วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 06, 2566

พ่อแม่ ตะวัน-แบม บอกลูก "อย่าทิ้งชีวิต"


"ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเห็นลูกตายต่อหน้า"

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล และธันยพร บัวทอง
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
2 กุมภาพันธ์ 2023

เข้าสู่วันที่ 15 นับแต่ "ตะวัน" ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 21 ปี และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ อายุ 23 ปี นักกิจกรรมหญิง ยื่นถอนประกันตัวเอง กลับเข้าเรือนจำ ก่อนต่อสู้ด้วยการอดอาหาร อดน้ำ และไม่รับการรักษา เพื่อประท้วงเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง และเพื่อข้อเรียกร้อง 3 ข้อ

“เราจะไม่มีวันที่จะยื่นประกันตัวเอง จนกว่าเพื่อนของเราทุกคนจะได้ออกมา และข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นไปตามผล เราพร้อมที่จะแลกชีวิตกับการต่อสู้ครั้งนี้” ตะวัน กล่าวในโพสต์เฟซบุ๊ก วันที่ 18 ม.ค. 2566 ก่อนเริ่มอดอาหารและน้ำในเย็นวันนั้น

การอดอาหารและน้ำของทั้งคู่เพื่อข้อเรียกร้องถึงกระบวนการยุติธรรม 3 ข้อที่เกี่ยวพันกับการบังคับใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 และสิทธิของผู้ต้องหาในคดีการเมือง นำมาสู่ข้อถกเถียงในหมู่ผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยถึง "วิธีการ" เช่นนี้ ทว่ากับพ่อแม่ครอบครัวของพวกเธอทั้งสอง แม้ไม่เห็นด้วยที่ลูกจะเอาชีวิตเข้าแลก แต่ "เข้าใจ" ถึงสิ่งที่ลูกกระทำ และพร้อมยืนเคียงข้างสนับสนุนลูก ๆ ในเวลานี้

"ถ้าจะถามความคิดเห็นของพ่อแม่ ว่าอยากให้ลูกทำอย่างนั้นไหม มัสุดโต่งเกินไป พ่อแม่ไม่มีใครอยากทำ แต่ถ้าลูกอยากจะทำแล้ว พ่อแม่ต้องสนับสนุนไหม มันก็ต้องสนับสนุน" สมหมาย ตัวตุลานนท์ พ่อของตะวัน กล่าวกับบีบีซีไทย

อาการของ ตะวัน-แบม ที่ตอนนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ทวีความน่าวิตกอย่างต่อเนื่องตามข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เข้าเยี่ยมทั้งคู่อย่างต่อเนื่อง ไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งคู่เพิ่งจะยอมจิบน้ำตามคำแนะของแพทย์เพื่อประคับประคองอาการของร่างกายที่ทรุดลงไป

แถลงการณ์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติของวันที่ 2 ก.พ. เปิดเผยถึงสภาพร่างกายของทั้งคู่ว่า ยังคงไม่รับประทานอาหารแต่จิบน้ำ รู้สึกตัวดี อ่อนเพลียมากขึ้น ปากแห้ง มีอาการแสบร้อนกลางอก สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตะวันนั้น ยืนได้ระยะเวลาสั้นลง มีเลือดออกตามไรฟัน ค่าน้ำตาลเริ่มต่ำกว่าเกณฑ์ปกติแล้ว ส่วนแบม มีอาการเวียนศีรษะที่เพิ่มเข้ามา

บันทึกจากการเยี่ยมของทนายความเมื่อ 1 ก.พ. ระบุว่า จากการพูดคุยพบว่า ตะวันมีการตอบสนองช้ากว่า ปกติ แต่เธอก็ได้บอกเล่าถึงการคุยกับหมอด้วยว่า "คุณหมอได้บอกว่าถ้าหมดสติไป หากฟื้นขึ้นมาสมองอาจจะทำงานได้ไม่เท่าเดิม เพราะสมองเอาน้ำตาลไปเป็นอาหาร" ส่วนแบมบอกว่า เวลามีคนมาเยี่ยมจะรู้สึกเหนื่อยมาก ๆ และตั้งคำถามถึงการถอดกำไลอีเอ็มของดาราสาวที่เพิ่งเป็นข่าว เปรียบเทียบกับชีวิตเธอเอง ที่กำไลอีเอ็ม ทำให้แบมไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ

ก่อนหน้านี้ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บอกกับบีบีซีไทยว่า ตะวันและแบม "ยังดีอยู่ มีสติ และยืนยันจะต่อสู้ต่อไป" โดยยอมจิบน้ำเล็กน้อย เพราะต้องทาครีมกันปากแตก จากที่สังเกตดูนั้น ตะวันผอมลงไปราว 8 กิโลกรัม ส่วนแบมผอมลงกว่า 10 กิโลกรัมแล้ว

ยิ่งอาการของเยาวชนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สุ่มเสี่ยงมากเท่าไหร่ หัวใจของพ่อแม่ก็วิตกกังวลมากเท่านั้น

“มันพูดไม่ออก มันอึ้งจนพูดไม่ออก” กาหลง ตัวตุลานนท์ มารดาวัย 55 ปีของ ตะวัน บอกกับบีบีซีไทยถึงความรู้สึกที่ได้เห็นสภาพของบุตรสาว เมื่อครั้งไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เมื่อ 27 ม.ค.

“เราพยายามคุย ถามอาการของเขา พยายามไม่ให้เขาเครียด เล่าให้ฟังว่า มีคนออกมาช่วยเขาหลายคนนะ” กาหลงเล่า โดย ตะวัน ตอบกลับมาเพียงว่า “ดีใจที่มีคนออกมาต่อสู้ร่วมกัน”

พ่อแม่ของตะวัน ยอมรับว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีการต่อสู้ของบุตรสาว แต่เข้าใจถึงอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตย และความยุติธรรม รวมถึงนิสัยของบุตรสาวที่ “ห้ามไปเขาคงไม่เชื่อเรา เราทำอะไรไม่ได้”

กาหลงกล่าวด้วยเสียงสั่นเทาเสมือนจะร่ำไห้ หวังเพียงว่า ลูกสาวจะทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ก่อนออกจากบ้าน คำสัญญาตอนที่เธอกอดตะวันในอ้อมอก แล้วบอกว่า “กลับมานะลูก”

ตะวัน ตอบกลับมารดาเพียงว่า “ยังไงก็กลับมาแหละ” แต่เมื่อกาหลงถามย้ำว่า “กลับมาแบบไหน” ตะวันเพียงหัวเราะแผ่วเบา

และนี่คือเรื่องราวการต่อสู้ข้างเวทีของครอบครัว ตะวัน-แบม ที่คู่ขนานไปกับการเรียกร้อง “ปล่อยเพื่อนเรา” ด้วยการอดอาหารและน้ำ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ของนักกิจกรรมผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์

บ้านที่เป็นเหมือน “เรือนจำ”

แม่ของตะวันเล่าถึงชีวิตของลูกสาวที่ศาลสั่งให้ต้องอยู่ที่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง ติดกำไลอีเอ็ม และต้องขออนุญาตศาลทุกครั้ง เพื่อออกจากบ้านไปทำกิจกรรม เที่ยวเล่น หรือสันทนาการ แม้กระทั่งใช้เวลากับครอบครัวช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

“น้องต้องไปเรียน ไปไหนทีก็ต้องไปทำเรื่องที่ศาล... บางครั้งศาลก็อนุญาต บอกให้เอาตารางเรียนมาเป็นหลักฐาน”

กาหลง เสริมว่า ช่วงแรกนั้น ทนายของศูนย์ทนายช่วยเหลือในการเขียนใบขออนุญาตศาล ก่อนที่ช่วงหลัง ลูกสาวจะเป็นคนเขียนเอง แล้วเวลาจะออกจากบ้านไปยื่นขอศาล ก็ต้องโทรหาศูนย์อีเอ็มว่า "วันนี้จะไปศาลนะคะ”

แม่สังเกตถึงความอึดอัดของลูกสาวได้เป็นอย่างดี แต่ตะวันเป็นคนที่เข้มแข็ง พยายามไม่แสดงออกมา จึง “ไม่ค่อยเห็นน้ำตาเขา”


สมหมาย และกาหลง ตัวตุลานนท์ พ่อแม่ของตะวัน

กุณฑกา นุตจรัส หนึ่งในทนายผู้ดูแลคดี ม. 112 ให้สัมภาษณ์กับ “101 เวิลด์” ว่า เจตนาการถอนประกันของตะวันและแบม เป็นผลจากเงื่อนไขการประกันเหล่านี้ ที่ศาลกำหนดว่า ต้องติดกำไลอีเอ็ม และเงื่อนไขอื่น ๆ คือ
  • ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
  • ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกันตามที่ถูกกล่าวหาในคำฟ้อง
  • ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
  • ห้ามผู้ต้องหาออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่เพื่อการศึกษา หรือรับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย โดยได้รับอนุญาตจากศาลล่วงหน้า
  • หากเป็นกรณีเพื่อการศึกษา ให้แสดงหลักฐานโดยมีการรับรองจากสถาบันการศึกษาและอาจารย์ผู้ควบคุมดูแลในแต่ละรายวิชาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน
  • หากเป็นกรณีให้เหตุเจ็บป่วยให้แสดงหลักฐานทางการแพทย์ ต่อศาลภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ไปพบแพทย์
กรณีของตะวัน ที่เจอเงื่อนไขติดกำไลอีเอ็ม และห้ามออกนอกเคหะสถาน 24 ชั่วโมง ทำให้ทนายอย่างเธอตั้งคำถามว่า ทำไมจำเลย ม.112 ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวดอย่างมากที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและเกินสัดส่วนไปมากเช่นนี้

"ทำผิด" อะไร จึงถูกคุมเช่นนี้

คดีความที่ตะวันและแบมเผชิญ มาจากการทำกิจกรรมที่ใช้ชื่อว่า กลุ่ม“ทะลุวัง” ซึ่งจัดกิจกรรมบริเวณหน้าห้างสยามพารากอนเมื่อ 8 ก.พ. 2565 โดยถือป้ายกระดาษแข็งมีข้อความสอบถามความคิดเห็นว่า “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” แล้วให้ประชาชนติดสติ๊กเกอร์แสดงความเห็นในช่องที่มีให้เลือกว่า เดือดร้อน และไม่เดือดร้อน

นักกิจกรรม 6 คน ถูกตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 ข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 และข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368

ตะวัน และ แบม ถูกกล่าวหาตามคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากคดีข้างต้น โดย ทานตะวัน ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีกกรณีหนึ่ง จากการไลฟ์สตรีมทางเฟซบุ๊กก่อนมีขบวนเสด็จที่ถนนราชดำเนินนอกเมื่อ 5 มี.ค. 2565 ตั้งคำถามถึงขบวนเสด็จที่ขณะนั้นมีการย้ายผู้ชุมนุมกลุ่มชาวนาบริเวณใกล้เคียงกับอาคารสำนักงานภูมิภาคของสหประชาชาติ


พ่อแม่ของตะวันและแบม มาร่วม "ยืน หยุด ขัง" ที่บริเวณหน้าหอศิลป์ กทม.

หัวอกพ่อแม่

สมหมาย ตัวตุลานนท์ ผู้เป็นพ่อ ยังจำวันที่ลูกสาวบอกทางโทรศัพท์ว่า เธอจะขอถอนประกันต่อศาล

ตะวันโทรหาพ่อในวันศุกร์ก่อนไปศาลในวันจันทร์ ข้อความที่เธอโทรคุยกับพ่อนั้นตามมาด้วยความประสงค์ที่เธอจะอดข้าวและอดน้ำ นั่นทำให้สมหมายตอบทันทีว่า ไม่อดน้ำได้ไหม เพราะรู้ว่า หากร่างกายคนเรายังได้น้ำก็ยังต่อชีวิตให้อยู่ได้

"ผมก็บอกว่า อดข้าวอย่างเดียวไม่ได้เหรอ ไม่ต้องอดน้ำ เขาบอกว่าไม่ได้ ผมก็บอกว่าเดี๋ยวคุยกันที่บ้าน"

ระยะทางที่สมหมายกลับบ้านวันนั้น เป็นช่วงที่เขาได้ครุ่นคิดว่า หากพ่อแม่ห้ามตะวันไม่ให้ทำตามความต้องการ ลูกสาวของพวกเขาทั้งคู่จะยิ่งมีภาระทางใจกับที่บ้านอีกทางหนึ่ง นั่นจึงทำให้ผู้เป็นพ่อตกลงใจว่า อาจเป็นอีกครั้งที่ห้ามลูกสาวไม่ได้

"ถ้าเกิดว่าถอนประกันแล้วเข้าคุก ถ้าเกิดว่าเค้าไม่สบายใจ มันจะยิ่งทำร้ายเค้า ผมเลยบึ่งกลับบ้านหาแม่เขา แล้วคุยกับแม่เขาว่า เออ... ลูกไม่ยอมแน่ ๆ เลย ยังไงก็ต้องให้ทำ แต่ถ้าทำแล้ว เรามาคุยกันดีกว่าว่าจะให้ลูกเป็นยังไง ให้เขารักษาตัวเอง ให้เขารักษาชีวิตไว้"

ด้านกาหลง เล่าว่า เมื่อได้ยินลูกสาวพูดแบบนั้น ทราบทันทีว่าไม่สามารถเปลี่ยนใจเขาได้ และรู้แน่ชัดว่าครั้งนี้ "ตะวันจะยอมแลกด้วยชีวิตเลย เหมือนกับว่าจะเอาชีวิตเป็นเดิมพัน" แต่นั่นไม่ได้เป็นสิ่งที่แม่อยากเห็นแม้แต่น้อย

“มันเป็นอุดมการณ์ของเขา เขาทำเพื่อเพื่อน ๆ หลายคน ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเพียงคนเดียว”


"เขาเป็นคนที่เห็นความไม่ยุติธรรมไม่ได้ คืออยากจะเห็นความยุติธรรมอยากเห็นความเท่าเทียม บางทีเห็นความไม่ซื่อสัตย์สุจริตยิ่งไม่ชอบ" ตะวันในสายตาของแม่กาหลง

ข้อเรียกร้องในการต่อสู้ครั้งนี้ของตะวันและแบม คือ ประท้วงต่อศาลให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง รวมถึง 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่
  • ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
  • ยุติการดำเนินคดีกับประชานที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง
  • เรียกร้องทุกพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
แน่นอนว่า เธอและสามีไม่เห็นด้วยกับวิธีการเชิง “อหิงสา” อดอาหาร อดน้ำ ไม่รับการรักษา แต่ก็ตระหนักว่า วิธีการที่ทำร้ายตัวเองเช่นนี้ อาจเป็น “อาวุธเดียว” ของประชาชนคนธรรมดา

“มันอาจเป็นอาวุธเดียวที่เขามีอยู่ ที่จะต่อสู้กับเผด็จการได้” กาหลง ระบุ

“พวกเขาไม่มีปืน ไม่มีอำนาจ เขาเหลือแต่วิธีนี้”

แต่ไม่ว่าจะเพื่ออุดมการณ์ จะเห็นด้วยกับลูกหรือไม่เห็นด้วย, ภาพลูกสาววัยยี่สิบต้น ๆ นอนผอมซีดเซียว ปากแห้ง บนเตียงคนไข้เดียวกันกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ที่เธอและสามีได้เห็นเมื่อ 24 ม.ค. ทำให้หัวอกคนเป็นแม่บอบช้ำมาก

“ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกมาตายต่อหน้าเราหรอก”

บีบีซีไทยถามว่า เคยมีสักขณะหนึ่งไหมว่า สิ่งที่ลูกเราทำจะคุ้มหรือเปล่า

สมหมายตอบทันทีว่า "คุ้ม" และเห็นว่า สิ่งที่ตะวันทำตอนนี้ "สะเทือน" ไปถึงหลายส่วน

เขาบอกว่า ไม่ได้หวังว่าการแลกด้วยชีวิตของตะวันจะสำเร็จ แต่หวังเพียงว่าจะช่วยกระตุ้นให้เรื่องที่ตะวันเรียกร้อง "กระเพื่อม" ขึ้นได้บ้างเท่านั้นเอง

"ตั้งแต่รุ่นแรกทำถึงรุ่นนี้ ประชาชนต่าง ๆ ก็เรียนรู้อะไรค่อนข้างเยอะ มีการเปลี่ยนบ้าง อาจไม่ถึงขนาดพลิกกลับจากหน้ามือหรือหลังมือ แต่มันมีอะไรที่ทำให้เราพอรู้ได้ว่ามัน ไม่เหมือนเดิมแล้ว"

ส่วนกาหลง ผู้เป็นแม่ คำตอบของเธอคือ "ไม่รู้" เพราะตรงหน้าคือชีวิตลูกเท่านั้นว่า ตะวันจะเป็นอะไรไปหรือเปล่า

"อยากให้เขารักษาชีวิตไว้ ยังไงการต่อสู้ยังอีกยาวนาน ถ้าเขาเป็นอะไรไป ถ้าเขาตาย ถึงวันครบรอบ คนจะมาจุดเทียนรำลึก แต่อีกไม่นานคนก็ลืม แต่ถ้าเขามีชีวิตอยู่ เขาทำอะไรเพื่อสังคมนี้ได้อีกเยอะ"

ความเคลื่อนไหวฝ่ายการเมือง

นับแต่ ตะวัน-แบม อดอาหารและน้ำ เกิดการเคลื่อนไหวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการ “ยืนหยุดขัง” ที่ครอบครัวของตะวันและแบม ไปร่วมด้วยหลายครั้ง รวมถึงล่าสุด คือ การเดินขบวนจากหอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน 5,000 รายชื่อ สนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของตะวัน-แบม

กิจกรรม “ยืนหยุดขัง” เมื่อ 23 ม.ค. มีคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พรรณิการ์ วานิช, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ชัยธวัช ตุลาธน และ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล มาร่วมกิจกรรมด้วย

ช่วงค่ำของ 24 ม.ค. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ลี้ภัยทางการเมืองในต่างแดน กล่าวผ่านทาง CareTalk x CareClubHouse : มีเรื่องคาใจ ก็ถามมาเลอ ! จากกรุงลอนดอน ในเรื่องนี้ว่า ภาครัฐควรมองการเคลื่อนไหวของเยาวชนเหล่านี่ว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ ที่สู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม รัฐจึงควรเปิดการพูดคุยกับเยาวชนต่อ 3 ข้อเรียกร้องนี้

"เด็กไม่มีอาวุธ... อาวุธเขาคือหัวใจ เขาไม่มีรถถังไม่มีปืนใหญ่ เขาสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม"

เขากล่าวด้วยว่า ในฐานะผู้จบปริญญาเอกด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เขามองว่า การคุมตัวผู้ต้องหามาตรา 112 ในขณะนี้ "ผิดหลักรัฐธรรมนูญ และกระบวนการพิจารณาคดีอาญา" ที่สมมติฐานว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ สมควรได้รับการประกันตัว ในคดีที่ไม่คิดว่าพวกเขาจะหลบหนี

เมื่อ 29 ม.ค. เขาโพสต์ทางเฟซบุ๊ก ย้ำอีกครั้งว่า ปัญหาของมาตรา 112 อยู่ที่การบังคับใช้ที่ขาดหลักนิติธรรม "เลยทำให้ไประคายเจ้านาย"

"ผมมั่นใจว่าถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะไม่มีเหตุการณ์แบบทุกวันนี้ จนแทบจะไม่รู้สึกว่ากฎหมายเป็นปัญหา การแก้ปัญหาด้วยการบริหารด้วยหลักนิติธรรมที่เป็นสากลจะง่ายและรวดเร็วกว่าการแก้กฎหมายเยอะอย่าทะลุวังเลย มาทะลุทำเนียบดีกว่า เพื่อหลักนิติธรรมสากลจะกลับคืนสู่ประเทศไทย พร้อมการมองเห็นอนาคตของลูกหลานอย่าปล่อยให้เขาพลิกโฉมประเทศไทยอีก 2 ปีเลย ที่ผ่านมา 8 ปี พลิกคว่ำก็หายใจไม่ออก เต็มไปด้วยหนี้ พลิกหงายก็ถูกข่มขืนโดยนักคอรัปชั่น ทุนต่างชาติ และธุรกิจสีเทา"

แต่รัฐบาลยังไม่แสดงท่าทีมากนัก โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไปเยี่ยมเยาวชนทั้งสองที่โรงพยาบาล เมื่อ 31 ม.ค. แล้วกล่าวว่าหากเขาสามารถทำอะไรได้ตามระบบราชการที่ถูกต้อง เขาก็พร้อมจะทำ ส่วนการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรม คงทำไม่ได้เร็ว เพราะมีกรอบกฎหมายปฏิรูปอยู่ ก็คงต้องหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน

เสียงวิจารณ์

สำหรับกาหลง เธอมองว่า ตะวันและแบม ไม่ได้หวังว่ารัฐบาลจะตอบสนองข้อเรียกร้องในเร็ววัน แต่สิ่งที่ต้องการคือ “เรียกร้องไปถึงศาล” ให้พิจารณาข้อเรียกร้องว่า เกินเลยไปหรือไม่กับการที่ประชาชนจะออกมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน

อีกสิ่งหนึ่งที่ทางครอบครัวได้รับทราบ คือ กระแสสังคมที่มีทั้งคนที่ “ชื่นชม” และวิพากษ์วิจารณ์วิธีต่อสู้ของตะวันและแบม อาทิ ประโยคที่ว่า “น้องอดอาหารมาหลายวันแล้ว ทำไมยังไม่ตาย” “ไอ้เด็กเลว” “เด็กหนักแผ่นดิน” เป็นต้น

กาหลง บอกกับบีบีซีไทยว่า เธอพยายามไม่สนใจกับบุคคลเหล่านี้ แต่อยากให้เหล่านักการเมืองให้มาใส่ใจ สังคมมีความตระหนักรู้ และตื่นตัวมากขึ้นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน

“คนชมว่าเป็นวีรสตรีประชาธิปไตย คนไม่เห็นด้วยก็ด่าว่าไอ้เด็กเลว หนักแผ่นดิน”

“เราอยากให้ฝ่ายประชาธิปไตยจดจำว่า เขาทำเพื่อส่วนรวม ถ้าเขาอยู่เฉย ๆ เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่เพราะเขาเป็นคนที่เห็นความไม่ยุติธรรมไม่ได้”

แต่ถึงตอนนี้ ที่อาการของตะวันและแบม หนักถึงจุดที่ “หัวใจพร้อมหยุดเต้นทุกเมื่อ”, หัวอกคนเป็นแม่ของกาหลง พยายามทำใจและใช้ธรรมะประคองความรู้สึกว่า “เกิดแก่เจ็บตายเป็นของธรรมดา”

“ถ้าตายแล้วอะไรมันดีขึ้น เพื่อส่วนรวม มันก็เป็นอุดมการณ์ของเขา เราก็ต้องยอมรับ”

ครอบครัวของแบม

สำหรับ แบม อรวรรณ หากไม่มีปรากฏการณ์ชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปการเมืองจากการบริหารของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อช่วงปี 2563 สุชาติ และพรนิภา ภู่พงษ์ พ่อและแม่ของ "น้องแบม" อาจจะได้เห็นลูกสาวใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ได้ทำสิ่งที่เธอรัก คือ การเต้น ร้องเพลง และไปประกวดตามเวทีต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขารู้ว่า "น้องแบม" รักมาทั้งชีวิต

เกิดในครอบครัว "ธรรมดา ๆ" พ่อทำอาชีพขับแท็กซี่ ส่วนแม่เปิดร้านเสริมสวยที่บ้าน ทว่าการหันมาสนใจการเมืองในช่วงนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะได้มาจากพ่อ แบมเริ่มไปร่วมชุมนุมโดยสุชาติเสมือนเป็นผู้เปิดประตูให้รู้จักกับคำว่า "ประชาธิปไตย" เมื่อได้ไปส่งลูกสาวบ่อยครั้ง สุชาติก็เริ่มรับรู้ว่า กลุ่มเพื่อนที่ "น้องแบม" คุลุกคลีด้วยเป็นระดับแกนนำที่เป็นที่รู้จัก

"เขา (กลุ่มเพื่อน) ดูเป็นเด็กที่ใช้ความคิดมากกว่าพวก ปุ้งปัง ๆ ใช้ความรุนแรง เราก็เลยต้องปล่อย แต่ก็เป็นห่วงด้วยว่า เอาปลอดภัย ๆ นะลูก" สุชาติกล่าว


พรนิภา และสุชาติ ครอบครัวของแบม อรวรรณ

ต่างจาก พรนิภา แม่ของ "แบม" ที่ไม่อยากให้ลูกเข้าไปข้องเกี่ยว เพราะการทำเช่นนี้ก็เหมือน "เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง" แต่วันหนึ่ง แบมพูดกับที่บ้านว่า ที่พ่อแม่ลำบากเช่นนี้ เป็นเพราะอะไร นัยว่าเพราะปัญหาของประเทศนี้เป็นเหตุให้เยาวชนต้องออกไปบนท้องถนน

"ทำไมแม่ถึงจะไม่กลัว แม่บอกว่า หนูอย่าทำเลย เราแค่ฝุ่นเอง แม่ทำมาหากินอยู่อย่างนี้แหล่ะลูกอย่าไปยุ่งเขาเลย น้องแบมก็บอกว่า ก็เพราะอย่างนี้ แม่ถึงลำบาก มีแต่คนเอาเปรียบ" พรนิภาเล่า ก่อนสุชาติเล่าสิ่งที่แบมพูดว่า

"อย่างพ่อแม่พอจะหามีช่องทางแต่คนที่เขาหากินไม่ได้ เขาเป็นห่วงคนแบบนั้น ห่วงกระทั่งพ่อแม่ คือ หนูอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ เขาพูดไม่ถูก แต่พ่ออธิบายได้ว่าลูกพูดถึงโครงสร้างแน่ ๆ"

สุชาติ ถือรูปถ่ายใบเล็กของ ภรรยา และลูกสองคนที่มีแบมในวัยเด็ก พร้อมบอกว่า ลูกของเขา จากเด็กที่น่ารักคนหนึ่ง แต่อีก 15 ปีถัดมา เธอต้องออกมาอดข้าวอดน้ำประท้วง นั่นแปลว่า โครงสร้างบางอย่างที่เป็นปัญหาของประเทศไทยผลักให้เด็กคนหนึ่งต้องก้าวมาทำอะไรเช่นนี้

โรงพยาบาลและห้องขัง

พ่อและแม่ของแบมบอกว่า ชีวิตนี้ "คนธรรมดา หาเช้ากินค่ำ" อย่างพวกเขาไม่เคยเข้าใกล้ "คุก" แม้จะมีใครชวนไปเยี่ยมคนรู้จัก ก็ไม่เคยคิดกร้ำกรายสถานที่อย่างเรือนจำแม้แต่น้อย "มันเป็นไปได้อย่างไร" ที่ลูกมีชะตากรรมเช่นนี้ คือคำถามที่สุชาติ บอกกับบีบีซีไทย

"เรานอน เรานึกภาพว่า คนที่ไม่ได้กินอะไร ทรมานแค่ไหน หน้าลูกจะลอยอยู่ตลอด พ่อแม่ก็กินข้าวไม่ค่อยลง คุยกันส่งกระแสจิตไป ไม่ได้ พ่อก็บอกว่า แม่เราอยุ่บ้านไม่ได้แล้ว เราต้องไปม็อบ" สุชาติเล่า ถึงการก้าวขาออกมาร่วมกิจกรรม ยืน หยุด ขัง ของเขาและพรนิภา พร้อมยืนยันการสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของลูกสาว

เมื่อแบมตัดสินใจถอนประกันตัว สิ่งที่พรนิภารับรู้ มีเพียงว่า “หนูไปศาลแค่ 3 วัน” เหมือนไปรายงานตัว ทว่าต่อมาการรู้ว่าลูกถอนประกันตัวและประกาศอดข้าวอดน้ำทำให้แม่ใจสลาย

การย้ายไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ทำให้สุชาติและพรนิภาเข้าเยี่ยมลูกสาวในห้องของโรงพยาบาลได้ ภายในห้องนอกจากเด็กสาวที่อ่อนแรงนอนอยู่สองคน อาหารกล่องของโรงพยาบาลที่ส่งเข้าไปทุกวันไม่เคยถูกแตะต้อง

"ยิ่งไปเห็นลูกนอนด้วยกัน เตียงเดียวนอนกันสองคน คิดดูว่าความเจ็บปวด ความหิว น้ำก็ไม่ได้กิน ลูกเราคนเดียวจะปล่อยให้ลูกตายเหรอ" พรนิภา กล่าว "น้ำตาแม่นี่ไหล ขนาดกลั้นแล้วกลั้นอีก หน้าตาลูกโรย ไม่มีแรง เราไม่คิดว่าลูกจะไปอดข้าวขนาดนั้น"

การจองจำในโรงพยาบาล ไม่ได้ทำให้พูดคุยกันได้ง่ายนัก ผู้คุม 4 คน ยืนอยู่ในทุกมุมห้องที่ตะวันและแบมอยู่ พรนิภาบอกว่า เธอเพียงได้แต่กระซิบข้าง ๆ หูลูกสาวเบา ๆ ว่า ให้สู้ ๆ นะ

"แม่รอหนูนะน้อง เพื่อนที่รอหนูอยู่ข้างนอก หนูต้องสู้ ๆ แม่บอกแค่นี้เอง หนูสัญญาว่าจะกลับมาหาพ่อแม่ อย่าไปนะลูก"


"เสียใจที่เป็นพ่อเขา เพราะเรากำลังจะเสียลูกไป"

กิจกรรมการเมือง เป็นสิ่งที่ทั้งคู่ไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตนี้ต้องออกมา แต่การร่วม "ยืนหยุดขัง" แม่ของแบมบอกว่า "ลูกสู้ แล้วเพื่อน ๆ ก็สู้ ทั้งป้า ทั้งลุง พากันมาช่วย แล้วเราจะไม่มาเหรอ มีแต่คนมาช่วยลูก"

สุชาติ บอกว่าการออกมาเหมือนได้รับพลังใจ คนมากมายบอกทั้งสองว่า คุณมีลูกที่น่าภูมิใจ ที่เอาชีวิตเข้าแลก ทั้งคู่โอบรับพลังใจนั้นไว้ แต่บางครั้ง ข้อความเช่นนี้ทำให้เกิดความรู้สึกที่ต่างไป

"เสียใจที่เป็นพ่อเขา เพราะเรากำลังจะเสียลูกไป...” สุชาติกล่าว

“ส่วนที่ภูมิใจ ไม่ภูมิใจดีกว่า แต่มันมาถึงตอนนี้แล้วไง เราพูดไม่ถูกเพราะว่า ไอ้ความภูมิใจของเรา มันต้องแลกกับชีวิตลูกเรา เราไม่อยากภูมิใจ.... เพราะคนจะถูกจับไปเรื่อย ๆ เก็บไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไม่มีใครกล้าเห็นต่าง แต่อย่าลืมว่ามันเหลืออีกเยอะ แต่เราว่าเรากลัวเรื่องเดียว คือ ถ้าลูกเราเป็นอะไรไป เรากลัวความวุ่นวาย"

สุชาติบอกว่า ไม่แปลกใจที่วันหนึ่งเป็นลูกของเขาที่ออกมาทำเช่นนี้ เพราะเส้นทางของสายธารประชาธิปไตย "กลืนกินนักประชาธิปไตยมาไม่รู้กี่รุ่นแล้ว"

"ต่อให้ลูกเราตายก็ไม่เปลี่ยน แต่จะเตือนไว้ว่า คนอื่นที่เขาเห็นลูกเรา วันนี้เป็นแบบนี้ วันข้างหน้าจะเป็นลูกของคุณหรือลูกของใครก็ได้ วันนึงเขาจะขึ้นมาทำโดยที่ทุกคนก็จะห้ามไม่ได้แล้ว จะมีแบม มีตะวัน สอง สาม สี่ จนน้องแก่ แล้วยังจะต้องมาทำเรื่องพวกนี้อยู่"

สำหรับข้อความที่อยากบอกกับแบม สุชาตินิ่งเงียบไปสักครู่ก่อนเอ่ยว่า "ไม่อยากให้ลูกตาย" และโปรดรักษาชีวิต

"วันนี้ลูกของผม วันหน้าอาจจะเป็นลูกของใครสักคนก็ได้ในโลกใบนี้ที่ลุกมาทำต่อจากลูกผม โดยที่ไม่มีการต่อต้านจากใครได้ มันเป็นลูกใครก็ได้ที่รู้จักคำว่า ประชาธิปไตย และความยุติธรรม" สุชาติกล่าว

"พ่อขอร้องให้เขาอยู่ อย่าทิ้งนะลูก อย่าทิ้งชีวิตนะ สมองดี ๆ ของหนู ร่างกายดี ๆ ของหนู เก็บไว้เอาไว้เรียกร้องใหม่"

ส่วนข้อความถึงศาล สุชาติบอกเพียงว่า กระบวนการยุติธรรมทำลายอนาคตของเด็กไปหลายคนแล้ว

"ถ้าปล่อยเด็กไปวันนี้ พิจารณาที่สมเหตุสมผล เด็กเขาจะยอมรับเอง แล้วเด็กที่ต่อต้านก็จะหายไปเอง ถ้าได้รับความยุติธรรมพอเพียง" พ่อของแบมทิ้งท้าย