วันศุกร์, พฤษภาคม 05, 2560

เมื่อเนติวิทย์ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิต "สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ สำนักนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

ขอบคุณการ์ตูน 'ไข่แมว'
เกิดเป็นข่าวใหญ่เมื่อ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วยังกลายเป็นแรงกระทบไปถึงคนสำคัญใน ม.ธรรมศาสตร์ด้วย

ต่อไปสองมหาวิทยาลัยคู่ขวัญไม่ต้องแข่งฟุตบอลประเพณีทุกปีก็ได้ เปลี่ยนไปเป็นโต้วาที เมื่อใดที่เกิดประเด็นเกี่ยวพันปัญหาบ้านเมืองขึ้นก็ ดีเบทกันแทน น่าจะดี

ทันทีที่รู้ผลการลงคะแนนของที่ประชุมตัวแทนนิสิตจากคณะต่างๆ ๓๖ คน ที่ประกอบขึ้นเป็นสภานิสิตฯ ว่าเขาได้รับ ๒๗ เสียงสนับสนุน ก็มีการสัมภาษณ์สดถ่ายทอดเฟชบุ๊คไล้ฟ์ เตรียมการไว้รอการเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ ๑ มิถุนายน



ถามตอบกันเป็นเรื่องเป็นราวดีกว่าประชุม สปท. ที่พูดกันถึงเรื่องยิงเป้าเสียอีก เขาเปิดฉากด้วยการปาวารณาตัวจะนำจุฬาไปสู่การมีบทบาททางสังคมทั้งในระดับชาติและระดับโลก จากนั้นก้ไปถึงคำถามว่างานแรกจะทำอะไร

“ปฏิรูปการรับน้อง” อันเป็นกิจกรรมที่เขาเริ่มตั้งแต่เข้าจุฬาปีหนึ่งใหม่ๆ เคยเป็นข่าวครึกโครม แต่คราวนี้เขาวางแผนจะทำอย่างเป็นระบบ “ให้คณะต่างๆ มาคุยกัน”

เขาว่า “เราน่าจะมีปฏิญญาร่วมกัน ว่าการรับน้องควรลดความรุนแรง มีการจำกัดอำนาจ...” เขาเผยด้วยว่าหลังสอบเสร็จจะเริ่มลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นตามชมรมต่างๆ แม้กระทั่งในหมู่คณาจารย์

“ผมหวังว่าผมจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรประชาคมจุฬาที่เป็นประชาธิปไตย ที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบ้านเมืองของเรา ที่ตอนนี้เหมือนไม้หลักปักขี้เลน”

งานอีกชิ้นหนึ่งคือ First Date วันที่นิสิตทุกคณะได้มีโอกาศพบกันครั้งแรก เขาจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากบรรดานิสิต พร้อมไปกับจัดให้มีการแนะแนวการศึกษาด้วย

“ผมว่าการศึกษาไทยมันเป็นปัญหามาก สอนให้คนสยบยอมกับอำนาจ ไม่กล้าพูดความจริง ทำให้เรามองโลกแคบไป

ผมว่าจุฬาของเราตอนนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่แปรรูปกลายเป็นบริษัท ขายสินค้าผลิตสินค้าเยอะไป เราต้องมีจิตวิญญานของความเป็นจุฬา เหมือนที่เขาบอกว่า

สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ สำนักนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

มุขนี้ทำให้ผู้ชมคลิปได้ฮือ ฮา เฮ ทันใด พอผู้สัมภาษณ์ร้อง “อ้าว” เขาตอบว่า “ใช้ได้ครับ ใช้ได้เหมือนกัน” ที่เอาขึ้นต้นคำขวัญของ ม.ธ.ก. มาต่อท้ายด้วยจุฬา

หากจะทำความเข้าใจว่าทำไมเขาจึงติดตลกอย่างนั้น ต้องไปดูที่เขาให้สัมภาษณ์ ข่าวสด หนังสือพิมพ์ในเครือมติชน

ทุกวันนี้มีคนมองว่าธรรมศาสตร์กำลังสวนทางกับจุฬาฯ เพราะดูเหมือนว่าจุฬาฯ มีคนอย่างเรามาเคลื่อนไหวหลายเรื่องๆ แต่ธรรมศาสตร์กลับดูไม่ค่อยมีใครออกมาเคลื่อนไหว ตรงนี้เรามองอย่างไร

...ผมเคยปะทะคารมกับสมาชิกสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาแล้ว เค้าเอาแต่นำเสนอประวัติศาสตร์มหาลัยตัวเอง พูดเรื่องอดีตว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง

แต่พอผมถามว่า คุณละอายมั้ยที่มีคนอย่างสมคิด (เลิศไพฑูรย์) เป็นอธิการบดี เค้าบอกก็เรื่องของเค้าสิ ผมถึงรู้สึกก็เค้าเอาแต่ขายอดีต ไม่ได้ดูสถานการณ์ปัจจุบันเลย

ตรงนี้มีแต่ฮือไม่มีฮาเฮ ด้วยเหตุที่อธิการบดีอย่างสมคิด ดันไปผูกเงื่อนไว้ให้ถูกจองเวร เมื่อโพสต์ข้อความแขวะ ข่าวสดเพียงเพราะต้องการ ‘kiss arsh’ สปท. (หมายเหตุ โปรดดูคำแปล ‘arsh’ จาก Urban Dictionary)

“เรื่องฝนตกหลังคาตึกเอสซีรั่ว นศ.หวิดตาย ทั้งๆ ไม่มี นศ.เรียนในห้องนั้น ผมสนับสนุนว่าควรมีองค์กรควบคุมสื่ออย่างยิ่ง”

อย่างไรก็ดี เนติวิทย์ได้โพสต์เฟชบุ๊คให้หลัง “เรียน บรรดาศิษย์ มธ.” ว่าไม่ได้มีเจตนาตำหนิธรรมศาสตร์ “ว่าไม่มีคนที่ไม่กล้าสู้” แต่อย่างใด

เจตนาที่ผมกล่าวไปนั้น ผมมุ่งหมายไปที่ชี้ให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยที่ผม admire มากในปัจจุบันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน

การที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยที่มีประวัติศาสตร์เพื่อสิทธิเสรีภาพยาวนาน กลายออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องสื่อก็ดี หรือการรับใช้เผด็จการก็ดี สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องที่สำคัญมาก...

ผมไม่ได้ต้องการเล่นประเด็นสถาบันนิยมว่าจุฬาฯกับธรรมศาสตร์อันไหนดีกว่ากัน ผมไม่เคยเห็นว่าการเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยแบบนี้สำคัญเลย หรือใครเสียสละมากกว่ากัน ซึ่งนั่นไม่ใช่คำถามที่สำคัญในประเด็นที่ผมต้องการสื่อถึงภาวะที่เป็นอยู่นี้ ว่าพวกเราสามารถทำอะไรกันได้บ้าง”

เป็นการต่อล้อต่อเถียงกันอย่างจรุงปัญญาธรรมดา ต่างกับประดาพวกอคติซึ่งหมกมุ่นแต่กับปมเขื่องในใจของตน อย่างเช่นเทพมนตรี ลิมปะพยอม ที่เปิดซีรี่สั้น แซะ เนติวิทย์

เริ่มด้วยลูบหัว “ลุงขอแสดงความยินดีด้วย เห็นได้ชัดว่าหลานคนนี้สิ้นฤทธิ์หมดพิษสงแล้ว อย่าไปคิดมาก เพราะตำแหน่งนั้นจะดัดนิสัยใจคอให้เป็นเด็กดีมีความรับผิดชอบมากขึ้น”

แล้วตบหน้า “สื่อมวลชนให้ความสำคัญกับเนติวิทย์มากเกินไป ในขณะที่เด็กยากจนกลับไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร ครูบาอาจารย์ที่ให้ท้ายเนติวิทย์เป็นพวกอีแอบ สนใจแต่อุดมการณ์ขายฝันตายไปอีกกี่สิบชาติก็ล้มเหลว”

ลงท้ายกลายเป็นองุ่นเปรี้ยว “ครูบาอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬา ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเนติวิทย์ กำลังจะทำให้เขาเป็นอันตราย”

อีกคนใช้ชื่อ ธารา ทิพย์สังวาลย์ ตีวัวไม่พ้นคราดว่า “จุฬาเคยเป็นสถาบันที่มีเกียรติ ใครๆ ก็อยากเข้า” ลูกสาวก็อยากเข้าแต่เปลี่ยนใจ เพราะได้เห็นข่าว “ไอ้เหี้ยนี้บ่อยๆ” เลยบอกแม่ว่า “หนูเปลี่ยนใจแระ หนูกลัวเรียนจบแล้วบริษัทจะไม่รับ”

เสร็จแล้วดันประจานเสียนี่ “ทุกวันนี้จบจุฬาฯ เขาคัดออกจากตะกร้าเลย (ยกเว้นเด็กเส้นนะ)”

ส่วนคนนี้ ศุภกิจ เฉลิมลาภ นักออกแบบตัวอักษร ‘font’ สำหรับคอมพิวเตอร์ ได้โอกาสอัดประชาธิปไตย “เมื่อเนติวิทย์ได้รับเลือกให้เป็นประธานนิสิตฯ ยิ่งตอกย้ำให้ได้รู้ว่า ระบบเลือกตั้งมันไม่ตอบโจทย์ในสังคมไทย”

นั่นฟังคุ้นๆ นะกับพวกที่เลือกตั้งแล้วไม่เคยชนะ ก็เลยอ้างว่าระบบไม่ดี

ตัวอย่างรายสุดท้ายนี่ไม่รู้ใครคือ “ติ่งร่าน โดนเด็กตบเกรียน” เคยเห็นแต่ติ่ง บลูสกาย ถูกอ้างอิงว่าเป็น “คนที่พยายามกล่าวหาสภานิสิตชุดปี ๒๕๖๐ และความชอบธรรมของกระบวนการได้มาซึ่งประธาน”

Tanawat Wongchai อธิบายว่า “สมาชิกสภานิสิตจุฬาที่มาเข้าประชุมเมื่อเช้า ทั้ง ๓๖ คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากนิสิตในคณะของตนเอง คณะละ ๓ คน...ไม่เหมือนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทุกวันนี้มาจากไหนก็ไม่รู้ ทึกทักแต่งตั้งกันเองทั้งนั้น

“สภานิสิตชุดนี้มาอย่างถูกต้อง และมีความชอบธรรมทุกประการ”

การเลือกตั้งประธานสภานิสิต รวมทั้งตำแหน่งรองประธาน (๒ คน) และเลขาธิการ เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านระบบตัวแทน...ก็ไม่เหมือนนายกรัฐมนตรีในวันนี้...

ที่มาจากไหนไม่รู้ เอา สนช. ที่ตัวเองแต่งตั้งมาเลือกตัวเองอีกที ตลกมาก”

ดังนั้น “อย่าเอาอคติมาบังตาเลยครับ ฟังข้อเท็จจริงบ้าง อย่าสักว่าเอาแต่วิจารณ์”