วันศุกร์, สิงหาคม 25, 2566

ตาดูดาว เท้าติดดิน หนังสือชีวประวัติทักษิณ : ไม่สู้ ในสงครามที่รู้ว่า ‘แพ้’ ความคิดการเมืองยามไร้เดียงสาของ ‘ทักษิณ’



ตาดูดาว เท้าติดดิน: ไม่สู้ ในสงครามที่รู้ว่า ‘แพ้’ ความคิดการเมืองยามไร้เดียงสาของ ‘ทักษิณ’

February 20, 2022
ผู้เขียน สุภชาติ เล็บนาค
The Momentum

1
ทุกครั้งที่ผมคุยกับใคร จะบอกเสมอว่า ทักษิณ ชินวัตร คือบุคคลที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากนักการเมืองคนอื่นๆ

ประการแรก เขาจบจากโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ทำให้เข้าใจ ‘วิธีคิด’ ของบรรดาทหารตำรวจ ขณะเดียวกัน เขายังผ่านระบบราชการมาก่อน ทำให้รู้ว่า ‘ธรรมชาติ’ จุดอ่อน จุดแข็ง ของระบบราชการแบบ ‘ไทยๆ’ คืออะไร

ไม่เพียงเท่านั้น ทักษิณ ยังอยู่ในตระกูลการเมือง เขาเป็นลูกชาย ส.ส. เลิศ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อ ได้รับเลือกตั้ง ส.ส. ตั้งแต่ปี 2512 ในรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร ทักษิณ เป็นหน้าห้อง ‘รัฐมนตรี’ ตั้งแต่ปี 2518 ให้กับ ปรีดา พัฒนถาบุตร ก่อนจะเริ่มทำธุรกิจจริงจังด้วยซ้ำ และขณะเดียวกัน เขายังเป็นลูกเขยของ พลตำรวจโท เสมอ ดามาพงศ์ อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ นั่นทำให้ทักษิณรู้ลึก มี Circle อยู่ แทบจะทุกวงการ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชีวิตการเมืองของทักษิณประสบความสำเร็จ

แล้วสิ่งที่ประกอบสร้างทักษิณ หรือ โทนี่ วู้ดซัม ที่เราเห็นวันนี้คืออะไร? ตาดูดาว เท้าติดดิน หนังสือชีวประวัติทักษิณ ซึ่งมี ‘วัลยา’ เป็นผู้เขียน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 29 ในโอกาสครบรอบ 23 ปี คือหนังสืออัตชีวประวัติทักษิณ ที่เล่าเบื้องแรกของชีวิตทักษิณ ก่อนที่อดีตนายตำรวจผู้นี้จะประสบความสำเร็จกับชีวิตทางการเมือง ว่าลักษณะนิสัยของทักษิณเป็นอย่างไรบ้าง และในช่วงเวลา 4 ทศวรรษแรก ทักษิณ ‘ล้ม’ มาก่อนอย่างไร

2
หากใครสนใจการในมุมของนักธุรกิจ จะพบว่าในเชิงธุรกิจ ทักษิณเรียนรู้ และ ‘ถอดบทเรียน’ ของตัวเองอย่างเข้มข้น ผ่านสายตา น้ำเสียง และวิธีการเล่าชีวประวัติ ในรูปแบบนวนิยายของวัลยา

ธุรกิจแรกของทักษิณ เริ่มจากการเอา ‘ชินวัตรไหมไทย’ มาเปิดขายใต้โรงแรมทรอคาเดโร โดยอาศัยความสำคัญของพ่อ กับ พลโท วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ หุ้นส่วนโรงแรม ก่อนจะเจ๊งไม่เป็นท่า เขยิบมาทำ ‘หนังไทย’ อยู่พักใหญ่ โดยอาศัยพื้นฐานเดิมจากธุรกิจที่บ้านในการทำโรงภาพยนตร์ที่เชียงใหม่ และล้มเหลวอีก

เช่นเดียวกับการทำคอนโดมิเนียม ก่อนที่ประเทศไทยจะรู้จักคอนโดมิเนียม การทำธุรกิจให้เช่าคอมพิวเตอร์ โดยไม่เตรียมเรื่อง ‘ความเสี่ยง’ จากการลอยตัวค่าเงินบาท หรือการทำ ‘แพ็กลิงก์’ โดยที่ถูกหุ้นส่วน ดึง ‘คนอื่น’ เข้ามา โดยที่ทักษิณไม่รู้เรื่อง จนที่สุด กลุ่มชินวัตรต้องถอนตัว

ทั้งหมดนี้ เขาเล่าความล้มเหลวอย่างหมดเปลือก ว่าเป็นการทำธุรกิจแบบ ‘เสียรู้’ ไม่ได้เตรียมความพร้อมมากพอ จนทักษิณต้องวิ่ง ‘แลกเช็ค’ หมุนเงิน หาเงินใช้เจ้าหนี้ทั้งในและนอกระบบ จนถูกหมายจับ ‘เช็คเด้ง’ มาแล้วหลายครั้ง ด้วยมูลหนี้รวมกัน สูงถึง 200 ล้านบาท หากนับจากความผิดพลาดทั้งหมดรวมกัน

เรื่องนี้ สนธิ ลิ้มทองกุล เองก็เคยพูดไว้ในรายการ ‘คุยทุกเรื่องกับสนธิ’ ไม่นานนี้ว่า ตัวเขาเองเจอกับทักษิณครั้งแรกโดยบังเอิญ ก็ด้วยเหตุการณ์ ‘แลกเช็ค’ กับ ‘เสี่ยพะ’ สุวิทย์ มหาแถลง เอเยนต์ใหญ่รถอีซูซุ ที่ภัตตาคารไต้ถ๊ง ซอยอโศก

ขณะเดียวกัน ทักษิณ ก็ยังพูดถึงข้อขัดแย้งกับคนในวงการธุรกิจไว้อย่างน้อย 2 คน คนหนึ่ง ชื่อว่า ธนินทร์ เจียรวนนท์ จากกลุ่มซีพี ในเรื่องการประมูลหมายเลขโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมาย และอีกคน คือ คีรี กาญจนพาสน์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ที่ประมูล ‘ดาวเทียม’ แข่งกับเขา ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 ในนามกลุ่มวาเคไทย ที่ทำเอากลุ่มชินวัตร ต้องเสียเวลานานกว่า 2 ปี กว่า ‘ไทยคม’ จะเป็นรูปเป็นร่าง และเป็นการปิดจ็อบทักษิณในบทบาทของนักธุรกิจได้สำเร็จ กลายเป็นนักธุรกิจโทรคมนาคมที่มีทรัพย์สินหลักหมื่นล้าน ปูทางเข้าสู่การเมืองอย่างเต็มตัว

เรื่องความล้มเหลว และความขัดแย้งกับบุคคลอื่นนั้นล้วนหาได้ยากในหนังสือชีวประวัติเล่มอื่น แต่สำหรับ ตาดูดาว เท้าติดดิน ทักษิณ เล่ามุมนี้ของตัวเองไว้อย่างเข้าใจโลก พร้อมกับให้ข้อคิดสำคัญว่า หลักคิดในการทำธุรกิจที่ทำให้เขา ‘ล้ม’ แล้วลุกได้เสมอก็คือ ทุกครั้ง เขาจะไม่อยู่จนวันที่ธุรกิจล่มสลาย หากแต่จะ “ไม่ทนสู้ในสงครามที่รู้ว่าจุดจบคือความพ่ายแพ้” หรือไม่ยอม “Fighting a Losing war”

แต่แน่นอน ความผิดพลาดในทางธุรกิจ ที่เขาผ่านพ้นไปได้ด้วยหลักการนี้ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้หลักการเดียวกัน ข้ามผ่านเรื่องยุ่งเหยิงทางการเมืองไปได้เหมือนกัน

3
กล่าวสำหรับภาพการเมือง หนังสือเล่มนี้ความอลหม่านของการเมืองไทยช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กระทั่งการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ​ 2540 และการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยได้เป็นอย่างดี

เป็นที่รู้กันว่าช่วงเวลาดังกล่าว ‘ทหาร’ หลุดออกจากสมการทางการเมืองแล้ว และเป็นบทบาทในการ ‘ละเลง’ กันเองของนักการเมืองอย่างเต็มที่ และทักษิณเองก็เข้าไปเกี่ยวข้องแทบทุกรัฐบาล… แรกเริ่มทีเดียว สื่อมวลชนในยุคนั้นคาดหมายกันว่าทักษิณจะลงสนามการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ จากความสนิทสนมกับหัวหน้าพรรค และนายกรัฐมนตรีของพรรคอย่าง ชวน หลีกภัย

“โดยส่วนตัว ผมมองว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ที่น่าสนใจ ส่วนหัวหน้าพรรค ผมชื่นชมคุณสมบัติความเรียบง่าย สมถะ ซื่อสัตย์ ยึดหลักการของคุณชวน หลีกภัย ไม่น้อยเลยทีเดียว คุณชวน เป็นหนึ่งในสองนักการเมืองที่เป็น role model หรือเป็นแบบอย่างของผม นอกเหนือจาก พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งผมชื่นชมในความสมัยใหม่ มีวิสัยทัศน์ ฉับไว และกล้าตัดสินใจของท่าน”

คือท่อนหนึ่งที่ทักษิณเล่าไว้ในหนังสือ

กระนั้นเอง หลังจากที่ จำลอง ศรีเมือง ในนามหัวหน้าพรรคพลังธรรม ชักชวนเขาให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโควตา ‘คนนอก’ ของพรรค แทน นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ ในรัฐบาล ชวน1 ก็ทำให้ชีวิตเขาหักเห ไม่ได้อยู่ใต้ชายคาพรรคประชาธิปัตย์อีกเลยตลอดชีวิต

รู้กันดีว่าการจับพลัดจับผลูเป็นรัฐมนตรีรอบนั้น ทำให้ทักษิณ ต้องอยู่ร่วมอย่างน้อยในรัฐบาลต่อไป คือรัฐบาลของ บรรหาร ศิลปอาชา โดยครั้งนี้ ในนามของหัวหน้าพรรคพลังธรรมเต็มตัว ส่งให้ทักษิณได้ ‘ทางลัด’ ทางการเมือง ขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี แม้จะเล่นการเมืองเพียงไม่กี่ปี

อย่างไรก็ตาม พลังธรรม ในมือของทักษิณ กลายเป็นพรรคที่ได้เสียงน้อยลงเรื่อยๆ ในการเลือกตั้งปี 2538 ได้ ส.ส. ทั้งสิ้น 23 คน และในการเลือกตั้งปี 2539 พลังธรรม ได้ ส.ส. เพียง 1 คน คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ที่น่าสนใจก็คือ ณ วันนั้น จนถึงวันนี้ ผ่านมา 27 ปี เรื่องดังกล่าวแทบจะเป็น ‘ความล้มเหลว’ เดียว ในสนามเลือกตั้งของคนชื่อทักษิณ ซึ่งตัวเขาถอดบทเรียนว่า มาจาก

1.กระแสชื่นชมพรรคประชาธิปัตย์

2.การที่ตัวเขา ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ไม่ลงเลือกตั้ง

3.การที่พรรค ไปกวาดอดีต ส.ส.จากพรรคความใหม่ มาลงสมัครเป็นผู้แทนฯ ทำให้คนกรุงเทพฯ ยี้

แต่พลังธรรม ไม่ใช่พรรคของทักษิณแต่แรก เขาเป็นเพียงคนที่เข้ามารับไม้ต่อ นั่นหมายความว่ายังมีคนของพลตรีจำลองอยู่อีกมาก ทว่า ในช่วงเวลานั้น เขาก็จบกับพลตรีจำลองด้วยดี ทั้งยังมีแต่ความชื่นชมในฐานะที่เป็นครูการเมือง และการยกพลังธรรมให้เป็นโรงเรียนการเมืองของเขา

“พลังธรรมแข็งตัวเกินที่จะพร้อมปรับเปลี่ยน ในเมื่อพรรคการเมืองจะต้องเป็นภาพจำลองของสังคมซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่พลังธรรมไม่สามารถทำได้ ผมก็ลำบากใจในการนำพลังธรรมต่อไป”

ทักษิณสรุปสั้นๆ ไว้ในหนังสือ

4
บทเรียนในสนามธุรกิจ และประสบการณ์ในสนามการเมือง ส่งให้ทักษิณต้องตั้งพรรคการเมืองเอง ซึ่งเป็น ‘บทส่งท้าย’ ของหนังสือ และเป็นจุดประสงค์สำคัญในการเกิดขึ้นของหนังสือเล่มนี้

‘ไทยรักไทย’ ในช่วงแรกคือส่วนผสมของนักวิชาการ อดีตข้าราชการ นักการตลาด ในเวลาต่อมา ก็เป็นศูนย์รวมของบรรดา ‘นักการเมือง’ จากทั่วสารทิศ โดยมีบทเรียนเบ็ดเสร็จจากพรรคการเมืองก่อนหน้าอย่างพลังธรรม และจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เขาเคยร่วมงาน และเคยร่วมรัฐบาลด้วย

ใช่ นอกจากทักษิณ จะเป็นหัวหน้าพรรค เป็นผู้นำแห่งโลกยุคใหม่แล้ว เขาต้องรวบรวมเสียง ส.ส. ให้มากที่สุด เพื่อเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งให้ได้ ในการขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปได้จริง ท้ายของหนังสือเล่มนี้ จึงเชื่อว่า หากไทยรักไทยตั้งรัฐบาลได้ หากส่งทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ได้แล้ว ทุกอย่างจะราบเรียบ พาประเทศไปในแบบ ‘การเมืองเชิงสร้างสรรค์’ ในแบบที่ทักษิณฝันอยากให้เป็น

“พรรคทุกพรรคจำเป็นต้องพัฒนาตัวเอง และต่อไปพรรคการเมืองต้องแสวงหาจุดแตกต่าง จุดขายด้านความคิด หรือ Platform คล้ายกับตะวันตก

“ประชาชนจะเลือกจะชอบพรรคไหนก็ขึ้นอยู่กับ Platform ของแต่ละพรรค ว่าจะสร้างสรรค์สอดคล้องกับอุดมการณ์ของประชาชนหรือไม่

“เนื่องจากพรรคการเมืองที่ไม่แข็งแกร่ง จะเล็กลงเรื่อยๆ ประชาชนมีความรู้เท่าทันทางการเมืองมากขึ้น ประกอบกับการเลือกตั้งแบบใหม่ จะทำให้การซื้อเสียงสัมฤทธิผลน้อยลง

“อนาคตนี้เอง เป็นความหวังสำหรับพรรคการเมืองตามความใฝ่ฝันของผม”

คือสิ่งที่ทักษิณเล่าไว้ในหนังสือบทสุดท้าย

พรรคการเมืองในปี 2565 นั้นเป็น Platform แต่พรรคการเมือง ก็ไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะยังมีอำนาจเหนือพรรคการเมืองครอบไว้อีกชั้นอยู่อีกหลายเลเยอร์

5
สิ่งที่เรารู้กันในอีก 23 ปีให้หลัง ก็คือ พรรคไทยรักไทย แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ประสบความสำเร็จตั้งแต่การเลือกตั้งสมัยแรก ทว่า ท้ายที่สุดแล้ว ไทยรักไทยก็มีอายุเพียง 9 ปี ส่วนตัวทักษิณในตำแหน่งนายกฯ นั้น ‘อายุสั้น’ กว่าไทยรักไทยด้วยซ้ำ

ในวันนั้น ฝันของทักษิณ คิดว่าการเมืองไทยจะเดินหน้าสู่ระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ ประเทศนี้จะไม่มีการ ‘รัฐประหาร’ โดยรุ่นน้องโรงเรียนเตรียมทหารของเขาอีก และในที่สุด Platform การเมือง ของไทยรักไทย จะทำให้ประเทศรุดหน้าไปเรื่อยๆ

แน่นอน นั่นเป็นการมองที่ผิดพลาด คงไม่ต้องบอกว่าสภาพสังคมไทยในอีก 2 ทศวรรษต่อมาเป็นอย่างไร… แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือชื่อของทักษิณ และอิทธิพลของทักษิณ ยังคงปกคลุมการเมืองไทยอยู่ถึงทุกวันนี้

หากทักษิณ ยังคงยึดหลักการเดิม คือไม่ Fighting a Losing war หรือไม่สู้ในสงครามที่รู้ว่า ‘แพ้’ ท่าที ‘พร้อมสู้’ อย่างทุกวันนี้ และคำประกาศอยู่บ่อยครั้งว่าพร้อม ‘กลับบ้าน’ ภายในปีนี้ หรือสิ้นปีเจอกัน ก็ชัดเจนว่าเขามองเห็นโอกาสบางอย่างในวัย 72 ปี

สิ่งที่เรายังไม่เห็นก็คือ ตลอด 23 ปีที่ผ่านมา ทักษิณ ได้ ‘บทเรียน’ อะไร ด้วยปัจจัยไหนที่ทำให้ชื่อของเขายังคง เป็นชื่อที่ใครได้ยินก็ ‘ขนลุก’ เขาเผชิญกับข้อผิดพลาดอะไรบ้าง มีตัวละครตัวไหนบ้าง ที่เปลี่ยนจากมิตรเป็นศัตรู​ และหากวันนี้ ทักษิณ ยืนยันจะสู้อยู่ แท้จริงแล้ว ‘ศัตรู’ ของเขาคือใคร

เรื่องทั้งหมด เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เท่านั้น…

อ่านบทสัมภาษณ์ของ ‘วัลยา’ ผู้เขียน ‘ตาดูดาว เท้าติดดิน’ ได้ที่: https://themomentum.co/closeup-wanlaya/

หมายเหตุ: สามารถสั่งจอง ตาดูดาว เท้าติดดิน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 29 ได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ : ‘ตาดูดาว หนังสือประวัติทักษิณ ชินวัตร’ https://www.facebook.com/TadoodaoBooks29 หนังสือจะวางจำหน่ายในร้านหนังสือในเครือบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

FACT BOX
  • ตาดูดาว เท้าติดดิน ถูกเล่าในรูปแบบเรื่องสั้น ลงใน ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ในช่วงปี 2542 ก่อนจะได้รับการตีพิมพ์เป็น ‘พ็อกเก็ตบุ๊ก’ โดยสำนักพิมพ์มติชนในปีเดียวกัน และนับเป็นหนังสืออัตชีวประวัติที่ได้รับการ ‘พิมพ์ซ้ำ’ มากที่สุดถึง 28 ครั้ง ก่อนจะถูกพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปีนี้
  • ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย เจ้าของนามปากกา ‘วัลยา’ บอกว่าชื่อนี้ มาจากหนังสือ ความรักของวัลยา ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ลัดดาวัลย์บอกว่า ‘วัลยา’ ในความหมายของเธอนั้น หมายถึงความรักที่มีต่อผู้คน ความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ และความรักที่มีต่ออุดมการณ์
  • ตาดูดาว เท้าติดดิน (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 29), ผู้เขียน วัลยา, จัดพิมพ์โดย บริษัท ทาเลนต์ วัน โปรดักชัน, จำนวน 299 หน้า, ราคา 297 บาท