วันศุกร์, พฤษภาคม 05, 2560

ทำไมถึงไม่สามารถ "ยอมรับผล" จากการเลือกตั้งที่สภานักศึกษากันได้?

บทความจาก Facebook ส่วนตัว:


เห็นข่าวของเนติวิทย์ กระหึ่มหน้า Facebook Feeds ก็เลยขอเขียนจากความคิดของเราบ้าง

-----------------------


แทนที่จะยอมรับผลของการเลือกตั้ง ของนิสิตนักศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


กลับกลายเป็นว่า ตามหน้าเพจต่างๆ มีการ "เย้ยหยัน" และ "ประชดประชัน" กันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


ทำไมถึง "ไม่สามารถยอมรับผล" ของ "การเลือกตั้ง" จากบุคคลที่มีสิทธิ์ออกเสียงกันได้?


และก็คงจะทราบกันว่า คนที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไป เขาหรือเธอก็ต้องทำตาม "นโยบาย" ต่างๆ ที่กำหนด หรือ กล่าว "หาเสียง" ไว้ในเวลาแรก


มันก็เหมือนกับ "ระบอบประชาธิปไตย" นั่นเอง ที่บุคคลที่ได้่รับการ "คัดเลือก" ก็เข้าไปทำงานตามที่สัญญาไว้กับหมู่คณะ หรือ ประชาชนในเขตเลือกตั้งของตน


และที่สำคัญที่สุดคือ มันมีกำหนด "วาระ" หรือ Term Limit อย่างตายตัวอยู่เสมอ (อาจจะเป็น 1 ปี, 2 ปี หรือ 4 ปี ก็ว่ากันไป)


ไม่ใช่ กลายเป็น "ผู้นำ" อย่างไม่ "ยอมลงจากเก้าอี้" (บริหารอยู่ในตำแหน่งไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด)


-----------------------


ระบอบประชาธิปไตย คือ การ "ให้เวลา" กับ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาจากเสียงส่วนใหญ่ กระทำการต่างๆ ตามที่ตนเองได้ให้ "คำมั่นสัญญา" ไว้


ถ้าเขาหรือเธอ ทำไม่ดี หรือ ไม่สามารถปฎิบัติตามคำมั่นสัญญาได้ กฎต่างๆ ก็สามารถอนุญาตให้กระทำการ "ซักฟอก" หรือ แม้แต่ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าทำไมถึงมีความคิดเห็นแบบนั้น ฝีมือของท่านไม่ถึงมาตรฐาน หรือ แม้ควรจะ "สละตำแหน่ง" ให้ผู้มีฝีมือดีกว่า กระทำการแทน เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่หรือของหมู่คณะ


และอย่างสุดท้ายคือ เมื่อหมดสมัยและวาระของการอยู่ในตำแหน่งไปแล้ว ตนเองก็สามารถลงสมัคร เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพื่อเริ่มวาระใหม่ เพื่อทำการบริหารสืบไป หากคนเก่า ไม่มีฝีไม้ลายมือ หรือ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอีกรูปแบบหนึ่ง ก็จะมีคนใหม่เข้ามาบริหารงานแทน


เมื่อบุคคลผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ไม่ลงคะแนนให้บุคคลคนเก่าในครั้งต่อไป ก็ถือว่า กลุ่มบุคคลส่วนใหญ่เขาไม่ต้องการ ซึ่งเป็นสิทธิ์พื้นฐานการคัดเลือกด้วย "คะแนนเสียง" ตามระบอบประชาธิปไตย


-----------------------


แต่แทนที่สังคม จะ "ยอมรับ" กับ "ผล" ที่สภานักศึกษามีมติออกมา


กลับไป ด่าทอ ไล่ล่า ประชดประชัน เหยียดหยาม ฯลฯ กัน


ลามปามไปถึง การ ดูถูก สติปัญญา ของบุคคลต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้ง พาลหาเรื่องไปถึง สมาชิกในครอบครัวของเขา


บางคนเขียน status ออกมาว่า ต่อไป จะไม่ให้ลูกหลานเข้าไปเรียน การเขียนแบบนี้ ก็เห็นแล้วว่า ผู้เขียนถือว่า ตนเองเป็น "เจ้าของ" ในเรื่องการศึกษาหาความรู้ของลูกหลาน จะทำอะไร "นอกขอบเขต" ไม่ได้ นอกเสียจากว่า เจ้าตัวจะ "ยินยอม"


อย่างนี้ ก็เหมือนกับว่า เป็น "เผด็จการ" ง่ายๆ ภายในครอบครัวแล้ว


จากนัั้น ตนเองจะฝึกนิสัยไป "เคารพ" กับ "เสียงส่วนใหญ่" ได้อย่างไร?


-----------------------

หรือว่า บุคคลที่เขียน "เสียดสี" "ด่าทอ" การเลือกตั้งแบบนี้ ต้องการ "สั่งสอน" ให้ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ปฎิเสธ ผลของการเลือกตั้งทั้งหมด ถ้าไม่ได้ บุคคลที่ตนเอง ให้ความ "ชื่นชอบ" ก่อนเป็นอย่างอื่น?


ถ้าเป็นแบบนี้ ก็แสดงว่า คนที่เขียน "เสียดสี" ด่าทอต่างๆ ก็ ไม่ "เคารพ" กับกฎหมาย กฎเกณฑ์ ต่างๆ ที่คณะบุคคล หรือ สังคม ร่างไว้ตั้งแต่แรกเลย อย่างนั้นหรือ?


เมื่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ก็ไม่ให้เกียรติ ไม่ให้ความเคารพกันแล้ว จะไป "สั่งสอนใครต่อใคร" ที่ไหนต่อในเรื่องของ การให้ความเคารพต่อกฎหมายบ้านเมืองกัน?


เราจึงเห็นเรื่อง "การล้มล้างตัวบทกฎหมาย" กันมาอย่างนับไม่ถ้วน เพราะมันไม่ให้ความ เคารพ กันตั้งแต่แรกๆ ซึ่งเริ่มกันมาจาก "การสั่งสอนอบรม" ภายในครอบครัวก่อน


-----------------------

จึงไม่แปลกใจที่ว่า สังคมไทย ชินชา กับ "การแต่งตั้ง" และ "การสรรหา" มากกว่า การยอมรับสิทธิ์และความคิดเห็นจาก "คะแนนเสียง" ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเหล่านั้น


เพราะว่ามันมี "คนกำหนด" ชีวิต และชะตาของ สังคมไว้ต่างหาก


และ กลุ่มบุคคลที่กำหนดชะตาชีวิตของสังคมไว้ ก็ "รังเกียจ" เรื่อง การ "เลือกตั้ง" เพื่อคัดเลือกบุคคลเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันมีโอกาสที่จะได้ "บุคคลที่ตนเองเกลียด และไม่ต้องการ" เข้ามาแทน


และยังมีการสร้างวาทกรรมต่างๆ เป็นต้นว่า โง่บ้าง ถูกซื้อเสียงบ้าง และพวกเบาปัญญา ฯลฯ ขึ้นมา เพื่อทำการ "discredit" บุคคลที่เสียงส่วนใหญ่เขาเลือกกันขึ้นมา


-----------------------

หรือแม้แต่สร้างพวก Ad Hominem Fallacy (เหตุผลวิบัติ) ขึ้นมา ดูถูกดูแคลนตัวบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งเสียอีก ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบายต่างๆ แม้แต่เพียงนิดเดียว


เป็นต้นว่า ยังอายุน้อยบ้าง ยังเป็นเด็กบ้าง ทำไมไม่เลือกรุ่นพี่กัน?


เอาตรรกะแบบ Seniority เข้ามา เพราะคิดว่า คนมีอายุน้อยกว่า น่าจะเป็นคนที่มีประสบการณ์น้อยกว่า สรุปเอาแบบดื้อๆ เลยว่า ไม่สมควร (เพิ่งจะเห็นว่า มี Pre-requisites ในเรื่องประหลาดๆ แบบนี้ด้วย เพราะคิดว่า คนอายุน้อย ไม่สามารถสร้างความเจริญให้กับสังคมได้)


-----------------------


นี่คือ สังคมที่เกลี่ยดและกลัวต่อ การเปลี่ยนแปลง สังคมที่ไม่ยอมรับกับการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ คิดว่า ตัวกรู เองเท่านั้น ที่ถูกเสมอ พวกมรึงไม่มีฝีมือ และไม่แปลกใจเท่าไรที่วาทกรรมเหล่านี้ มาจากกลุ่ม "ผู้มีอำนาจและมีอิทธิพล" ในสังคมเสมอๆ


และพยายามใช้ สื่อต่างๆ "สร้างวาทกรรม" ที่หว่านล้อมว่า ตนเองเป็น "คนดี" และ คนที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตนเอง กลายเป็น "คนเลว คนระยำ" กันหมด

-----------------------

เท่าที่สังเกตุตามหน้า Feeds แล้ว

กลุ่มหรือคณะบุคคลที่ทำการเขียนกระหน่ำด่าทอ เนติวิทย์ "ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด" จะเป็นผู้สนับสนุน "การสรรหา" หรือ "การแต่งตั้ง" ตัวบุคคล มากกว่าที่จะสนับสนุน "การเลือกตั้ง" โดยกลุ่มของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งกัน

ดิฉันอาจจะผิดพลาดในเรื่องนี้ก็ได้ แต่มันเป็น "ข้อสังเกตุ" ที่เห็นได้ว่า ผู้ที่เขียนด่าทอนั้น มี background และความคิดเห็นแบบ Pro กับ "ระบบแต่งตั้ง" มากกว่า "ระบบเลือกตั้ง" กันแทบทั้งสิ้น

-----------------------

คำถามง่ายๆ คือ:

1. ทำไม เราถึงเห็นการ "ปฎิเสธที่จะยอมรับ" และให้เวลาบุคคลที่ถูกเลือกเข้าไปด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ ได้ทำงานทำการตามที่เขาหรือเธอให้คำมั่นสัญญาไว้กับคณะกลุ่มบุคคล หรือ สถาบันกัน?

2. ทำไมถึง "รอ" ให้เขาหรือเธอ สร้างผลงานให้เห็นกันอย่างประจักษ์ก่อน ตามวาระที่เขาหรือเธอเข้ามาบริหารกันไม่ได้ ?

3. หรือเป็นเพราะว่า สังคมเรา เกิดความชินชากับระบอบ "สรรหา" และ "แต่งตั้ง" เท่านั้น

เพราะคนของพวกกรู มี "คุณภาพ" มากกว่า (ประเภทที่ว่า เมื่อไม่ใช่คนของพวกกรูแล้ว พวกมรึงก็ไม่ควรที่จะเข้ามา "ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติ "กัน) ?

ก็ขอให้นำไปคิดพิจารณากันดูเองนะคะ


Happy Friday ค่ะ


Doungchampa Spencer-Isenberg