วันอังคาร, สิงหาคม 29, 2566

เมื่อเผด็จการลงเลือกตั้ง ไม่ไช่ การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย เสมอไป ‼️ ข้อควรคำนึงเวลาเราพูดถึงเรื่อง Democratization


Sakesit Yaemsanguansak
18h
·
ในความเป็นจริง เมื่อเผด็จการลงเลือกตั้ง ≠ การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย เสมอไป
ต่อประเด็นถกเถียงเรื่อง ‘เผด็จการ’ กับ ‘การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย’ คือเวลาพูดเรื่องการเมืองไทย กับ Democratization ต้องประเมินให้ดีว่า สถานการณ์ทางการเมืองภายใต้รัฐบาลขณะนี้ ทิศทางมันจะไปทางการพัฒนาประชาธิปไตย หรือจะจมปลักอยู่ที่เผด็จการที่มาการแข่งขัน (Competitive Authoritarianism) กันแน่
เป็นที่ทราบกันมานานในหมู่การศึกษาการเมืองเปรียบเทียบว่า กระบวนการออกจากระบอบพันธุ์ทาง (Hybrid Regimes) ไม่ได้ง่ายดายดังที่เคยเข้าใจกันในอดีต ว่า “หากมีการเลือกตั้งไปเรื่อย ๆ แล้ว ถึงที่สุดก็จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ลงหลักตั้งมั่น หรือประชาธิปไตยที่เสรี (Liberal Democracy) ในที่สุด”—สิ่งนี้เป็นความรู้เดิมตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งล้าสมัยไปแล้วในทางวิชาการ ปัจจุบันมีข้อโต้แย้งจำนวนมาก ว่าอาจไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
ในครึ่งหลังของศตวรรษปัจจุบัน ประเทศจำนวนมาก ที่เคลื่อนออกจากระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ (Full Autocracies) ต่างมาติดหล่มอยู่กับระบอบที่เรียกว่าที่ “เผด็จการที่มาการแข่งขัน” (Competitive Authoritarianism) หรือ เผด็จการที่มีการเลือกตั้ง (Electoral Authoritarianism) กันเป็นจำนวนมาก
สิ่งนี้เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความแยบยลขึ้นของเผด็จการที่มีการเลือกตั้งพร้อม ๆ กับ (1) การทำให้ความเป็นเผด็จการกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างกติกา ไม่ใช่เพียงเรื่องของผู้นำบุคคลเฉย ๆ แบบเผด็จการในอดีต (2) การมีกลไกการกดปราบทำลายพลังฝ่ายประชาชนอย่างชาญฉลาดและทรงประสิทธิภาพ (Smart Repression) (3) การมีภาคประชาสังคมเทียมที่ดูภายนอกเหมือนเป็นประชาธิปไตย แต่แท้ที่จริงสนับสนุนความเป็นเผด็จการ พร้อม ๆ กับการจำกัดการเติบโตของภาคประชาสังคมอื่น ๆ ที่เป็นประชาธิปไตย (4) การมีกลไกกำจัดศัตรูในการแข่งขันทางการเมือง ผ่านองค์กรพิเศษต่าง ๆ องค์กรทางตุลาการ (5) การที่พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งที่วางตัวเป็นปรปักษ์ แต่พร้อมที่จะไม่แตะต้องโครงสร้างเหล่านั้น หรือแม้แต่หันไปสนับสนุนโครงสร้างเผด็จการ หรือจับมือร่วมกับพรรคเผด็จการหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าจะจากความสมประโยชน์ และ/หรือ กลไกที่ถูกออกแบบมาให้พันกันเหมือนงูรัด คือยิ่งขยับมาก ยิ่งน่ากังวลต่อการทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง เช่น การถูกยุบพรรค การตัดสิทธิ์ทางการเมือง หรือการต้องย้อนกลับไปสู่ Full Autocracies ฯลฯ ถึงที่สุดจึงไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างกลไลที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี—ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการรักษาอำนาจของฝ่ายอำนาจนิยมได้
และที่สำคัญ*** การศึกษาในระยะหลัง ๆ ยังพบว่า เมื่อเข้าสู่ระยะ Competitive Authoritarianism แล้ว การเลือกตั้งไปเรื่อย ๆ นอกจากอาจจะไม่นำไปสู่ประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้าม หากไม่สามารถเกิดการเปลี่ยนผ่านได้ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งต้น ๆ แนวโน้มการอยู่รอดของเผด็จการจะยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากการเลือกตั้งจะกลายสภาพเป็นสถาบันที่ถูกหลอมรวม รองรับ Competitive Authoritarianism ให้ตั้งมั่นยิ่งขึ้นไปเสีย หรือพูดอีกอย่างคือ แนวโน้มการเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยจะยิ่งมีโอกาสลดลง
ด้วยเหตุนี้ ผลสุดท้าย หลายประเทศจึงต่างจมหยุดอยู่กับ Competitive Authoritarianism ไปเรื่อย ๆ และซ้ำร้ายในปัจจุบัน บางประเทศอาจติดหล่มวนเวียนไปมาอยู่ระหว่าง Competitive Authoritarianism และ Full Autocracies ไม่เดินหน้าไปไหนอีกด้วย
ดังนั้น การ Democratization ออกจากเผด็จการจึงไม่ใช่การเดินหน้าเป็นเส้นตรงขั้นบันไดไปเรื่อย ๆ เหมือนที่เข้าใจกันในอดีต—คือเลือกตั้งต้องเลือกแน่ แต่ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องพยายามงัดกับระบอบมันให้มากหน่อย โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ที่ระบอบเผด็จการได้มีการพัฒนาไปอีกขั้น สู่ ‘เผด็จการที่มีการแข่งขันใหม่’ (New Competitive Authoritarianism) ซึ่งมีความลงรากฝังลึก มีกลไกเครื่องมือที่สลับซับซ้อน และแยบยลยิ่งขึ้นกว่าเก่า จนยากแก่การที่จะออกจากระบอบเหล่านี้ได้โดยง่าย
เหล่านี้ คือข้อควรคำนึงเวลาเราพูดถึงเรื่อง Democratization ดังนั้นจึงควรประเมินทิศทางความเป็นไปของการเมืองไทยให้ดี เพื่อไม่ให้เราติดหล่มอยู่ที่เผด็จการที่มีการแข่งขันต่อไปเรื่อย ๆ