วันพุธ, กรกฎาคม 17, 2567

ไขปริศนา เปิด-ปิดโรงงาน : แม้ภาพรวมการเปิดโรงงานยังมีจำนวนมากกว่าการปิดโรงงาน แต่พลวัตการเปิดและปิดเปลี่ยนไปในทิศทางที่แย่ลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากแนวโน้มการเปิดโรงงานลดลง และปิดโรงงานเพิ่มขึ้น


Bank’s Scholarship Students
8 hours ago
·
(Jul 16) ไขปริศนา เปิด-ปิดโรงงาน : จากกระแสข่าวการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่มากขึ้น ทำให้มีคนตกงานนับหมื่นคน สร้างความกังวลให้กับทุกภาคส่วนต่ออนาคตของภาคการผลิตไทย ซึ่งมีสัดส่วนต่อ GDP ประมาณ 1 ใน 4
ผู้เขียนจึงขอฉายภาพสถานการณ์เปิด-ปิดโรงงานให้ชัดเจนขึ้น ด้วยการคลี่ข้อมูลในหลากหลายมิติ ทั้งภาวะการเปิดและการปิดโรงงานในแต่ละขนาด สาขาอุตสาหกรรม และภูมิภาค ตลอดจนการจ้างงานและจำนวนเงินทุนสุทธิ เพื่อให้การประเมินสถานการณ์การเปิดปิดโรงงานและผลต่อเศรษฐกิจมีความครบถ้วนยิ่งขึ้น
ภาพรวมการเปิดโรงงานยังมีจำนวนมากกว่าการปิดโรงงาน แต่พลวัตการเปิดและปิดเปลี่ยนไปในทิศทางที่แย่ลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากแนวโน้มการเปิดโรงงานลดลง และปิดโรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปี 2566 ที่สถานการณ์แย่ลงชัดเจน สอดคล้องกับภาวะการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 โดยส่วนต่างระหว่างการเปิดที่มากกว่าปิดโรงงานเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2566-เดือนพฤษภาคม 2567 ลดลงมาอยู่ไม่ถึง 100 โรงงานต่อเดือน จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 100-200 โรงงานต่อเดือนในช่วงปี 2563-2565
และหากมองในมิติของขนาดโรงงาน พบว่า พลวัตของโรงงานขนาดเล็กแย่กว่าขนาดใหญ่ โดยในปี 2566 โรงงานขนาดเล็กเปิดใหม่ลดลง 6% แต่ปิดตัวเพิ่มขึ้นถึง 57% จากปีก่อน ในขณะที่ยังเห็นการเปิดโรงงานขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น และปิดลดลง
ในรายสาขาอุตสาหกรรม พบว่าบางกลุ่มมีอาการน่าเป็นห่วง คือเห็นภาพการปิดโรงงานสูงกว่าเปิดใหม่แล้ว ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น
1) กลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ ที่เห็นการปิดตัวของทั้งโรงงานขนาดใหญ่และขนาดเล็กมากกว่าเปิด
ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตในกลุ่มนี้ที่หดตัวสูงต่อเนื่อง จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และ
2) กลุ่ม SMEs ที่ปรับตัวไม่ได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตไม้ ยานยนต์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ยาง โดยการผลิตในภาพรวมของกลุ่มนี้ยังมีการเติบโต สะท้อนว่ารายใหญ่ยังพอไปได้ แต่มีการปิดตัวของโรงงานขนาดเล็กจำนวนมาก จากอุปสงค์ที่ลดลงตามความนิยมที่เปลี่ยนไป มาตรฐานสิ่งแวดล้อมใหม่ หรือไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับต่างประเทศได้ รวมถึงบางส่วนเผชิญปัญหาขาดวัตถุดิบป้อนโรงงานจากการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกไปสู่สินค้าเกษตรอื่นที่มูลค่าสูงกว่า เช่น เปลี่ยนจากสวนยางเป็นสวนทุเรียนในภาคใต้
อย่างไรก็ดี ยังมีบางกลุ่มที่แม้การผลิตจะหดตัว แต่เห็นการเปิดโรงงานใหม่มากกว่าปิด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตมายังไทยต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยเงินลงทุนของโรงงานเปิดใหม่ในสาขานี้ 5 เดือนแรกของปี 2567 สูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพราะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สูงสุดในช่วงที่ผ่านมา ทั้งด้านจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน ซึ่งในภาพรวมหากพิจารณาเงินลงทุนของโรงงานที่เปิดใหม่เทียบกับโรงงานที่ปิดตัวไปพบว่า เม็ดเงินลงทุนสุทธิยังคงอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสาขาการผลิตอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ และอโลหะ เป็นสำคัญ
ด้านการจ้างงานโดยรวมสอดคล้องกับทิศทางการเปิดและปิดโรงงาน คือการจ้างงานสุทธิยังเป็นบวก แต่โน้มลดลงต่อเนื่อง และเป็นการปรับลดลงในทุกสาขา
โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีการเลิกจ้างงานสูงกว่าความต้องการจ้างงานใหม่จากการเปิดและขยายโรงงาน ในมิติของภูมิภาค การจ้างงานสุทธิลดลงมากในภาคกลางและภาคใต้ สอดคล้องกับสถานการณ์ในภูมิภาคนี้ที่มีจำนวนการปิดสูงกว่าเปิดโรงงาน ซึ่งอาจทำให้การหางานใหม่ของคนในพื้นที่ยากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง
แม้ในภาพรวมการเปิดและปิดโรงงานยังกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มาก เรายังเห็นการเปิดโรงงานใหม่มากกว่าปิดตัว เงินลงทุนสุทธิเพิ่มขึ้น และการจ้างงานสุทธิยังเป็นบวก
แต่สถานการณ์มีทิศทางแย่ลง และบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จึงควรมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่าง transition และต้องปรับตัว
หากมีการปิดโรงงานเพิ่มขึ้น จะกระทบกับการจ้างงานและรายได้ของแรงงานในกลุ่มที่ปิดไป และการหางานใหม่อาจทำได้ยากจากทั้งในเชิงพื้นที่ ทักษะ (skill mismatch) และอายุของแรงงาน ซึ่งภาครัฐสามารถมีบทบาทในการช่วยแรงงานหางานใหม่ รวมถึง reskill/upskill เพื่อยกระดับทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจที่ยังขยายตัวได้
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
ผู้เขียน :
นรีกานต์ วงศ์เจริญยศ
ดร. กิ่งกาญจน์ เกษศิริ
Source: BOT Website
(https://www.bot.or.th/.../articles/article-2024jul15.html)