วันอังคาร, กรกฎาคม 02, 2567

ชวนฟัง คำกล่าวสุดท้ายของ รอนิง ดอเลาะ จากเวที ประชาชนออกแบบสันติภาพ เขาถูกยิงเสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 25 มิถุนายน 67 เวลาประมาณ 21.15 น. หน้าบ้านของตัวเอง ใน ม.4 ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี


The Motive
15 hours ago·

"ผมไม่เชื่อในสันติภาพ"
คำกล่าวสุดท้ายของ รอนิง ดอเลาะ
จากเวที ประชาชนออกแบบสันติภาพ
นายรอนิง ดอเลาะ อายุ 45 ปี ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 25 มิถุนายน 67 เวลาประมาณ 21.15 น. หน้าบ้านของตัวเอง ใน ม.4 ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
.
เวที ประชาชนออกแบบสันติภาพ
การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนต่อการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี โดย กรรมาธิการสันติภาพฯ
อาทิตย์ที่ 10 มี.ค. 67 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
.
#TheMotive
#รอนิงดอเลาะ

https://www.facebook.com/TheMotive2020/videos/444698155012784
.....

7 องค์กรสิทธิฯ จี้ทางการคลี่ปมสังหาร 'รอนิง ดอเลาะ' นักปกป้องสิทธิฯ อย่างโปร่งใส-เป็นมืออาชีพ



2024-07-01
ประชาไท

แถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรสิทธิฯ จี้ทางการไทยสืบสวนสอบสวนปมสังหาร 'รอนิง ดอเลาะ' นักปกป้องสิทธิฯ อย่างโปร่งใส-เป็นมืออาชีพ เพื่อค้นหาความจริงและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ พร้อมทั้งเยียวยาครอบครัวของรอนิง ทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างครอบคลุม

1 ก.ค.2567 จากกรณี รอนิง ดอเลาะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิมถูกสังหารด้วยอาวุธปืนเสียชีวิตที่บริเวณหน้าบ้านตัวเอง ใน ม.4 ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา นั้น ล่าสุดวันนี้ (1 ก.ค.) องค์กรสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) ออกแถลงการร่วมเรียกร้องต่อทางการไทยดำเนินการ 5 ประเด็นประกอบดว้ย 1. ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีการฆาตกรรม แบนิง ด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นมืออาชีพ เพื่อค้นหาความจริงและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้

2. เร่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งดำเนินการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ กฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน อันเป็นกฎหมายที่พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใดๆ ในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งเสริมใหเกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง 3. รัฐไทยในฐานะที่เป็นรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ( CAT ) จะต้องดำเนินการด้วยมาตรการทาง นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถป้องปรามการทรมานและการกระทำที่โหดร้ายฯ ได้จริง

4. รัฐไทยจะต้องเยียวยาครอบครัวของรอนิง ทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างครอบคลุม อีกทั้งมีการขอโทษต่อครอบครัวรอนิง รวมถึงสาธารณชน และ 5. การละเลยในการดำเนินการใดๆ ของทางการไทยอาจแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติที่สวนทางกับการแสดงเจตจำนงที่จะให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ร่วม กรณีการสังหาร “รอนิง ดอเลาะ” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมลายูมุสลิมและ ผู้เสียหายจากการทรมานหลังถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ

รอนิง ดอเลาะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิม และเหยื่อจากการทรมานจากการเคยถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ถูกยิงสังหารด้วยอาวุธปืนเสียชีวิตที่บริเวณหน้าบ้านตัวเอง ในม.4 ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา เพียงหนึ่งวันก่อนถึงวันต่อต้านการทรมานสากล (International Day in Support of Victims of Torture) ข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 21.15 น. ชายชุดดำ 2 คน ปิดบังใบหน้า เดินเท้ามาจากหลังบ้านรอนิง ก่อนจะใช้อาวุธปืนยิงใส่รอนิง ทำให้บริเวณลำตัวและใบหน้า ถูกกระสุนปืนยิงเข้าหลายนัด และเสียชีวิตทันทีในทีเกิดเหตุ

รอนิง ดอเลาะ หรือเป็นที่รู้จักในนาม “แบรอนิง” เคยถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงภายใต้กฎหมายพิเศษถึง 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550-2560 ระหว่างการถูกควบคุมตัวแบรอนิง ถูกกระทำทรมานและปฏิบัติโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากบันทึกการตรวจสอบกรณีทรมานฯที่กลุ่มด้วยใจได้จัดทำไว้ มีการบันทึกคำบอกเล่าของแบรอนิงถึงประสบการณ์การถูกทรมานที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการถูกซ้อมทรมานทำร้ายร่างกาย การขังในห้องเย็น การให้ยืนหลายวันติดต่อกัน รวมถึงการทรมานทางด้านจิตใจ ภายหลังจากประสบการณ์ที่เลวร้ายดังกล่าว ส่งผลให้แบรอนิงต้องเข้ารับการบำบัดทางด้านจิตสังคม (Psychosocial Support) โดยการแนะนำของกลุ่มด้วยใจ จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเข้มแข็ง เวลาต่อมาแบรอนิงอาสาสมัครร่วมทำงานด้านสันติภาพและปกป้องสิทธิมนุษยชนร่วมกับกลุ่มด้วยใจต่อไป แบรอนิงเป็นกำลังสำคัญในการเป็นอาสาสมัครทำหน้าที่ประสานงานกับญาติ พูดคุยกับเหยื่อจากการถูกซ้อมทรมานจากการควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษในพื้นที่เช่นเดียวกับที่ตนเคยประสบมา เพื่อช่วยเหลือด้านการเยียวยาและฟื้นฟู นอกจากนี้ แบรอนิงยังได้เข้าเรียนหลักสูตรนวดแผนไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และทำงานเป็นผู้ช่วยแพทย์แผนไทยและหมอนวดแพทย์แผนไทยเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวอีกด้วย แบรอนิง เป็นพ่อของลูก 5 คน และเป็นผู้ดูแลเด็กกำพร้าอีก 3 คน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เด็กกว่า 8 ชีวิตต้องสูญเสียเสาหลักในครอบครัวอย่างโหดร้ายทารุณ

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรภาคประชาสังคม เห็นว่า เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญอย่างยิ่ง และตอกย้ำสถานการณ์ความรุนแรงท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ภายใต้การประกาศใช้กฎหมายพิเศษมากว่า 20 ปี ที่ยังคงเลวร้ายและย่ำแย่ต่อไปดังกรณีการสังหารแบรอนิงซึ่งเป็นคนทำงานด้านสันติภาพและเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กรณีดังกล่าวทำให้เกิดบรรยกาศความกลัวจากการคุกคามบุคคลใดที่ต้องการจะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และแสดงให้เห็นว่า เมื่อภาคประชาสังคมและกลไกตรวจสอบภาครัฐ ตรวจสอบการทรมานฯอย่างเข้มงวดมากขึ้น การใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการสังหารนอกระบบกฎหมาย หรือที่ประชาชนทั่วไปใช้คำว่า “การวิสามัญฆาตกรรม”

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรภาคประชาสังคม ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน ขอเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการ ดังนี้

1. รัฐไทยต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีการฆาตกรรมแบนิง ดอเลาะ ด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นมืออาชีพ เพื่อค้นหาความจริงและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้

2. รัฐไทยต้องเร่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตามที่รัฐบาลซึ่งอ้างว่าได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนได้แสดงเจตจำนงต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสามัญครั้งที่ 78 ยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมที่จะสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนร่วมกับสังคมโลก โดยรัฐบาลจะต้องดำเนินการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ กฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน อันเป็นกฎหมายที่พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใดๆ ในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งเสริมใหเกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง

3. การที่คนทำงานด้านสันติภาพ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้เสียหายจากการถูกทรมาน ถูกสังหารอย่างทารุณในบริเวณบ้านของตนเองที่มีภรรยาและครอบครัวอาศัยอยู่ เพียงหนึ่งวันก่อนวันต่อต้านการทรมานสากล บ่งบอกถึงสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมที่ย่ำแย่ในไทย รัฐไทยในฐานะที่เป็นรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ( CAT ) จะต้องดำเนินการด้วยมาตรการทาง นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถป้องปรามการทรมานและการกระทำที่โหดร้ายฯ ได้จริง

4. รัฐไทยจะต้องเยียวยาครอบครัวของรอนิง ดอเลาะ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างครอบคลุม อีกทั้งมีการขอโทษต่อครอบครัวรอนิง รวมถึงสาธารณชน อนึ่งการขอโทษต่อสาธารณชน หรือ Public Apology เป็นวิธีการและเครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อแสดงความสำนึกผิด และประกาศเจตจำนงถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่ยอมรับว่ามีเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจริง เป็นอาชญากรรมที่รัฐบาลไม่อาจยอมรับได้ และปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าว

5. การละเลยในการดำเนินการใดๆ ของทางการไทยอาจแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติที่สวนทางกับการแสดงเจตจำนงที่จะให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สุดท้าย โดยแถลงการณ์ฉบับนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรภาคประชาสังคม ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและขอส่งกำลังใจให้กับครอบครัว ญาติพี่น้องและมิตรสหายของแบรอนิง พวกเราจะไม่หยุดเรียกร้องความยุติธรรมให้กับแบรอนิง และทุกคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แถลง ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567

1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

2. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

3. ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)

4. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)

5. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

6. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

7. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)

(https://prachatai.com/journal/2024/07/109775)