เชื่อหรือไม่ว่าทุกวันนี้หน่วยงานราชการไทยไม่รู้เลยว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ถูกปล่อยมาจากเขื่อนจีน จะเมื่อไหร่ เท่าไหร่ อย่างไร
เรียกง่ายๆว่ามืดแปดด้าน
ทุกวันนี้การข่าวที่ทางการไทยทำได้คือแอบกระซิบถามเอาจากลูกเรือสินค้าจีนในเมืองเชียงแสน
ก่อนตรุษจีน เขื่อนในจีนงดปล่อยน้ำเพราะเป็นวันหยุด กิจกรรมการค้าจึงงดไปด้วย พอหลังตรุษจีน เขาปล่อยน้ำชุดใหญ่เพื่อให้เรือสินค้าล่องลงใต้ได้ตามปกติ แต่นี้เป็นแค่การรับรู้กันเองของชาวบ้าน
เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคนเล็กคนน้อยที่มีชีวิตผูกโยงอยู่กับแม่น้ำโขง(อ่านเรื่องคนเพาะถั่วงอกริมโขง http://transbordernews.in.th/home/?p=7585) ที่ต้องรับเคราะห์กรรมจากความเห็นแก่ตัวของทางการจีน และความไร้น้ำยาของทางการไทยที่มัวแต่ชื่นชมและเอาใจจีน จนมิกล้าแม้แต่จะเอาความทุกข์ยากของประชาชนตัวเองที่เดือดร้อนจากเขื่อนในจีนบอกเล่าหรือต่อรองกับเขา
ในขณะนี้การทูตระดับบนพยายามป่าวประกาศความสัมพันธ์อันแนบแน่นของรัฐไทย-รัฐจีน แต่การทูตระดับล่าง ชาวบ้านทั้งไทย-ลาวต่างชิงชังพฤติกรรม "เอาแต่ได้"ของจีนมากขึ้นทุกวัน
เป็นความล้มเหลวสะท้อนให้เห็นชัดผ่านถั่วงอกริมโขง
---------
ขอบคุณภาพโดยมิรินดา
Paskorn Jumlongrach
ooo
ภาพโดย มิรินดา |
ที่มา คนชายข่าว คนชายขอบ
BY TRANSBORDERNEWS
ON 11 มีนาคม, 2015
ภาพเกษตรกรที่พิถีพิถันปลูกถั่วงอกริมโขง เป็นภาพชินตาที่ผู้มาเยือนเชียงของต้องพบเห็น อย่างกรณีมานิดา วุฒิกร วัย 44 ปี ชาวบ้านเวียงดอนชัย ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เธอกับสามีประกอบอาชีพปลูกถั่วงอกมานาน
ทุกๆ 4-5 วันเธอต้องเตรียมถังสำหรับเพาะถั่วงอก เริ่มจากเตรียมถังพลาสติกสะอาด แล้วลงไปขุดทรายสะอาดริมน้ำโขงที่มีความชื้นหมาดๆ มาใช้เพาะถั่วงอก โดยเธอให้เหตุผลว่า ที่ต้องใช้ทรายที่ตกตะกอนมาจากแม่น้ำโขง เพราะมีความชื้นเยอะและไม่มีสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้ามาปนเปื้อน เมื่อได้ทรายพอประมาณต่อการเพาะหนึ่งครั้งแล้ว ขั้นตอนของการผลิตถั่วงอกง่ายๆ แค่เจาะรูระบายอากาศรอบๆ ถัง จากนั้นใช้ทรายวางสลับเม็ดถั่วประมาณ 5 ชั้นแล้ว แล้วนำสังกะสีมาคลุมไว้ ทิ้งไว้นาน 3-4 วันก็เก็บไปขายได้
“ลงทุนครั้งหนึ่งใช้เม็ดถั่วประมาณครึ่งกิโลกรัม ใช้ได้ทั้งถั่วเขียว และถั่วแขก ราคาเม็ดถั่วอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท พอได้ถั่วงอกก็จะสามารถเก็บขายได้ราคากิโลกรัมละ 30 บาท แต่ระหว่างการเพาะนั้นต้องตื่นมาดูระดับน้ำทุกเช้าว่าน้ำขึ้นหรือเปล่า ถ้าน้ำขึ้นต้องย้ายถังออกขยับเข้าใกล้ฝั่ง แต่ก็พอมีรายได้ในแต่ละวันแบบง่ายๆ” มานิดาอธิบายถึงวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย
เมื่อ 2-3 วันก่อน ครอบครัวของมนิดาต้องช่วยกันขนถังถั่วงอกขึ้นฝั่งแทบไม่ทัน เพราะจู่ๆ น้ำโขงก็พรวดพราดสูงขึ้น ชีวิตของคนปลูกถั่วงอกและอีกหลายอาชีพที่ผูกโยงอยู่กับน้ำโขงต้องเปลี่ยนแปลงและสุ่มเสี่ยง หลังจากที่จีนสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำสายนี้กว่า 20 ปีก่อน
มีคำถามอยู่เสมอ “ทำไม่ชาวบ้านริมโขงต้องแบกรับภาระ”นี้