วันพุธ, มกราคม 18, 2566

คุกของผู้บริสุทธิ์ : “วันแรกที่เราใส่ EM แม่บอกว่าแม่จะเป็นคนทำงานบ้านเอง แม่บอกว่า #แบม ไม่ต้องออกไปไหน ไม่ต้องออกไปตากผ้า เหตุผลก็คือแม่อาย แม่อายคนรอบข้าง แม่รู้ว่าเราไม่ได้ผิดอะไร แต่คนรอบข้างไม่เข้าใจ เขาตีตราเราแล้วว่าการใส่ EM คือนักโทษ” #แบม มวลชนอิสระ


Pipob Udomittipong
Yesterday

“วันแรกที่เราใส่ EM แม่บอกว่าแม่จะเป็นคนทำงานบ้านเอง แม่บอกว่า #แบม ไม่ต้องออกไปไหน ไม่ต้องออกไปตากผ้า เหตุผลก็คือแม่อาย แม่อายคนรอบข้าง แม่รู้ว่าเราไม่ได้ผิดอะไร แต่คนรอบข้างไม่เข้าใจ เขาตีตราเราแล้วว่าการใส่ EM คือนักโทษ”
#แบม มวลชนอิสระ เข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 มาวันนี้เธอขอถอนประกันตัวเอง
อ่านต่อ https://www.amnesty.or.th/latest/blog/1070/
.....
คุกของผู้บริสุทธิ์

แบม เป็นคนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยที่ต้องสวมกำไล EM ที่ข้อเท้า แต่โซ่ตรวนอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้กังขังเฉพาะเธอ แต่รวมถึงครอบครัวด้วย

“วันแรกที่เราใส่ EM แม่บอกว่าแม่จะเป็นคนทำงานบ้านเอง แม่บอกว่าแบมไม่ต้องออกไปไหน ไม่ต้องออกไปตากผ้า เหตุผลก็คือแม่อาย แม่อายคนรอบข้าง แม่รู้ว่าเราไม่ได้ผิดอะไร แต่คนรอบข้างไม่เข้าใจ เขาตีตราเราแล้วว่าการใส่ EM คือนักโทษ ไปโดนคดีอะไร ร้ายแรงรึเปล่า ทำไมถึงใส่ ขณะที่คนในครอบครัวของเราก็เป็นห่วง จนแสดงออกมาเป็นความกลัว ก็กลายเป็นโทษเหยื่อ กลายเป็นว่าเขามาโทษเรา กูเตือนมึงแล้ว มันไม่แปลกหรอกที่มึงจะโดน”

แบม เป็นมวลชนอิสระ เข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 เธอเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่สนับสนุนประชาธิปไตย พ่อของเธอมีอาชีพขับรถแท็กซี่และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง

“ตอนนั้นเรามองว่าคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเท่มากเลยนะ ทำไมเขากล้าหาญขนาดนี้ ลุงๆ ป้าๆ ที่ออกไปเรียกร้องมีความหวังดีต่อสังคม แต่เราเห็นความน่ากลัวหลังจากนั้น ตอนที่เริ่มมีการสลายการชุมนุม”

แบมเติบโตขึ้นมาสวนทางกับการถดถอยของสังคมการเมืองไทย เมื่ออยู่ ม.ปลาย ก็เกิดการรัฐประหาร 2557

“ตอนนั้นเขายังไม่เอาปืนมาจ่อเราหน้าบ้าน เราก็เรียนหนังสือไป เรารู้แต่ว่ามีการรัฐประหาร มีคนโดนจับ แต่เราก็เรียนต่อไป สังคมรอบข้างของเราก็เพิกเฉย เพื่อนเราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นด้วยซ้ำ พ่อก็บอกว่าเราทำอะไรไม่ได้แล้ว เราแพ้แล้ว”

หลังจากเรียนมหาวิทยาลัยได้เพียง 2 ปี แบมตัดสินใจหยุดเรียนและออกมาทำงาน แต่เมื่อถึงปี 2563 เธอก็รู้สึกว่า ต้องก้าวเท้าออกไปร่วมเป็นส่วนหนึ่ง

“วันแรกที่เข้าร่วมม็อบคือวันที่ 16 สิงหาคม เป็นการตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองด้วยการตัดสินใจของตัวเอง ศึกษาข้อมูลและตัดสินใจด้วยตัวเอง ก่อนหน้านั้นเราฟังมาจากคนอื่น ฟังจากพ่อจากคนรอบข้าง ตั้งแต่ปี 63 จนถึงวันนี้ เราศึกษาด้วยตัวเอง และออกไปเข้าร่วมด้วยตัวเอง จนถึงปี 64 คนหายไปครึ่งหนึ่งเลย ปี 65 ก็เหลือไม่กี่เปอร์เซ็นต์”

แบมเป็นไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ยังกระตือรือร้นทางการเมือง และยังคงออกมาสนับสนุนการชุมนุมผู้เรียกร้องความเป็นธรรม เธอออกมาสนับสนุนการชุมนุมของชาวบ้านบางกลอย จนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“เราก็เห็นว่ามันไม่เป็นธรรมเลย พวกเขาทั้งโดนขู่ฆ่า โดนไล่ที่ ทำมาหากินไม่ได้ เราไปชุมนุมกับชาวบ้านก็โดนฟ้องฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามสัปดาห์ต่อมาก็โดนคดี 112”

แบมเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยการติดสติ๊กเกอร์ผ่านโพลหัวข้อ ‘ขบวนเด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่’ หลังจากนั้นถูกสั่งฟ้องดำเนินคดี 112 กระทั่งศาลวางเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท พร้อมกับเงื่อนไขติดกำไล EM และห้ามกระทำซ้ำในพฤติกรรมที่ถูกกล่าวหา

นอกจากจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ทั้งของตนเองและครอบครัว การสวมกำไล EM ส่งผลกระทบต่อการงานอย่างมาก

“ก่อนโดนคดี เราเคยทำงานในคลินิกเสริมความงาม พนักงานคลินิกจะเน้นเรื่องความสวยความงาม การแต่งชุดก็จะเป็นชุดกระโปรง แน่นอนมันต้องเห็นขา ที่ทำงานก็ทักเรามาว่า จะกลับมาทำงานได้เมื่อไหร่ เขาก็ถามว่า ถอดกำไล EM หรือยัง เขาไม่ได้ต่อต้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเรา แต่การท่ี่เราใส่ EM ก็ทำให้เขาไม่สะดวกใจที่จะให้เรากลับไปทำงาน เขาให้คำอธิบายว่า กลัวพนักงานคนอื่นหวาดกลัวและอับอาย แต่สิ่งที่หนูเผชิญอยู่ มันไม่ยุติธรรมนะ หนูไม่ได้ออกไปทำสิ่งเลวร้าย หนูออกไปเรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องความเป็นอยู่ที่ดีให้คนในประเทศนี้ด้วยซ้ำ มันน่าอายยังไงเหรอ”

ปลายเดือนสิงหาคม แบมและผู้ต้องหาคดีการเมืองที่สวม EM ออกมาจัดกิจกรรม 'Let's Unlock EM' ในวันนั้นแบมใช้โซ่ตรวนมาคล้อง EM กับข้อเท้า เพื่อเป็นสร้างความหมายเชิงเปรียบถึงชีวิตที่ถูกพันธนาการด้วย EM

“เราใส่โซ่เพื่อให้คนมองเห็นว่ามันคือพันธะที่ทำให้เราเคลื่อนไปข้างหน้าได้ยากลำบาก แต่คนทั่วไปก็คงไม่รู้หรอกว่าเราเดินทำไม เราเดินไปจบที่สยาม คนก็เห็นแหละ แต่หนูคิดว่าคนอยากจะฟังเพลงมากกว่า เขาคงไม่อยากรับฟังปัญหาการเมือง เขาคงไม่ได้อยากโฟกัสการเรียกร้องของเราเท่าไร ก็ทำให้รู้สึกว่าคนในสังคมยังไม่เข้าใจถึงปัญหาที่เราเจอ ถ้าคนในสังคมเพิกเฉยต่อคนที่โดนคดีทางการเมือง สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทุกคนทำกันมาจะกลายเป็นความสูญเปล่า สุดท้ายเราจะถูกเมิน โดนกระทำจากรัฐอย่างอยุติธรรม” แบม บอก

ที่มา Amnesty International Thailand