วันศุกร์, สิงหาคม 25, 2566

ย้อนดู "นักโทษวีไอพี" ในการเมืองไทย นอกเหนือจากกรณีทักษิณ ที่ย้ายออกจากเรือนจำเพื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล มีอย่างน้อย 2 กรณี


สมชาย คุณปลื้ม ผู้ที่ครั้งหนึ่งสื่อต่างชาติเคยเรียกว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลที่ "มีชื่อเสียง" มากที่สุดในประเทศไทย

ย้อนดู "นักโทษวีไอพี" ในการเมืองไทย

หากย้อนดูการต้องโทษของบุคคลในแวดวงการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นหลายคน พบว่าการย้ายออกจากเรือนจำเพื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และการพักโทษเคยเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 กรณี

“กำนันเป๊าะ” เจ้าพ่อเมืองชล

"กำนันเป๊าะ" หรือสมชาย คุณปลื้ม อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี หรือ "เจ้าพ่อเมืองชล" และบิดาของนักการเมืองไทยในปัจจุบัน ก็เคยประสบชะตากรรมต้องโทษจากการถูกศาลพิพากษาจำคุก 25 ปี ในคดีจ้างวานฆ่านายประยูร สิทธิโชติ ในปี 2547 และถูกศาลตัดสินจำคุกอีกคดีเป็นเวลา 5 ปี 4 เดือน ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินสาธารณะ ต.เขาไม้แก้ว จ.ชลบุรี ในปี 2548

กำนันเป๊าะ ถือเป็นตำนาน "นักโทษวีไอพี" ที่เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไปแล้ว ได้ย้ายการควบคุมตัวมาเรือนจำในภูมิลำเนา จ.ชลบุรี ก่อนได้รับอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลชลบุรี

กำนันเป๊าะ ถูกจับกุมในเดือน ม.ค. ปี 2556 หลังจากหลบหนีคดีนาน 7 ปี เมื่อนำตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ต้นเดือน ก.พ. ปีเดียวกัน กรมราชทัณฑ์ได้อนุมัติให้มีการย้ายตัวกำนันเป๊าะ จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไปควบคุมตัวที่เรือนจำกลางชลบุรี ตามที่นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้เป็นลูกชายร้องขอ

แต่หลังจากควบคุมตัวถึงเรือนจำชลบุรี กำนันเป๊าะได้ถูกย้ายตัวไปที่โรงพยาบาลชลบุรีทันทีหลังจากไปถึง ผู้บัญชาการเรือนจำกลางชลบุรีในเวลานั้น กล่าวยอมรับว่า นายสมชายถูกนำตัวไปโรงพยาบาลชลบุรีจริง ภายหลังเดินทางมาถึงเรือนจำเพียงแค่ 10 นาที เนื่องจากมีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืดกะทันหัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากอยู่ที่โรงพยาบาลชลบุรีเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน ทางราชทัณฑ์ได้สั่งย้ายตัวกำนันเป๊าะกลับมาควบคุมตัวที่ทัณฑสถาน รพ.กลางราชทัณฑ์ ภายหลังมีกระแสข่าวว่าไม่มีการจำคุกจริง จากกรณีการจัดงานเลี้ยงวันเกิดที่มีเหล่านักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการ เข้าร่วมอวยพร

ต่อมาในต้นปี 2560 ราชทัณฑ์เปิดเผยว่า ได้ส่งตัวกำนันเป๊าะไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะมีอาการป่วยหลายโรค เช่น เบาหวาน และโรคถุงลมโป่งพอง หลังจากนั้นในช่วงปลายปีเดียวกัน กำนันเป๊าะ ซึ่งมีอายุ 80 ปี ได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์พิเศษของราชทัณฑ์จากการป่วยมะเร็งระยะ 4 และอายุเกิน 70 ปี โดยกรมราชทัณฑ์ได้ส่งหนังสือปล่อยตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ

หลังจากได้รับการพักโทษ 2 ปี วันที่ 17 มิ.ย. 2562 กำนันเป๊าะ เสียชีวิตลงในวัย 82 ปี ด้วยโรคมะเร็ง ปิดตำนานนักการเมืองท้องถิ่นผู้ทรงอิทธิพลแห่งภาคตะวันออก

3 อดีตผู้บริหารกรุงไทย คดีปล่อยกู้กฤษดามหานคร สมัยรัฐบาลทักษิณ

อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย 3 คน ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกรายละ 18 ปี ในคดีปล่อยกู้ให้กับบริษัทกฤษดามหานคร ที่มีสถานะเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารรวมกว่า 10,000 ล้านบาท สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นอีกกลุ่มผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษ

คดีนี้นายทักษิณ ตกเป็นจำเลยที่ 1 แต่ในวันที่ศาลพิพากษานายทักษิณอยู่ระหว่างหลบหนีคดี

อดีตผู้บริหารทั้ง 3 คน ได้แก่ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา อดีตกรรมการธนาคารกรุงไทย ถูกจำคุกเมื่อปี 2558 แต่ต่อมาในเดือน ม.ค. ปี 2562 ทั้งหมดได้รับการพักโทษจากกรมราชทัณฑ์

ทั้ง 3 คน เข้าเกณฑ์รับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3, เป็นผู้ต้องขังสูงอายุ 70 ปีขึ้นไป และมีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยเรื้อรังระยะสุดท้ายไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งครบกำหนดวันพักโทษ รวมจำคุก 3 ปี 4 เดือน 15 วัน

ในการพักโทษครั้งนั้น รายงานข่าวระบุว่า ทั้ง 3 คนมีอาการป่วย โดย "ร.ท.สุชายมีอาการป่วยหนัก นายวิโรจน์มีปัญหาสุขภาพตาเกือบมองไม่เห็น ส่วนนายมัชฌิมาก็ต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา"

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับการพักโทษในช่วงต้นปี ต่อมาในเดือน มิ.ย. ปีเดียวกัน ร.ท.สุชาย ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ

ความแตกต่างกับกรณี "อากง" ผู้ต้องหา ม.112

8 พ.ค. 2555 อำพล ตั้งนพกุล หรือ "อากง" เสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขณะถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการส่งข้อความสั้น หรือ sms ไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น จำนวน 4 ข้อความ ศาลอาญาพิพากษาคดีนี้เมื่อเดือน พ.ย. 2554 ตัดสินให้นายอำพลมีความผิดจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บันทึกข้อมูลคดีไว้ว่า อำพล อายุ 61 ปี ในวันที่ถูกจับ เคยประกอบอาชีพขับรถส่งของ ก่อนถูกจับไม่ได้ประกอบอาชีพเนื่องจากอายุมากและพูดไม่ถนัดหลังการผ่าตัดมะเร็งใต้ลิ้นตั้งแต่ปี 2550 ก่อนที่จะถูกดำเนินคดี อำพลอาศัยอยู่กับภรรยาในห้องเช่าราคาเดือนละ 1,200 บาท ย่านสำโรง จ.สมุทรปราการ ดำรงชีพด้วยเงินที่ได้รับจากลูก ๆ เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นครั้งคราว เขาถูกจับเมื่อ 3 ส.ค. 2553 และถูกฝากขังในรอบแรกเป็นเวลา 63 วัน เพราะศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

การเสียชีวิตของนายอำพล เป็นช่วงที่ทนายความอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดี ข้อมูลจากทนายความชี้ว่า นายอำพลเคยยื่นคำร้องขอประกันตัวหลายครั้ง ทุกครั้งอ้างเหตุแห่งความเจ็บป่วย แต่ถูกศาลชั้นต้นยกคำร้อง 4 ครั้ง ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง 3 ครั้ง และศาลฎีกายกคำร้อง 1 ครั้ง ท้ายที่สุดในเดือน เม.ย. 2555 นายอำพลตัดสินใจจบคดีด้วยการถอนอุทธรณ์ และรอขอพระราชทานอภัยโทษ

ผลการชันสูตรนายอำพล ระบุว่าเสียชีวิตจากระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นอาการสืบเนื่องจากโรคมะเร็งตับระยะสุดท้ายลุกลาม และเป็นการเสียชีวิตขณะอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่

การเสียชีวิตของนายอำพล ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งชี้ประเด็นว่า อำพลเสียชีวิตในเรือนจำในสภาพอาการป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา ตลอดจนไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว

ที่มา บีบีซีไทย
ส่วนหนึ่งของบทความ
ย้ายตัวทักษิณจากเรือนจำไป รพ.ตำรวจ กลางดึก พร้อมเทียบตำนาน "นักโทษวีไอพี" กับ "อากง