รัฐนาฏกรรมของพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในความเปลี่ยนแปลงของสังคม
เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
10 พฤษภาคม 2567
สถาบัยปรีดี พนมยงค์
Focus
- บทความนี้ใช้ทฤษฎีทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมเรื่องรัฐนาฏกรรมของ คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ (Clifford Geertz)มาใช้ในการวิเคราะห์บริบททางประวัติศาสตร์ของพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งใช้อธิบายระบบสัญลักษณ์ที่รัฐแสดงเพื่อทำออกในโลกภายนอกที่ส่งผลต่อโลกภายในโดยศึกษาการรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของประชาชนและเป็นการมองรัฐเสมือนโรงละครโดยมีประชาชนเป็นผู้ชมที่รับเอาอารมณ์และความรู้สึกจากการแสดงนี้ ความเป็นรัฐนาฏกรรมนั้นต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ส่วนได้แก่ โรงละคร บท(บาท) ตัวแสดง และผู้ชม
- เนื้อหาหลักของบทความคือนำเสนอจุดตั้งต้นของพระราชพิธีพืชมงคลและการเปลี่ยนแปลงพิธีฯ นี้ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชสมบัติได้โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติม “พระราชพิธีพืชมงคล” เข้ามาเป็นพิธีสงฆ์แบบพุทธ ความเปลี่ยนแปลงนี้มีสาเหตุมาจากบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่ลดลงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กำลังจะสูญเสียบทบาทสำคัญที่เคยมีมาในอดีตจึงถือกำเนิดพระราชพิธีพืชมงคลขึ้นเพื่อเสริมความสำคัญของบทบาทพระมหากษัตริย์
- แบบแผนของพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2500 ที่มีความสัมพันธ์กับบทบาทและอำนาจของกษัตริย์ในสังคมไทยต่อมาในปี พ.ศ. 2503 สมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ได้มีการรื้อฟื้นพระราชพิธีฯ นี้ขึ้นโดยระยะแรกได้กำหนดให้พืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นรัฐพิธีของรัฐบาลจนกระทั่ง พ.ศ. 2506 ได้มีการเปลี่ยนชื่อรัฐพิธีมาเป็นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งสะท้อนนัยสำคัญทางการเมืองในสมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ที่มา : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
วันพืชมงคลเป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้ในปฏิทินของประเทศไทย ทั้งในฐานะวันหยุดราชการและวันที่ถูกอธิบายยึดโยงกับชาวนาผ่านภาพของชาวนาและประชาชนทั่วไปที่ไปเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีการหว่านไว้เมื่อจบพระราชพิธีเหมือนที่ปรากฏในภาพยนตร์ และอีกภาพหนึ่งที่ติดอยู่ในความทรงจำของคนส่วนมากคือ ภาพของพระยาแรกนาหยิบข้าวโปรยลงในแปลงนาจำลองและมีพระโคเสี่ยงทายความเจริญงอกงามของการเพาะปลูก
ทว่า ภาพดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นในพระราชพิธีดังกล่าวเท่านั้น ในความเป็นจริงพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นเป็นชื่อของพระราชพิธี 2 พระราชพิธีประกอบกันคือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อสืบย้อนกลับไปแล้วพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นมีความเป็นมาที่ยาวนาน ส่วนพระราชพิธีพืชมงคลเป็นประดิษฐกรรมใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นาน ซึ่งแบบแผนการจัดพระราชพิธีดังกล่าวมีความเปลี่ยนแปลงไปตามนัยทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงฐานคิดระหว่างรัฐกับสังคม[1] บทความนี้จะอธิบายความสำคัญของพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในฐานะรัฐนาฏกรรม (theatre state) และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในสังคมผ่านพระราชพิธีดังกล่าว
รัฐคือละคร ทุกคนต้องแสดง ทุกคนทนไป
ก่อนจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในฐานะรัฐนาฏกรรม ขออธิบายเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวสักเล็กน้อย ก่อนจะไปทำความเข้าใจตัวอย่างของแนวคิดนี้ผ่านพระราชพิธี
แนวคิดเรื่องรัฐนาฏกรรมเป็นแนวคิดของ คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ (Clifford Geertz) ซึ่งใช้อธิบายระบบสัญลักษณ์ที่รัฐแสดงเพื่อทำออกในโลกภายนอกที่ส่งผลต่อโลกภายใน ซึ่งก็คือการรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของประชาชน[2] หรือกล่าวให้ง่ายกว่านั้น แนวคิดเรื่องการมองรัฐเป็นเสมือนโรงละคร และกิจกรรมที่รัฐกระทำคือ การเล่นละคร โดยมีประชาชนเป็นผู้ชมที่รับเอาอารมณ์และความรู้สึกจากการแสดงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความคิดจิตใจ ดังนี้ การแสดงของรัฐในที่นี้จึงไม่ใช่การแสดงเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายเพื่อการปกครอง โดยเน้นย้ำไปที่ค่านิยมที่มีการยึดถือในสังคมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
ความเป็นรัฐนาฏกรรมนั้นต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ส่วนคือ[3]
(1) “โรงละคร” ซึ่งก็คือตัวรัฐไม่ว่าจะอธิบายตัวรัฐในฐานะชุมชนทางจินตกรรมหรือในฐานะทางกายภาพที่มีเขตแดนแน่นอน รัฐทั้งรัฐคือพื้นที่ใช้แสดงละคร โดยอาจจะไม่ได้มีเวทีที่แสดงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่มีศูนย์กลางการแสดงอาจจะพื้นที่จำกัดเฉพาะสถานที่ รวมถึงอาจจะไม่ต้องมีฉากหรือของตกแต่งที่วิจิตรอลังการก็ได้ เพราะสาระสำคัญจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ฉากหรือของตกแต่ง
(2) “บท(บาท)” ที่มีการกำหนดไว้ให้กับตัวแสดงแต่ละตัว รวมถึงการกำหนดเนื้อหาในการมีส่วนร่วมของผู้ชม บทบาทเหล่านี้ถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจสำคัญซึ่งอาจจะเรียกว่า “ผู้กำกับ” ก็ได้ โดยบทบาทมีขึ้นเพื่อให้การแสดงตอบสนองต่อเป้าหมายสำคัญคือ การปกครอง
(3) “ตัวแสดง” ในระดับต่างๆ ทั้งตัวละครเอกที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เล่าเรื่อง ตัวประกอบที่บางทีก็อาจจะมีบทบาทหรืออาจจะไม่มีบทบาทในนาฏกรรมนั้นๆ และ
(4) “ผู้ชม” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการเล่นนาฏกรรมของรัฐ เพราะหากปราศจากผู้ชมแล้วการแสดงใดๆ ก็ไม่มีความหมาย โดยผู้ชมในที่นี้อาจจะเป็นประชาชนทั่วๆ ไป หรือแม้แต่กระทั่งตัวประกอบฉากที่แทบจะไม่มีบทพูดในละครเรื่องนั้น
องค์ประกอบทั้ง 4 ประการข้างต้นนี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างให้เรื่องราวเข้าไปมีส่วนสัมพันธ์กับอารมณ์และความรู้สึกของผู้คน และทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งและเป็นพวกเดียวกัน[4] หรือที่สมัยนี้เราเรียกว่า อินกับละคร ความรู้สึกดังกล่าวมีความสำคัญ เนื่องจากจะกลับมาสู่เป้าหมายของนาฏกรรมก็คือ การเน้นย้ำค่านิยมที่มีการยึดถือในสังคมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ในฐานะเครื่องมือทางการปกครอง
นาตาแฮก สู่ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ดังกล่าวมาแล้วว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นเป็นพระราชพิธีมีความเก่าแก่หากพิจารณาตามกฎมณเฑียรบาลในกฎหมายตราสามดวงที่เชื่อกันว่าน่าจะตราขึ้นในช่วง พ.ศ. 2001 ได้ระบุถึงพระราชพิธีที่เรียกว่า “จรดพระอังคัล” โดยระบุความตอนหนึ่งว่า
“เดือนไพศาข จรดพระอังคัล เจ้าพญาจันทกุมารถวายบังคัม ณ หอพระ ทรงพระกรุณายื่นพระขรรค แลพระพลเทพ (ตำแหน่งเสนาบดีกรมนา) ถวายพระบังคม สั่งอาชาสิทธิ ธรงพระกรุณาลดพระบรมเดช มิได้ไขหน้าล่อง มิได้ตรัสคดีถ้อยความ มิได้เบิกลูกขุน มิได้เสดจ์ออก ส่วนเจ้าพญาจันทกุมารมีเกยช้างหน้าพุทธาวาส 100 นา 100000 นา กรมการในกรมนาเฝ้า แลขุนหมื่นชาวสาน ทังปวง เฝ้าตามกระบวน” – กฎมณเฑียรบาล (คงการสะกดตามแบบเดิมและขยายความในวงเล็บโดยผู้เขียน)[5]
ในแง่แบบแผนการทำพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยอยุธยาเอกสารต่างๆ ได้ระบุถึงการทำพิธีไปในลักษณะเดียวกันว่า พระมหากษัตริย์อยุธยาจะทรงมอบหมาย (มอบพระราชอำนาจ จะเห็นได้จากการพระราชทานพระขรรค์ชัยศรีซึ่งเป็นพระราชศาสตราวุธแสดงพระราชอำนาจ) ให้กับพระจันทกุมารไปทำหน้าที่แทนพระองค์เป็นผู้แรกนา[6] โดยพระมเหสีจะเลือกนางเทพีทำหน้าที่แทนพระองค์นั่งเสลี่ยงเงิน โดยมีการจัดกระบวนเกียรติยศแห่ไปยังโรงพิธี เมื่อถึงฤกษ์จึงให้พระจันทกุมารถือคันไถเทียมด้วยวัว (โคอุศุภราช) ให้ออกญาพลเทพเสนาบดีกรมนา จูงคันไถ 3 รอบ นางเทพีหว่านพันธุ์ข้าว เสร็จแล้วปลดพระโคออกเสี่ยงทายผลคำทำนาย[7]
อย่างไรก็ดี เค้าของการทำพิธีกรรมดังกล่าวนั้นอาจจะเก่ากว่าสมัยอยุธยา จากการศึกษาของ รุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ กรมศิลปากร ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นเป็นการสืบทอดแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างขวัญและกำลังใจในการเพาะปลูกมาจากพิธีกรรมที่เรียกว่า นาตาแฮก ซึ่งมีลักษณะเป็นการทำนาจำลองเพื่อทำพิธีบูชายัญทางศาสนาผีก่อนลงมือทำนาจริงของชุมชนชาวนาดึกดำบรรพ์ที่สืบทอดมาโดยเฉพาะในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง[8] โดยเมื่อพิจารณาจากที่มาของคำว่า “แฮก” ที่เป็นคำลาวมีความหมายในลักษณะเดียวกันกับคำว่า “แรก” ในภาษาไทย ดังนั้น คำว่า แรกนาขวัญกับแฮกนาขวัญ จึงมีความหมายในลักษณะเดียวกัน[9]
นาตาแฮกเป็นพิธีกรรมที่นิยมจัดขึ้นในเดือนหก ซึ่งเป็นช่วงที่ผ่านพ้นจากการเก็บเกี่ยวและเตรียมตัวสำหรับการทำนาใหม่อีกครั้งหนึ่ง[10] โดยในพิธีกรรมนี้จะเริ่มต้นจากการทำนาจำลองขึ้นมาโดยมีขนาดประมาณ 1 ตารางเมตร และดำกล้าข้าวลงในนานั้นประมาณ 5-6 กล้าหรือที่เรียกว่า ปักกกแฮก และมีการบูชายัญเอาเลือดควายเซ่นสรวงผีแม่ข้าวตามความเชื่อของศาสนาผีดั้งเดิมที่เชื่อว่า ต้นข้าวเมื่อเกี่ยวข้าวแล้วก็คือตาย แต่ขวัญข้าวยังคงอยู่ ซึ่งต้องมีการเซ่นสรวงขวัญข้าวเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร[11] และก่อให้เกิดสิริมงคลกับเกษตรกร[12] ในประเด็นนี้ รุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ขวัญ” ที่อยู่ในชื่อพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมีความหมายในลักษณะเดียวกันกับการทำขวัญข้าว[13]
การปรับเปลี่ยนสาระของพระราชพิธีสู่พืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
แม้ในเวลาต่อมาศูนย์กลางการปกครองจะเปลี่ยนจากกรุงศรีอยุธยามาสู่กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ โดยพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญยังคงได้รับการสืบทอดต่อมา โดยสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจนถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชพิธียังคงแบบแผนในลักษณะเดิมที่เคยทำมา โดยดำเนินการโดยพราหมณ์ดังปรากฏหลักฐานตามหมายรับสั่งกำหนดการพระราชพิธี เรียกพระราชพิธีนี้ว่า “พระราชพิธีจรดพระนังคัล” โดยพระมหากษัตริย์จะทรงมอบอำนาจให้พระยาพลเทพ ผู้ดำรงตำแหน่งเกษตราธิบดีเป็นผู้แรกนา (เสนาบดีกรมนา)[14]
ไม่เพียงแต่รูปแบบของพระราชพิธีที่เหมือนเดิม แต่เป้าหมายของพระราชพิธีก็ยังคงลักษณะตามความเชื่อแบบเดิมของคนพื้นเมืองที่ถูกทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2,500 ปี และพัฒนาขึ้นมาเป็นพระราชพิธี 12 เดือน[15] ซึ่งเมื่อเป็นพระราชพิธีแล้วหัวใจสำคัญของพระราชพิธีจึงเป็นการเน้นย้ำบทบาทสำคัญของพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้นำทางสังคม และตำแหน่งแห่งที่ของพระมหากษัตริย์ในฐานะสมมติเทพที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์[16] และไม่เพียงเท่านั้นการทำพระราชพิธีดังกล่าวยังสะท้อนนัยสำคัญคือ การกำหนดจุดเริ่มต้นของการทำนาโดยราชสำนัก กล่าวคือ หากไม่มีการทำพระราชพิธีดังกล่าวราษฎรจะไม่สามารถริเริ่มการทำนาได้[17]
จุดเปลี่ยนสำคัญของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2394 ถึง 2411 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชสมบัติได้โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติม “พระราชพิธีพืชมงคล” เข้ามาเป็นพิธีสงฆ์แบบพุทธ โดยให้พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เพื่อเสกเมล็ดพันธุ์ธัญพืชให้มีความเป็นสิริมงคลและอุดมสมบูรณ์ และให้ผู้ทำหน้าที่แรกนาจะต้องเข้าฟังสวดพระพุทธมนต์ในวันประกอบพระราชพิธีด้วย[18]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่า พระราชพิธีพืชมงคลจะจัดในวันก่อนวันทำพระราชพิธีจรดพระนังคัลในตอนค่ำ จนมาถึงตอนเช้าของอีกวันหนึ่ง โดยพระราชพิธีนี้จะทำที่ท้องสนามหลวง ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลจะไปทำที่ทุ่งส้มป่อย (สวนจิตรลดา) นอกพระนคร[19]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงอธิบายอีกด้วยว่า พระราชพิธีพืชมงคลเกิดขึ้นมาจากพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เพิ่มเติมพิธีสงฆ์เข้าไปในพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งก่อนหน้ามีการจัดพระราชพิธีดังกล่าว พระยาพลเทพผู้รับผิดชอบพระราชพิธีก็ไม่ได้มีการไปนั่งฟังสวดพระพุทธมนต์ก็จะต้องไปฟังการสวดพระพุทธมนต์ก่อน[20]
ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงนี้มีสาเหตุมาจากบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่ลดลง เนื่องจากอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นมาของพวกขุนนาง ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กำลังจะสูญเสียบทบาทสำคัญที่เคยมีมาในอดีต[21] ไม่เพียงแต่พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แม้แต่งานโสกันต์เจ้านายบางครั้งขุนนางผู้ใหญ่ก็อาจจะไม่มาเข้าร่วมด้วย ทำให้เห็นได้ชัดว่าพระมหากษัตริย์มิได้มีสถานะเป็นจุดศูนย์กลางหรือจุดสุดยอดของระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ซึ่งครอบงำสังคมไทยทั้งหมด[22]
การสถาปนาพระราชพิธีพืชมงคลภายใต้คติแบบพระพุทธศาสนานี้มีนัยสำคัญในการพยายามดึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ให้เพิ่มขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานมาจากพระบารมีส่วนพระองค์ที่สะสมมาจากดำเนินบทบาททางพระพุทธศาสนา ตั้งแต่การสถาปนาธรรมยุติกนิกาย และการนำเสนอความรู้พระพุทธศาสนาแบบใหม่[23] ในลักษณะจึงเป็นความพยายามสร้างความหมายในเชิงสัญลักษณ์ถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้อุปถัมภ์ค้ำชูและผู้สร้างแบบแผนใหม่ของพระราชพิธีพืชมงคลภายใต้คติพระพุทธศาสนาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง
ในทางวิชาการอาจจะมีผู้ให้ความเห็นว่าการปรับเปลี่ยนพระราชพิธีดังกล่าวสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลกทัศน์ชนชั้นนำไทยที่เริ่มมีความเชื่อค่อนไปในทางเหตุผลนิยมแบบวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่ชนชั้นล่างยังมีโลกทัศน์แบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลงนัก พระราชพิธีดังกล่าวจึงเป็นการเอาใจราษฎรที่ยังขาดความรู้สมัยใหม่[24] เสมือนว่าชนชั้นนำไทยลดความสำคัญของพระราชพิธีดังกล่าวลง ทว่า การนำเอาความรู้แบบวิทยาศาสตร์มาประยุกต์กับโลกทัศน์เพื่ออธิบายคุณค่าความเป็นไทยที่เหนือกว่านั้น และสร้างตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในเชิงอำนาจนำเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2390 เป็นต้นมา[25]
นอกเหนือจากการเพิ่มเติมพระราชพิธีแล้ว พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกขวัญได้มีการปรับเปลี่ยนอีกครั้งซึ่งเป็นผลจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ. 2398 รวมถึงสนธิสัญญากับชาติต่างๆ ที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว[26]
ในช่วงทศวรรษที่ 2440 เป็นต้นมาการผลิตสินค้าการเกษตรของประเทศไทยกลายเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ การผลิตสินค้าการเกษตรเพื่อขาย ไม่ใช่แค่เพียงยังชีพอย่างที่ผ่านมา ข้าวกลายมาเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อรูปแบบการจัดพระราชพิธีดังกล่าว อาทิ การยกเลิกประกาศห้ามราษฎรทำนาก่อนการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัล ซึ่งนัยดังกล่าวหมายความว่า เป้าหมายของพระราชพิธีที่แต่เดิมเป็นสัญลักษณ์ของการทำนาครั้งแรกที่กำหนดโดยราชสำนักได้หมดความสำคัญลง และเปลี่ยนมาเป็นการทำนาอย่างเป็นอิสระ สิ่งนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อการผลิตข้าวจำนวนมากเพื่อส่งออก ประกอบกับการทำนาหลังพระราชพิธีจรดพระนังคัลอาจจะไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางสภาพอากาศที่ในแต่ละปีมีความแห้งแร้งไม่เท่ากัน เนื่องจากเกษตรของสยามต้องพึงพาธรรมชาติสูง เพราะขาดระบบชลประทานที่ดี[27]
อีกความเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ใช้พื้นที่ของพระราชพิธีเพื่อสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี อาทิ การพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมแจก การคัดสรรพันธุ์ข้าวที่ดีมาใช้ในพระราชพิธี[28]
ในลักษณะดังกล่าวนัยของนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจึงไม่เพียงแต่แสดงภาพของพระมหากษัตริย์ตามคติแบบสมมติเทพเท่านั้นที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของพระราชพิธี แต่ยังมีบทบาทในฐานะผู้นำความรู้ทางการเกษตรสมัยใหม่ ในขณะที่องค์ความรู้หรือความเชื่อแบบดั้งเดิมของราษฎรอาจถูกมองในฐานะความรู้ที่ไม่ตอบสนองต่อวิถีโลกสมัยใหม่หรืองมงายเหลวไหล
การยกเลิกพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
แบบแผนของพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญดำเนินไปเช่นนี้เรื่อยๆ จนกระทั่งถึงช่วงภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามในปี พ.ศ. 2475 ที่มีความพยายามเปลี่ยนแปลงรายละเอียดแนวทางการจัดพระราชพิธีดังกล่าว
ความเคลื่อนไหวที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบแผนของพระราชพิธีดังกล่าวเริ่มมีเค้ามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2473 ที่มีบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์เป็นภาษาอังกฤษ และถูกแปลเป็นภาษาไทยเผยแพร่ในวารสารชื่อว่า พิธีแรกนาขวัญ โดยนายหวังดี ทั้งนี้ ในบทความดังกล่าวได้มีการกล่าวถึงความไม่สอดคล้องกันของบริบทสังคมระหว่างพิธีกรรมที่ไม่ได้อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาพัฒนาการเพาะปลูกของประเทศ ดังความตอนหนึ่งว่า
“...พิธีเช่นนี้จะเสื่อมความขลังในการทำนายพืชผล ในการทำนายดินฟ้าอากาศและในการทำให้ขวัญของกสิกรดีขึ้นก็จริง แต่มันยังเป็นพิธีที่ดำรงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับบรรพบุรุษให้ยืนยงคงอยู่ ใช่แต่เท่านั้นพิธีแรกนาขวัญยังเป็นพิธีที่ช่วยให้ระลึกถึงความจริงว่า มนุษย์เราต้องอยู่ในความควบคุมหรือในกฎแห่งธรรมชาติเสมอตลอดมา”[29]
ทั้งนี้ ความมุ่งหมายในการแปลบทความนี้ของนายหวังดี คือ ต้องการเผยแพร่ความเห็นของบรรณาธิการบางกอกเดลิเมล์ และต้องการเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรออกมาโต้แย้งความเห็นดังกล่าว[30] ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาของเกษตรกรที่มีอยู่ในสังคมไทยในเวลานั้น ทำให้เกิดข้อเรียกร้องให้รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน[31] อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้นทำไปได้ช้าประกอบกับปัญหาหลายอย่างเป็นปัญหาสะสมในเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด
ภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลของคณะราษฎรที่เข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มีแนวทางในการปรับเปลี่ยนพระราชพิธีดังกล่าวเสียใหม่ โดยเริ่มปรากฏตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา แต่ยังไม่เป็นกิจจะลักษณะจนล่วงมาถึงปลายปี พ.ศ. 2476 ถึง 2477 ที่การปรับปรุงพระราชพิธีดังกล่าวเริ่มเป็นกิจจะลักษณะ ทำให้การจัดพระราชพิธีในปี พ.ศ. 2476 ยังคงธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่เคยทำมา
พระราชพิธีดังกล่าวถูกมองว่าล้าสมัยในสายตาของคณะราษฎรและควรที่จะยกเลิก แต่การยกเลิกก็อาจจะกระทบต่อจิตใจของราษฎร ประกอบกับถ้าการเกษตรกรรมไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็อาจจะนำมาสู่ความโกรธเกรี้ยวของราษฎรได้ รัฐบาลคณะราษฎรจึงพยายามปรับปรุงพระราชพิธีให้มีนัยสะท้อนต่อประชาชนมากขึ้น โดยไม่จำกัดเฉพาะบทบาทในฐานะผู้ชม แต่เข้ามามีส่วนสำคัญในพระราชพิธี จนกระทั่งรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้พยายามปรับองค์ประกอบของพระราชพิธีที่มีลักษณะเหนือธรรมชาติลง โดยเฉพาะในส่วนของพิธีที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และเสนอให้เพิ่มกิจกรรมที่เกี่ยวกับราษฎรมากขึ้น โดยเฉพาะราษฎรที่เป็นเกษตรกร[32]
ความเปลี่ยนแปลงในการจัดพระราชพิธีได้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2477 นายทวี บุญเกตุ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการได้จัดทำข้อเสนอว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญควรเพิ่มเรื่องการประกวดสินค้าทางการเกษตร หัตถกรรม และอุตสาหกรรมอันเป็นส่วนเสริมของพระราชพิธี โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการจัดประกวดทุกปีอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้มีการตอบรับ และทำให้ในการจัดพระราชพิธีในปี พ.ศ. 2477 ยังคงรูปแบบตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิม[33]
จนกระทั่งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2477 ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อหาแนวทางใหม่ในการดำเนินการกับพระราชพิธีดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีการเสนอให้มีการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทั่วประเทศตามจังหวัดต่างๆ โดยให้ผู้ทำการแรกนาเป็นชาวนาผู้ทำนาตามหลักวิทยาศาสตร์ที่กรมเกษตรวางไว้ในการกสิกรรม และให้มีการตั้งรางวัลแก่ผู้ทำการแรกนาด้วย จึงเสนอให้กระทรวงเศรษฐการรับเรื่องไปตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป[34] ซึ่งกระทรวงเศรษฐการได้ไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อโดยมีการเสนอแผนการจัดงานที่รูปธรรมมากขึ้นกลับมารายงานนายกรัฐมนตรี (พระยาพหลพลพยุหเสนา) โดยแผนดังกล่าวให้ความสำคัญกับการประกวดพันธุ์ข้าวมากกว่าพระราชพิธี เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสนำเสนอข้าวพันธุ์ดี และอธิบายเนื้อหาของการจัดพระราชพิธีในแต่ละจังหวัดโดยไม่ต้องจัดพร้อมกันก็ได้ โดยเน้นว่าเริ่มเดินกระบวนจากศาลากลางจังหวัดโดยมีพระยาแรกนาเป็นเกษตรกร และเทพีแรกนาเป็นภริยาของเกษตรกร[35]
นอกจากนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังได้แสดงความเห็นสนับสนุนในหลักการดังกล่าว พร้อมได้เสนอว่า ควรให้พระยาแรกนาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัด เพื่อให้พิธีกรรมดังกล่าวได้มีส่วนสนับสนุนระบอบการปกครองใหม่[36]
ทว่า ต่อมาเมื่อกระทรวงวังได้รับรายงานดังกล่าวและได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการทรงทราบ พระองค์ทรงเห็นด้วยกับการจัดพระราชพิธีในทุกจังหวัดนอกพระนคร แต่ทรงเห็นว่าต้องให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้แรกนา และทรงไม่เห็นด้วยที่จะให้ชาวนาเป็นผู้แรกนา เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าพระราชพิธีดังกล่าวมาจากการที่พระมหากษัตริย์และพระมเหสีในสมัยโบราณเสด็จมาทรงทำนาเพื่อชักชวนราษฎร แม้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปจะไม่เสด็จมาทรงทำนาเอง แต่ทรงให้ผู้แทนมาทำนาแทน ทรงเห็นว่าการตั้งชาวนาและภริยามาเป็นพระยาแรกนาและเทพีถือเป็นการเล่นละครตลก ส่วนการจัดประกวดพันธุ์ข้าวสามารถทำได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธี แต่ถ้าจะมาจัดในวันพระราชพิธีก็ไม่ขัดข้อง ทั้งนี้ ความเห็นของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์นั้นทำให้คณะรัฐมนตรีต้องกลับไปทบทวนแผนการดังกล่าวอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในช่วงการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรที่การสละราชสมบัติทำให้สุดท้ายแผนการดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ[37]
ปราการ กลิ่นฟุ้ง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนในเวลานั้นทำให้รัฐบาลเลือกที่จะไม่นำแผนการดังกล่าวมาปฏิบัติ แม้จะมีแผนการที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็ตาม ทำให้ในปี พ.ศ. 2478 พระราชพิธียังคงถูกจัดขึ้นอีกครั้งตามธรรมเนียมปฏิบัติ[38]
ภายหลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลได้ลดบทบาทของกระทรวงวังลงให้เป็นสำนักพระราชวังมีสถานะเป็นหน่วยงานระดับกรมภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี การถกเถียงเรื่องการแก้ไขพระราชพิธีหรือยกเลิกพระราชพิธีนั้นได้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2479 ในระหว่างนั้นพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญยังคงดำเนินต่อไปตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิม
จนกระทั่งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2479 พระยาฤทธิอัคเนย์ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการได้ทำข้อเสนอเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีขึ้นใหม่ แม้ว่าในเชิงข้อเสนอแนะจะไม่ได้แตกต่างจากที่ผ่านๆ มาสักเท่าใดคือ การกำหนดให้การประกวดกสิกรรม อุตสาหกรรม และหัตถกรรมเป็นส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธี และให้จัดงานในทุกจังหวัด แต่จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ข้อเสนอนั้นมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงมีการเสนอให้ผู้เป็นพระยาแรกนาอาจเป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ผู้แทนราษฎรประจำจังหวัด หรือชาวนาผู้ประสบความสำเร็จก็ได้ตามแต่คนในจังหวัดจะเลือก
ในการนำเสนอความคิดดังกล่าวพระยาฤทธิอัคเนย์ได้เสริมว่า การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชเฉพาะในเขตกรุงเทพทำให้ไม่ได้ผลอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้ เพราะจะแจกได้จำกัด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี (พระยาพหลพลพยุหเสนา) ในเวลานั้นเห็นว่ายังควรจัดพระราชพิธีเฉพาะในพระนครเท่านั้น ส่วนงานประกวดให้จัดในทุกจังหวัด โดยมีมติให้จังหวัดพระนครและธนบุรีเป็นผู้จัดงานพระราชพิธีแรกนาขวัญ ซึ่งแตกต่างไปจากอดีตที่การจัดงานทำโดยกระทรวงวังและกระทรวงเกษตราธิการ[39]
การกำหนดให้จังหวัดเป็นผู้จัดงานนั้นนอกจากจะเป็นการลดระดับความสำคัญของงานลงจากงานระดับประเทศมาเป็นงานระดับจังหวัดแล้ว ยังมีประเด็นต่อไปอีกว่าใครจะเป็นพระยาแรกนา ซึ่งแต่เดิมเมื่อเป็นงานที่จัดโดยกระทรวงวังและกระทรวงเกษตราธิการตามธรรมเนียมเดิมย่อมถือว่าเป็นงานของราชสำนัก และเป็นพระราชพิธีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น ทว่า เมื่อเป็นงานระดับจังหวัดก็เท่ากับความสำคัญลดลงไป
เมื่อคณะรัฐมนตรีได้นำความไปปรึกษากับคณะผู้สำเร็จราชการก็ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาล และได้ปรึกษาเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานนทมหิดลจะต้องเสด็จพระราชดำเนินด้วยหรือไม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ปรึกษาหารือกันและลงมติว่า ไม่ประสงค์ให้งานดังกล่าวเป็นพระราชพิธีอีกต่อไป เนื่องจากเป็นพิธีทางไสยศาสตร์ (คำที่ใช้เรียกพิธีพราหมณ์อีกแบบหนึ่ง บางครั้งเรียกศาสนาพราหมณ์ว่าศาสนาพระไสยศาสตร์) โดยไม่ให้มีการเสี่ยงทายเช่นแต่ก่อน และไม่อยากให้พิธีกรรมรบกวนเบื้องพระยุคลบาทด้วยการเสด็จพระราชดำเนินเช่นเดิมเป็นทางการ[40]
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้หลุดจากการเป็นพระราชพิธีไปเป็นรัฐพิธีหนึ่งเท่านั้น นัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้คือ การทำให้พิธีกรรมดังกล่าวลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ที่เคยมีมาและตอบสนองต่อเป้าหมายในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมากขึ้น โดยที่เอกสารส่วนใหญ่ในเวลานั้นได้นำเสนอความคิดในการจัดงานให้เน้นไปที่การจัดการประกวด ส่วนการจัดกระบวนเดินยังคงมีการทำต่อไปแต่ไม่มีพิธีพราหมณ์เช่นแต่ก่อน เมื่อมีการไถนาครบ 3 ครั้งก็เปิดให้ประชาชนมาเก็บเมล็ดพันธุ์พืช[41] ภาพดังกล่าวสะท้อนให้นาฏกรรมของรัฐในระบอบประชาธิปไตยที่พยายามปรับศูนย์กลางของพิธีกรรมมาสู่ประชาชนมากขึ้น และมีเป้าหมายไปที่การตอบสนองการปกครองที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการทำเกษตร
การกลับมาของพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
การนำพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญกลับมาเป็นพระราชพิธีเกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2503 โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตามที่กระทรวงเกษตรเสนอและอนุมัติให้ดำเนินการต่อไปได้ส่วนการเงินให้ใช้เงินงบประมาณของกรมการข้าว โดยติดต่อทำความตกลงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้กับสำนักงบประมาณต่อไป[42]
รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเวลานั้นได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบเพื่อขอพระราชทานจัดงานพิธีดังกล่าวรวมกับรัฐพิธีพืชมงคล ดังความปรากฏตามหายกำหนดรัฐพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พ.ศ. 2503 ความว่า
“...เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่ารัฐพิธีพืชมงคลนั้น แต่เดิมมาได้จัดเป็นงาน 2 วัน เพราะมีพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญรวมอยู่ด้วย ต่อมาได้ระงับไป คงไว้แต่รัฐพิธีพืชมงคล ซึ่งจัดทำเป็นงานประจำทุกปี สำหรับปีนี้ทางรัฐบาลเห็นสมควรจัดให้มีการแรกนาขวัญขึ้นอย่างเดิม จึงได้นำความกราบทูลขอพระราชทานจัดงานพืชมงคล เช่นเดียวกับในกาลก่อน เพื่อรักษาบุรพประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรไว้สืบต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดดังรายการต่อไปนี้...”[43]
ในหมายกำหนดการในปี พ.ศ. 2503 ยังคงกำหนดให้พืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นรัฐพิธีของรัฐบาล จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2506 ที่มีการเปลี่ยนชื่อรัฐพิธีมาเป็นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ[44]
การนำพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญกลับมาในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีนัยสำคัญในทางการเมือง กล่าวคือ จอมพลสฤษดิ์ประสงค์จะใช้ประโยชน์จากสถาบันกษัตริย์ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองภายใต้ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ กล่าวคือ ในช่วงก่อนหน้าทศวรรษ 2500 สถาบันกษัตริย์ถูกลดบทบาทลงเพื่อสอดรับกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่หลังการรัฐประหารและเข้าสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ได้มีความพยายามเสริมสร้างความมั่นคงและแข็งแกร่งให้สถาบันกษัตริย์ผ่านการแสดงความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์และเทิดทูลสถาบันกษัตริย์อย่างยิ่ง
การรื้อฟื้นพระราชพิธีกลับมานี้จอมพลสฤษดิ์ประสงค์ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จไปร่วมพิธีดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่ร่วมพิธีได้และได้ชื่นชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์ และเมื่อเสร็จพระราชพิธีประชาชนก็จะเข้ามาแย่งเมล็ดข้าวที่มีการหว่านไถ่ ซึ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นของพระราชทานที่ได้รับการปลุกเสกมาอย่างดี สิ่งนี้ช่วยสร้างความนิยมให้กับจอมพลสฤษดิ์มากยิ่งขึ้น[45]
แม้ภายหลังจะมีความพยายามส่งเสริมให้มีการนำพันธุ์ข้าวที่ได้มีการศึกษาในแปลงสาธิตในพระตำหนัก (สวน) จิตรลดารโหฐานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชทรงเพาะปลูกไว้มาเป็นแจกจ่ายในงานพระราชพิธีเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวนาผู้เพาะปลูก[46]
อย่างไรก็ดี นัยสำคัญของการนำพระราชพิธีกลับมาใหม่จึงเป็นไปเพื่อสื่อสารกับสังคมผ่านพระราชพิธีว่า ตำแหน่งแห่งที่ของรัฐบาลในฐานะผู้ปกครองเป็นผู้จงรักภักดีและเทิดทูลสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างสูง ซึ่งเป็นการแอบอ้างพระบารมีมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง มากไปกว่านั้นการเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ดังกล่าวเป็นการอ้างความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ที่มีตามจารีตเดิมมาใช้เพื่อเสริมสร้างความชอบธรรมเฉพาะตัวของจอมพลสฤษดิ์
กล่าวโดยสรุป พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาโดยตลอด ในแง่หนึ่งพระราชพิธีนั้นเป็นตัวแสดงออกถึงนาฏกรรมของรัฐที่มีเป้าหมายทางการปกครองในแต่ละช่วงเวลา แม้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของพระราชพิธีไปบ้าง แต่ประชาชนในฐานะผู้ชมยังต้องเข้าฉากเพื่อดูนาฏกรรมของรัฐเสมอเพื่อให้ทราบสารที่รัฐต้องการสื่อสารผ่านโลกภายนอกส่วนโลกภายในจิตใจของประชาชน ส่วนบทบาทของประชาชนจะเกี่ยวข้องหรือสำคัญในนาฏกรรมนั้นเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับระบอบการปกครองนั้นให้ความสำคัญกับประชาชนมากน้อยเพียงใด
[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “เสด็จพ่อ ร.5 วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย และประชาชนในรัฐนาฏกรรม,” (กรุงเทพฯ: มติชน, 2567), 9.
[2] เพิ่งอ้าง, 191-192.
[3] เพิ่งอ้าง, 193-200.
[4] เพิ่งอ้าง, 7.
[5] วินัย พงศ์ศรีเพียร และคณะ, กฎมณเฑียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ, (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548), 157-158. พระราชพิธีจรดพระอังคัลเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี 12 เดือนตามกฎมณเฑียรบาล โดยจัดในเดือนหก (เดือนหกพิธีไพศาขย์ จรดพระราชนังคัล) ตามปฏิทินจันทรคติ.
[6] พระจันทกุมาร หรือเจ้าพญาจันทกุมาร หรือพระภิกุมารล้วนเป็นตำแหน่งที่ในพระราชพิธี 12 เดือน พระมหากษัตริย์อยุธยาจะทรงมอบหมายให้ตำแหน่งพระจันทกุมารไปทำพระราชพิธีแทน แต่ไม่แน่ชัดว่าเป็นตำแหน่งใด เช่น พิธีธานยเทาะห์ พระมหากษัตริย์จะทรงให้พระจันทกุมารเป็นผู้ฉลองพระองค์ออกไปทำพิธีมีกระบวนแห่เหมือนพิธีแรกนา แล้วเอารวงข้าวมาทำเป็นฉัตรปักไว้หน้าโรงพิธีจากนั้นนําไฟ จุดรวงข้าว มีการสมมติคนให้เป็นพระอินทร์ฝ่ายหนึ่งและ พระพรหมฝ่ายหนึ่งเข้าแย่งรวงข้าวกัน ข้างใดแย่งได้มีคำทำนายซึ่งล้วนแต่เป็นคำทำนายในทางที่ดีทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกําลังใจให้กับผู้คน. ดู คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, “พินิจพิเคราะห์ “พระราชพิธีธานยเทาะห์” และโหลิ (holi) ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงสยาม-ภารตะ?,” [Online] มติชนสุดสัปดาห์, 28 พฤษภาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2567, สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_309631.
[7] รุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6, 30.
[8] รุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี, พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ: การเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2565), 25.
[9] สุจิตต์ วงษ์เทศ, “แม่โพสพ “เทวีข้าว” รัฐนาฏกรรม มาจากแม่ข้าวในศาสนาผี,” [Online] มติชนสุดสัปดาห์, 9 มิถุนายน 2563], สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567, สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/sujit/article_313411.
[10] กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, “แรกนาขวัญ-นาตาแฮก การสร้างขวัญและกําลังใจของเกษตรกร,” [Online] ศิลปวัฒนธรรม, 17 พฤษภาคม 2566, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567, สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_32683.
[11] สุจิตต์ วงษ์เทศ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 7.
[12] รุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6, 35.
[13] เพิ่งอ้าง, 35.
[14] เพิ่งอ้าง, 35.
[15] สุจิตต์ วงษ์เทศ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 7.
[16] รุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6, 38-40.
[17] ดู ปราการ กลิ่นฟุ้ง, “รายงานวิจัย เรื่อง พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475” (รายงานวิจัยเสนอต่อคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2566), 13-14.
[18] เพิ่งอ้าง, 35-44.
[19] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “พระราชพิธีสิบสองเดือน,” [Online] วัชรญาณ, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567, สืบค้นจาก https://vajirayana.org/พระราชพิธีสิบสองเดือน/พระราชพิธีเดือนหก/พระราชพิธีพืชมงคล-และจรดพระนังคัล.
[20] เพิ่งอ้าง.
[21] ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, ปากไก่และใบเรือ: รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์, พิมพ์ครั้งที่ 4, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555), 68-154.
[22] นิธิ เอียวศรีวงศ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, 200.
[23] ปวีณา หมู่อุบล, อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ: การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2567), 9.
[24] รุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6, 58-59.
[25] ดู ธงชัย วินิจจะกูล, เมื่อสยามพลิกผัน: ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), 33 และ 150.
[26] ดู ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และสุธี ประศาสน์เศรษฐ, “ระบบเศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2394 – 2543,” ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และสุธี ประศาสน์เศรษฐ (บก), ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ. 2444 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527) 169-174.
[27] ปราการ กลิ่นฟุ้ง, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 13, 13-14.
[28] เพิ่งอ้าง, 16-17.
[29] นายหวังดี, “พิธีแรกนาขวัญ,” (2473) 4(1) กสิกร 37: 37.
[30] เพิ่งอ้าง, 39-40.
[31] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “ว่าด้วย เค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 1: สภาพเศรษฐกิจและสังคม และความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจ,” [Online] สถาบันปรีดี พนมยงค์, 22 มิถุนายน 2563, สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2567 จาก https://pridi.or.th/th/content/2020/06/312.
[32] ปราการ กลิ่นฟุ้ง, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 13, 24.
[33] เพิ่งอ้าง, 26.
[34] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 19/2477 (สมัยรัฐบาลวันที่ 22 กันยายน 2477), 7 พฤศจิกายน 2477 อ้างใน เพิ่งอ้าง, 27.
[35] เพิ่งอ้าง, 28.
[36] เพิ่งอ้าง, 29.
[37] เพิ่งอ้าง, 30-31.
[38] เพิ่งอ้าง, 33.
[39] เพิ่งอ้าง, 49-50.
[40] เพิ่งอ้าง, 50.
[41] เพิ่งอ้าง, 51-54.
[42] มติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 มีนาคม 2503 เรื่อง การฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ; มติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 4 เมษายน 2503.
[43] หมายกำหนดการรัฐพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พุทธศักราช 2503 อ้างใน รุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6, 95.
[44] เพิ่งอ้าง, 95.
[45] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และคณะ แปล, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561), 355-361.
[46] รุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6, 99.
https://pridi.or.th/th/content/2024/05/1954