คนไทยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่การปฏิวัติ
๒๔๗๕ จนถึงทุกวันนี้ เรามีบทเรียนอะไรบ้าง? บทเรียนที่อยากจะพิจารณาในบทความนี้คือ
1. ความสำคัญของการสร้างพรรคมวลชน
2. การหลีกเลี่ยงความอ่อนแอที่นำไปสู่การพึ่งพาทหาร
3. ความสำคัญของการจัดตั้งมวลชนรากหญ้าด้วยแนวความคิดทางการเมืองที่ทวนกระแส
4. จุดอ่อนของการประนีประนอมกับอำนาจเก่า
5. การเข้าใจว่าพลังมวลชนดำรงอยู่ในส่วนไหนของสังคม
ความสำคัญของการสร้างพรรคมวลชน
ในการเตรียมตัวเพื่อทำการปฏิวัติ
๒๔๗๕ อ.ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้ง “คณะราษฏร์” ก็จริง แต่คณะราษฏร์เป็นองค์กรใต้ดินที่ประกอบไปด้วยปัญญาชนและข้าราชการ
มันไม่ใช่ “พรรคมวลชน” ที่มีสมาชิกเป็นแสนๆ
ในแง่หนึ่งเราอาจยอมรับได้ว่าการวางแผนเพื่อโค่นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องเป็นแผนลับขององค์กรใต้ดิน
แต่ในอีกแง่หนึ่งการสร้างแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตยในรูปแบบเปิดเผยก็ไม่ได้ทำ เช่นการไปรณรงค์เพื่อให้นักศึกษาและคนงานต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประจำวัน
เพราะแม้จะมีระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็จริง
แต่พื้นที่ในการแสดงออกไม่ได้ปิดอย่างเบ็ดเสร็จ และมีการเคลื่อนไหวของคนงานเพื่อเรียกร้องประเด็นปากท้อง
หรือมีการแสดงความเห็นเรื่องสิทธิสตรีเป็นต้น แล้วที่สำคัญที่สุดคือ หลังปฏิวัติสำเร็จไม่มีการลงมือจัดตั้งพรรคมวลชนอย่างเป็นระบบ
อ.ปรีดีจึงอ่อนแอเมื่อเทียบกับทหารที่ร่วมปฏิวัติ
อีกแง่ที่เราเห็นคือระบบการเลือกตั้งในยุคแรก
ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่พลเมืองทุกคนมีหนึ่งเสียงเพื่อเลือกผู้แทนในสภา
ซึ่งแสดงว่าอ.ปรีดีและคณะราษฏร์ไม่มองว่ามวลชนมีความสำคัญมากที่สุดในการสร้างประชาธิปไตย
ในการลุกฮือ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
ฝ่ายประชาชนมีพรรคมวลชนคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่
พคท.ไม่ได้ทุ่มเทผู้ปฏิบัติการลงไปที่กรุงเทพฯในการต่อสู้ร่วมกับนักศึกษา ก่อนเหตุการณ์ที่ล้มเผด็จการทหารมีการถอนสมาชิกสำคัญออกไป
เพราะพรรคมองว่าคงจะถูกปราบ
แต่พอนักศึกษา กรรมาชีพ
และประชาชนชนะ พรรคก็ทุ่มเทมากพอสมควรในการพยายามจัดตั้งทั้งนักศึกษาและกรรมาชีพ อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้น
ก็ถอนคนออกจากเมืองไปอยู่ป่าตามแนวทางชนบทล้อมเมือง คนที่อยู่ในเมืองจึงขาดพลังที่จะสู้การปราบปราม
ล่าสุดเมื่อเกิดรัฐประหาร
๑๙ กันยา ที่ล้มรัฐบาลทักษิณ แนวคิดเรื่องการสร้างพรรคมวลชนเกือบจะหายสิ้นไป มีแต่พวกเราในเลี้ยวซ้ายที่มองว่าเรื่องนี้สำคัญ
คนเสื้อแดงงอกออกมาจากพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคนายทุน และขยายไปสู่การจัดตั้งกันเองในมวลชนเสื้อแดง
แต่ภายในมวลชนเสื้อแดงการจัดตั้งพรรคหรือองค์กรที่อิสระจากการนำของทักษิณหรือนักการเมืองไทยรักไทยก็อ่อนแอ
ในหมู่คนที่มองว่าควรเคลื่อนไหวอิสระมีการหวงความอิสระของแต่ละกลุ่ม และต่อต้านแนวคิดเรื่องการตั้งพรรคเพื่อแข่งแนวกับไทยรักไทย-เพื่อไทยหรือ
นปช. ดังนั้น
นปช.กับเพื่อไทยสามารถผูกขาดการนำทางการเมืองได้โดยไม่ถูกท้าทายจากเสื้อแดงก้าวหน้า
ซึ่งตอนนี้นำไปสู่การรอดูว่าทักษิณกับยิ่งลักษณ์จะประนีประนอมกับฝ่ายเผด็จการอย่างไร
และเมื่อมีการเลือกตั้งในอนาคตพื้นที่ประชาธิปไตยจะลดลง แล้วที่น่าเป็นห่วงคือคนเสื้อแดงส่วนใหญ่อาจยอมจำนนตามคำแนะนำของแกนนำ
การหลีกเลี่ยงความอ่อนแอที่นำไปสู่การพึ่งพาทหาร
เนื่องจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕
พึ่งพาทหารมากเกินไปและไม่มีการสร้างพลังมวลชน กองทัพก็เข้ามามีบทบาททางการเมืองและบ่อยครั้งเป็นคู่แข่งนักการเมืองพลเรือน
ในที่สุดจอมพล ป. ก็สร้างประเพณีอันเลวทรามของการปกครองโดยเผด็จการทหาร ซึ่งยังคงดำรงอยู่ทุกวันนี้ในรูปแบบการที่ประยุทธ์มองว่าตนเองมีสิทธิ์แทรกแซงการเมืองแบบหน้าไม่อาย
และที่อันตรายที่สุดคือคนจำนวนมากมองว่าเราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ถ้าไม่ “เชิญทหาร” มาทำรัฐประหาร
อีกแง่หนึ่งของปัญหาที่มาจากการเน้นกำลังทหาร
คือแนวสู้ของ พคท. ในรูปแบบกองทัพปลดแอกตามแนวคิด “ชนบทล้อมเมือง” แนวนี้ล้มเหลวและพ่ายแพ้เพราะกำลังทหารของฝ่ายรัฐไทยเหนือกว่า
และ พคท.พึ่งพาการช่วยเหลือทางทหารจากประเทศเพื่อนบ้านและจีน อีกประเด็นที่สำคัญคือการต่อสู้ที่เน้นกองกำลังเป็นการหันหลังให้กับมวลชนที่เคลื่อนไหวแบบเปิดเผยในเมืองได้
เมื่อมีพื้นที่เสรีภาพเกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ แค่ศึกษาซิเรียกับอียิปต์หรือตูนีเซียก็จะเห็นภาพชัดขึ้น
นอกจากนี้คำถามสำคัญคือ ถ้า
พคท. รบชนะรัฐไทย ใครจะปกครองประเทศ? มันคงจะเป็นเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เหมือนในลาว
เวียดนาม จีน หรือเขมร มันจะไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งปวงทั่วโลกในยุคนั้นเป็นพรรคคอมมิวนิสต์สาย
“สตาลิน-เหมา” ที่ปฏิเสธการนำตนเองของมวลชน นี่คือสาเหตุที่อดีตผู้ปฏิบัติการของ
พคท.จำนวนมาก โดยเฉพาะแกนนำ เอ็นจีโอ หรือนักวิชาการชนชั้นกลาง
หรือแม้แต่พวกทหารพคท.เก่า กลายเป็นฝ่ายทำลายประชาธิปไตยในยุคนี้ พูดง่ายๆ เขาไม่เคยปลื้มในประชาธิปไตยเท่าไร
ทุกวันนี้เวลามีกลุ่มเสื้อแดงกลุ่มเล็กๆ พูดเรื่องการจับอาวุธ
มันเป็นแค่ละครตลกร้าย เพราะทำจริงก็ทำไม่ได้ และถ้าทำก็คงแพ้ตั้งแต่แรก
ประชาธิปไตยและสังคมนิยมเป็นสิ่งที่มาจากการต่อสู้ของมวลชนจำนวนมาก
ไม่ได้มาจากกองทัพปลดแอก
ความสำคัญของการจัดตั้งมวลชนรากหญ้าด้วยแนวความคิดทางการเมืองที่ทวนกระแส
การที่ พคท. ในอดีตเป็นพรรคมวลชนที่แท้จริงและเป็นพรรคมวลชนแรกของไทย
ไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญหา พรรคมีจุดอ่อนสำคัญคือขาดประชาธิปไตยภายใน
และแนวคิดที่เสนอกับมวลชนเป็นแนว “สตาลิน-เหมา” ปัญหาของแนวนี้คือไม่ตั้งเป้าเพื่อปฏิวัติล้มทุนนิยม
แต่ตั้งเป้าเพื่อพัฒนาทุนนิยมต่างหาก พคท. มองว่าไทยล้าหลังและเป็นระบบศักดินา ดังนั้นมีการเสนอให้ทุกคนทำแนวร่วมกับนายทุนที่รักชาติ
มันเป็นการเชิดชูแนวชาตินิยมแทนแนวชนชั้น
และในรูปธรรมมันหมายความว่าคนทำงานส่วนใหญ่จะต้องยอมรับสภาพของตนเองในการเป็นเบี้ยล่างแบบลูกจ้างในยุคปัจจุบัน
มันยอมรับว่าเราต้องมีชนชั้นปกครองที่อยู่เหนือคนธรรมดา
มันไม่ท้าทายความคิดกระแสหลัก
แค่ท้าทายเผด็จการทหาร ดังนั้นอดีตผู้ปฏิบัติการ พคท. ส่วนหนึ่งหันไปเป็นกองเชียร์สำคัญของนายทุนอย่างทักษิณ
และต่อมาก็หันไปตั้งความหวังกับกองทัพหรืออำมาตย์ พูดง่ายๆ ไม่มีการคิดว่าคนชั้นล่างควรและสามารถปลดแอกตนเองจากล่างสู่บน
แนวคิดของ พคท.
มีจุดอ่อนอีกแง่หนึ่งคือ ทำให้ “ลูกหลาน พคท.” ไม่เข้าใจธาตุแท้ของกลไกตลาดเสรีในระบบทุนนิยม
ทุกวันนี้คนเสื้อแดงส่วนใหญ่หลงคิดว่าฝ่ายสุเทพหรือเสื้อเหลืองไม่เห็นด้วยกับเสรีนิยมกลไกตลาด
แต่แท้จริงแล้วพวกนั้นคือพวกคลั่งตลาดมากกว่าทักษิณเสียอีก เพราะเขาต่อต้านการแทรกแซงโดยรัฐเพื่อประโยชน์คนจน
กรณีการคัดค้านโครงการจำนำข้าว การด่าแนว “ประชานิยม”
หรือการกู้เงินเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เป็นตัวอย่างที่ดี
อีกแง่หนึ่งของปัญหานี้
คือพวกที่ปฏิเสธทฤษฏีและอ้างว่าเป็น “ผู้ปฏิบัติ” เช่นแกนนำ
เอ็นจีโอ ที่มองว่าพวกเราเป็นหนอนหนังสือที่ไม่เข้าใจโลกจริงหรือพวก “ฝ่ายซ้ายไร้เดียงสา” ที่เคร่งทฤษฏี ทั้งๆ ที่พวกเขาต่างหากไม่เข้าใจโลกจริงเพราะอาศัยทฤษฏีนายทุนไปโดยไม่รู้ตัว
พวกเขาไม่ชอบอ่านหนังสือหรือเรียนบทเรียนจากทั่วโลก
ตัวอย่างที่ดีคือพวกที่สนับสนุนการมี
“องค์กรอิสระ”
โดยเฉพาะในยุคที่ร่างรัฐธรรมนูญปี ๔๐ เพราะพวกนี้ไม่สนใจที่จะเข้าใจว่ามันเป็นแนวคิดเสรีนิยมของคนชั้นบน
เพื่อลดเสียงประชาธิปไตยของคนธรรมดา
แนวคิดผิดๆ ของ พคท. เรื่องไทยล้าหลังและเป็นระบบศักดินายังคงตกค้างอยู่ทุกวันนี้
เพราะเสื้อแดงจำนวนมากหลงมองว่า “ศักดา” อยู่เบื้องหลังการทำลายประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่กลุ่มอำนาจที่ทำลายประชาธิปไตยปรากฏตัวให้เห็นชัดคือทหาร
ข้าราชการชั้นสูง นายทุนที่ทะเลาะกับทักษิณ และชนชั้นกลาง ซึ่งรวมถึงพวกนักวิชาการฝ่ายขวาและเอ็นจีโอด้วย
จุดอ่อนของการประนีประนอมกับอำนาจเก่า
การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ประนีประนอมกับอำนาจเก่าตั้งแต่แรก
เพราะมีการพยายามทำแนวร่วมกับข้าราชการเก่า และเสนอให้คงไว้ตำแหน่งกษัตริย์ในฐานะประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
แต่ปรากฏว่าฝ่ายสนับสนุนเจ้าพยายามก่อกบฏเพื่อกลับคืนสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
อย่างไรก็ตามฝ่ายกบฏที่สนับสนุนเจ้าในที่สุดก็ไม่สำเร็จ และต้องหันไปแสวงหาเป้าหมายอื่นในการคงไว้อำนาจอนุรักษ์นิยมภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญ
โดยเฉพาะการจับมือกับทหารเผด็จการโกงกินอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในยุคสงครามเย็น
สาเหตุที่ฝ่ายก้าวหน้าในคณะราษฏร์ยอมประนีประนอมกับอำนาจเก่า
ก็เพราะฝ่ายก้าวหน้าไม่ยอมหรือไม่กล้าปลุกระดมมวลชนในองค์กรจัดตั้งทางการเมืองเพื่อสร้างประชาธิปไตยและความเท่าเทียม
ผลของการประนีประนอมคือ ลักษณะสังคมไทยกลายเป็นระบบกึ่งประชาธิปไตยผสมกับยุคเผด็จการ
และที่สำคัญด้วยคือสังคมไทยแช่แข็งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน
เพราะตั้งแต่ปีแรกหลังการปฏิวัติ
๒๔๗๕ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ตอนนั้นนำโดยกษัตริย์รัชกาลที่๗ มีการล้มและปฏิเสธข้อเสนอของ
อ.ปรีดี ที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ สร้างงาน เก็บภาษีในอัตราสูงจากเศรษฐี และแบ่งที่ดินให้ประชาชนในชนบทใช้อย่างเท่าเทียมกัน
ทุกวันนี้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมนี้ยังดำรงอยู่
ภัยหลักต่อระบบประชาธิปไตยที่ท้าทายเราในปัจจุบัน คือการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์
ทักษิณ และ แกนนำ นปช. ไม่ยอมนำการต่อสู้กับเผด็จการทหาร
และสยบยอมหาทางประนีประนอม โดยอ้างว่า “ไม่มีทางเลือกอื่น” แต่เราควรเข้าใจว่าสถานการณ์นี้สะท้อนสิ่งที่เคยเกิดในการปฏิวัติ
๒๔๗๕ คือพวกที่นำเสื้อแดงรวมถึงพรรคเพื่อไทยไม่ยอมจัดตั้งมวลชนเพื่อเอาชนะฝ่ายเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จ
พฤติกรรมนี้อธิบายได้จาก “ทฤษฏีปฏิวัติถาวร”
ของนักมาร์คซิสต์ ซึ่งเคยนำเสนอไปแล้วใน นสพ. เลี้ยวซ้าย ถ้าจะสรุปก็คือ ในอดีต คาร์ล มาร์คซ์ เคยตั้งข้อสังเกตในช่วงที่มีการปฏิวัติลุกฮือปี 1848
ในยุโรปว่า นายทุนกลัวการปลุกระดมและการลุกฮือของประชาชนชั้นล่าง
มากว่าที่จะรังเกียจชนชั้นนำเก่าที่เป็นคู่แข่งของนายทุน
เพราะนายทุนกลัวว่ากรรมาชีพจะล้มอำนาจเก่าและล้มนายทุนไปด้วย นายทุนจึงไปจับมือประนีประนอมกับอำนาจเก่า
ดังนั้นทั้งคณะราษฏร์ในยุค ๒๔๗๕ และเพื่อไทยหรือแกนนำ นปช. ในปัจจุบัน เกรงกลัวที่จะระดมมวลชนเพื่อต่อสู้และขยายพื้นที่ประชาธิปไตย
ด้วยเหตุนี้เราต้องจัดตั้งและปลุกระดมกันเอง อิสระจากพรรคเพื่อไทยและ นปช.
การเข้าใจว่าพลังมวลชนดำรงอยู่ในส่วนไหนของสังคม
หลังยุคป่าแตก
นักเคลื่อนไหวจำนวนมากในไทยและที่อื่นหลงเชื่อว่าแนวความคิดสังคมนิยมหรือมาร์คซิสต์หมดยุค
เพราะไม่เข้าใจว่าระบบที่ล้มเหลวในรัสเซีย ยุโรปตะวันออก หรือจีน เป็นระบบเผด็จการ
“สตาลิน-เหมา”
ซึ่งแตกต่างกับแนวคิดของมาร์คซ์ หรือ เลนิน พวกนี้จึงสรุปว่าชนชั้นกรรมาชีพไม่มีพลังในสังคมอีกแล้ว
จริงๆ สายคิดเหมาเจ๋อตุงหันหลังให้กับกรรมาชีพในเมืองก่อนหน้านี้อีก
เมื่อใช้แนวรบแบบ “ชนบทล้อมเมือง”
ผลของการหันหลังให้กับพลังกรรมาชีพคือ
ไม่มีนักปฏิบัติการสังคมนิยมที่ลงไปทำงานกับกรรมาชีพในสหภาพแรงงานเหมือนเมื่อก่อน
และอดีต พคท. หลายคนสรุปว่าการล้มอำนาจรัฐเก่า “เป็นไปไม่ได้” นี่คือสาเหตุที่หลายคนหันไปทำงานแบบเอ็นจีโอ
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลพวงของความคิดแบบนี้คือ
คนที่เริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลทักษิณ ที่เคยเป็นฝ่ายซ้ายหรือนักเคลื่อนไหวทางสังคม
มองว่าคนชั้นล่างอ่อนแอ ถูกซื้อง่าย และไม่มีใครที่มีพลังในการเปลี่ยนสังคม
มันนำไปสู่การเรียกร้องอะไรๆ จากเบื้องบน เช่นเรื่องนายกมาตรา ๗
และการโบกมือเรียกให้ทหารทำรัฐประหาร
สิ่งที่พวกนั้นไม่เข้าใจคือ
คนทำงานธรรมดาที่เราเรียกว่า “กรรมาชีพ” เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทย
และเป็นผู้ที่ผลิตมูลค่าทั้งปวงด้วยการทำงาน นี่คือความจริงพื้นฐานที่มาร์คอธิบายไว้นานแล้ว
และมันไม่เคยเปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่ลักษณะงาน เทคโนโลจี และวิถีชีวิตประจำวันของคนทำงานเปลี่ยนไปตามยุค
ดังนั้นการนัดหยุดงานและการยึดสถานที่ทำงานเป็นอาวุธที่สำคัญกว่าการจับปืนสำหรับฝ่ายเรา
ยิ่งกว่านั้นถ้าศึกษาการต่อสู้ทั่วโลก จะเห็นว่าการพัฒนาประชาธิปไตยในเกือบทุกประเทศมาจากการต่อสู้ทางการเมือง
โดยเฉพาะในพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ
ปัญหาในไทยคือขบวนการแรงงานในซีกที่ก้าวหน้าที่สุดไม่ยอมสร้างพรรคการเมืองแบบที่เน้นการเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้ามากกว่าการลงสมัคร
สส. และไม่ยอมพัฒนาการศึกษาทางการเมืองแบบสังคมนิยม เพราะเลือกเคลื่อนไหวแบบ “ลัทธิสหภาพปฏิวัติ”
โดยมองว่าการมีพรรคไม่สำคัญ มีสหภาพแรงงานก็เพียงพอ....นี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ไข
Giles Ji Ungpakorn