Poetry of Bitch
19 hours ago
·
สรุปข่าว #ปลาหมอคางดำ
—————
รู้จัก “ปลาหมอคางดำ”
:
1- “ปลาหมอคางดำ” (Blackchin Tilapia) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา มันขยายพันธุ์รวดเร็วมาก เพราะวางไข่ได้ตลอดปี คือตั้งท้อง 22 วัน พอวางไข่แล้วท้องต่อได้ทันทีไม่มีพัก
2- ส่วนปลาตัวผู้ก็จะปกป้องไข่ด้วยการอมไว้ในปาก ยอมอดอาหาร เมื่อฟักเป็นตัวแล้วค่อยปล่อยลูกปลาออกมา ทำให้ไข่มีโอกาสรอดสูงถึง 99%
3- ปลาหมอคางดำเป็นสัตว์ที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก ปรับตัวให้อยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ป่าชายเลน แม้แต่น้ำคุณภาพไม่ดีหรือค่าออกซิเจนต่ำมันก็อยู่ได้
4- พวกมันมีลำไส้ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า ทำให้หิวตลอดเวลา มันจึงเป็นสัตว์นักล่าที่ดุร้าย กินดะทั้งพืชน้ำ ปลาเล็กปลาน้อย กุ้ง รวมถึงซากสิ่งมีชีวิต
5- ปลาหมอคางดำจึงถือเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” ที่อันตรายต่อสัตว์น้ำท้องถิ่น ไม่ควรมีอยู่ในประเทศไทยอย่างเด็ดขาด เพราะจะรุกรานสัตว์น้ำและระบบนิเวศของไทยอย่างรุนแรง
—————
แพร่ระบาดในไทยครั้งแรก
:
6- แต่ในปี 2555 กลับพบปลาหมอคางดำแพร่ระบาดครั้งแรกในไทยที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านทำนากุ้งและบ่อเลี้ยงปลากันมาก
7- ชาวบ้านบอกว่าพบครั้งแรกไม่รู้ว่ามันคือปลาอะไร ดูคล้ายปลานิลและปลาหมอเทศ มันไล่กินกุ้งและปลาอื่นจนลดจำนวนลง ส่วนพวกมันเองเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นภัยคุกคามนากุ้งและบ่อปลา ทำเอาเกษตรกรบางคนหมดเนื้อหมดตัว
8- ส่วนตามลำคลอง เดิมวางแหดักอวนได้ปลากระบอกหรือปลานิล ตอนนี้มีแต่ปลาหมอคางดำ ล่าสุดชาวบ้านลองทอดแหให้นักข่าวดู ปรากฏว่าได้แต่ปลาหมอคางดำ ตัวเมียมีไข่เต็มท้อง ส่วนตัวผู้ก็อมไข่ไว้ในปาก ชาวบ้านบอกว่าเอามาทำอาหารกินก็ไม่อร่อย เพราะเนื้อแข็งกระด้าง
9- แล้วต่อมาปลาหมอคางดำก็ระบาดไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล แม้ในปี 2561 กรมประมงจะออกประกาศห้ามนำเข้าหรือเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำทุกกรณี แต่ไม่ทันการ ล่าสุดพบปลาหมอคางดำระบาดแล้วใน 16 จังหวัด และเริ่มพบในกรุงเทพฯ กับนนทบุรีด้วย
—————
สถานการณ์ปัจจุบัน
:
10- ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ตอนนี้ปลาหมอคางดำปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศของไทยได้แล้ว กำลังยกระดับขึ้นเป็นสายพันธุ์รุกรานระดับภูมิภาค มีแนวโน้มจะระบาดจากไทยไปกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์
11- ต่อไปนี้สัตว์น้ำท้องถิ่นชนิดใดที่ปรับตัวให้เข้ากับการมีอยู่ของปลาหมอคางดำไม่ได้ ก็จะลดจำนวนลงหรือหายไปจากระบบนิเวศในที่สุด
12- นักวิชาการหลายคนเห็นตรงกันว่า ไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะกำจัดให้หมด ทางที่ดีที่สุดคือหาวิธีอยู่กับมันให้ได้ และนำมันมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
—————
ไทยเคยนำเข้าเมื่อ 14 ปีก่อน
:
13- ทั้งนี้ พบว่าไทยเคยนำเข้าปลาหมอคางดำเมื่อปี 2553 โดยตอนนั้นกรมประมงได้อนุญาตให้บริษัท CPF นำเข้ามาจากประเทศกานา 2,000 ตัว เพื่อทดลองปรับปรุงสายพันธุ์ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ให้มีการแพร่ระบาด
14- ปลาหมอคางดำมาถึงไทยในเดือนธันวาคม 2553 และถูกนำไปพักฟื้นที่ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำของ CPF ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
15- แต่ปลาได้รับความเสียหายจากการขนส่งและทยอยตายจนเหลือ 600 ตัว แต่ที่เหลือก็มีสภาพอ่อนแอและตายต่อเนื่องจนเหลือเพียง 50 ตัว จึงตัดสินใจยุติโครงการวิจัยเมื่อมกราคม 2554
16- CPF บอกว่า หลังยุติโครงการก็ได้ทำลายซากปลาทิ้งตามมาตรฐาน โดยใช้สารคลอรีนเข้มข้นและฝังกลบซากปลาโรยด้วยปูนขาว พร้อมส่งมอบตัวอย่างซากปลา 50 ตัว ซึ่งดองในฟอร์มาลีนให้กรมประมงเก็บไว้
17- ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสรายงานว่า ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำของ CPF ที่ยี่สารนั้นอยู่ติดคลองหลักถึง 3 สาย ซึ่งทั้ง 3 สายล้วนเชื่อมต่อพื้นที่นากุ้งและบ่อปลา และปัจจุบันคลองทั้งสามก็มีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดเช่นกัน
—————
กรมประมง vs CPF
:
18- ต่อมาในปี 2565 มีการสุ่มจับปลาหมอคางดำจาก 6 จังหวัดทั่วประเทศมาตรวจ DNA ว่ามีต้นตอมาจากแหล่งเดียวกันหรือไม่ พบว่ามาจากแหล่งเดียวกัน จึงต้องการนำผลไปเทียบกับปลาหมอคางดำที่เคยนำเข้า แต่กรมประมงบอกว่าไม่มีปลาดองฟอร์มาลีน 50 ตัวอยู่ที่กรม
19- กรมประมงยอมรับว่า CPF เป็นเอกชนรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ แต่ต้นตอการระบาดอาจเกิดจากการนำเข้าถูกกฎหมายแล้วทำผิดเงื่อนไข หรือเกิดจากการลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายก็ได้ แต่เนื่องจากการระบาดเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว จึงไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้
20- เรื่องนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม จนทาง CPF ต้องออกมายืนยันว่าทำลายซากปลาทั้งหมดอย่างรอบคอบ มั่นใจว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุการระบาด ผ่านมา 14 ปี ปลาล็อตนั้นคงไปสวรรค์หรือไปไหนแล้วก็ไม่รู้ และตั้งข้อสังเกตว่าปลาหมอคางดำเคยนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และเคยเลี้ยงเพื่อส่งออกปีละ 5-6 หมื่นตัว คนที่เลี้ยงแล้วเบื่อเอาไปทำอะไรกันบ้างก็ไม่รู้
21- อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมประมงออกมาแถลงสวนว่า ไม่พบการนำส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำ 50 ตัว รวมทั้งไม่มีตัวอย่างขวดโหลดองปลา ตามที่ CPF กล่าวอ้าง ทำให้เรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ
—————
ปลามันซื้อตั๋วเครื่องบินมาเองเหรอ ?
:
22- สำหรับแนวทางการแก้ไขในปัจจุบัน เช่น
ขึ้นราคารับซื้อปลาหมอคางดำจาก กก.ละ 8 บาท เป็น กก.ละ 15 บาท เพื่อจูงใจให้มีการล่าเพิ่มขึ้น
ปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาว ลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ
นำมาทำประโยชน์ เช่น ทำปลาป่นเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งตอนนี้ทำไปแล้วกว่า 500 ตัน รวมทั้งทำเป็นอาหารแปรรูปด้วย
23- เกษตรกรรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ช่อง 3 และตั้งคำถามว่า “ปลามันซื้อตั๋วเครื่องบินมาเองเหรอ ?“ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบว่าใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ แล้วให้ไปเก็บค่าปรับจากต้นตอการระบาดมาช่วยเหลือชาวบ้าน ( มีคลิปในคอมเมนต์)
—————
สรุปและเรียบเรียงจาก: ไทยพีบีเอส, สำนักข่าวอิศรา, ไทยโพสต์, ข่าวช่อง 3, ไทยรัฐ, บีบีซีไทย
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1011045703729240&set=a.707991137368033