วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 31, 2566

วันแห่งการรำลึกถึง 'ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย' 111 ราย คือจำนวนผู้ถูกบังคับให้สูญหายจากการบันทึกของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หากนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึง กรกฎาคม ปี 2562 มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ ไม่ต่ำกว่า 104 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ลี้ภัย 9 คน ถูกอุ้มหายในต่างแดน


WAY
August 30, 2021
·
วันแห่งการรำลึกถึง 'ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย'
111 ราย คือจำนวนผู้ถูกบังคับให้สูญหายจากการบันทึกของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
86 ราย คือจำนวนผู้สูญหายที่องค์การสหประชาชาติบันทึกไว้ หรือมีการส่งเรื่องไปที่องค์การสหประชาชาติ (UN)
และหากนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึง กรกฎาคม ปี 2562 มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ ไม่ต่ำกว่า 104 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ลี้ภัย 9 คน ถูกอุ้มหายในต่างแดน
การบังคับสูญหาย หรือ ‘อุ้มหาย’ ตามนิยามของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ หมายถึง การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำอื่นที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือได้รับการอนุญาต สนับสนุน หรือยอมรับโดยปริยายจากรัฐ มักตามมาด้วยการปฏิเสธการลิดรอนเสรีภาพ หรือปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลผู้สูญหาย
การอุ้มหายจึงหมายถึง อาชญากรรมที่กระทำโดยรัฐ หรือภายใต้การยินยอมและเพิกเฉยของรัฐ
30 สิงหาคม ของทุกปี คือวัน ‘ผู้สูญหายสากล’ เพื่อระลึกถึงผู้สูญหายและครอบครัวของพวกเขาที่ยังคงรอคอยความยุติธรรม เมื่อการอุ้มหายยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อรักษาอำนาจและปิดปากประชาชนผู้เห็นต่างในหลายประเทศทั่วโลก
WAY ชวนทบทวนเหตุการณ์และระลึกถึงบุคคลผู้ถูกกระทำ เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาในวันนั้น
---
• Lost and Found: ไม่อนุญาตให้อยู่ ไม่อนุญาตให้ตาย ‘การอุ้มหาย’ ในรัฐพันลึก
นับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึง กรกฎาคม ปี 2562 ที่ คสช. ลงจากอำนาจ มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ ไม่ต่ำกว่า 104 ราย คนกลุ่มนี้มีทั้งนักกิจกรรมทางการเมือง นักวิชาการ ผู้ที่ถูก คสช. เรียกรายงานตัว ผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยทั้งกลุ่มคนเสื้อแดงและนักกิจกรรมรุ่นใหม่ รวมไปถึงคนทั่วไปที่ถูกออกหมายจับในคดี 112
การอุ้มหายคือขีดสุดของเหยื่อความรุนแรงที่รัฐไทยกระทำต่อผู้ที่เห็นต่าง หลายคนแม้ลี้ภัยแล้วยังคงถูกติดตามและคุกคาม ไปจนถึงรัฐไทยได้ใช้มาตรการสูงสุด นั่นคือ ไม่อนุญาตให้อยู่ ไม่อนุญาตให้ตาย ผ่านคำสั่ง ‘อุ้มหาย’
https://waymagazine.org/lost-and-found-project/
• 8​ ปีที่เงียบงัน เรื่องเล่า​วันสุดท้ายก่อน ‘สมบัด​ สมพอน’ ถูกอุ้มหาย
‘สมบัด สมพอน’ คือนักพัฒนาอาวุโสชาวลาว เจ้าของรางวัลรามอน แมกไซไซ ปี 2548 ผู้ก่อตั้ง ‘ปาแดก – Participatory Development Training Centre’ องค์กรด้านการเรียนรู้นวัตกรรมการเกษตรและการพัฒนาการศึกษาของเด็กและเยาวชนในประเทศลาว
ในช่วงโพล้เพล้ของวันที่ 15 ธันวาคม 2555 สมบัด สมพอน ถูกอุ้มหาย จวบปัจจุบันการหายตัวไปของเขายังคงเป็นปริศนา คดีความของเขาไม่เคยคืบหน้า ข่าวคราวที่ประชาชนลาว ครอบครัว มิตรสหาย องค์กรสิทธิมนุษยชน และประชาคมโลกร้องถามต่อรัฐบาลลาว …คำตอบไม่เคยปรากฏ
https://waymagazine.org/premrudee-daoroung-and-sombath.../
• ตามหาวันเฉลิม คนที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย ไม่รู้จัก การอุ้มหายที่รัฐไทยไม่เคยให้ความหวัง
4 มิถุนายน 2563 ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ถูกอุ้มหายกลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา 10 มิถุนายน 2563 สมคิด เชื้อคง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดในการประชุมสภาถึงกรณีการอุ้มหายครั้งนี้ ก่อนที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะลุกขึ้นตอบว่า ตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีมา 6 ปี ยังไม่เคยเห็นชื่อหรือรู้เรื่องเกี่ยวกับนายวันเฉลิมเลยแม้แต่ครั้งเดียว
มีคำถามหลักๆ 2 ประการที่ชวนทบทวน ทำไมเมื่อเกิดกรณีอุ้มหายเราจึงไม่เคยพบแสงแห่งความหวังจากรัฐไทย และทำไมการหายไปของใครบางคนจึงถูกทำราวกับว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่มีราคาของชีวิต
https://waymagazine.org/where-is-wanchalerm/
• ทบทวนคดีอุ้มหายในความเงียบงันของรัฐไทย
17 ปีที่แล้ว นับจากวันที่ 12 มีนาคม 2547 ‘ทนายสมชาย นีละไพจิตร’ ได้หายตัวไป และยังคงเป็นบุคคลสาบสูญในสายตาของรัฐมาโดยตลอด
7 ปีที่แล้ว มีพยานพบเห็น ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 อยู่กับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก่อนจะไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยืนยันว่าได้ควบคุมตัวบิลลี่ไว้จริง แต่คำตอบที่ พิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้เป็นภรรยาเฝ้าทวงถามและรอคอยการกลับมาของสามี ยังคงเงียบงัน
กว่า 30 ปีที่แล้ว เมื่อ 19 มิถุนายน 2534 ก่อนวันประชุมแรงงานระดับโลกที่ ทนง โพธิ์อ่าน จะต้องเข้าร่วม ทว่ารัฐบาลไทยกลับไม่อนุญาตให้เขาได้เดินทางแม้ สหภาพแรงงานระดับโลกจะออกค่าเดินทางให้พร้อมสรรพ ซึ่งวันนั้นเอง เป็นวันสุดท้ายที่ลูกชายได้เห็นพ่อตัวเป็นๆ
7 ปีที่แล้ว หลังการรัฐประหารยึดอำนาจโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีคำสั่ง คสช. เรียกประชาชนมารายงานตัวและกวาดจับประชาชนผู้เห็นต่างจำนวนมาก โดย ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ ผู้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 และถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยได้รับการตัดสินโทษ 12 ปีครึ่ง ก่อนจะได้รับอิสรภาพอีกครั้งในปี 2556 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำอีกคดีที่เขาเคยปราศรัยไว้มาแจ้งจับอีกครั้ง สุรชัยเลือกที่จะหลบหนีออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน กระทั่งถูกอุ้มหายไปในที่สุด
https://waymagazine.org/lost_person/