วันจันทร์, พฤษภาคม 06, 2567

การแจกที่แตกต่าง ระหว่าง “รัฐบาลเศรษฐา-ไทย” กับ “รัฐบาลไบเดน-สหรัฐอเมริกา” - Solar for ALL ของรัฐบาลไบเดน กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเศรษฐา ผู้เขียนชี้ว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประเด็น



การแจกที่แตกต่าง ระหว่าง “รัฐบาลเศรษฐา-ไทย” กับ “รัฐบาลไบเดน-สหรัฐอเมริกา”

1 พฤษภาคม 2024
ประสาท มีแต้ม
Thai Publica

ในขณะที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กำลังวุ่นอยู่กับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทให้กับประชาชนจำนวน 50 ล้านคนคนละ 10,000 บาท อย่างเกือบจะไม่จำแนกเลย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่าและจำเป็นจากนักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์ทั่วประเทศจำนวนมาก รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกมาประกาศเนื่องวันเฉลิมฉลอง “วันคุ้มครองโลก (Earth Day)” เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ว่าจะมอบเงินจำนวน 7,000 ล้านดอลลาร์ให้กับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยจำนวนเกือบ 1 ล้านครอบครัวทั่วประเทศเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและอะพาร์ตเมนต์ พร้อมกับขยายความว่า “ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าในครัวเรือนได้ปีละประมาณ 400 ดอลลาร์ต่อครอบครัว นาน 25 ปี มีการจ้างงาน 2 แสนตำแหน่ง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”

ผมอ่านข่าวนี้ด้วยความสงสัยว่า เอ๊ะ มันเป็นการมอบแบบไหนกันแน่ บางข่าวบอกว่าเป็นการมอบรางวัล บางข่าวบอกให้ทุน ผมคิดในใจว่าเป็นทุนแบบให้กู้ดอกเบี้ยต่ำหรือให้ฟรีกันแน่ ผมพยายามค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายแหล่งรวมทั้ง เว็บไซต์ของทำเนียบขาวแม้ว่าพบรายละเอียด แต่ก็ไม่ได้คำตอบว่าเป็นการให้กู้หรือให้ฟรี แต่เมื่อผมเข้าใจในวัตถุประสงค์ของโครงการและสำนักข่าวหนึ่ง (ในภาพ) บอกว่าให้ฟรี ผมจึงตัดสินใจเขียนถึงเรื่องนี้ทันที



โครงการนี้เป็นการมอบเงินของรัฐบาลกลางผ่านไปทางองค์การปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Environment Protection Agency) ไปตามรัฐต่างๆ รวม 50 รัฐ คิดเป็นจำนวนเงินรวม 7 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้โดยผ่านโครงการที่ชื่อว่า Solar for ALL ทางโครงการคาดว่า ผู้ได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการจะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้อย่างน้อย 20% เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ

โครงการ Solar for ALL เกิดจากกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน ที่ชื่อ Inflation Reduction Act (IRA) เมื่อสิงหาคม 2022 โดยผ่านสภาสูงด้วยคะแนนเฉียดฉิว 51 ต่อ 50 เสียง โดยไม่มีใครแตกแถวของพรรคการเมืองเลยแม้แต่คนเดียว วัตถุประสงค์หลักของกฎหมายฉบับนี้มี 4 ด้านด้วยกัน โดยด้านที่ 4 คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามที่รัฐบาลได้แสดงเจตจำนงไว้กับองค์การสหประชาชาติ



สหรัฐอเมริกาเองปล่อยเรือนกระจกมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศจีน รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศเจตจำนงต่อองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2015 ว่าจะลดการปล่อยก๊าซฯ ลง 26-28% เมื่อเทียบกับระดับปี 2005 ภายในปี 2030 แต่ผ่านมา 8 ปีจนถึงสิ้นปี 2023 เพิ่งลดได้เพียง 17.2% ยังเหลือเวลาอีก 2 ปี ทำได้จริงเกินครึ่งของเป้าหมาย (ดูกภาพประกอบ)

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิจัยอิสระที่ชื่อว่า “Rhodium Group” เชื่อว่า ภายใต้กฎหมายใหม่ IRA จะช่วยให้สหรัฐอเมริกาบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของปี 2030 ได้ตามที่ได้ประกาศไว้

นักวิจัยอิสระกลุ่มนี้ให้ข้อมูลว่า ภาคเศรษฐกิจที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุดคือ ภาคการผลิตไฟฟ้า รองลงมาคือภาคการขนส่ง โดยจะลดลงจากปี 2022 ถึง 67% และ 24% ตามลำดับ ภายในปี 2035

โปรดสังเกตนะครับ ภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นภาคที่สามารถลดได้มากที่สุด เพราะเทคโนโลยีพร้อมหมดแล้ว ประเทศไทยเราเองก็กำลังเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายกับการออกกฎหมายจำนวน 2 ฉบับ โดยได้ล่าช้ากว่ากำหนดมานานกว่า 2 ปีแล้ว คือ แผนพลังงานชาติ และกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงควรนำข้อสังเกตดังกล่าวไปใช้ประโยชน์กับการจัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าในแผนพลังงานชาติและกฎหมาย 2 ฉบับนี้

กลับมาที่การเปรียบเทียบระหว่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเศรษฐาและโครงการ Solar for ALL ของรัฐบาลไบเดน อีกครั้งครับ



ผมเชื่อว่าคนไทยเรามีความเข้าใจในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเศรษฐากันพอสมควรแล้ว ผมจึงไม่จำเป็นต้องกล่าวอะไรมาก นอกจากการสรุปเป็นตารางไว้เปรียบเทียบ ดังภาพข้างล่างนี้

จากตารางดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประเด็นคือ

หนึ่ง รัฐบาลเศรษฐาทุ่มเงินก้อนโตมากถึง 2.79% ของจีดีพีเพื่อนำมาแจกให้กับประชากรจำนวน 75% ของประเทศ (เกือบจะไม่จำแนกความจำเป็น) ในขณะที่รัฐบาลไบเดนทุ่มเงินเพียง 0.27% ของจีดีพี (น้อยกว่าของไทย 10 เท่า) เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้เปราะบางที่เป็นผู้เสียเปรียบเพียง 0.67% ของประชากรทั้งหมด

ผู้นำรัฐบาลไทยมักจะพูดเสมอๆ ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แต่การนำเงินมาแจกให้กับคนเกือบทุกคนในจำนวนที่เท่ากัน ความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้ลดลง ในขณะที่รัฐบาลไบเดนเขาแจกให้กับคนกลุ่มที่เปราะบางที่มีจำนวนน้อย โดยแต่ละคนจะได้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,150 ดอลลาร์ หรือ 116,000 บาท (ครอบครัวละ 2.47 คน)

สอง วัตถุประสงค์ของรัฐบาลเศรษฐามีเพียงเพื่อกระตุ้นจีดีพี โดยใช้เงินเกือบ 3% เพื่อให้จีดีพีโตขึ้น 1.2-1.6% โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าจีดีพีโตขึ้นแล้วส่งผลดีอย่างไร คุณภาพอากาศจะดีขึ้นกระนั้นหรือ ปัญหาของประเทศเราคือความเหลื่อมล้ำที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่รัฐบาลไบเดนระบุชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ

(1) ลดค่าไฟฟ้าให้คนรายได้น้อยครอบครัวละ 400 ดอลลาร์ต่อปี เมื่อครบ 25 ปี ผลตอบแทนจากโครงการรวม 9,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าที่รัฐบาลได้ลงทุนไป (หมายเหตุ ผมเข้าใจว่าน่าจะได้ผลตอบแทนมากกว่านี้ เพราะผลตอบแทนจากโซลาร์เซลล์ประมาณ 5-6 ปีก็คุ้มทุน)
(2) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ผมไม่พบจำนวนที่คาดว่าจะลดได้) ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส
(3) มีการจ้างงานที่เป็นงานที่มีคุณภาพ 2 แสนตำแหน่ง

นอกจากโครงการ Solar for ALL ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมาย IRA ที่เป็นกฎหมายใหม่ดังที่ได้กล่าวมาบ้างแล้ว ทางทำเนียบขาวได้ให้ข้อมูลว่า ยังมีการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและโครงสร้างพื้นฐานอีก 430,000 ล้านดอลลาร์เพื่อทำให้ระบบพลังงานของประเทศทันสมัยขึ้น ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยตั้งเป้าหมายย่อยในนั้นว่าจะลดการนำเข้าน้ำมันดิบ 13-22% โดยการเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันภายในปี 2030

โลกเปลี่ยนเร็วมาก การคิดใหญ่เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ต้องคิดให้ทันกับความก้าวหน้าของโลก ต้องคิดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆ การเพื่อลดภัยธรรมชาติจากวิกฤติโลกร้อนจำเป็นต้องคิดใหญ่ และต้องลงมือทำทันที โดยไม่ต้องรอให้พลังงานฟอสซิลที่เป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มหมดไปก่อน

https://thaipublica.org/2024/05/prasart120/