วันเสาร์, สิงหาคม 26, 2566

หลายประเทศ ก้าวข้ามความขัดแย้ง กันอย่างไร ?


The Opener
7h
·
หลายประเทศทั่วโลกที่ผ่านประสบการณ์ความแตกแยกทางการเมืองและเผชิญความขัดแย้งที่ซับซ้อน มีวิธีการ 'ก้าวข้ามความขัดแย้ง' กันอย่างไร

รูปแบบและวิธีการที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง

:: สร้างการสนทนาแห่งชาติและการปรองดอง (National Dialogue and Reconciliation)::
ประเทศจำนวนมากเริ่มต้นก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยจัดให้มีการสนทนาแห่งชาติและการปรองดอง นำกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ตรงข้ามกันมาเข้าสู่กระบวนการสนทนา รวมทั้งพรรคการเมือง และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อสร้างเวทีเปิดในการพูดคุย เจรจาต่อรอง และประนีประนอมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อหาความเห็นชอบร่วมกัน สร้างความเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มต่างๆ

:: ตั้งคณะกรรมการเพื่อการปรองดองและค้นหาความจริง ::
หลายประเทศจัดตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้ขึ้น เพื่อนำปัญหาความคับแค้นทางประวัติศาสตร์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมาแก้ไข โดยจัดเวทีแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างเหยื่อและฝ่ายผู้กระทำ เพื่อให้เกิดการรับผิด และเดินหน้าสู่การเยียวยาและปรองดอง

:: การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ::
ในกรณีที่รากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มาจากรัฐธรรมนูญ หลายประเทศใช้การปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขอำนาจที่ไม่สมดุล และเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับตัวแทนของทุกกลุ่ม การปฏิรูปลักษณะนี้อาจต้องมีการปรับระบบการเลือกตั้ง การกระจายทรัพยากร และรับรองความเป็นพหุวัฒนธรรม

:: การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ::
ภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรเอกชน หรือเอ็นจีโอต่างๆ องค์กรชุมชน องค์กรศาสนา สามารถมีบทบาทสำคัญเป็นสะพานเชื่อมความแตกแยก และสร้างเสริมความเข้าใจระหว่างกลุ่มต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่องค์กรเหล่านี้มักทำงานในระดับชุมชนเพื่อสนับสนุนการพูดคุยและสร้างความร่วมมือ

:: ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสารข้อมูล ::
ความแตกแยกทางการเมืองในยุคดิจิตัล ส่วนหนึ่งมาจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารปลอมและบิดเบือน การส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อและมีทักษะในการคิดวิเคราะห์สามารถช่วยให้แยกแยะแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ และลดผลกระทบจากเรื่องราวที่เป็นเท็จ

:: การร่วมมือข้ามพรรคการเมือง ::
เป็นความร่วมมือและทำงานร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองที่มีแนวคิดทางการเมืองแตกต่างกัน ในสังคมการเมือง พรรคการเมืองอาจมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันในหลายเรื่อง แต่บางครั้งอาจมีสถานการณ์ที่พรรคการเมืองอาจตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างนโยบาย กฎหมาย หรือตัดสินใจบางอย่างที่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศโดยรวม เช่น ภาวะที่ประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การร่วมมือข้ามพรรคอาจยากที่จะบรรลุผลสำเร็จได้

:: ปฏิรูปการศึกษา ::
ทำให้ระบบการศึกษาสร้างเสริมค่านิยมความอดกลั้นต่อความแตกต่าง ปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจ และจิตใจที่เปิดกว้าง บูรณาการหลักสูตรการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศ ให้ความสำคัญกับพหุวัฒนธรรม และความสำคัญของการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย ส่งเสริมพลเมืองให้มีความรอบรู้และโอบรับผู้อื่น
ตัวอย่างของประเทศที่ผ่านประสบการณ์ความแตกรุนแรง และสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งที่มักมีการพูดถึงเสมอ เช่น กรณีของประเทศแอฟริกาใต้ ที่เผชิญปัญหาการแบ่งแยกสีผิวและความแตกแยกทางเชื้อชาติอย่างรุนแรง

ในปี 1996 ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา ตั้งคณะกรรมการปรองดองและค้นหาความจริง เพื่อนำปัญหาความไม่เป็นธรรมในอดีตขึ้นมาแก้ไข และนำไปสู่การเยียวยา และอำนวยให้เกิดการปรองดองผ่านกระบวนการที่ประกอบด้วยการค้นหาความจริง การนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ และเข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรม
คณะกรรมการปรองดองและค้นหาความจริงของแอฟริกาใต้ เปิดการรับฟังเสียงประชาชนโดยให้เหยื่อและผู้กระทำผิดแบ่งปันเรื่องราว เหล่าผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อเปิดเผยความจริงทั้งหมดของสิ่งที่ทำและแรงจูงใจทางการเมือง การรับฟังช่วยให้เหยื่อเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รัก และให้โอกาสผู้กระทำผิดในการขออภัย

คณะกรรมการฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยความจริงที่ถูกปิดซ่อน ยอมรับประสบการณ์ที่เจ็บปวดของชาวแอฟริกาใต้นับล้านคน แม้กระบวนการนี้ไม่ได้ขจัดความแตกแยกทางการเมืองให้หมดไปโดยสิ้นเชิง หรือลบความเจ็บปวดจากอดีต แต่ได้ช่วยให้สังคมเปิดกว้างและเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น

คณะกรรมการปรองดองและค้นหาความจริงของแอฟริกาใต้ เป็นแบบอย่างของชาติที่สร้างการปรองดองบนความแตกแยกขัดแย้งทางการเมืองที่หยั่งรากลึก โดยการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดที่เป็นผลพวงจากนโยบายแบ่งแยกสีผิว และส่งเสริมการบอกเล่าความจริง อำนวยความสะดวกให้เกิดการสนทนาระหว่างเหยื่อและผู้กระทำผิด โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเยียวยาบาดแผลในอดีต และเดินหน้ากระบวนการปรองดอง

ไอร์แลนด์เหนือ เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งทางศาสนาและเชื้อชาติต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ระหว่างชาวโปรแตสแตนท์ที่ต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร กับชาวคาทอลิกชาตินิยมต้องการรวมชาติกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เป็นช่วงเวลาแห่ง 'ความทุกข์ยาก' มีทั้งความรุนแรง การลอบสังหาร และการวางระเบิด
 
ในปี 1998 มีการจัดทำข้อตกลงเบลฟาสก์ หรือ ข้อตกลง 'Good Friday' เพื่อยุติความรุนแรง มีการจัดตั้งรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือ มีการรับรองอัตลักษณ์ของชาวบริติชและชาวไอริช หยิบยกประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การรักษาความสงบเรียบร้อย และการปลดอาวุธขึ้นมาดำเนินการ

ข้อตกลง 'Good Friday' ลดความรุนแรงลงได้อย่างมีนัยสำคัญ และทำให้คู่ขัดแย้งเข้าร่วมรัฐบาล มีกรอบการพูดคุยและกรอบความร่วมมือรองรับในกรณีที่มีความตึงเครียดระหว่างกัน

รวันดา เป็นอีกกรณีหนึ่งที่มักมีการพูดถึง ประสบการณ์เลวร้ายอันเกิดจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994 มีชาวทุตซี่และชาวฮูตูถูกสังหารไปราว 8 แสนคนจากฝีมือกลุ่มชาวฮูตูหัวรุนแรง และเป็นรากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และการแบ่งแยกทางการเมืองที่ต่อเนื่องยาวนาน

ในการก้าวข้ามความขัดแย้ง รวันดาจัดตั้งGacaca court ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมระดับชุมชน ดำเนินการสอบสวนผู้กระทำผิด โดยให้มีการบอกเล่าความจริงจากเหยื่อ และให้ความยุติธรรม โดยรัฐบาลเริ่มโครงการเยียวยาแห่งชาติและสร้างเอกภาพ ให้ความสำคัญกับการให้อภัยและการปรองดอง นำไปสู่ความพยายามสร้างสังคมขึ้นใหม่และสมานความแตกแยกในสังคม

ประสบการณ์ของหลายชาติที่ผ่านความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมือง มีกระบวนการคลี่คลาย ให้ความยุติธรรม ก่อนนำสังคมไปสู่การปรองดอง สำหรับประเทศไทยที่ความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองหยั่งรากต่อเนื่องมายาวนาน มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง ยังไม่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะดำเนินการค้นหาความจริง เยียวยา และคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ รวมถึงนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ การก้าวข้ามความขัดแย้งโดยเรียกร้องให้ประชาชนสลายขั้ว สลายสีเสื้อ เลิกแล้วต่อกัน โดยไม่เอ่ยถึงการเยียวยาบาดแผล ความอยุติธรรมต่างๆ และความคับแค้น จะนำไปสู่การก้าวข้ามความขัดแย้งได้จริงหรือไม่