วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 06, 2566

บีบีซีไทยประมวลท่าทีฝ่ายการเมือง และรวบรวมความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ ในรอบ 19 วันนับจาก ตะวัน-แบม ประกาศต่อสู้ด้วยการอดอาหารและน้ำ



ตะวัน-แบม : ท่าทีฝ่ายการเมืองในปรากฏการณ์ “อดอาหารและน้ำ” ของ 3 ผู้ต้องหาคดี 112

5 กุมภาพันธ์ 2023
บีบีซีไทย

นักกิจกรรมการเมือง 3 คนอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ภายหลังประกาศอดอาหารและน้ำระหว่างถูกคุมขังภายในเรือนจำ เพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรมไทย โดยเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหา/จำเลย คดีการเมืองทุกรายโดยไม่มีเงื่อนไข


น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” วัย 21 ปี และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ “แบม” อายุ 23 ปี ยื่นถอนประกันตัวเอง แล้วกลับเข้าเรือนจำ ก่อนประกาศอดอาหารและน้ำตั้งแต่ 18 ม.ค. เพื่อเรียกร้องให้ศาลอนุมัติการประกันตัวผู้ต้องหา/จำเลย คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในระหว่างต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม

ปัจจุบันทั้งคู่พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

แถลงการณ์ฉบับล่าสุดของ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ วานนี้ (4 ก.พ.) ชี้แจงอาการของ ตะวัน-แบม เมื่อ 3 ก.พ. ซึ่งเป็นการรักษาตัวในวันที่ 11 ว่า น.ส.ทานตะวันยังคงไม่รับประทานอาหาร แต่จิบน้ำ พะอืดพะอมเวลาจิบน้ำ รู้สึกตัวดี มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปากแห้ง มีเลือดออกตามไรฟัน ไม่มีเลือดออกผิดปกติหรือจุดจ้ำเลือดบริเวณอื่น มีอาการแสบร้อนลิ้นปี มีลมในช่องท้อง เวียนศีรษะเวลาเปลี่ยนท่า นอนหลับยาก สามารถโต้ตอบได้ อารมณ์อยู่ในเกณฑ์ปกติ สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดเจาะจากปลายนิ้วยังคงต่ำกว่า 65 mg/dL มีภาวะเกลือแร่ต่ำหลายชนิด มีภาวะเลือดเป็นกรด ค่าคีโตนสูง (serum ketone 5.46 mmol/L) ปฏิเสธคำแนะนำเรื่องการดื่มน้ำผสมวิตามินซีเพื่อบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน

ส่วน น.ส.อรวรรณไม่รับประทานอาหาร แต่จิบน้ำ พะอืดพะอมเวลาจิบน้ำ รู้สึกตัวดี มีอาการอ่อนเพลีย หายใจเหนื่อย ปากแห้ง ปวดกรามลดลง มีอาการแสบร้อนลิ้นปี่ มีลมในช่องท้อง ต้นขาอ่อนแรง เวียนศีรษะเวลาเปลี่ยนท่า นอนไม่หลับ สามารถโต้ตอบได้ อารมณ์อยู่ในเกณฑ์ปกติ สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะจากปลายนิ้วเริ่มต่ำกว่า 70 mg/dL เกลือแร่ต่ำหลายชนิด เลือดเป็นกรด ค่าคีโตนสูง (serum ketone 5.47 mmol/L) แนะนำให้จิบน้ำเกลือแร่เพื่อบรรเทาภาวะเลือดเป็นกรด

2 นักกิจกรรมการเมืองหญิงที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า “ทะลุวัง” ตกเป็นผู้ต้องหาคดี 112 จากการจัดกิจกรรมสอบถามความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับขบวนเสด็จ บริเวณหน้าห้างสยามพารากอน เมื่อ 8 ก.พ. 2565



นอกจากการอดอาหารและน้ำเพื่อประท้วงต่อศาลเพื่อขอให้ปล่อยผู้ต้องหาคดีการเมือง ตะวัน-แบมยังยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย 1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องไม่ถูกแทรกแซง 2. ยุติดำเนินคดีกับประชาชน ปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด และ 3. ทุกพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา

ในเวลาต่อมา นายสิทธิโชค เศรษฐเศวต หรือ “แท็ค” วัย 26 ปี ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในระหว่างอุทธรณ์คดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ก็เริ่มประท้วงกระบวนการยุติธรรมด้วยการอดอาหารตั้งแต่กลับเข้าเรือนจำ 17 ม.ค. และอดน้ำตามมาเมื่อ 26 ม.ค. ก่อนถูกหามส่ง รพ.ราชทัณฑ์ และ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เมื่อ 1 ก.พ.

บีบีซีไทยประมวลท่าทีฝ่ายการเมือง และรวบรวมความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ ในรอบ 19 วันนับจาก ตะวัน-แบม ประกาศต่อสู้ด้วยการอดอาหารและน้ำ

18 ม.ค. ตะวัน-แบม เริ่มอดอาหารและน้ำในช่วงเย็นในระหว่างถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังจากประกาศว่า “พร้อมที่จะแลกชีวิตกับการต่อสู้ครั้งนี้”

20 ม.ค. รพ.ราชทัณฑ์ รับตัว ตะวัน-แบม เข้าเป็นผู้ป่วยในหลังอดอาหารและน้ำ 2 วัน โดยกรมราชทัณฑ์เปิดเผยผลการตรวจร่างกายพบว่า น.ส.ทานตะวันมีอาการทั่วไป อ่อนเพลีย ถามตอบได้ปกติ ความดันโลหิต ชีพจรปกติ ต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือด ส่วน น.ส.อรวรรณมีอาการปวดท้อง แพทย์ประเมินอาการแล้ว ความดันโลหิต ชีพจรปกติ ทั้งคู่ปฏิเสธการให้ยา สารน้ำทางหลอดเลือด พร้อมจะอดอาหารและน้ำต่อไป

22 ม.ค. เครือข่ายผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎร” และ “ทะลุฟ้า” และประชาชนร่วมกิจกรรม “ยืนหยุดขัง 112 ชม.” ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน เรียกร้องให้ศาลอนุมัติการประกันตัวผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในทุกกรณี


พ่อแม่ของตะวันและแบม มาร่วม "ยืน หยุด ขัง" ที่บริเวณหน้าหอศิลป์ กทม. เมื่อ 30 ม.ค.

23 ม.ค. แนวร่วม “ราษฎร” และ “ทะลุฟ้า” จัดกิจกรรม “ยืนหยุดขัง 112 ชม.” ที่หน้าหอศิลปฯ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยมีแกนนำคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลร่วมด้วย อาทิ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, น.ส.พรรณิการ์ วานิช, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นายชัยธวัช ตุลาธน และนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

ขณะที่มวลชนอีกกลุ่ม นำโดยนายรัฐภูมิ เลิศไพจิตร โฆษกกลุ่มวีโว่ (We Volunteer) เดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูตหลายแห่ง อาทิ สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, แคนาดา, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เพื่อยื่นหนังสือรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยหลังการประชุมเอเปก 2022 และขอให้ผู้นำชาติต่าง ๆ ไม่นิ่งเฉยปล่อยให้รัฐไทยละเมิดหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ด้านกรมราชทัณฑ์เปิดเผยอาการของ ตะวัน-แบม ซึ่งรักษาตัวอยู่ภายในทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ เป็นวันที่ 5 ว่า ทั้งคู่มีอาการนอนไม่หลับ ปากแห้ง คลื่นไส้ และยังคงปฏิเสธการรับยาและสารน้ำทางหลอดเลือด มีอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด และช่วงเย็น 22 ม.ค. น.ส.ทานตะวันลื่นล้มในห้องน้ำ ศีรษะกระแทกผนัง แพทย์ตรวจร่างกายเบื้องต้นพบมีอาการแดงบวมที่ศีรษะ หน้าผากด้านขวา ประเมินแล้วเห็นควรดำเนินการตรวจด้วยวิธี X-Ray ศีรษะ และเฝ้าระวังสังเกตอาการ 24 ชม. แต่ น.ส.ทานตะวันปฏิเสธการรักษา ผ่านมาแล้ว 24 ชม. ยังไม่พบอาการผิดปกติ จากการพบทนายความล่าสุด ทั้ง 2 รายประสงค์ขอออกไปรักษาตัว รพ. ภายนอก หากไม่ได้รับอนุญาตก็ขอกลับเข้าควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลางเหมือนเดิม



24 ม.ค. กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ยืนหยุดขัง 1.12 ชม.” ที่ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของ ตะวัน-แบม โดยมี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และแกนนำ “ราษฎร” เข้าร่วมด้วย

ส่วนที่หน้าหอศิลปฯ แนวร่วม “ราษฎร” และ “ทะลุฟ้า” จัดกิจกรรม “ยืนหยุดขัง 112 ชั่วโมง” ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3

กรมราชทัณฑ์ส่งตัว ตะวัน-แบม ไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ หลังอดน้ำและอาหารนาน 7 วัน

25 ม.ค. เครือข่าย “ราษฎร”, กลุ่ม “ทะลุวัง”, กลุ่ม “24 มิถุนาประชาธิปไตย” และ“เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี” จัดกิจกรรมประท้วงเคลื่อนที่ในรูปแบบ “คาร์ม็อบ” และ “มอเตอร์ไซด์ม็อบ” ราว 50 คัน เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ไปยังศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เพื่อยื่นหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ให้รับข้อเรียกร้องของ ตะวัน-แบม

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจสนองตอบต่อ 3 ข้อเรียกร้องทันที เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตของ 2 เยาวชนที่กำลังอดอาหาร และเรียกร้องไปยังพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) “ให้ใช้ความกล้าทางจริยธรรมที่จะ ‘แลนด์สไลด์’ ด้วยการยกเลิก 112”


กลุ่มคาร์ม็อบเคลื่อนขบวนไปที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ข้อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน เมื่อ 25 ม.ค.

26 ม.ค. แนวร่วม “ราษฎร” และ “ทะลุฟ้า” จัดกิจกรรม “ยืนหยุดขัง 112 ชม.” ที่หน้าหอศิลปฯ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ซึ่งกำหนดให้เป็นวันสุดท้ายของกิจกรรม โดยมีนักเรียนกลุ่ม “เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ”, กลุ่ม “นักเรียนเลว” และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางส่วนร่วมสมทบ

ในช่วงเย็น ผู้ชุมนุมได้ย้ายไปจัดกิจกรรมบนลานสกายวอล์ก แยกปทุมวัน โดยมีแกนนำ “ราษฎร” หลายคนเข้าร่วม อาทิ นายอานนท์ นำพา, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ “มายด์”, นายจตุภัทร บุญภัทรักษา หรือ “ไผ่ดาวดิน” รวมถึงนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) โดยผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทุกคน และรักษาชีวิตของ ตะวัน-แบม

ขณะที่นายสิทธิโชค เศรษฐเศวต หรือ “แท็ค” ที่ถูกคุมขังระหว่างการอุทธรณคดี ได้ยกระดับการประท้วงกระบวนการยุติธรรม จากอดอาหารอย่างเดียวตั้งแต่ 17 ม.ค. มาเป็นเริ่มอดน้ำด้วย

27 ม.ค. ตะวัน-แบม เขียนจดหมายด้วยลายมือฝากผ่านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือ “ทนายด่าง” มาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ทั้งนี้ น.ส.ทานตะวันระบุว่า “ฝากถึงพี่ทราย พี่ด่าง ตอนนี้น้ำตาลตะวันตกมาก และน้ำตาลพี่แบมคงตกลง แม้ตอนนี้น้ำตาลพี่แบมยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ พวกหนู จะไม่กินอะไรเลย และไม่รับยาอะไรเลย ไม่เลยสักอย่าง และหลังจากนี้อาการคงแย่ลงเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่กังวลคือติดเสาร์-อาทิตย์ และไม่รู้ว่าอาการจะเป็นยังไงต่อไป อยากให้พี่ทราย พี่ด่าง คอยติดต่อทางโรงพยาบาล ถึงอาการแต่ละวันในวันเสาร์-อาทิตย์ และคอยอัปเดตให้ภายนอกรับรู้ พวกมันท้าทายเรา และตอนนี้พวกเรา จะท้าทายมันกลับ” ส่วนจดหมายของ น.ส.อรวรรณมีข้อความว่า “หนูอยู่ได้เพราะใจล้วน ๆ กว่าจะผ่านไปได้แต่ละวัน พวกเราผ่านไปได้เพราะใจ ผ่านไปได้เพราะทุกคน”

แม้กิจกรรม “ยืนหยุดขัง 112 ชม.” จะยุติไปแล้ว แต่ยังมีนักกิจกรรมการเมืองและประชาชนบางส่วนร่วมแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์และไปยืนหยุดขังในหลายพื้นที่ อาทิ ทางขึ้น-ลงสกายวอล์กปทุมวัน, หน้าประตูทางเข้า มธ.ท่าพระจันทร์, หน้าศาลฎีกา สนามหลวง, หน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และ หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ 50 คนจากหลายสถาบัน ร่วมกันทำจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1. ขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งถอนประกันตัวของ ตะวัน-แบม 2. ขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองทุกคดีตามหลักกฎหมาย 3. ขอให้ศาลพิจารณายกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน และขัดต่อหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา

28 ม.ค. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การอดอาหารของเยาวชนนักกิจกรรมทางการเมือง เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันเร่งหาทางออกก่อนที่จะเกิดความสูญเสีย

29 ม.ค. กลุ่ม “ทะลุฟ้า” นำโดย ไผ่-จตุภัทร์ ออกเดินเท้าจากแยกเมเจอร์รัชโยธินมุ่งหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ก่อนอ่านแถลงการณ์สรุปใจความสำคัญได้ว่า เป็นเวลากว่า 10 วันแล้วที่ ตะวัน-แบม อดอาหารและน้ำ จนร่างกายเข้าขั้นวิกฤติ ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีนายสิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่กำลังเริ่มต้นอดอาหารและอดน้ำด้วยเช่นกัน จึงขอเรียกร้องไปยังผู้พิพากษาเจ้าของคดี อธิบดีศาลอาญา และผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลย ในคดีการเมืองทุกคดีตามหลักกฎหมาย และให้ศาลพิจารณายกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว เช่น การใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (กำไลอีเอ็ม) เพื่อติดตามตัว การห้ามออกนอกเคหสถาน ในลักษณะที่เงื่อนไขกลายเป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรมและการใช้ชีวิต จนขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน

ด้านนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีกลุ่ม “ทะลุวัง” จะไปทวงให้พรรค พท. ยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 โดยเขาเสนอให้ผู้บริหารพรรคเชิญชวนกลุ่มน้อง ๆ ไปห้องสมุดพรรคเพื่อไทย เพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพรรคตั้งแต่ไทยรักไทย (ทรท.)

“ผมได้พูดเรื่องมาตรา 112 หลายครั้งว่า ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ที่ขาดหลักนิติธรรม เลยทำให้ไประคายเจ้านาย มั่นใจว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลไม่มีเหตุการณ์แบบทุกวันนี้ จนแทบจะไม่รู้สึกว่ากฎหมายเป็นปัญหา การบริหารด้วยหลักนิติธรรมเป็นสากลจะง่ายและรวดเร็วกว่าการแก้กฎหมายเยอะ อย่าทะลุวังเลย มาทะลุทำเนียบดีกว่า อย่าปล่อยให้เขาพลิกโฉมประเทศไทยอีก 2 ปี เลย 8 ปีพลิกคว่ำก็หายใจไม่ออกเต็มไปด้วยหนี้ พลิกหงายก็ถูกข่มขืนโดยนักคอร์รัปชัน ทุนต่างชาติ และธุรกิจสีเทา”

30 ม.ค. นักกิจกรรมการเมืองที่รณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัว ตะวัน-แบม รวมตัวกันที่ลานประติมากรรม มธ.ท่าพระจันทร์ ก่อนเดินเท้าไปยังศาลฎีกา สนามหลวง เพื่อยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา โดยเป็นการย้ำข้อเรียกร้องของคณาจารย์นิติศาสตร์ให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด และแนบรายชื่อประชาชน 6,514 คนที่ลงชื่อสนับสนุนผ่านเว็บไซต์ Change.org ด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่ศาลมารับเรื่อง ทั้งนี้นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ “ลูกเกด” แนวร่วม “ราษฎร” และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี พรรค ก.ก. ร่วมกิจกรรมด้วย

ด้านนักวิชาการและนักกิจกรรมการเมืองอีกกลุ่มคือ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์, ไผ่-จตุภัทร์ แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า และ “แอมมี่” นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ เข้าหารือกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่กระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ โดยขอให้กรมราชทัณฑ์อัปเดตอาการของ ตะวัน-แบม และเสนอให้ผู้ต้องหา/จำเลยที่ศาลยังไม่ตัดสินคดี ใช้การใส่กำไลอีเอ็มแทนการคุมขัง โดย รมว.ยุติธรรมรับปากว่าจะดูแลผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชน ตามมาตรฐานสากล และไม่เลือกปฏิบัติ


นักกิจกรรมการเมืองแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ หลังนำรายชื่อประชาชน 6,514 คนที่สนับสนุนให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา/จำเลยคดีการเมือง ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศาลฎีกา เมื่อ 30 ม.ค.

31 ม.ค. แกนนำกลุ่ม “ราษฎรยกเลิก ม.112” และแกนนำกลุ่ม “ทะลุวัง” เดินทางไปยังที่ทำการพรรค พท. ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนข้อเรียกร้องของ ตะวัน-แบม โดยเฉพาะการขอให้พรรคการเมืองออกนโยบายยกเลิกมาตรา 112 พร้อมพูดคุยกับแกนนำพรรค พท.

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. ระบุว่า พท. เห็นว่ามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากที่สุด เรียกว่ากฎหมายครอบจักรวาล มีองค์ประกอบหรือการตีความได้กว้างขวาง การแก้ไขน่าจะกระทำได้ ส่วนมาตรา 112 บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประมุขของรัฐ ควบคู่กับประวัติศาสตร์ของประเทศที่ยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การแก้ไขใด ๆ มีความเห็นหลากหลายในสังคม แตกต่างกันทางความคิดแบบสุดขั้ว อาจเรียกได้ว่าถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อกันจนยากที่จะหาบทสรุปที่เป็นไปในทางสันติและความสมานฉันท์ของคนในประเทศ การแก้ไขกฎหมายเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และรัฐสภา ที่ควรเป็นองค์กรรับผิดชอบ ในชั้นนี้พรรคเห็นว่า การปรึกษาหารือกันในแนวทางปฏิบัติบังคับใช้มาตรา 112 จะเป็นทางออกทางหนึ่งในเบื้องต้น และไม่อาจกระทำได้โดยลำพังของพรรคใดพรรคหนึ่งควรให้สังคมได้ร่วมกันพิจารณาอย่างกว้างขวาง หากมีผลเป็นข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เรายินดี

เลขาธิการพรรค พท. กล่าวด้วยว่า เคารพการตัดสินใจ ความเสียสละต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวของ ตะวัน-แบม และห่วงใยชีวิตของทั้ง 2 คน พรรค พท. เห็นว่า สิทธิประกันตัวย่อมได้รับความคุ้มครองขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของนานาอารยประเทศ นิสิตนักศึกษาเป็นผู้ต้องหาเพียงเห็นต่าง มิได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงใด ๆ ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ ถึงเวลาที่ควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ด้าน ส.ส. พรรค ก.ก. นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค เดินทางไปยังศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ขอให้พิจารณาดำเนินการตามหลักนิติรัฐและความยุติธรรม

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เข้าเยี่ยมอาการ ตะวัน-แบม ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ก่อนเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงข้อเสนอของทั้ง 2 คนว่า หากทำอะไรได้ตามระบบราชการที่ถูกต้องก็พร้อมทำ ส่วนการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมคงทำเร็วไม่ได้ เพราะมีกรอบกฎหมายปฏิรูปอยู่ คงต้องหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน


กลุ่ม “ทะลุวัง” และกลุ่ม “24 มิถุนาประชาธิปไตย” นัดชุมนุมที่พรรคเพื่อไทย เพื่อผลักดันข้อเรียกร้อง 3 ข้อของ ตะวัน-แบม เมื่อ 31 ม.ค.

1 ก.พ. ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้สภาพิจารณาหาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการการบังคับใช้กฎหมายที่ล้นเกินและขัดต่อหลักนิติธรรมต่อผู้ต้องขังและผู้เห็นต่างทางการเมือง และให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบมาตรการให้รัฐบาลไปพิจารณาดำเนินการ

บีบีซีไทยสรุปคำอภิปรายของนักการเมืองพรรคต่าง ๆ ไว้ ดังนี้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. และผู้นำฝ่ายค้านในสภา กล่าวว่า ขอให้ผู้มีอำนาจทั้งคณะผู้พิพากษาและศาลใช้ดุลพินิจให้ดี และขอให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยเฉพาะคดีการเมือง มาตรา 112 เป็นกฎหมายอาญาก็จริง แต่ถือว่าอยู่ในหมวดความมั่นคงของประมุขแห่งรัฐและราชวงศ์ ซึ่งถือว่าหมิ่นเหม่มาก เพราะปัจจุบันนำมาใช้อย่างขาดหลักนิติธรรม ขาดดุลพินิจที่พึงมีพึงชอบ ผลกระทบจึงเกิดต่อประชาชน ต่อสถาบันที่เป็นที่เคารพรักของพวกเรา จึงเป็นการแอบอิงแอบอ้างที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง

“ปากบอกวาจงรักภักดี แต่การกระทำไม่ใช่...” และ “พรรคเพื่อไทยเห็นว่าเรื่องนี้ละเอียดอ่อน มีความเห็นต่างสุดขั้ว ลักษณะเช่นนี้จะสร้างความแตกแยกในสังคม ดังนั้นสภาควรเป็นเวทีพูดคุย หาจุดร่วมในสังคม” หัวหน้าพรรค พท. กล่าว

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. ซึ่งเป็นนายประกันของ น.ส.ทานตะวัน และมีโอกาสไปเยี่ยมนักกิจกรรมหญิงรายนี้ กล่าวว่า “อาการของทั้ง 2 นั้นนับถอยหลังกันเป็น ชม.” จึงเสนอทางออกประเทศผ่านบันได 3 ขั้นคือ 1. คืนสิทธิประกัยตัวให้ผู้ต้องขัง/จำเลย คดีการเมือง 15 คนโดยไม่มีเงื่อนไข 2. นิรโทษกรรมคนที่เห็นต่างทางการเมือง นักโทษคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2557 ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 หรือมาตรา 116 และ 3. แก้ไขกฎหมายที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 มาตรา 116 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายฟ้องปิดปาก เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในอนาคตอีก นี่คือข้อเสนอของพรรค ก.พ. ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาในสภา

“เชื่อว่าถ้าเราทำตามบันได 3 ขั้นนี้ ระยะสั้น กลาง ยาว น้องทั้ง 2 คนมีโอกาสที่จะมีชีวิตต่อไป และฉลองชัยชนะของประชาชนไปด้วยกัน” นายพิธากล่าว

วันเดียวกัน กสม. หากับกับ รมว.ยุติธรรม และปลัดกระทรวงยุติธรรม กรณี ตะวัน-แบม โดยมีข้อสรุปเบื้องต้น 4 ประเด็นคือ 1. กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาดำเนินการปฏิรูปในประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้การปฏิบัติสอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 2. กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาทบทวนระเบียบปฏิบัติที่ใช้บังคับต่อผู้ต้องขังในคดีเห็นต่างทางความคิด ระหว่างพิจารณาคดียังไม่ถูกพิพากษา ให้สามารถคุมขังในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำได้ 3. กระทรวงยุติธรรมพร้อมสนับสนุนหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลย ในคดีอาญาผ่านกลไกของกองทุนยุติธรรม และ 4. กสม. จะสนับสนุนจัดทำข้อเสนอแนะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านกรมราชทัณฑ์เปิดเผยผ่านเอกสารข่าวว่า ได้ส่งตัวนายสิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างอุทธรณ์คดี และเริ่มอดอาหารและน้ำตั้งแต่ 26 ม.ค. ไปรักษาตัวที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

2 ก.พ. 8 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยจัดเวทีเสวนา “คำขานรับข้อเสนอตะวัน-แบม แนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย” ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ก่อนที่ตัวแทน 8 องค์กร และแกนนำราษฎรยกเลิกมาตรา 112 จะเดินทางไปยังศาลฎีกา สนามหลวง เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา/จำเลยคดีการเมือง และยกเลิกมาตรา 112

ส่วนที่หน้าศาลอาญา ถ.รัชดา มีตัวแทนองค์กรนิสิตนักศึกษา 11 องค์กร เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กรณีการอดอาหารประท้วงความอยุติธรรมของเหล่าผู้ต้องขังคดีทางการเมือง และทำกิจกรรมยืนหยุดขัง 1ชม. 12 นาที หน้าศาล

4 ก.พ. กลุ่ม “ทะลุแก๊ซ” นัดรวมตัวที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของ ตะวัน-แบม โดยมีนักกิจกรรมการเมืองและประชาชนร่วม “ยืนหยุดขัง” เป็นเวลา 1.12 ชม.

ส่วนที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ นักกิจกรรมการเมืองและภาคประชาชนได้จัดกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ที่ประตูท่าแพ โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. และสมาชิกพรรค ก.ก. พรรคร่วมกิจกรรมด้วย