วันศุกร์, กรกฎาคม 12, 2567

บันทึกเยี่ยมชีวิตหลังกำแพง “ยงยุทธ”- “ธี” – สานต่อนิรโทษกรรมที่เฝ้าฝัน เพื่อนักโทษการเมืองทุกคน

10/07/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ปลายเดือนมิ.ย. ถึงช่วงต้นเดือนก.ค. 2567 ทนายเดินทางไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเข้าเยี่ยม “ยงยุทธ” หรือ “บัง” ผู้ต้องขังคดีที่ถูกกล่าวหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานฯ หลังถูกจับกุมก่อนการชุมนุม #ม็อบ6มีนา64 บังหวังว่าจะทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวให้ดีที่สุด เพื่อภรรยา ลูก และแม่ หากพ้นโทษในอีก 5 เดือนข้างหน้า การพบกับทนายสองครั้งนี้ทำให้รับรู้ถึงชีวิตคนในครอบครัวที่พอจะทำให้เขาทุเลาความกังวล ทั้งรู้สึกมีความหวังกับการใช้ชีวิตข้างในเรือนจำได้อยู่บ้าง

ส่วน “ธี” ผู้ต้องขังคดีครอบครองวัตถุระเบิดฯ ที่แม้ตัวจะถูกคุมขัง แต่ยังตื่นรู้ และสนใจสถานการณ์การเมืองภายนอกอยู่เสมอ เขาคาดหวังความสำเร็จของการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนฯ และยังลุ้นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 16 ก.ค. 2567 ซึ่งหากโชคเข้าข้าง จนได้ออกจากเรือนจำ เขายืนยันจะช่วยเคลื่อนไหวเรื่องนิรโทษกรรมเพื่อเพื่อน ๆ นักโทษการเมืองทุกคน

.
“ยงยุทธ” : “หากไม่มีกำลังใจจากแฟน แม่ ลูก ผมคงอยู่ไม่ได้”
 


วันที่ 24 มิ.ย. 2567 “ยงยุทธ” หรือ “บัง” ย้ายไปลงแดน 3 ขณะนั้น อยู่ระหว่างกักตัว ทำให้ทนายต้องเยี่ยมผ่านทางโทรศัพท์ บังเล่าว่าระหว่างอยู่ในเรือนจำ ก็หาอะไรทำ เช่น ออกกำลังกาย เตะฟุตบอล วิ่งรอบแดน วิดพื้น ซึ่งปกติข้างนอกไม่ค่อยได้ทำ และอยากใช้เวลาในนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเอง บังเล่าอีกว่าข้างในพอมีหนังสือประวัติศาสตร์ให้หยิบมาอ่านแก้เบื่อ เพิ่มความรู้ให้ตัวเองอยู่บ้าง

เขาย้อนเล่าว่าก่อนเข้ามา ตั้งใจจะเรียนกศน.จนจบ ม. 6 จะไปสมัครเป็นตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนความคิดแล้ว ตั้งใจว่าจะไปเรียนให้จบ ม. 6 แล้วพยายามต่อเข้ามหาวิทยาลัยทำอาชีพอื่นที่ดีกว่า

“คิดดูมันย้อนแย้งกับชีวิตผมเกินไปที่อยากเป็นตชด. แต่ตัวเองกลับถูกตำรวจจับ เพราะต่อสู้กับเรื่องพวกนี้มา”

บังยังให้ความเห็นถึงเรื่องการศึกษาว่า เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษา เป็นสิ่งที่พูดกันมาตั้งนาน ทว่าไม่มีความคืบหน้า เขาให้ความเห็นว่าสิ่งสำคัญของการศึกษา คือ ควรนำความรู้ที่เรียนมาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง แล้วปรับปรุงเรื่องที่บังคับเด็กเกี่ยวกับการแต่งกาย ทรงผม และเพศสภาพ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เด็กมีความสุขในการเรียน และการใช้ชีวิต เด็กต้องมากังวลเรื่องการถูกทำโทษ

“ผมเชื่อว่าถ้าเด็กมีความสุข เด็กจะเรียนได้ดี ผมจำได้ตอนที่ผมเหลืออยู่ มีวิชาหนึ่งอาจารย์ดุเคร่งเครียดเรื่องทรงผมมาก ๆ ผมไม่ไปเรียนเลย โดดเรียนไป 2 เดือน มันทำให้ผมไม่ชอบวิชานั้นไปเลย อีกวิชาอาจารย์เข้าใจเด็ก ไม่มาคอยดุเรื่องแบบนี้ ผมก็เข้าเรียนทุกคาบไม่เคยขาดเลย”

บังยังเล่าย้อนเหตุผลที่ตนเอง ออกมาเรียกร้อง เคลื่อนไหวผ่านการชุมนุม โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาปฏิรูปประเทศ

“ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพวกผู้ใหญ่ ไม่ฟังคนรุ่นใหม่ เพราะสุดท้ายแล้วเขาก็ต้องจากไป คนรุ่นใหม่ยังต้องอยู่ต่อ ทำไมไม่ส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้คนรุ่นใหม่ อยากให้ผู้ใหญ่รับฟัง พูดคุยและแก้ปัญหาไปด้วยกัน เพราะยังไง เราก็ต้องอยู่ร่วมกัน”

วันที่ 9 ก.ค. 2567 วันนี้บังต้องกักตัว เนื่องจากเพื่อนผู้ต้องขังชาวญี่ปุ่น 2 คน ติดเชื้อโควิด ทำให้ผู้ต้องขังในห้องทั้งหมดต้องกักตัวถึงวันที่ 14 ก.ค. 2567 บังจึงได้คุยกับทนายทางโทรศัพท์ เขาบอกว่าตัวเองไม่มีอาการป่วย ก่อนที่ทนายจะอ่านจดหมายที่ภรรยาฝากมา หลังจากนั้นบังก็กล่าวกับทนายว่า อย่างที่ทราบจากภรรยาว่า อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เขาจึงเป็นห่วงมาก ส่วนแม่สุขภาพไม่ค่อยดี ไม่รู้ว่าแม่ได้ผ่าตัดหรือยัง และเป็นห่วงลูกชายที่เป็นหอบหืดเหมือนตน มันเป็นโรคที่ทรมาน บังยังคงกล่าวย้ำอีกว่าเป็นห่วงภรรยามาก ๆ แต่ดีใจที่คอยส่งข้อความมาตลอด ได้รับรู้ว่าครอบครัวสบายดีมันก็คลายกังวลไปบ้าง ถ้าได้ออกไป ก็อยากกลับไปทำหน้าที่ลูกของแม่ พ่อของลูก คนรักของภรรยาให้ดีที่สุด

“ผมคิดนะว่าผมเป็นนักโทษการเมืองที่โชคดี ที่มีแฟน มีครอบครัวรอผมอยู่ ผมเคยอ่านบันทึกเยี่ยมของพี่เวหา เวลาของคนอยู่หลังกำแพงมันยาวนานมาก ซึ่งมันก็ตรงกับความรู้สึกผมนะ”

ก่อนบังจะเล่าว่า แม้คดีของเขาสิ้นสุดแล้ว และนับถอยหลังรอวันออก ทว่าการนิรโทษกรรรมเพื่อนๆ ก็จำเป็น

“ก่อนเข้ามาที่นี่ผมเคยคิดนะว่าคงอยู่ไม่ได้แน่ ๆ แต่พอเข้ามา ผมได้รับกำลังใจจากแฟน ครอบครัว เพื่อน ๆ มันทำให้ผมอยู่ได้”

บังเล่าต่อว่า ที่นี่มีชนชั้นวรรณะมาก คนที่ไม่มีญาติ ไม่มีใคร ไม่มีเงิน เปรียบเทียบก็เหมือนขอทาน ต้องขอสบู่ และยาสระผมคนอื่น

“ผมสงสาร คือมันไม่มีอะไรเลย ผมยอมรับเลยหากไม่มีกำลังใจจากแฟน แม่ ลูก ผมคงอยู่ไม่ได้” ก่อนเล่าทิ้งท้ายว่า “แม่ผมเคยพูดนะว่าคิดดีแล้วหรอที่จะไปม็อบ จริง ๆ แม่ผมเป็นคนเสื้อแดงนะ แม่เคยไปม็อบมาก่อน เขาบอกว่ามันไม่เหมือนแต่ก่อนนะ ผมก็คิดนะว่าผมเชื่อแม่ ผมก็คงไม่มาอยู่ที่นี่ แต่ต่อให้ย้อนกลับไป ผมก็ต้องออกไปชุมนุม คือผมมองหน้าลูกแล้ว ผมต้องออกมาเคลื่อนไหว”

จนถึงปัจจุบัน (10 ก.ค. 2567) ยงยุทธถูกคุมขังมาแล้ว 33 วัน เขาถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 6 เดือน ในคดีที่ถูกกล่าวหาเรื่องทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน เหตุจากการถูกกล่าวหาว่าสับศอกใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังถูกจับกุมที่ห้างเมเจอร์รัชโยธิน ก่อนการชุมนุม #ม็อบ6มีนา64

.
“ธี” ถิรนัย: 112 นิรโทษกรรม และสิทธิประกันตัว “ผมยังสู้อยู่ และสู้เพื่อเพื่อน ๆ คดีการเมืองทั้งประเทศ”



วันที่ 2 ก.ค. 2567 ธี นั่งรอในห้องเยี่ยมผ่านจอ หน้าตาเคร่งเครียดกว่าปกติ พอเห็นหน้ากันก็ยิ้มผ่านกล้องกลับมาสดใสปกติ ธีเล่าว่า ไม่ได้เครียดอะไร แต่ปวดขา เพราะออกกำลังกาย ธีเล่าว่าเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยยนแห่งชาติ เข้ามาคุยในเรือนจำ โดยมี บูม, ขนุน, และบุ๊ค ออกไปคุย ส่วนมากเป็นเรื่องปัญหาของเรือนจำ และคดีการเมือง โดยธีเพิ่งคุยกับเพื่อน ๆ และคิดว่าเดือนนี้ต้องทำให้ไม่มีใครอยู่ในเรือนจำ มันควรจบได้แล้ว

ธีบอกอีกว่าได้ตามข่าวนิรโทษกรรม เขาและเพื่อนนักโทษการเมือง เข้าไปนั่งดูในห้องฝ่ายแดน 4 ดูไปวิเคราะห์ไป รายการหัวข้อเกี่ยวกับ “นิรโทษกรรมทางการเมือง 112 ทางสองแพร่ง” ก่อนสะท้อนว่าปัญหาหนักตอนนี้ คือสถานการณ์เรื่องนิรโทษกรรม อยากให้รัฐบาลมาจับจุดนี้เหมือนกัน มันคือปัญหาทางการเมืองล้วน ๆ ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ตอนนี้เพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้ว แต่การเรียกร้องต่อพวกเขาเงียบมาก

ธีบอกว่าอยากคุยกับศูนย์ทนาย 3 เรื่อง เรื่องแรก คือ นิรโทษกรรม โดยอยากให้มาวิเคราะห์ร่วมกัน สองเรื่องแนวโน้ม ม. 112 และสุดท้ายเรื่องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังคนอื่น ๆ คุยว่าจะทำยังไงกับคดีการเมืองที่เด็ดขาดแล้ว เพราะเขาต้องไปอยู่แดนอื่น ส่วนจุดประสงค์ที่อยากคุย เพราะเชื่อว่าคงมีใครเข้ามาคุยกับพวกเรา ถ้าเรามีข้อมูลจะได้ประเมินถูก

สำหรับวันที่ 16 ก.ค. 2567 ที่จะฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ ธีแสดงความเห็นว่า ถ้าได้ออก ก็จะไปช่วยเคลื่อนเรื่องนิรโทษกรรมต่อจนกว่ามันจะจบ พอจบแล้วจึงจะกลับไปเริ่มต้นใหม่ ไปเรียนต่อให้จบแล้วค่อยมาทำงาน ธีเปิดใจว่าชอบงานเคลื่อนไหว งานการเมือง เพิ่งมาค้นพบตอนปี 2563 -2564 ตอนนี้เขาคิดว่ามันคือภาคปฏิบัติ หลังจากนี้คงต้องขยับไปภาควิชาการ ภาคทฤษฎี

“ผมว่าถ้าลองคิดในแง่ดี ก็ได้เรียนรู้หลายอย่างนะ ได้แง่คิด ได้ความรอบคอบ ได้อดทน ผมไม่อยากให้ที่ผ่านมามันสูญเปล่า ไหน ๆ ก็ต้องเข้ามาแล้ว ผมจะลองไปให้สุดดู”

ก่อนธีฝากความห่วงใยถึงครอบครัว และฝากข้อความทิ้งท้าย “สำหรับผมคงต้องอดทน พยายามทำมันให้ดีที่สุด แต่เราก็อยากไปในทางที่เราเลือก ฝากบอกเพื่อน ๆ ข้างนอกว่า ผมยังสู้อยู่ จนกว่ามันจะจบ และสู้เพื่อเพื่อน ๆ คดีการเมืองทั้งประเทศ นี่คือเป้าหมายที่ผมจะไปให้ถึง”

จนถึงปัจจุบัน (10 ก.ค. 2567) ธีถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 512 วัน หรือกว่า 1 ปี 4 เดือน หลังศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง ช่วงก่อนการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 บริเวณดินแดง คดีของธีมีนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์วันที่ 16 ก.ค. 2567

https://tlhr2014.com/archives/68503