วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 07, 2566

เปิดประวัติ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในดงข่าวลือแคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย



เปิดประวัติ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นักการเมืองชื่อย่อ ส. ที่วุฒิสมาชิก ปล่อยออกมาว่าเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตัวจริง ของพรรคเพื่อไทย

หลังจากที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.บัญชีรายชื่อ โพสต์เฟซบุ๊กอ้างว่าบุคคลชื่อย่อ ส.ตัวใหญ่ จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย มีคุณสมบัติ เคยเป็นรัฐมนตรีสมัยพรรคไทยรักไทย (ทรท.) เป็นรัฐบาล เป็นคนที่สามารถเข้าได้ทุกฝ่าย ทั้งซ้าย-ขวา บน-ล่าง เปิดชื่อออกมาก็ใช้ได้เลย โดยจะเปิดชื่อตอนสมัครรับเลือกตั้ง

นักการเมืองและสื่อมวลชนคาดหมายว่าเป็นชื่อของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร คือคนที่ชื่อย่อ ส. คนดังกล่าว

จากนั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ชื่อดังกล่าวยังไม่ได้เข้ามาพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยเลย

ชื่อของ “ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” กลับมาเป็นที่พูดถึงในทางการเมืองอีกครั้ง หลังไม่มีภาพและบทบาทในทางการเมืองมานานเกิน 10 ปี

ประวัติการศึกษา “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย”

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อายุ 65 ปี เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2501 เป็นบุตรของ ดร.สุนทร เสถียรไทย กับคุณหญิงเกื้อกูล เสถียรไทย

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย สำเร็จการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายและนิติศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ

ระดับปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิตปริญญาตรี (น.บ.เกียรตินิยม) รางวัลเหรียญทอง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2522)

ระดับปริญญาโท

ปริญญาโทด้านกฎหมาย การเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (M.A.L.D) จาก The Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University, U.S.A. (พ.ศ. 2524)
ปริญญาโททางด้านนิติศาสตร์ (LL.M.) จาก Harvard Law School, U.S.A. (พ.ศ. 2525)

ระดับปริญญาเอกปริญญาเอกทางด้านนิติศาสตร์ (S.J.D.) จาก Harvard Law School, U.S.A. (พ.ศ. 2528)

ชีวิตส่วนตัว

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย สมรสกับ ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย ราชสกุลเดิม ลดาวัลย์ ณ อยุธยา อายุ 65 ปี เกิดวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2501 ชื่อเล่น หน่อย เป็นธิดาของหม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ อดีตองคมนตรี กับท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์ เป็นพระภาคิไนย ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เป็นประธานมูลนิธิสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) มีบุตร 1 คนคือ ดร.สันติธาร เสถียรไทย (ดร.ต้นสน) ซึ่งปัจจุบันเป็น Group Chief Economist ของ Sea Group บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสิงคโปร์

เส้นทางวงวิชาการ ดร.สุรเกียรติ์

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นอาจารย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ริเริ่มการศึกษากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จนได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อปี 2535-2538 ได้ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากบทบาทในสถาบันการศึกษาของประเทศไทยแล้ว ยังได้ทำงานในสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา รวมถึงมีผลงานทางวิชาการ เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์และกฎหมายเป็นจำนวนมาก ร่วมกับสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ

เส้นทางการเมือง ดร.สุรเกียรติ์

การเข้ามาทำงานทางการเมืองครั้งแรกของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เริ่มต้นจาก “บ้านพิษณุโลก” ในตำแหน่ง ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก หรือที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ร่วมกับที่ปรึกษานายกฯ คนอื่น ๆ อาทิ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นต้น

ผลงานเด่นของการเข้ามาเป็นหนึ่งในที่ปรึกษา พล.อ.ชาติชาย ณ เวลานั้น คือ การผลักดันนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของรัฐบาลชุดนี้

ภายหลังการเข้ายึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2535 และได้รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอีกครั้งในรัฐบาลนี้ โดยเข้ามาดูแลด้านการต่างประเทศ

ชื่อของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กลับมาเป็นที่พูดถึงทางการเมืองอีกครั้ง ในรัฐบาลภายใต้การนำของนายบรรหาร ศิลปอาชา โดยเข้ามารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง)

ผลงานเด่นในฐานะ รมว.คลัง ณ เวลานั้นคือ การผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนและเศรษฐกิจชุมชน พร้อมทั้งการจัดทำแผนแม่บทการเงินการคลังเพื่อสังคม ซึ่งกลายมาเป็นนโยบายต่าง ๆ ที่เริ่มต้นจากช่วงเวลานั้น อาทิ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ธนาคารชุมชน เป็นต้น ก่อนจะเว้นว่างทางการเมืองไปอีกพักใหญ่

พรรคไทยรักไทย-รัฐบาลทักษิณ

เมื่อปี 2544 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กลับสู่สนามการเมืองอีกครั้ง โดยเข้าสังกัด “พรรคไทยรักไทย” ของนายทักษิณ ชินวัตร และได้รับเลือกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ในขณะนั้น พร้อมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐบาล อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญคือ การเป็นประธานคณะกรรมการจัดงานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เมื่อปี 2546 ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศไทยที่ได้เป็นเจ้าภาพ

หลังจากการเข้ายึดอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ชื่อของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ก็หายไปจากสนามการเมือง

นอกจากบทบาททางการเมืองแล้ว ดร.สุรเกียรติ์ยังมีประสบการณ์ในการบริหารองค์กรเอกชน อาทิ ประธานกรรมการบริหาร ปตท. ประธานตัวแทนผู้ทำแผน และประธานตัวแทนผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ไทยออยล์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารแหลมทอง (ภายหลังควบรวมกับธนาคารรัตนสิน ก่อนจะถูกขายให้กับกลุ่ม UOB ของสิงคโปร์ เมื่อปี 2542) และทำงานด้านที่ปรึกษาให้กับภาครัฐและเอกชน

และมีบทบาทอื่น ๆ ในองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ การเป็น “ศาสตราภิชาน” ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัย แต่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติและยกย่องผู้มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานทางวิชาการดีเด่น และเป็นผู้ทรงคุณธรรม ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย
ข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
6 กุมภาพันธ์ 2566