วันเสาร์, สิงหาคม 26, 2566

สื่อต่างชาติวิจารณ์ประเด็น ทักษิณกลับบ้าน-เศรษฐาขึ้นแท่นว่าที่นายกฯ ไม่ต่างจากการทำ “สัญญาปีศาจ” เพื่อครองอำนาจครั้งสุดท้ายก่อนพรรคหมดอนาคต มองรัฐบาลใหม่ส่อแววไร้เสถียรภาพ-ประสิทธิภาพ


“พรรคเพื่อไทยควรจะตระหนักว่า พวกเขากำลังเล่นพนันด้วยการเดิมพันกับอนาคตของพรรค... เนื่องจากพวกเขาไปทำสัญญากับปีศาจและเป็นมิตรกับมารร้าย” รศ.ดร.มาร์ก เอส. โคแกน จากมหาวิทยาลัยคันไซไกไดของญี่ปุ่น กล่าว

สื่อนอกชี้เพื่อไทยทำ "สัญญาปีศาจ" แลกเป็นรัฐบาล-ทักษิณกลับไทย ส่อแววไร้เสถียรภาพ

23 สิงหาคม 2023
บีบีซีไทย

สื่อต่างชาติวิจารณ์ประเด็น ทักษิณกลับบ้าน-เศรษฐาขึ้นแท่นว่าที่นายกฯ ไม่ต่างจากการทำ “สัญญาปีศาจ” เพื่อครองอำนาจครั้งสุดท้ายก่อนพรรคหมดอนาคต มองรัฐบาลใหม่ส่อแววไร้เสถียรภาพ-ประสิทธิภาพ

เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปพำนักยังต่างประเทศถึง 17 ปี ได้สร้างเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยการเดินทางกลับแผ่นดินเกิดในวันเดียวกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ผ่านการรับรองจากรัฐสภาให้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลผสมชุดใหม่ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

สื่อมวลชนหลายสำนักจากทั่วโลก รวมถึงบีบีซีเกาะติดรายงานข่าว โดยส่วนใหญ่มองว่าเหตุการณ์สำคัญทั้งสองมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันอย่างลึกซึ้ง ในแบบที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน

วาระของทักษิณ

สื่อต่างชาติหลายสำนักมองว่า การเดินทางกลับมาของทักษิณ และการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของเศรษฐา ทวีสิน ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ก่อนหน้านี้ แต่กลับเกิดขึ้นได้พร้อมกันในวันเดียว เป็นผลจากการที่ ทักษิณ ได้บรรลุข้อตกลงบางอย่างกับฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งเคยเป็นศัตรูทางการเมืองของเขามาก่อน

โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวของบีบีซีประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานว่า ทักษิณมีความมั่นใจว่าตนเองจะต้องรับโทษจำคุกหลังกลับไทย แต่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น โดยคาดว่าเขาจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษในไม่ช้า ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลาแค่ 1-2 เดือน


ทักษิณกลับไทย-เศรษฐานั่งนายกฯ ในสายตาสื่อต่างชาติมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันอย่างลึกซึ้ง

เฮด มองว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษนิยม

บัดนี้ กลุ่มอำนาจเก่าต้องการให้พรรคเพื่อไทยที่มีคะแนนเสียงมากเป็นอันดับสองจากการเลือกตั้งครั้ง เมื่อ 14 พ.ค. ขึ้นเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล "ผสมพันธุ์ข้ามขั้ว" 11 พรรค ซึ่งมีพรรคการเมืองฝ่ายอำนาจนิยมที่กองทัพสนับสนุนรวมอยู่ด้วย

ผลของการเจรจารอมชอมกันครั้งนี้ เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองไทย โดยกลุ่มผู้นิยมสถาบันกษัตริย์อย่างสุดโต่ง (ultra-royalist) ยอมสงบศึกและหันมาจับมือกับพรรคเพื่อไทยของทักษิณ เนื่องจากมองว่าขบวนการปฏิรูปของคนรุ่นใหม่ ซึ่งนำโดยพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้ง จะเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์และฝ่ายอนุรักษนิยมยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มุ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก


พล.อ.ประยุทธ์ ประชุม ครม. ครั้งสุดท้าย

สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า การที่เศรษฐาได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบอย่างท่วมท้นเหนือความคาดหมาย (แต่ไม่เกินคาดในแวดวงสื่อไทย) ทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกที่เคยออกเสียงสกัดกั้นพรรคก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาลนั้น แสดงถึงการย้ายข้างเปลี่ยนขั้วของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ซึ่งทำให้การเมืองไทยเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง โดยพรรคการเมืองของกองทัพที่เคยทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของตระกูลชินวัตรถึงสองครั้ง หันมาให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และยอมรับการกลับมาของทักษิณ

ผู้สื่อข่าวของอัลจาซีรา ระบุว่า แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่า การตัดสินใจขึ้นนำรัฐบาลผสมที่มีฝ่ายเผด็จการเข้าร่วมด้วย ถือเป็นการ "ทรยศหักหลังประชาชน" และขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่พรรคเพื่อไทยอ้างว่า นี่คือสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำเพื่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ และยุติภาวะตีบตันทางการเมืองที่ไร้ทางออกมานานหลายเดือน

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ รายงานความเห็นของ รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากมหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่นว่า การประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษนิยมที่เป็นศัตรูเก่าของพรรคเพื่อไทยนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดทางให้ทักษิณสามารถเดินทางกลับไทยได้เป็นหลัก แม้ในระยะยาวจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อพรรคอย่างถาวรก็ตาม

“นี่เป็นการลงทุนเพื่อหวังผลระยะสั้น โดยไม่ได้มองการณ์ไกลเอาเสียเลย การตัดสินใจเช่นนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือผู้ที่ลงคะแนนสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่เพื่อผลประโยชน์ของตัวทักษิณเองเท่านั้น” รศ.ปวิน กล่าว

“สัญญาปีศาจ” ที่แลกมาด้วยอนาคตของเพื่อไทย

ด้านสำนักข่าวเอพี รายงานความเห็นของ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “ในอดีตนั้น ประชาชนมองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแข็งขันที่สุด แต่มาตอนนี้ ความรู้สึกยกย่องชื่นชมที่ประชาชนเคยมีให้มาก่อน กำลังสลายหายไป”

ส่วนนิตยสารไทม์ เสนอบทความเชิงวิเคราะห์โดยพาดหัวข่าวว่า “ในที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองประชานิยมของไทยก็ชนะการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง ?”


พรรคก้าวไกลประกาศทำหน้าที่ฝ่ายค้านเชิงรุก

ไทม์ รายงานว่า ในตอนนี้ การเมืองไทยได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นยุคแห่งการยึดกุมอำนาจไว้ในมือได้เป็นครั้งสุดท้าย ของทั้งพรรคเพื่อไทยและกลุ่มอำนาจเก่าฝ่ายอนุรักษนิยม

แต่เพื่อสิ่งนี้ พรรคเพื่อไทยถึงกับยอมแลกมาด้วยการสูญเสียฐานเสียงหลักของตนเอง และการเป็นศัตรูกับขบวนการประชาธิปไตยที่มีแต่จะเติบโตแข็งแกร่งขึ้นในอนาคต

ไทม์ ยังรายงานความเห็นของ รศ.ดร.มาร์ก เอส. โคแกน จากมหาวิทยาลัยคันไซไกไดของญี่ปุ่นว่า “พรรคเพื่อไทยได้ทำลายตนเองและทำลายความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคก้าวไกล เห็นได้ชัดว่าเพื่อไทยมองแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นมากเกินไป ในขณะที่การยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล จะเป็นผลดีต่อขบวนการปฏิรูปในระยะยาว”

“พรรคเพื่อไทยควรจะตระหนักว่า พวกเขากำลังเล่นพนันด้วยการเดิมพันกับอนาคตของพรรค เพราะคนเสื้อแดงที่เป็นฐานเสียงผู้จงรักภักดีมากที่สุด จะไม่ยอมรับนับถือบรรดาผู้นำของพรรคอีกต่อไป เนื่องจากพวกเขาไปทำสัญญากับปีศาจและเป็นมิตรกับมารร้าย” รศ.ดร.โคแกน กล่าว

"ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป มีความเป็นไปได้สูงว่าพรรคก้าวไกลจะชนะอย่างถล่มทลาย ในขณะที่พรรคเพื่อไทยจะแพ้อย่างหมดรูป ดังนั้น การสูญเสียของพรรคก้าวไกลในตอนนี้จึงเป็นเพียงการเสียเปรียบในระยะสั้น แต่พวกเขาจะได้เปรียบในระยะยาว”


กองเชียร์เพื่อไทย ณ ที่ทำการพรรค วันที่ 22 ส.ค.

ดร.ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักวิจัยรับเชิญที่สถาบันยูซอฟ อิชัก เพื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (ISEAS-Yusof Ishak Institute) ของสิงคโปร์ แสดงความเห็นกับนิตยสารไทม์ว่า “การที่เพื่อไทยหันไปจับมือกับพรรคการเมืองที่กองทัพสนับสนุน เท่ากับปิดตายโอกาสทางการเมืองที่จะได้เป็นพันธมิตรกับพรรคก้าวไกลและขบวนการประชาธิปไตยในอนาคต นอกจากนี้ จุดยืนในปัจจุบันของพรรคเพื่อไทย ยังทำให้พรรคสูญเสียความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ด่างพร้อยมีมลทินไปแล้ว ในสายตาของขบวนการเสรีนิยมและกลุ่มผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย”

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า การที่ เศรษฐา ผ่านการรับรองจากรัฐสภาให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทั้งที่ไม่ได้มาจากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งนั้น จะยิ่งทำให้ประชาชนโกรธแค้นแ ละแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลผสมชุดใหม่มากยิ่งขึ้น โดยผลสำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลครั้งล่าสุดชี้ว่า 64% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 1,310 คน ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคที่กองทัพให้การสนับสนุน

รัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ-ประสิทธิภาพ

สื่อต่างชาติหลายสำนักมองว่า รัฐบาลผสม 11 พรรคที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และมีพรรคฝ่ายเผด็จการที่อดีตรัฐบาลทหารสนับสนุนเข้าร่วม รวมทั้งได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีที่ควบคุมกระทรวงสำคัญด้วย จะเป็นรัฐบาลที่ต้องประสบปัญหาการขาดเสถียรภาพเป็นอย่างมาก และไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่เคยลั่นวาจาเอาไว้

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ รายงานความเห็นของ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า “แม้รัฐบาลชุดใหม่จะไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ แต่หลายฝ่ายตั้งความหวังว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาเรื้อรังต่าง ๆ ของประเทศ มากกว่ารัฐบาลชุดก่อน ทั้งเรื่องหนี้สินครัวเรือน, สังคมที่เต็มไปด้วยประชากรสูงวัย, และปัญหาอาชญากรรมที่พุ่งสูงขึ้น”

แต่อย่างไรก็ตาม ดร.ณพล จาตุศรีพิทักษ์ ได้แสดงความเห็นกับนิตยสารไทม์ต่อ ว่า “การที่เพื่อไทยจับมือกับฝ่ายเผด็จการ จะทำให้พบกับข้อจำกัดมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้านโยบายต่าง ๆ ที่เคยให้คำมั่นกับประชาชนไว้ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทยไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเท่าที่ควร เพราะต้องคอยประนีประนอมกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อประคับประคองรัฐนาวาที่ขาดเสถียรภาพให้คงอยู่ต่อไปได้”


"หลายฝ่ายตั้งความหวังว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาเรื้อรังต่าง ๆ ของประเทศ มากกว่ารัฐบาลชุดก่อน" ศ.ดร.ฐิตินันท์ ระบุ

ส่วน ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ แสดงความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้กับสำนักข่าวเอพีว่า “การที่รัฐบาลผสมมีผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายมุ่งหวังมากมายหลากหลายเกินไป จะทำให้รัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่กลุ่มพันธมิตรที่จับมือกันอย่างสุขสันต์ชื่นมื่นเท่าใดนัก เพราะต้องคอยตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายที่มาจากกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้ามกัน”