วันเสาร์, กรกฎาคม 20, 2567

“เราอยากขอความยุติธรรมเป็นสิ่งแรก” เสียงจากประชาชนผู้ฟ้องรัฐ ก่อนคดีตากใบหมดอายุความ

17 ก.ค. 67
Thairath Plus

ฟังเสียงผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบขอความเป็นธรรม และการฟ้องอดีตเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้ามาอยู่ในความรับรู้ของคนไทย ภายใต้นิยามว่า ‘ความไม่สงบ’ ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์สลดใจ คือ ‘เหตุการณ์ตากใบ’ หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจตากใบ เมื่อ 25 ตุลาคม 2547

เหตุการณ์ตากใบ - เกิดจากชาวบ้านรวมตัวกันที่หน้า สภ.ตากใบ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน กว่าสัปดาห์ ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. โดยมีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน แต่การเจรจาก็ไม่สำเร็จ จึงเกิดการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ และกระสุนจริง

ในการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้ความรุนแรง พร้อมจับกุมผู้ชุมนุมราว 1,300 คน มัดมือไพล่หลัง สั่งให้ผู้ชุมนุมนอนทับกันหลายชั้นบนรถบรรทุก ก่อนจะนำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ที่จังหวัดปัตตานี ระยะห่างออกไปกว่าร้อยกิโลเมตร จนทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และทุพพลภาพจากเหตุการณ์นี้เป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์นี้ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่เคยลืมเลือน เรื่องราวในวันนั้น ขณะเดียวกัน คดีตากใบก็นับถอยหลังหมดอายุความลงในปีนี้ ชาวบ้านจำนวน 48 คน จึงตัดสินใจรวมตัวฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมตากใบ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ถือเป็นการยื่นฟ้องครั้งสุดท้ายก่อนที่คดีตากใบจะหมดอายุความ

ฟังเสียง แบมะ (นามสมมติ) ผู้ซึ่งสูญเสียพี่ชายคนโตในเหตุการณ์ตากใบ ยังคงมีความหวังในระบบยุติธรรมของไทย ว่าจะสามารถทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ และพี่ชายของเขาที่ไม่มีวันได้คืนกลับมา

เราอยากขอความยุติธรรมเป็นสิ่งแรก

แบมะ (นามสมมติ) แสดงเจตนาชัดเจนในเรื่องคดีตากใบที่รอคอยการหาตัวผู้กระทำความผิด แม้ระยะเวลาเกือบ 20 ปี ไม่เคยเพียงพอที่จะทำให้ผู้ได้รับผลกระทบลบลืมเรื่องราว 25 ตุลาคม 2547 ออกจากความทรงจำได้ แบมะยังคงเล่าเรื่องราวในวันนั้นพร้อมน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาที่ซึมออกมา ถึงพี่ชายคนโตของเขาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ตอนนั้นพี่ชายแบมะอายุเพียง 21 ปี ส่วนตัวแบมะเองยังไม่โตเท่าไร

“ในวันนั้นตอนเช้าผมไปไถนากับพี่ชาย แต่พี่ชายขอไปซื้อเสื้อผ้าต้อนรับวันฮารีรายอ ในเดือนรอมฎอนที่ตากใบ เป็นครั้งสุดท้ายที่ได้พูดคุยกับพี่ชาย เพราะพี่ชายผมเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายชุมนุม สภ.ตากใบ แต่ความรู้สึกนี้ยังไม่จางหายไป ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นยังรู้สึกไม่สบายใจ แม้ว่าอายุความใกล้จะครบ 20 ปี แต่ทุกครั้งที่พูดถึง จะมีความรู้สึกว่ายังรอคอยความยุติธรรม” แบมะ กล่าว

เมื่อไรที่คดีตากใบมีอายุครบ 20 ปี เท่ากับว่า ‘คดีหมดอายุความ’ และกระบวนการหาผู้กระทำความผิด ความยุติธรรมที่ชาวบ้านต้องการก็จะหายไปพร้อมกับคดี


แบมะ ยังเปิดเผยถึงข้อสรุปการเสียชีวิตที่ได้จากเจ้าหน้าที่รัฐว่า ‘ขาดอากาศหายใจ’ แต่เมื่อนำร่างผู้เสียชีวิตมาดำเนินพิธีกรรมตามศาสนานั้น ลักษณะภายนอกทำให้ญาติผู้เสียชีวิตหลายคนเห็นต่างออกไป

“เจ้าหน้าที่สรุปว่าขาดอากาศหายใจ แต่ผมขอถามว่าคนที่เสียชีวิตมีไหมที่ไม่ขาดอากาศหายใจ อย่างศพพี่ชายของผม ถ้าไม่นำกลับมาประกอบพิธีจะไม่รู้เลยว่ามีร่องรอยถูกยิง 2 จุด คนในหมู่บ้านที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเหมือนกัน ทุกคนคอหักหมดเลย คำถามคือโดนอะไร” แบมะย้อนถึงเหตุการณ์ความสูญเสียของใครหลายคนเมื่อ 20 ปีก่อน

“มันเป็นการเสียชีวิตที่ไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่การกระทำโดยปกติ ยิ่งรู้เรื่องการขนย้ายผู้ชุมนุม ยิ่งรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ ทำเหมือนผู้ชุมนุมไม่ใช่คน หากหาคนกระทำความผิดได้ ความรู้สึกของชาวบ้านก็จะลดลง แม้อายุความจะหมดไป แต่ความรู้สึกสูญเสียยังคงอยู่ ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม”

แบมะยังอธิบายถึงบริบทในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ตากใบนั้นอยู่ในช่วงถือศีลอด จึงเกิดคำถามว่าการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมในรูปแบบดังกล่าวเป็นการจงใจทำหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แบมะมาพูดวันนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาในการยื่นฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบนั้น เพื่อต้องการความยุติธรรม

“อีก 3 เดือน จะครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ตากใบ เราจึงรวมตัว พูดคุยกันว่าจะให้จบโดยไม่เดินเรื่องอะไรเลย หรือจะลองสู้เพื่อความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับคนที่เสียชีวิตแล้ว โดยเขาไม่สามารถกลับมาบอกอะไรเราได้ในการเสียชีวิตครั้งนั้นว่าถูกกระทำความรุนแรงอย่างไร เพราะการขนย้ายครั้งนั้น ชาวบ้านที่เห็นยังคงพูดปากต่อปากว่าเหมือนสัตว์ ทำไมกระทำแบบนั้น” แบมะ กล่าว



ความคืบหน้าของคดีตากใบ

สำหรับการลุกขึ้นสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียทุกคน ชาวบ้านผู้เสียหายรวมตัวกันได้ 48 คน แต่จำนวนนี้ไม่ใช่ผู้เสียหายทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบ

การฟ้องครั้งนี้ เป็นการฟ้องที่ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โดยยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ได้แก่

จำเลยที่ 1 อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น

จำเลยที่ 2 อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น

จำเลยที่ 3 อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 ในขณะนั้น

จำเลยที่ 4 อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้าในขณะนั้น

จำเลยที่ 5 อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ในขณะนั้น

จำเลยที่ 6 อดีตผู้กำกับ สภ.ตากใบ ในขณะนั้น

จำเลยที่ 7 อดีตรองผู้กำกับ สภ.ตากใบ ในขณะนั้น

จำเลยที่ 8 รอง ผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น

จำเลยที่ 9 ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในขณะนั้น

ข้อหาในการยื่นฟ้อง
  • ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ 289 (5)
  • ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ตามมาตรา 309
  • หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประกาศใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310
สำหรับการยื่นฟ้องคดีอาญาแก่เจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ครั้งนี้เป็นการยื่นฟ้องในนามของประชาชน โดยประชาชนเป็นโจทก์ และอดีตเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลย ขั้นตอนกระบวนการเมื่อมีประชาชนเป็นโจทก์จะแตกต่างกับกรณีที่พนักงานอัยการฟ้องดำเนินคดีเอง เพราะการฟ้องดำเนินคดีของพนักงานอัยการจะทำให้คดีนั้นเป็นคดีอาญาทันที โดยไม่ต้องมีขั้นตอนไต่สวนข้อมูลฟ้อง

เมื่อประชาชนเป็นโจทก์ กระบวนการที่ตามมาคือ ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน เพื่อพิจารณาว่าคดีมีมูลฟ้องพอเป็นคดีอาญาหรือไม่ หากศาลประทับรับฟ้องจะเป็นคดีอาญาทันที

ตอนนี้การฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 9 มีการนัดไต่สวนแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีจำเลย 4 คน แต่งตั้งทนายความส่วนตัวเป็นตัวแทนมาศาล ส่วนจำเลยอีก 5 คน ไม่ได้แต่งตั้งทนายความมา แต่ขอให้พนักงานอัยการมาว่าความให้ ในวันดังกล่าวพนักงานอัยการขอให้ศาลเลื่อนการไต่สวนมูลฟ้อง เนื่องจากไม่มีใบแต่งตั้งทนายความ จึงยังไม่สามารถเป็นตัวแทนของจำเลยได้ สุดท้ายศาลไม่ให้เลื่อนพิจารณาคดี และให้สืบพยาน 3 ปาก ที่ทางโจทก์เสนอต่อ

พยานปากแรก คือ ทนายความที่ได้รับมอบหมายจากสภาทนายความให้ช่วยเหลือคดีชาวบ้านตากใบตั้งแต่ปี 2548 และให้ความช่วยเหลือมาตลอด

พยานปาก 2 และ 3 คือ ผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2547

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 มิถุนายน ศาลสืบพยานได้เพียงปากแรกปากเดียว จึงมีคำสั่งให้ไต่สวนพยานต่อในวันที่ 25 มิถุนายน แต่เมื่อถึงวันไต่สวนต่อ ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งเลื่อนไต่สวน เพื่อสืบพยานอีก 2 ปาก เป็นวันที่ 19 กรกฎาคม ไต่สวนพยานปากสอง และวันที่ 26 กรกฎาคม ไต่สวนพยานปากสาม

เหตุผลที่เลื่อนศาลแจ้งว่า เนื่องจากอธิบดีและรองอธิบดีศาลภาค 9 ท้วงติงการที่จำเลยไม่ได้แต่งตั้งทนายมา เนื่องจากไม่ทราบว่าวันที่ 25 มิถุนายน มีการนัดสืบพยานต่ออีก 2 ปาก จึงได้ทำการเลื่อนการสืบพยานออกไปก่อน

การฟ้องครั้งนี้ของประชาชนถือว่ายังไม่ได้เป็นคดี เพราะอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้อง หากศาลรับฟ้องก็จะเป็นคดีอาญา และอดีตเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 9 จะมีฐานะเป็นจำเลยในคดีอาญาในทันที

แต่หากยังคงมีการเลื่อนพิจารณาคดีอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าเนื่องจากฟังจำเลยหรือปัจจัยใด หากเลื่อนจนสุดท้าย ไม่ทันวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ก็เท่ากับว่าการฟ้องครั้งนี้ของประชาชนก็จะสิ้นสุดลง เพราะคดีตากใบหมดอายุความ จำเลยทั้ง 9 ก็จะกลายเป็นคนธรรมดา เป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่มีอะไรที่จะเอาผิดพวกเขาเหล่านี้ได้อีกต่อไป

วันที่ 19 กรกฎาคมนี้ จะมีการไต่สวนสืบพยานอย่างราบรื่น หรือจะมีอะไรสะดุดอีกหรือไม่ จนเป็นเหตุให้คดีตากใบหมดอายุความ