วันอังคาร, สิงหาคม 08, 2566

วาทะครูนิธิ เอียวศรีวงศ์ แก่ผู้ทวนเข็มนาฬิกา




Kasian Tejapira
14h 
 ·
วาทะครูนิธิ เอียวศรีวงศ์ แก่ผู้ทวนเข็มนาฬิกา

%%%

“ผมเป็นนักเล่นนาฬิกา สะสมนาฬิกาไว้หลายประเภท ทั้งนาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแขวนข้างฝา และอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นนาฬิกาเก่าที่ยอมเสียเงินไปซ่อม และซื้อมาในราคาที่ค่อนข้างถูก และผมมาพบอย่างหนึ่งว่า นาฬิกามีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ คุณสามารถหมุนเข็มมันกลับไปสู่อดีตเมื่อไหร่ก็ได้ที่คุณรู้สึกว่าคุณต้องการ คุณหมุนมันกลับไปได้เลย ถ้าเป็นนาฬิกาข้อมือที่มีวันที่ ก็หมุนวันที่ย้อนกลับไปให้เราได้ด้วย แต่ข้อเสียมีอยู่อีกอย่างก็คือ ถึงเราหมุนกลับไปแค่ไหนก็ตาม แต่มันก็เดินก้าวหน้าต่อไม่ยอมหยุด เดินไปถึงจุดที่เราไม่อยากให้มันมาถึงจนได้สักวันหนึ่ง ...

“วัฒนธรรมที่เป็นจริงได้เปลี่ยนไปมากในระยะ ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมา ถ้ามองเฉพาะเรื่องความ สัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งผมถือว่านั่นล่ะคือ ‘วัฒนธรรม’ ก็จะพบความเปลี่ยนแปลงในทุกส่วนของสังคมไทย คือ พบว่าเราไม่ได้สัมพันธ์กันอย่างที่เราเคยสัมพันธ์กันมาก่อน แน่นอน ครูกับศิษย์ในตอนนั้นก็ไม่เหมือนครูกับศิษย์ในตอนนี้ ผมพบสิ่งนี้ และผมคิดว่าสิ่งที่ผมพยายามจะเตือนเสมอคือวัฒนธรรมไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ...

“รูปแบบของวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะมีอเมริกันเข้ามา หรือเราส่งเด็กไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น หรือเพราะจีนเปลี่ยนประเทศมาดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ กลายมาเป็นมหา-อำนาจทางเศรษฐกิจ มันไม่ใช่ปัจจัยภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว มันยังมีปัจจัยสำคัญอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือ ในแต่ละรูปแบบวัฒนธรรมมันมีผลประโยชน์ปลูกฝังของคนบางกลุ่มบางเหล่าอยู่ในวัฒนธรรมเหล่านั้นด้วย
 
“หมายความว่าการมองชีวิตเป็นวงกลมแบบรามเกียรติ์หรือหนังไทยเมื่อ ๒๐ ปีมาแล้วไม่ใช่เป็นความคิดตกค้างมาจากรามเกียรติ์เฉย ๆ มันมีผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม มีโลกทัศน์ของคนบางกลุ่ม มีอำนาจของคนบางกลุ่ม ... สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัฒนธรรมเฉย ๆ แต่ในวัฒนธรรมนี้มีส่วนที่เอื้อต่อโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างผลประโยชน์ และอื่น ๆ ด้วย ผมยอมรับว่า ๒๐ ปีที่แล้วมองประเด็นนี้ไม่ชัดเจนเท่าไร แต่ในตอนนี้คิดว่ามองประเด็นนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ...

“ด้วยเหตุนั้นผมจึงคิดว่า นาฬิกามันสอนใจเรา แม้หมุนกลับเวลาไปนาน หรือไกลแค่ไหนก็แล้วแต่ แล้วเมื่อคุณพอใจกับเวลาที่ตั้งใหม่ซึ่งเป็นอดีต อย่าลืมว่านาฬิกามันไม่หยุด มันเดินก้าวหน้ามาถึงยังจุดที่คุณไม่อยากจะเจอมันอีกตลอดไป
 
"ในฐานะคนเล่นนาฬิกาผมรู้สึกว่านาฬิกามันน่ารักมาก เพราะมันบอกความจริงอะไรบางอย่าง ที่หลายคนในประเทศไทย ที่ยังท่องตำราหลวงวิจิตรวาทการอยู่ ไม่เข้าใจว่า คุณอาจถอยวัฒนธรรมกลับไปได้ ไม่ว่าจะถอยกลับไปถึงตรงไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่ที่ร้ายกาจคือ เมื่อคุณถอยกลับไปแล้ว มันยังเดินต่อไปได้อีก จนมาถึงจุดที่คุณไม่อยากให้มันมาถึงจนได้เสมอ”

(คำกล่าวสรุปปิดท้ายของอ.นิธิ เมื่อ ๙ ปีที่แล้วในงานเสวนา “นิธิ ๒๐ ปีให้หลัง” เพื่อเปิดตัวหนังสือชุดรวมงานเขียน ๔ เล่มของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ในโอกาสตีพิมพ์ครั้งที่สองโดยสำนักพิมพ์มติชนวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ https://thaipublica.org/2014/12/nithi-twenty-years-later/ )