วันอังคาร, มีนาคม 10, 2558

ขอเชิญอ่านงานดีๆ ว่าด้วยเรื่อง "ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา"



ที่มา FB Lek Parinya

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

เห็นท่านผู้นำฯ ดำริให้สร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาสองฝั่ง
ให้เหมือน "เกาหลีใต้" ที่ท่านไปดูงานมา
ให้เป็นสวน เป็นทางจักรยานให้คนพักผ่อนหย่อนใจ
ต่อมาก็ได้ข่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับลูกทันที

กำหนดรูปแบบ กำหนดแผนงาน
ซึ่งเฟสแรกคือ จากสะพานปิ่นเกล้าไปถึงสะพานพระรามเจ็ด
เป็นเสาเข็มลงในแม่น้ำ กว้างด้านละ 20 เมตร

-----------------------------------
ทำไมผมถึงต้องมาเขียนเรื่องนี้?
ง่ายๆ คือ เมื่อท่านผู้นำ กล่าวว่า
ท่านเอาโมเดลมาจาก "เกาหลีใต้"

ผมใช้ชีวิตอยู่กรุงโซล เกาหลีใต้มาสามปี
มาเรียนด้านการวางผังเมือง
ผมเห็นโครงการสวนและทางจักรยานริมแม่น้ำฮันที่ท่านผู้นำกล่าวถึง
ผมใช้ชีวิตใกล้ๆ สวนนี้
ผมปั่นจักรยาน ผมพาลูกไปเดินเล่น
พาครอบครัวมานั่งดูดอกไม้ไฟวันสำคัญต่างๆ
จริงๆ ผมอิจฉาเมืองโซลมากเลยที่มีพื้นที่ริมน้ำแบบนี้
ถ้าเป็นไปได้ ผมก็อยากให้เกิดพื้นที่แบบนี้ที่บ้านเราเหมือนกัน

แต่เดี๋ยวก่อน
ก่อนจะยกโครงการใดมาสวมในสภาพแวดล้อมของบ้านเรา
อาจจะต้องดูองค์ประกอบหลายๆ อย่างก่อนจะ(คิด)ทำ
เอาง่ายๆ ผมจะลองเปรียบเทียบสามเรื่อง
ที่ใครๆ ก็มองเห็นได้ นั่นคือ
1.ขนาดของแม่น้ำ
2.ขนาดพื้นที่รับน้ำหลากและความสูงตลิ่ง
3.ความผูกพันกับสายน้ำ

------------------
หนึ่ง ขนาดของแม่น้ำ

ลักษณะแม่น้ำฮัน เป็นสายสั้น ลงจากภูเขา
เดิมก่อนจะสร้างเขื่อนสร้างฝายควบคุมน้ำ
แม่น้ำฮันเป็นแม่น้ำที่มีระดับสูงสุดกับต่ำสุดต่างกันมาก
ในฤดูน้ำหลาก (ประมาณเดือน สิงหา-กันยา) น้ำจะสูงจนเกือบล้นตลิ่ง
ในฤดูแล้ง น้ำตื้นจนแทบจะเดินข้ามได้ เห็นเป็นสันดอนทรายกว้างสุดลูกตา
กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชล้มลุกได้

แม่น้ำฮันช่วงที่ไหลผ่านกรุงโซล กว้างประมาณกว้าง 800 เมตร
แล้วยังมีพื้นที่ด้านข้างๆ เพื่อรับน้ำหลาก(Flood Plain)
ด้านละประมาณ 20-200 เมตรแล้วแต่ภูมิประเทศ
รวมความกว้างทั้งหมดเกือบๆ หนึ่งกิโลเมตร

แม่น้ำเจ้าพระยาส่วนที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ กว้างเท่าไหร่?
-บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้า จุดเริ่มโครงการ กว้างประมาณ 220 เมตร
-บริเวณเชิงสะพานพระรามเจ็ด จุดสิ้นสุดโครงการ กว้างประมาณ 300 เมตร

--------------
สอง พื้นที่รับน้ำหลากและความสูงตลิ่ง

แม่น้ำเจ้าพระยา
เป็นระบบแม่น้ำที่อยู่บนที่ราบแบนๆ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
ระดับน้ำก็ไม่ต่างกันมากนัก ตลิ่งไม่สูงชัน
ไม่มีพื้นที่รับน้ำหลากริมตลิ่ง

ส่วนแม่น้ำฮันต่างไปคือ
มีพื้นที่รองรับน้ำหลากทั้งสองข้างมีขนาดกว้างใหญ่
บางจุดกว้างถึงสองร้อยเมตรกว่าจะถึงตลิ่งที่สูงชัน
(นึกภาพไม่ออกลองคิดถึงแม่น้ำแถวสุโขทัย พิษณุโลกดูครับ
แค่แม่น้ำฮันมันกว้างกว่าเยอะมาก)

และเกาหลีเองก็ใช้พื้นที่ทั้งสองข้างนี้
สร้างเป็นไฮเวย์ขนาดสิบเลน
ตั้งเสาสูงระดับตลิ่ง ขนานไปกับแม่น้ำ
ด้านเหนือแม่น้ำ เป็นไฮเวย์หมายเลข 70
ด้านใต้แม่น้ำ เป็นไฮเวย์โอลิมปิคไฮเวย์หมายเลข 88
สร้างสมัยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1988
เพื่อเชื่อมสนามบินกิมโป กับสนามกีฬาโอลิมปิก

ข้างใต้ทางด่วนเขาก็สร้างเป็นทางจักรยาน สวนสาธารณะ
ไม่ได้สร้างบนโครงสร้างอะไรนะครับ
เขาสร้างบนพื้นที่รับน้ำหลากที่ไม่ได้ใช้แล้วนั่นแหล่ะ
------------------------
สาม ความผูกพันกับสายน้ำ

การเติบโตของบ้านเมืองเราก่อนจะมีถนน
บ้านเมืองเราขยายไปตามแม่น้ำลำคลอง
เราหันหน้าเข้าน้ำ เป็นทางสัญจรหลัก
ทั้งวัด วัง บ้านเรือนหันหน้าลงน้ำ
เรียกว่า เราเป็น "ชาวน้ำ"
หากินใช้ชีวิตอยู่กับน้ำมายาวนาน

แต่คนเกาหลีไม่ใช่ชาวน้ำมาแต่เริ่มแรก
แม้เมืองใหญ่ทั้งหลายจะตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำ
แต่ทั้งวัด วัง บ้านเรือน กลับไปอยู่บนเขา หรือที่ราบสูง
การเติบโตกระจายตัวเป็นไปตามถนนการค้า
เพราะพอเข้าหน้าหนาว
ลมจากแม่น้ำจะเพิ่มความหนาวให้มากกว่าการที่คนอยู่กระจุกๆ กันตามที่ราบ

หลังปี 1960 เกาหลีก็มุ่งหน้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม (Industrialized)
ผู้คนละทิ้งชนบทและเกษตรกรรมเข้าสู่เมือง
เศรษฐกิจเข้าสู่ภาคบริการ
ประชากรอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ๆ รวมแล้วมากกว่าชนบท
(Urbanized)

แม่น้ำและสิ่งแวดล้อมในเมืองถูกปรับปรุง
กลายเป็นวิวสวยๆ สวนสวยๆ รองรับวิถีชีวิตคนเมือง
แม่น้ำถูกตัดเป็นตอนๆ ด้วยเขื่อน ด้วยฝาย
แม่น้ำที่เคยขึ้นสูง แห้งขอด กลายเป็นแม่น้ำไหลนิ่งๆ ทั้งปี

ภายหลังจากการกั้นเขื่อน
ประกอบกับประชาชนไม่ได้อยู่ติดน้ำเพราะระดับน้ำที่ต่างกันมาก
แม่น้ำจึงไม่ได้ถูกใช้เป็นทางสัญจร
นั่งริมแม่น้ำฮันทั้งวัน เห็นเรือผ่านสักลำ ก็ถือเป็นเรื่องแปลกแล้ว

แม้พยายามจะทำ Water Taxi หรือขุดระบบคลองเพื่อเสริมระบบโลจิสติก
แต่สุดท้ายคนก็ไม่นิยมใช้
เพราะมีระบบถนน และรถไฟฟ้าที่เคยชินกว่า และมีประสิทธิภาพกว่า

ฉะนั้น เกาหลีเขาไม่พึ่งพาแม่น้ำเหมือนบ้านเมืองเราแล้ว
แม่น้ำมันกลายเป็นแค่วิวสวยๆ ให้ทางจักรยาน
หรือสวนสาธารณะริมน้ำ ย่อมไม่เดือดร้อนใคร

ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาของเรา
ยังเป็นทางสัญจรของผู้คน และสินค้าจำนวนมาก
เป็นแหล่งอาหาร เป็นระบบนิเวศน์ที่ค้ำจุนชีวิตปลายน้ำอีกมากมาย

----------------------
ผมยังสงสัยท่านผู้นำ ว่าท่านมาดูอะไรที่เกาหลี
แล้วจะเอาไปสร้างให้เหมือนที่นี่
เพราะสภาพแวดล้อมมันไม่เหมือนกันเลย
ทั้งกายภาพ และสังคมความเป็นอยู่

ผมได้ดูแบบร่างตามหน้าข่าวแล้ว ก็ยิ่งตกใจ
เพราะเป็นโครงสร้างล้ำลงไปในน้ำด้านละยี่สิบเมตร
แม่น้ำเจ้าพระยาเรา จากกว้าง 300 จะเหลือ 260 เมตร
จากกว้าง 220 เมตรช่วงสะพานปิ่นเกล้า เหลือแค่ 180 เมตร
ซึ่งแน่นอนมันมีผลกระทบมากกว่าของเกาหลี
ที่ต่อให้สร้างสร้างไฮเวย์ริมน้ำฮัน ฝั่งละห้าสิบเมตร
ยังไงก็เหลือแม่น้ำ 700 กว่าเมตรอยู่ดี

ทุกวันนี้ นอกจากคันกั้นน้ำคอนกรีตแข็งๆ ตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่ทำลายระบบนิเวศน์ชายน้ำ
เปลี่ยนแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นท่อระบายน้ำไปพอสมควรแล้ว

นี่ยังจะมาสร้างโครงสร้างยื่นออกไปอีกด้านละยี่สิบเมตร
น้ำใต้นั้นมันจะโดนแดดไหม?
สัตว์น้ำริมตลิ่งที่กำลังจะฟื้นกลับมาจะวางไข่อย่างไร?
พืชริมชายน้ำสังเคราะห์แสงได้ไหม?
ระบบนิเวศน์ที่เดิมมันแย่อยู่แล้ว
ก็คงจะได้พังทลายอย่างสมบูรณ์แบบ
คนปลายน้ำปากอ่าวทะเล คงได้รับผลกระทบพอสมควร

เราพร้อมจะรับข้อเสียตรงนี้
เพื่อแลกกับทางจักรยานยาวๆ สวยๆ นี้หรือไม่?

ส่วนตัวผมในฐานะคนชื่นชอบการปั่นจักรยานพอสมควร
ใจก็อยากได้พื้นที่วิวสวยๆ ไว้ปั่น
อยากมีพื้นที่สาธารณะให้ลูกได้วิ่งเล่นดูแม่น้ำสวยๆ
แต่ผมก็ว่ามันไม่คุ้มที่จะเห็นแก่ตัวไปเบียดบังธรรมชาติที่เหลือน้อยนิด
เพื่อได้ความสุขแบบคนเมืองที่ฉาบฉวยนี้มา

ความเห็นนี้คราวนี้ของผม
คงจะขัดใจกับคนที่อยากได้อะไรใหม่ๆ เยอะเลย

แต่อยากให้เลิกคิดแบบราชการไทยกันเสียทีครับ
ที่เอะอะก็ซึ้อเครื่อง สร้างสิ่งก่อสร้าง
แห่กันยกเปลือกต่างประเทศมาประดับบ้านเรา

เราไม่เคยบำรุงรักษาของเดิมที่มีอยู่
เราไม่เคยใส่ระบบจัดการดีๆ เข้าไปแก้ปัญหา
สุดท้ายก็ไปสร้างของใหม่ ที่เป็นปัญหาใหม่ขึ้นมา
เงินทองใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
เสียของ พอใช้ไม่ได้ ก็ซื้อใหม่ สร้างใหม่อีก

ถ้าจะสร้างใหม่ ก็ขอให้ศึกษาจริงๆ ว่ามัน "ได้คุ้มเสีย" หรือไม่?

ผมเริ่มมาก็ค้านโครงการตั้งแต่ตอนเป็นวุ้นเสียแล้ว
ถ้ามีเวลารวบรวมความคิด
ตอนหน้าจะลองมานำเสนอทางเลือกจากสมองน้อยๆ ของผมดูนะครับ
(ตอนต่อไป http://goo.gl/Z0KdnL )

ooo




ทางเลือก ทางเลียบ
(ต่อจากเรื่องทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานะครับ http://goo.gl/TTMhWY )

สมองน้อยๆ ของผมคงไม่อาจหาญจะแนะนำอะไรที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดนะครับ
หลักๆ ผมขออนุญาตนำประสบการณ์ที่เห็นที่เกาหลี
ลองเสนอดู ว่ามันมีอะไรที่ "น่าทำกว่า"
และรูปแบบในการบริหารจัดการที่เป็นทางเลือกที่เข้าท่ากว่า
ของ "พื้นที่ริมน้ำ" กับ "ทางจักรยาน"

++ติ่งเกาหลี++
ก่อนอื่นเลย
ถ้ารัฐบาล และกทม.อยากร่วมมือกัน
ทำอะไรเลียนแบบเกาหลีใต้
ผมเสนอให้ทำ "ปฏิรูประบบขนส่งมวลชน"
เอาแบบผู้ว่าฯ ลี มยองบัค ทำไว้ที่กรุงโซลเลยครับ
เรียนเชิญ ถ้ามีเวลาอ่านที่ผมเคยเขียนไว้ครับ
ตามลิงค์นี้เลย http://goo.gl/pffHIw

กล่าวโดยสรุปคือ
เขาใส่การบริหารจัดการ เพื่อ
-ปรับปรุงสายรถเมล์
-รวมระบบตั๋วรถเมล์กับรถไฟใต้ดิน
-ปรับปรุงการให้บริการด้วยการมีส่วนร่วมประชาชน
-บริหารสัญญาสัมปทานของผู้ให้บริการ

ผลสุดท้าย ทรัพยากรถูกใช้อย่างคุ้มค่า ไม่รั่วไหล
ประชาชนได้ประโยชน์

ฝากท่านผู้นำ ร่วมกับท่านผู้ว่า ลงมือทำได้เลยครับ
ผมว่าคนกรุงเทพฯ "เฮ" กว่าทางจักรยานริมน้ำแน่ๆ

โมเดลปรับปรุงระบบขนส่งของโซล
ผมแกะออกมาได้ หกข้อคือ
(1) เป็นการลงทุน "สมอง"
(2) ใน "ระบบการบริหารจัดการภาครัฐ"
(3) เพื่อ "แก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่"
(4) โดยรวมความคิดของ "สหสาขาวิชา" ทั้งวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สถาปัตยกรรม วิศวกรรม ผังเมือง ฯลฯ
(5) ทำกระบวนการให้ "โปร่งใส" มีส่วนร่วมของ นักวิชาการ ราชการ เอกชน ประชาชน
(6) และมีเป้าหมายเพื่อสนอง "ประโยชน์ประชาชน"
ซึ่งทั้งหกข้อนี้ คือสิ่งที่น่าจะเป็นกรอบ
ในการคิดนโยบายสาธารณะใดๆ ก็ตาม
เพียงแต่เรายังไม่ค่อยเห็นในกระบวนการคิดภาครัฐของไทยคิด
หรือทำทั้งหกคำนี้สักเท่าไหร่

---------------------------------------

++พื้นที่ริมน้ำ++
ผมได้รับความกรุณาจาก อาจารย์ต่อตระกูล ยมนาค
แนะนำถึงตัวอย่างดีๆ เช่น โครงการยานาวาริเวอร์ฟรอนท์
ดูลิงค์ http://www.yannawariverfront.org/
ซึ่งตามความเห็นของผมคือ
โครงการนี้มีฐานอยู่บนกรอบคิดข้างบททั้งหกข้อ

ถ้ายังอยากปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำใดๆ
ลองเอาโมเดลดีๆ ที่เกิดในบ้านเราแล้วขึ้นมาใช้ดูนะครับ
เหนื่อยหน่อย ใช้เวลานานสักนิด
เทคอนกรีตน้อยกว่าปลูกต้นไม้สักหน่อย
อาจไม่มีผู้รับเหมาเจ้าใหญ่ๆ
แต่ยั่งยืนแน่ๆ

++Ownership คือการจัดการที่ยั่งยืน++
โครงการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะใดๆ
หากคนท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วม
และได้ประโยชน์
เขาจะเกิด "ความเป็นเจ้าของ" (Ownership)

ถ้ายิ่งได้มายากๆ ให้เขาได้ต่อสู้มาเพื่อจะได้ทุนสนับสนุน
เขาจะหวงแหนในสิ่งที่เขาได้มา
เขาจะเห็นคุณค่า และถนอมรักษามัน
ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ริมน้ำในเมือง
หรือป่าชุมชนในชนบท
(ว่างๆ เชิญอ่านเรื่องชุมชนธารมะยมตามลิงค์ http://goo.gl/YcEv05 )

แล้วจากนั้น เขาจะดูแลกันเอง
ภาครัฐประหยัดทั้งการลงทุนเริ่มแรก
และประหยัดทุนในการบำรุงรักษา
สำคัญกว่านั้นคือ มัน "ยั่งยืน"

--------------------------------------
++ทางจักรยาน++
ลองเปรียบเทียบ "ประโยชน์ประชาชน" จากเงินภาษีท่าน
ถ้ารัฐจะลงทุนในสามโครงการที่ราคาพอๆ กัน ระหว่าง
-สร้างสวนสาธารณะ
-สร้างทางปั่นออกกำลังกาย
-สร้างสนามแข่งมอเตอร์ไซด์
ท่านคงพอจะเห็นว่า
อันไหนได้ประโยชน์ประชาชนมากกว่ากัน

การสร้างทางจักรยานเพื่อ ออกกำลังกาย
แต่คิดดูดีๆ มันคือการ "ลงทุน" จากเงินภาษี
เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง
ที่พอจะมีเงินขับรถไปเพื่อจอด แล้วยกจักรยานมาปั่น
จริงๆ โมเดลแบบสนามเขียวสุวรรณภูมิก็ดีครับ ไม่ค้าน
เพราะมันสร้างจากพื้นที่ว่างๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์แบบนั้น
และได้รับการสนับสนุนจากการท่าอากาศยานฯ

แต่ถ้าต้องเสียพื้นที่ที่ต้องสร้างใหม่
เช่นลงทุนสร้างโครงสร้างบนแม่น้ำที่มีต้นทุนสูงๆ
ยังไงก็ไม่คุ้มครับ

++จักรยานเพื่อสัญจร++
ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิด "การขี่จักรยานเพื่อสัญจร"
จากกลุ่มจักรยานในเฟสบุ๊คหลายๆ กลุ่มนะครับ

ปัญหาทางจักรยาน
ผมว่าต้องเริ่มคิดแฟร์ๆ นะครับว่า
จักรยานก็เป็นยานพาหนะชนิดหนึ่งเท่านั้น
เหมือนมอเตอร์ไซด์ รถเมล์ รถส่วนตัว
ไม่ต้องไปลงทุนภาษีเพื่อทำทางอะไรพิเศษให้มากมาย
เพราะมันแชร์กันได้
จักรยานมันมีข้อดีหน่อยคือ
ถ้าปั่นช้าๆ ก็แชร์พื้นที่บนฟุตบาทได้
ปั่นเร็วๆ ก็แชร์ถนนได้

ปัญหาทางจักรยานที่เกิดขึ้นผมพอสรุปๆ ได้สามข้อคือ
1.ฟุตบาทแคบ ขี่จักรยานบนทางเท้าไม่ได้
2.รถจอดริมทางเท้า
3.อันตรายจากรถที่ขับเร็ว
ปัญหาทุกอย่างมันแก้ได้ด้วยการ "จัดการ" เลยครับ
----------------

1.ฟุตบาทแคบ
ผมสังเกตว่าฟุตบาทในกทม.มันแคบในสองแบบคือ
"แคบจริง" กับ "แคบเทียม"

"แคบจริง" เช่นเกิดจากการขยายถนนเพื่อการสัญจร
หรือความจำเป็นแบบถนนในซอยเล็กๆ
คงไม่ว่ากัน เพราะแก้ไม่ได้ จนกว่าการจราจรจะดีกว่านี้

แต่ "แคบเทียม" อันเกิดจากสิ่งกีดขวางต่างๆ เช่น
ร้านค้าวางสินค้า ร้านแผงลอย ป้ายโฆษณา
ป้อมตำรวจ ป้ายจราจร เสาไฟฟ้า ตู้ควบคุมระบบต่างๆ
ฝาท่อ ต้นไม้ พุ่มไม้ ฯลฯ
ยันไปถึง สะพานลอยคนข้าม

ร้านค้า แผงลอย ก็บังคับใช้กฎหมาย หรือบริหารเวลากันไปครับ
ส่วนอะไรที่เป็นกายภาพ ก็พอจะจัดการ เช่นป้ายต่างๆ เสาไฟ ตู้ควบคุมต่างๆ ยันป้อมตำรวจ
ออกแบบใหม่เพื่อแก้ปัญหา จัดระเบียบกันได้
เช่น ให้อยู่แนวเดียวกันไม่ให้สะเปะสะปะ

ปัญหาหนักหน่อยก็ประเด็นเรื่อง สะพานลอย
ที่มักจะขวางทางเท้าจนเกือบเต็มทางเท้าทุกทีไป

ผมคิดและสังเกตมาตั้งแต่มาเกาหลีใหม่ๆ แล้วว่า
กรุงโซล ถ้าถนนไม่กว้างกว่าสี่ห้าเลน
ผมไม่เคยเห็นสะพานลอย หรือทางลอดนะครับ

คือเรื่องของเรื่องมันอยู่ที่
การจัดลำดับความสำคัญ (Priority)
และเคารพสิทธิของรูปแบบการเดินทาง

ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับ รถยนต์ เป็นใหญ่
รถมอเตอร์ไซด์ รถสาธารณะ รถจักรยาน ตามลำดับ
คนเดินถนน คนพิการแทบจะอยู่สุดท้าย
คนต้องขึ้นบันไดข้ามสะพานลอย
เพื่อให้รถวิ่งได้สะดวกรวดเร็ว

จริงๆ หลักของเมืองที่เจริญๆ แล้ว
เขาจะกลับกันกับเราคือ
ผู้พิการ คนเดินถนน จักรยาน
ควรสัญจรด้วยความสะดวก ปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆ

เพราะฉะนั้น ในกรณีถนนในเมือง
รถเร็ว กินพื้นที่เยอะ แบบรถส่วนบุคคล
ที่เห็นแก่ตัวสุด ควรจะสำคัญน้อยสุด
ต้องเป็นฝ่ายหยุดให้คนที่เห็นแก่ตัวน้อยกว่า
เช่น รถสาธารณะ รถจักรยาน
คนเดินถนน คนพิการ

++ข้ามถนนด้วย "ทางม้าลาย" อันตราย?++
อย่างที่เกาหลี เขาใช้กล้อง CCTV
คอยถ่ายภาพรถที่ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย
หรือกรณีจอดคร่อมทางม้าลาย
ระบบบันทึกภาพมันฉลาดพอที่จะอ่านเลขทะเบียนรถโดยอัตโนมัติ
และสั่งพิมพ์ส่งใบสั่งพร้อมหลักฐานภาพถ่ายไปที่บ้าน
ถ้าใบสั่งมาถึงที่บ้านแล้ว ก็ไม่ต้องเถียงครับ
ไปจ่ายที่ธนาคาร จ่ายที่ตู้เอทีเอ็ม
หรือช่องทางออนไลน์ตามสะดวก

ลองมาร่วมกันจัดระเบียบ จัดการ จัดเวลากันดีๆ
เคลียร์ทางเท้าให้มันน่าเดิน
เดินแล้วปลอดภัย สะดวก สวยงาม
ทำกันจริงๆ คงไม่ยากครับ
ถ้าจะกว้างหน่อย ก็แบ่งทางให้จักรยานปั่นช้าๆ ได้สัญจรด้วย

2.ปัญหารถจอดริมทางเท้า
โมเดลเกาหลี เขาก็ใช้ CCTV เช่นกันครับ
เข้าใจว่าโปรแกรม มันฉลาดพอที่จะอ่านทะเบียน
รถที่จอดแช่นานกว่าเวลาที่กำหนดในแต่ละจุด
เช่น ไม่ควรจอดเกิน 5 นาทีบริเวณหน้า รร.
หรือจอดรับส่งผู้โดยสารในเขตห้ามหยุดรถ
ฯลฯ
เหมือนกันครับ ถ้าฝ่าฝืนโดนถ่ายรูป
ใบสั่งไปถึงบ้านเลย ไม่ต้องต่อรอง
ไม่เลือกปฏิบัติระหว่างรถเบนซ์ รถกระบะ หรือมอเตอร์ไซด์

3.ปัญหารถขับเร็วเกินกำหนด
เหมือนกันครับ CCTV ที่เกาหลี
มันยังอีกชุดหนึ่งยังควบคุมความเร็วรถได้ด้วย
ถนนเล็กๆ เขาคุมที่ 30 กม.
ขับเร็วเกินก็เหมือนกันครับ ใบสั่งมาถึงบ้าน
แต่อันนี้จะแพงกว่าอันอื่น
เข้าใจว่าเกี่ยวกับความปลอดภัยสาธารณะด้วย

-----------------
ติ่งเกาหลีอย่างผม เห็นว่า
ระบบ CCTV ดีๆ มีประสิทธิภาพ
(บวกการบำรุงรักษาดีๆ ด้วย)
มันแก้ปัญหาไปได้เยอะนะครับ
รวมถึงปัญหา ตำรวจจราจรขาดแคลนกำลังพลอำนวยจราจร
แถมอาจแก้ปัญหาเรื่อง เช่น
การบังคับใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียม
ของเจ้าหน้าที่ในบางกรณีด้วย

ผมไม่ได้มาขาย CCTV ยี่ห้อเกาหลีนะครับ
รัฐฯ ลองให้งบประมาณ
ส่งเสริมให้สถาบันเทคโนโลยีในประเทศ
พัฒนาซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ขึ้นมาใช้สิครับ
รับรอง สร้างงานได้ แก้ปัญหาได้มากมายเลย

-----------------
++ปัญหาคนไม่ปั่น ไม่ใช่แค่ทาง++
อย่างที่กลุ่มจักรยานในเฟสบุ๊คหลายกลุ่ม
บ่นตรงกันคือ นอกจากทางจักรยานแล้ว
ที่คนไม่นิยมปั่นเพื่อสัญจร คือ
ที่จอดไม่ปลอดภัย

ผมโชคดีที่เคยมีโอกาสไปเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น
เขามีที่รับฝากจักรยานแบบใหญ่มหึมาเลยครับ
ระบบใช้คนเฝ้า ระบบหยอดเหรียญล๊อก
หรือที่จอดฟรีๆ สำหรับคนไม่ห่วงหาย
ส่วนที่เกาหลี ทุกจุดจอด ก็มี CCTV
พร้อมสถิติที่ออกข่าวบ่อยๆ ว่า จับขโมยได้
เพราะดูจากกล้องที่เป็นตาสับปะรด
แค่นี้ก็ปรามขโมยได้สบายๆ

เอาเป็นว่า ด้วยการจัดการอะไรก็ตาม
ถ้าทำให้จักรยานไม่ว่าจะแพงหรือถูก ไม่ถูกขโมย
น่าจะทำให้คนหันมาปั่นเพื่อสัญจรกันได้แน่ครับ

ถ้ากทม.สนใจจะรณรงค์ให้คนหันมาปั่นเพื่อสัญจรจริงๆ
อันนี้อาจเป็นการลงทุนอันเดียวที่น่าจะรีบทำเลย
หรือไม่ กทม.ก็ลงทุนเช่าพื้นที่เอกชน ร้านค้า โชว์ห่วย ฯลฯ
หรือส่งเสริมให้ทำที่จอดสาธารณะเลยครับ
ไม่ต้องไฮเทค จ้างงานคนเฝ้าวันละไม่กี่ร้อยบาท
คิดค่าจอดชั่วโมงละห้าบาทสิบบาท
เหมาทั้งวันก็สามสิบบาท
ผมว่าได้จ้างงาน หมุนเวียนเศรษฐกิจอีกเพียบ
--------------
ปัจจุบันนี้ ย่านของเมืองหลายๆ ย่าน
เคยสังเกตไหมครับว่าร้านค้าตามตึกแถวริมถนนจำนวนมาก
กำลังจะอยู่ไม่รอด ส่วนหนึ่งเพราะคนใช้รถกันมากขึ้น
ค้าขายยาก ถ้าไม่มีที่จอดรถ

อย่างที่ท่านที่ปั่นเพื่อสัญจรเป็นกิจวัตรจะรู้กันอยู่ว่า
การปั่นช้าๆ ในเมืองจะเห็นเมืองละเอียดขึ้นเยอะ

ส่วนตัวผมเชื่อว่า ทำเลตึกแถวย่านต่างๆ ในเมือง
มันอาจจะฟื้นขึ้นมาได้
ถ้าคนได้ลองมาสัญจรด้วยจักรยานกันมากขึ้นก็ได้นะครับ