วันศุกร์, กรกฎาคม 10, 2558

ฟัง นศ. ฝรั่งเบื้องหลัง 'ดาวดิน' ถกเรื่องประชาธิปไตยไทยและทักษิณ


ต่อเนื่องมาจากกรณีที่ ๗ นักศึกษา ดาวดิน และ ๗ นักศึกษา ประชาธิปไตยใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบจับกุมกลางดึกของวันที่ ๒๖ มิถุนายน ศกนี้ ไปกักตัวไว้ที่สถานีตำรวจพระราชวัง จนกระทั่งศาลทหารซึ่งเปิดกระทำการเป็นกรณีสุดพิเศษเพื่อประทับรับฟ้องตามมาตรา ๔๔ แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะรัฐประหาร สั่งฝากขังนักศึกษาทั้ง ๑๔ คนเป็นเวลา ๑๒ วัน

ก่อให้เกิดการประท้วง ทั้งในหมู่นักศึกษา-ชาวบ้านในประเทศ องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ และบุคคลทั่วไปในต่างประเทศที่เห็นว่าการจับกุมนักศึกษาเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาเหล่านั้น ละเว้นการนำพลเรือนเข้าดำเนินคดีในศาลทหาร และยุติการบังคับใช้ ม.๔๔ ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จล้นพ้นแก่หัวหน้าคณะยึดอำนาจปกครองทันใด

ในจำนวนผู้เรียกร้องเหล่านี้รวมถึงนักศึกษาโครงการแลกเปลี่ยนชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่ง ซึ่งร่วมมือกันกระทำกิจกรรมเพื่อชุมชนนานาชาติ เรียกตนเองว่า ENGAGE (Educational Network for Global and Grassroots Exchange) บางคนในกลุ่มนี้เคยไปร่วมพัฒนาชุมชนกับชาวบ้านภาคอีสานของไทย ใกล้ชิดสนิทสนมเป็นอันดีกับกลุ่มนักศึกษาดาวดิน อีกทั้งเคยร่วมสนับสนุนการณรงค์คัดค้านการทำเหมืองทองคำของบริษัททุ่งคำ ที่บ้านนาหนองบง จังหวัดเลย

ทันทีที่กลุ่มนักศึกษาดาวดิน-ประชาธิปไตยใหม่ถูกจับกุม นักศึกษาอเมริกันกลุ่ม ENGAGE พากันไปยกป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวที่หน้าสถานกงสุลไทย นครลอส แองเจลีส พร้อมยื่นจดหมายต่อกงสุลใหญ่ไทย นายเจษฎา กตะเวทิน


จากนั้นก็ประสานกับเครือข่ายนักศึกษากิจกรรมตามมลรัฐต่างๆ อาทิ นิวยอร์ค ชิคาโก วอชิงตัน ดีซี พอร์ตแลนด์ (ออเรกอน) เพื่อดำเนินการเรียกร้องปล่อยตัวนักศึกษาไทย ยกเลิกใช้ ม.๔๔ และยุติการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร

แม้ว่านักศึกษาดาวดิน-ประชาธิปไตยใหม่จะได้รับการปล่อยตัวหลังจากครบกำหนดฝากขัง ๑๒ วัน แล้วรอการดำเนินคดีข้อหาขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่ และหัวหน้า คสช. ต่อไป ก็มิได้หมายความว่าข้อเรียกร้องของกลุ่ม ENGAGE จะได้รับการตอบสนอง 

จนกระทั่งกลุ่มนักศึกษาไทย ประชาธิปไตยใหม่เองยังได้ออกแถลงการณ์ ๓ ข้อ ยืนยันสถานะของพวกตนว่า


๑.     การปล่อยตัวมิได้ฝากขังต่อเป็นผลัดที่สอง ไม่ใช่ความกรุณาปราณีของศาลทหารแต่อย่างใด ในเมื่อครอบครัวของพวกเขายังถูกก่อกวน ข่มขู่ และกดดัน อยู่ต่อไปไม่ขาดสาย

๒.     การบังคับใช้มาตรา ๔๔ แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะรัฐประหาร เป็นการผิดต่อหลักกฏหมาย และเป็นการควบคุม ขัดขวางต่อเสรีภาพของประชาชน ที่พวกตนยังคงคัดค้านต่อไปไม่หยุดยั้ง

๓.     จะยังคงขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยต่อไป ด้วยหลัก ๕ กำปั้นของพวกตน โดยยึดถือประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติวิธี

อนึ่ง กลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ยังประกาศร่วมมือร่วมใจกับทุกองค์กรที่รณรงค์เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลาย ในการกระทำกิจกรรมต่อไป


จึงแน่นอนว่าจะมีการรับลูกจากกลุ่มนักศึกษาอเมริกัน ENGAGE อย่างแน่นอน จึงชวนมาเงี่ยฟังความเห็น ความเข้าใจของผู้ประสานงานในกลุ่มดังกล่าว ต่อการพัฒนาชุมชน และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ไว้เป็นภูมิปัญญาสะสมที่หลากหลาย

ทั้งนี้จากการให้สัมภาษณ์ของผู้ประสานงาน ENGAGE หนุ่มสาวสองคน คือ Jude Pekinpaugh และ Rachel Karpelowite ต่อ Thais Voice Media โดย จอม เพชรประดับ ดังต่อไปนี้

จอม เพชรประดับ : คุณรู้จักชาวบ้านรากหญ้าในประเทศไทยแค่ไหน

จูด เพ็คกินพอก์ : ผมว่าคนบ้านนอกรู้จักประชาธิปไตยมากกว่าคนในกรุงเทพฯ คนเหล่านั้นเป็นผู้ที่ต่อสู้อยู่ในสนาม ผมได้คลุกคลีอย่างมากกับชาวบ้านที่นาหนองบง วังสะพุง จังหวัดเลย ชาวนั้นเหล่านั้นไม่ได้ตั้งใจจะมาเป็นนักกิจกรรมอะไร พวกเขาเป็นชาวนา เป็นกันมานานนมแล้ว และยังต้องการเป็นอย่างนั้น ข้อเท็จจริงที่รัฐบาลปล่อยให้บริษัท (ทุ่งคำ) เข้าไปทำลายผืนดิน ทำให้พวกเขาต้องฮึดสู้ ต้องกลายเป็นนักกิจกรรม การทำอย่างนั้นเป็นการให้อำนาจแก่ตัวเอง...ที่จะกล้าพูด

การที่ผมร่วมมือกับนักศึกษาทำให้ผมเรียนรู้มากมาย นักศึกษาก็ได้เรียนรู้เช่นกัน นี่คือการเป็นประชาธิปไตย เราเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะมาบอกว่าบรัทเหมืองจะเข้าไปทำอะไรก็ได้ตามใจ ชาวบ้านเขารู้อะไรเป้นอะไรมากกว่าพวกผู้ดีในกรุง พวกเขาต้องการสิทธิที่จะโต้แย้ง สิทธิในการร่วมแรงเป็นกลุ่มก้อน แน่นอน พวกเขารู้อะไรเยอะแยะ

จอม : คุณคิดอย่างไรกับประชาธิปไตยในประเทศไทย

เรเชล คาร์เพ็นโลไว้ท์ : นั่นเป็นคำถามที่ซับซ้อนสักหน่อยนะ เพราะประชาธิปไตยมักจะต่างกันไปในแต่ละประเทศ สำหรับไทยมีเอกลักษณ์ตรงที่เป็นระบบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย สหรัฐไม่มีสถาบันกษัตริย์จึงได้ดำเนินการต่างออกไป ฉันคิดว่าถูกต้องแล้วละที่จะขวยขวายไปสู่ประชาธิปไตย ทุกคนต่างมีความเห็นของตนเองว่าควรเป็นอย่างไร

โดยส่วนตัวฉันไม่คิดว่าสหรัฐจะเป็นแบบอย่างที่เหมาะสมที่สุด อย่างที่เราคิดกันมาแล้ว ฉันไม่แน่ใจว่าจะมีประเทศไหนเป็นได้ แต่การมุ่งไปสู่เผด็จการทางทหารไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องแน่ๆ สำคัญที่สุด เสียงของประชาชนต้องได้รับการรับฟัง พวกเขาย่อมเห็นได้หากสิทธิเสียงอันไหนถูกดึงเอาออกไป

จอม : มีข้อกล่าวหาว่าพวกคุณตกเป็นเครื่องมือของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

จูด : บ้าละสิ  ถ้าคิดว่าใครๆ ต้องได้รับการหนุนหลังจากทักษิณ ไม่หรอก ไม่จริงเลย ผมว่านะ ใครๆ ย่อมมีความคิดของตัวเอง นักศึกษาก็มีสิทธิเสียงของเขา จะห้ามไม่ให้พวกเขาพูดถึงเรื่องสิทธิได้อย่างไร การที่รัฐบาลจะบอกกับสามัญชนว่าเลือกข้างไม่ได้นะ มีความคิดเห็นของตัวเองก็ไม่ได้ แถมกล่าวหาว่าพวกเขาถูกทักษิณดันหลัง ผมว่านี่เป็นการปั้นเรื่องไม่จริงให้เป็นเสาหลักขึ้นมา ผมไม่คิดนะว่าเขามีหลักฐานปรักปรำว่าทักษิณหนุนหลังพวกนักศึกษา หรือชาวบ้านถูกทักษิณครอบงำ ที่จริงในชนบทหลายท้องที่เขาไม่ชอบทักษิณกันด้วยซ้ำ ไม่เห็นด้วยกับความคิดของทักษิณ

ผมไม่คิดว่าถ้าคุณต้องการประชาธิปไตยและเสรีภาพ จะทำให้คุณกลายเป็นฝักฝ่ายหนึ่งใดได้ มันไม่ได้ทำให้คุณเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดง ไม่ทำให้คุณสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่งได้ แต่มันทำให้คนเป็นมนุษยชน นั่นแหละที่ผมคิดว่าชาวบ้านขวนขวายเรียกหา เขาต้องการมีสิทธิเสียง คนธรรมดามีสิทธิเสียงเหมือนคนชั้นสูง

จอม : คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับทักษิณ

จูด : ผมมีความรู้สึกละล้าละลังนะเรื่องนี้ ผมเองไม่ชอบนักการเมือง บ่อยครั้งพวกนี้พยายามเอาชนะใจคนจน ขณะเดียวกันก็เอาใจคนรวยพร้อมไปด้วย ผมไม่คิดว่าพวกนี้มีแผนงานหรือโครงการที่เป็นประโยชน์แก่ทุกๆ คนได้หมด เขาเพียงมุ่งจะให้ได้คนมาเป็นพวกให้มากที่สุด ผมไม่คิดว่านี่เป็นวิธีที่ควรทำในการดำเนินงานปกครอง แทนที่จะมุ่งเอาคนมาเป็นพวก ควรที่จะมุ่งที่ประชาชนว่าจะได้รับอะไรบ้าง

ประเทศไทยปกครองจากส่วนกลาง อำนาจต่างๆ จุกอยุ่ในกรุงเทพฯ ไม่มีอำนาจในภาคใต้ ภาคเหนือ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผมคิดว่าสิ่งที่ทักษิณพยายามจะทำคือเกลี่ยอำนาจออกไป แต่ผมไม่คิดว่าเขาทำได้ถูกทางนะ ผมคิดว่ามีการคอรัปชั่นในรัฐบาล แต่อีกนั่นแหละรัฐบาลไหนๆ ก็คอรัปชั่นกันทั้งนั้น ในหมู่นักการเมืองที่อยู่ในนั้น

แต่สิ่งที่เขาทำให้เกิดขึ้นเป็นการแสดงให้ประชาชนคนธรรมดาเห็นว่าพวกเขามีสิทธิมีเสียง ไม่ว่าพวกเขาจะเห็นด้วยหรือเห็นชอบกับการเมืองแบบของทักษิณ ทักษิณได้ทำให้พวกสามัญชนรู้สึกตนว่าพวกเขามีความคิดความอ่าน มีสิทธิมีเสียง และนี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าทรงพลังทีเดียว

จอม : มีหลายคนพูดว่า ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ที่เหมาะที่สุด ถ้าเขากลับไปบริหารประเทศอีกครั้ง

เรเชล : ก็พูดยากอยู่นะ ประเทศไทยไม่ได้ดีพร้อมเมื่อก่อนเกิดรัฐประหาร และก็ใช่ว่าจะดีพร้อมหลังจากรัฐประหาร ฉันคิดว่าน่าจะต้องมีคนจำนวนมากกว่าบุรุษหนึ่งนายที่จะมาแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างได้ ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนตัวเอง เรื่องระบอบประชาธิปไตย การปกครอง และต้องการให้ใครเข้าไปบริหารประเทศ ทักษิณอาจเป็นหนึ่งในนั้น ฉันไม่รู้

จอม : คุณทราบหรือไม่ว่าทำไมประเทศไทยถึงได้มีการทำรัฐประหารมากมายหลายครั้งเหลือเกิน

จูด : ในความเห็นผมน่าจะเป็นเพราะการปกครองแบบรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง ทันทีที่ประชาชนเริ่มรุกเร้า และออกมาแสดงความคิดเห็น ก็จะเกิดรัฐประหารขึ้น เพราะรัฐบาลและคนชั้นนำไม่ต้องการอย่างนั้น พวกนี้ต้องการอยู่ในอำนาจเพื่อให้เป้าหมายของตนบรรลุผล มันน่าเศร้าที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดการยึดอำนาจปกครองเพราะไม่ต้องการฟังความเห็นประชาชน มันน่าเศร้า แล้วมันก็ประจักษ์ชัดว่าแต่ละครั้งทำแล้วก้ไม่ได้ผล จนกระทั่งบัดนี้ ไม่รู้ว่าทำไมต้องซ้ำรอยเดิม ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งที่มันไม่เคยได้ผล ผมว่ามันบ้าบอน่ะนะ

เรเชล : ฉันคิดว่าเป็นเคราะห์ร้ายที่ประเทศไทยใช้รัฐประหารเป็นทางออกเมื่อเหตุการณ์ชักจะควบคุมไม่ได้ ฉันคิดว่ามีทางอื่นที่จะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม  (๒๕๕๗) ก่อนการรัฐประหารได้อยู่นะ

จูด : ผมหมายความว่าทั้งสองฝ่ายน่าที่จะร่วมกันหาทางประนีประนอม พวกอำมาตย์กับพวกทหารในรัฐบาลควรฟังนักศึกษาบ้าง และควรหาข้อสรุปร่วมกัน หาทางออกด้วยกัน ผมพูดอย่างสัตย์ซื่อเลยว่าพวกเขาไม่ต้องการอย่างนั้น ผมไม่คิดว่าเขาพร้อมที่จะสละอำนาจใดๆ ที่มีอยู่ ผมอยากคิดเหมือนกันว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นเหมาะกับประเทศไทย แต่ผมว่ามันไม่เกี่ยวกัน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอีกมากมายหากอยากได้อะไรที่มันเป็นเป็นมนุษยธรรม อะไรที่เป็นแบบอย่างดีๆ

เรเชล : ฉันว่าแรกทีเดียวต้องยับยั้งรัฐประหารเสียก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ฉันคิดว่าประเทศไทยต้องการเวลามากทีเดียว และต้องมีพลังขับดันอีกเยอะ มากกว่าที่ตั้งใจทำกันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อสร้างระบบที่มั่นคงให้เกิดขึ้น ดูจากประชาธิปไตยทั่วโลก มันไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน มันอาจช้าหน่อย แต่ก็จะเป็นอนาคตที่หวังในทางดีได้

จูด : ข้อนี้ดีทีเดียว ผมไม่ได้คิดค้นสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเองนะ ไม่ใช่เป้าหมายของผม แต่นี่เป็นสิ่งที่ชาวบ้านสอนให้ผมรู้จัก ผมไปเมืองไทยไม่ใช่จะไปบอกว่าควรทำอย่างนี้อย่างนั้นนะ ผมไปเพื่อจะเรียนรู้ว่าที่นั่นเป็นอย่างไรกัน เรียนรู้จากขบวนการรากหญ้าที่มีอยู่แล้วในประเทศ ผมไม่ได้เอาแผนการณ์อะไรติดมือไปด้วย...แต่ได้ไปเรียนรู้แนวคิดของนักศึกษา ว่าประเทศของพวกเขาควรเดินไปอย่างไร นั่นทำให้ผมเกิดไฟที่จะร่วมต่อสู้กับพวกเขา

นั่นแหละบอกถึงว่าทำไมเราถึงทำสิ่งที่ทำกันอยู่วันนี้ ผมเรียนรู้จากพวกเขาว่าพวกเขาไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ผมก็อยากช่วยให้พวกเขาได้มีสิทธิเสียง ช่วยพวกเขาเปล่งเสียงกันออกมาได้

เรเชล : สำหรับฉันไม่มองถึงว่าจะมีรัฐประหาร มีประชาธิปไตย หรือว่ามีราชาธิปไตย เหล่านี้อาจมีเป็นแถบชั้นอยู่แล้วในเนื้อก็ได้ ฉันดูตามข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลไม่ได้ปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคน และนั่นคือสิ่งที่คนทั่วโลกเขามองเห็น