เบื้องหลัง เด้ง ปลัดณรงค์ สงครามระหว่าง คนดี VS คนดี ???
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558
ในช่วงบ่ายที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ นำเสนอข่าวสุดฮอต
“บิ๊กตู่”มีคำสั่งเด้ง“นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์” ปลัดสธ. ไปประจำสำนักนายกฯ
ถ้าจะเข้าใจ เบื้องหน้า และเบื้องหลัง อย่างถึงแก่น ต้องตามไปอ่าน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ วันที่ 18 กรกฎาคม 2557
มติชนสุดสัปดาห์ 18 กรกฎาคม ปี 2557 พาดหัว หน้าปก ว่า
นกหวีด ปรี๊ดแตก 30 บาทรักษาไม่ทุกโรค
เรื่องราวของ สงครามระหว่าง คนดี กับ คนดี เป็นอย่างไร รีบอ่านโดยพลัน
...อย่าประหลาดใจหากจะทุบโต๊ะตั้งแต่เริ่มเลยว่าเหตุใดโครงการ30บาทจึง "ไม่" รักษาทุกโรค ก็ด้วยเพราะ "โรค" นี้
เป็นโรคการเมือง ยาขนานไหนก็แก้ยาก
ยิ่งเป็นกรณีการเมืองระหว่าง "คนดี" กับ "คนดี" ยิ่งยาก
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้นำองค์กรสูงสุดขณะนี้ถึงกับโอดครวญว่า "น่าแปลกใจที่ตอนนี้เราไม่มีนักการเมือง แต่กลับมีกระบวนการเช่นนี้"
"กระบวนการเช่นนี้" คงไม่ต้องตีความอะไรมาก
หากแต่คือโรคการเมืองที่มุ่งสู่ "การโค่นล้มทำลาย" นั่นเอง
ว่าไป คำว่า โค่นล้มทำลาย นี้ นพ.ณรงค์ ก็คงคุ้นๆ อยู่เช่นกัน
เพราะเมื่อช่วงสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นพ.ณรงค์ ชูธงคุณธรรมขึ้นเพื่อ โค่นทำลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และระบอบทักษิณอย่างแข็งขัน
โดยประสานเสียงไปกับ "กปปส." ภายใต้การนำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
นพ.ณรงค์ ถือเป็นบิ๊กข้าราชการแรกๆ ที่ประกาศ "อารยะขัดขืน" ต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างอาจหาญ
โดยมี ประชาคมสาธารณสุข สนับสนุน
รวมถึง ชมรมแพทย์ชนบท และบุคลากรในตระกูล "ส." ด้วย แม้จะเป็นลักษณะ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ก็ตาม
จุดยืนอันแจ่มชัดนี้ ทำให้นายสุเทพต้องมอบ "นกหวีดทองคำ" ให้ นพ.ณรงค์ ในฐานะเป็นแนวร่วม "วีไอพี" ที่น้อยคนจะได้รับเกียรตินี้
บทบาทของ นพ.ณรงค์ จึงโดดเด่น เหนือกว่าทุกฝ่ายในกระทรวงสาธารณสุข
แม้แต่ ชมรมแพทย์ชนบท ที่ได้อุทิศตนและทุ่มเทกำลังในทุกองคาพยพ ในการสนับสนุน กปปส. อย่างสุดจิตสุดใจไม่ต่างกัน
ความโดดเด่นนี้สืบเนื่องมา แม้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นก็ตาม
โดยขณะที่กระทรวงอื่น ต่างฝุ่นตลบ บิ๊กข้าราชการถูก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย้ายไม่เว้นแต่ละวัน
โครงการเมกะโปรเจ็กต์ ถูกเบรก ถูกยกเลิกจนวุ่นไปหมด
แต่กระทรวงสาธารณสุข "สงบ-มั่นคง-ราบรื่น" จึงมองเป็นอื่นใดไม่ได้
นอกจาก "ต้นทุนแห่งการอารยะขัดขืน" ภายใต้ธงคุณธรรมและความดี เข้าตา "ทหาร"
ทำให้ชื่อ นพ.ณรงค์ ไม่เพียงมั่นคงที่ "ปลัด สธ." เท่านั้น ยังถูกกล่าวขานว่าอาจเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ด้วย!
แข็งแกร่งเช่นนี้เอง
ทำให้นพ.ณรงค์เร่งเดินหน้าผลักดันแนวทางที่เคยประกาศไป 3 เรื่อง คือ 1.การปฏิรูประบบสุขภาพ เช่น เขตสุขภาพ กลไกการเงินการคลังสุขภาพ 2.การปฏิรูปประเทศไทย และ 3.การสร้างความเข้มแข็งระบบราชการ ระบบคุณธรรม การจัดระบบและสร้างกลไกถ่วงดุลฝ่ายการเมือง
เพราะ "คืบหน้า" เท่าไหร่ นพ.ณรงค์ ก็ยิ่งโดดเด่น "เข้าตา" มากขึ้นเท่านั้น
แต่ก็นั่นแหละ โลกนี้ไม่ได้มีแต่ด้านบวก
เพราะการขับเคลื่อนดังกล่าว ได้สร้างความไม่สบายใจให้กับ "แนวร่วม กปปส." อีกฟากคือ ชมรมแพทย์ชนบท และองค์กรเหล่าตระกูล ส. ด้วย
เนื่องจากเห็นว่า แนวทางที่ นพ.ณรงค์ ผลักดัน กระทบกระเทือนต่อแนวทางและสถานะของตนอย่างรุนแรง
เหตุนี้เองจึงทำให้มีข้อมูลของ"คนดี"จากอีกฟากปรากฏออกมา
อย่างเช่น"10 ทุรลักษณ์ ผู้ที่จะเป็นผู้นำในการปฏิรูประบบสาธารณสุข ไม่ควรมี"
เป็น10 ทุรลักษณ์ ที่ นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ผู้นำแพทย์ชนบท ชูขึ้นมานำเสนอ "คสช."
ประกอบด้วย
1. เป็นเด็กสร้างนักการเมืองที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการวิ่งเต้น
2. เป็นคู่หูกับนักการเมือง ผลักดันนโยบายทำลายโรงพยาบาลชุมชน เอื้อประโยชน์โรงพยาบาลเอกชนในเมืองใหญ่
3. รับนโยบายทางการเมือง เพื่อทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ หน่วยงานตระกูล ส. และระบบสาธารณสุขของชาติ หยุดกระแสปฏิรูป หยุดทำซีแอลยา เอื้อประโยชน์ให้บริษัทยาข้ามชาติ
4. ออกนโยบาย P4P ทำลายระบบค่าตอบแทนเหมาจ่ายที่จูงใจให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ทำงานในชนบท
5.ขัดขวางรถกู้ชีพของโรงพยาบาลต่างๆจากทุกภาคที่ช่วยดูแลการต่อสู้ของมวลมหาประชาชนสั่งให้รถทุกคันจอดรอไว้ที่ สธ. หรือโรงพยาบาลสงฆ์ ที่ไม่ใช่จุดเกิดเหตุ
6. ร่วมกับผู้มีอำนาจทางการเมืองในสาธารณสุข ทำลายภาพลักษณ์และงานขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำลายโรงงานผลิตวัคซีนของไทยที่ใกล้สร้างเสร็จ แต่งตั้งตัวเองและพวกพ้องเข้าเป็นบอร์ดและผู้บริหาร อภ. ทำให้ธุรกิจถูกกระทบอย่างหนัก ยอดจำหน่ายยาลดลง
7. เป็นนักฉวยโอกาส เปลี่ยนขั้วทางการเมือง เมื่อเห็นนักการเมืองที่ยึดเกาะกำลังจะหมดอำนาจลง ประกาศตัวเป็นฮีโร่นำการปฏิรูปสาธารณสุข เอาผลงานที่เคยคัดค้าน เช่น การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ การมีส่วนร่วมของประชาชน มาโฆษณาเป็นผลงานปฏิรูปของตัวเอง
8. เสนอแผนปฏิรูปสร้างเขตบริหารสุขภาพ ยึดอำนาจที่เคยกระจายให้นายแพทย์สาธารณสุข 76 จังหวัด ผอ.โรงพยาบาล กว่า 1,000 แห่ง มารวมศูนย์ที่ผู้ตรวจราชการ 12 เขต เพื่อง่ายต่อการสั่งการ เปิดช่องแสวงหาประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างได้ง่ายขึ้น
9. สั่งให้หน่วยบริการและเจ้าหน้าที่ไม่ให้ส่งข้อมูลการบริการ ไม่ให้เข้าร่วมงานและร่วมประชุมพัฒนางานกับ สปสช. เอาผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อเป็นเกมต่อรองอำนาจของตน
10. ประกาศยุบบทบาทและดึงหน่วยงานตระกูล ส. อาทิ สปสช., สสส., สช., สพฉ. ให้กลับไปอยู่ภายใต้อำนาจ สธ. เปิดยุคความขัดแย้งครั้งใหญ่ในระบบสาธารณสุข
ถือเป็น 10 ทุรลักษณ์ อันน่ารังเกียจ
แม้แกนนำหมอชนบทจะไม่ได้ระบุถึงใคร
แต่ใครๆก็รู้ว่าพุ่งเข้าหานพ.ณรงค์ ถือเป็นการประกาศสงครามระหว่าง "คนดี" ต่อ "คนดี" อย่างไม่ปิดบังอำพราง
อันนำไปสู่ "การขยายผล" เพื่อหักโค่นอย่างดุเดือด
ไม่ว่าการที่ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ได้เรียกร้องให้ คสช. ปลดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) และผู้อำนวยการ อภ.
โดยอ้างว่า บริหารจนทำให้เกิดวิกฤติด้านยาและพฤติกรรมส่อว่าจะดำเนินการให้ อภ. อ่อนแอ เพื่อประโยชน์ของธุรกิจยาข้ามชาติ
ข้อเรียกร้องนี้กระทบชิ่งไปถึง นพ.ณรงค์ ในฐานะที่เป็นบอร์ด อภ. อย่างเลี่ยงไม่ได้
จนต้องแก้ลำด้วยการให้บอร์ด อภ. ลาออก 10 คน โดยอ้างว่าเพื่อสนองนโยบายการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำ
งานรัฐวิสาหกิจของคสช.ไม่ใช่ทำตามข้อเสนอของ8 เครือข่าย
แต่ยังให้ นพ.ณรงค์ และ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. อยู่ในคณะกรรมการ อภ. ต่อไป
ถือเป็นการรีบดับไฟ เพื่อไม่ให้ คสช. เข้ามายุ่งเกี่ยว อันอาจจะทำให้เรื่องบานปลายออกไปอีก
ไม่เพียงเท่านั้น
ยังมีประเด็นร้อนแรงอีกเมื่อมี"มือมืด"เปิดเผยรายงานการประชุมของกระทรวงสาธารณสุขที่เสนอพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ทำนองว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอแนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลร้อยละ 30-50 ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ปมนี้ ร้อนเป็นไฟขึ้นมาทันที
เพราะถูกขยายผลทันทีว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังจะร่วมมือกับคสช.ล้มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ชาวบ้านทั่วประเทศ49 ล้านคนได้ประโยชน์
กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบางคนร่วมโหมไฟ โดยชี้ว่า ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กำลังวางยา คสช. เพราะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่ผลไม้พิษของทักษิณ ดังนั้น อย่าทำร้ายประชาชน
เช่นเดียวกับ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข พี่ใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมานำเสนอข้อมูล 9 ข้อเพื่อคัดค้านกรณีนี้เช่นกัน
โดยย้ำว่าการประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดจากกระทรวงสาธารณสุขนำโดยนายแพทย์สงวนนิตยารัมพงษ์ และภาคีเครือข่ายสาธารณสุขทั่วประเทศ
ไม่ใช่ "ซากเดนระบอบทักษิณ"
"ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับการยกย่องไปทั่วโลกเราจะทำลายเพชรเม็ดงามชิ้นนี้ไปเพื่อสนองกิเลส1,500ตัณหา 108 ของคนบางกลุ่มอย่างนั้นจริงๆ หรือ" นั่นคือสิ่งที่ นพ.มงคล ระบุ
น่าสังเกตการออกมาของ นพ.มงคล ไม่ธรรมดา
เพราะอย่าลืมว่าในช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นพ.มงคล ถูกเลือกให้เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
ทำให้แพทย์ชนบท ก้าวสู่ยุครุ่งเรือง ซึ่งแตกต่างจากยุค นพ.ณรงค์ ที่ชมรมแพทย์ชนบทถูกลดบทบาทลงตลอด
ขณะที่ สปสช. ซึ่งดูแลงบฯ 1.41 แสนล้านบาท และผู้ใช้บัตรทอง 49 ล้านคน ก็กำลังถูก นพ.ณรงค์ รื้อ-ลด-บทบาทลงไปเรื่อยๆ หากไม่รีบสกัดก็อาจจะสูญเสียการนำไปอย่างสิ้นเชิง
การออกมาของ นพ.มงคล จึงมีความหมาย
ความหมายที่จะให้ คสช. มองเห็น "คนดี" และพร้อมจะเป็น "คนทำงาน" เพื่อผลักดันโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้เดินหน้าต่อไป และจะทำให้ชมรมแพทย์ชนบท ยังคงมีบทบาสำคัญต่อไป
ขณะที่ นพ.ณรงค์ ก็ไม่ยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำฝ่ายเดียว โดยออกมาตอบโต้ว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เสนอประเด็นการร่วมจ่าย
เพียงแต่ในการประชุมช่วงที่เปิดให้เสนอความคิดเห็นนั้นมีคนเสนอแต่ก็เป็นข้อเสนอทั่วไปไม่ใช่มติที่ประชุม
"เรื่องที่เกิดขึ้นผมตั้งข้อสังเกตว่า มีกระบวนการทางการเมืองหรือไม่" นั่นคือสิ่งที่ ปลัดสาธารณสุข ตั้งข้อสังเกต
ขณะที่ นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แอ่นอกออกมารับว่าเป็นผู้เสนอความเห็นดังกล่าว แต่ไม่ได้เสนอว่า ต้องจัดเก็บในสัดส่วนร้อยละ 30-50 เพียงแต่เสนอว่า ระบบสาธารณสุขมีปัญหา ต้องแก้ไขด้วยวิธีการร่วมจ่าย พร้อมกับเขียนเผยแพร่ในไลน์ของเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุขว่า "คนที่พูดคือผมเอง ไม่อยากให้พุ่งเป้าที่ท่านปลัด เพราะขณะนี้มีคลื่นใต้น้ำพยายามล้มล้างปลัด"
ทำไมต้องล้มล้างปลัด
อันนี้ก็ต้องย้อนกลับไปอ่านเรื่องทั้งหมดแล้วจะเห็นชัดถึงการพยายามช่วงชิงอำนาจของเหล่าคนดีในสาธารณสุขโดยมีตำแหน่ง"รัฐมนตรี"และชิงธงการนำในสาธารณสุข เป็นเดิมพัน
ซึ่ง คสช. คงรับรู้ เพราะเสียง "นกหวีด" ปรี๊ดแตกจนแสบแก้วหูปานนั้น