเสธไปว่า ไม่ขอรับตำแหน่งนี้ เพราะเมื่อตอนเข้าเป็นเสรีไทย ได้สาบานไว้ว่า จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้หวังแสวงหาผลประโยชน์จากการเป็นเสรีไทย เมื่อ ดร.ป๋วย กลับจากอังกฤษ จอมพลสฤษดิ์ก็แต่งตั้ง ให้ ดร.ป๋วย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่ง ดร.ป๋วย จึง ควบคุมทั้งนโยบายด้านการเงิน การคลังและ งบประมาณของประเทศ ในขณะที่อายุได้ เพียง 43 ปี นอกจากนั้น ดร.ป๋วย ยังมีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันให้มี แผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการสภาพัฒน์ เป็นกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ
แม้ว่า ดร.ป๋วย จะมีตำแหน่งที่สูง แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ชอบนุ่งกางเกงเวสต์ปอยต์มาทำงาน ไม่มีชุดดินเนอร์แจ็กเกตเป็นของตนเอง ชอบกินก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้มกุ๊ย และเต้าฮวย
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 12 ปี นับเป็นผู้ว่าการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด ตลอดสมัยที่ ดร.ป๋วย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นสมัยที่ธนาคารแห่ง ประเทศไทยปลอดจากการเมืองมากที่สุด และเป็นยุคที่สามารถรักษาเสถียรภาพเงินตรา ไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง เงินบาท ได้รับได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งในและนอกประเทศ ทำให้มีการค้าขายและการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นเงินทุน สำรองระหว่างประเทศก็เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มขยายสาขาออกไปสู่ภูมิภาค สามารถจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรได้สำเร็จ ไม่จำเป็นต้องไปพิมพ์ธนบัตรในต่างประเทศ มีการอออกพระราชบัญญัติ ธนาคารพาณิชย์ปี พ.ศ. 2505 ซึ่งถือเป็นแม่บทของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนนำเทคนิคนโยบายทางการเงินที่ สำคัญๆ เช่น อัตราเงินสดสำรองอัตราส่วนลดมาใช้ และชักจูงให้ธนาคารปฏิบัติตามกฎระเบียบ อันจำเป็นต่อการ เสริมสร้างความมั่นคงในระบบการธนาคาร และอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขามากขึ้น และขยายไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้กิจการธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว
ปี พ.ศ. 2507 ดร.ป๋วย ได้กล่าวสุนทรพจน์ของสมาคมธนาคารไทย เพื่อเตือนสติผู้มีอำนาจ มีใจความว่า จอมพล ถนอม นายกรัฐมนตรีผู้มีคำขวัญประจำใจว่า "จงทำดี จงทำดี จงทำดี" มีนโยบายไม่เห็นด้วยที่รัฐมนตรีจะไปยุ่งเกี่ยว กับ "การค้า" แต่ทำไมจึงมีรัฐมนตรีบางคนไปเป็นกรรมการในธนาคารต่างๆ หรือเป็นเพราะว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ใช่ "การค้า" ชนิดหนึ่ง กลอนนั้นมีข้อความว่า
ยังจนในไม่รู้อยู่ข้อหนึ่ง จอมพล ถ ท่านแถลงแจ้งเป็นเรื่อง
ท่านปรารมภ์ผมก็เห็นเด่นประเทือง ว่าใครเฟื่องเป็นผู้ใหญ่ในราชการ
ตัวอย่างเช่นเป็นรัฐมนตรี ไม่ควรมีการค้ามาสมาน
อย่าเกี่ยวข้องเที่ยวรับทำเป็นกรรมการ สมาจารข้อนี้ดีจริงเจียว
ผมสงสัยไม่แจ้งกิจการค้า หมายความว่ากิจการใดบ้างยังเฉลียว
กิจการธนาคารท่านผู้ใหญ่จะไม่เกี่ยว หรือจะเหนี่ยวรั้งไว้ไม่นับค้า
สุนทรพจน์นี้เป็นที่กล่าวขานกันทั่ว ในยุคสมัยรัฐบาลทหาร ดร.ป๋วย เป็นข้าราชการผู้ใหญ่คนเดียวที่กล้าวิจารณ์ นักการเมือง รัฐมนตรี และนายทหารชั้นสูง ที่มักเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานหรือกรรมการธนาคารต่างๆ เพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว เมื่อจอมพลถนอมทราบความ ก็ยินยอมลาออกจากตำแหน่งกรรมการธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดลาออกตาม
Jon Ungphakorn