วันพฤหัสบดี, มกราคม 05, 2566

ในหลวง พระราชทาน ชื่อ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ( สถานีกลางบางซื่อ ) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร


NBT 2HD
September 30, 2022

ในหลวง พระราชทาน ชื่อ
"สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ( สถานีกลางบางซื่อ )
"นครวิถี" ( รถไฟสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน )
"ธานีรัถยา" ( รถไฟสีแดงเข้ม บางซื่อ รังสิต )
.
พระราชทานชื่อรถไฟชานเมืองสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) "นครวิถี" สีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) “ธานีรัถยา” หมายถึง เส้นทางของเมือง สถานีกลางบางซื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร เผย 8 ก.ย. 65 ผู้โดยสารทำนิวไฮ 2.2 หมื่นคน
.
กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสถานีกลางบางซื่อ โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือที่ นร 0508/ท 4784 ลว. 2 กันยายน 2565 แจ้งกระทรวงคมนาคมทราบว่า สลค.ได้ขอให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปแล้ว และได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อ ดังนี้
.
1. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า "นครวิถี" อ่านว่า “นะ-คอน-วิ-ถี” (Nakhon Withi) หมายถึง เส้นทางของเมือง
.
2. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 “ธานีรัถยา” อ่านว่า “ทา-นี-รัด-ถะ-ยา” (Thani Ratthaya) หมายถึง เส้นทางของเมือง
.
3. พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” อ่านว่า “สะ-ถา-นี-กลาง-กรุง-เทบ-อะ-พิ-วัด” (Krung Thep Aphiwat Central Terminal) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร
.
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 15 นาที โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะทาง 26 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 25 นาที
.
โดยรถไฟชานเมืองสายสีแดงได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Soft Opening) ในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 และให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันแรก โดยเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารอัตรา 12-42 บาท เปิดให้บริการตั้งแต่ 05.30-24.00 น.นั้น โดยสายบางซื่อ-รังสิตมีความถี่ในช่วงเวลาเร่งด่วน 12 นาที นอกช่วงเวลาเร่งด่วน 20 นาที วิ่งให้บริการวันละ 138 เที่ยว ส่วนสายบางซื่อ-ตลิ่งชัน สายตะวันตก มีความถี่ช่วงเวลาเร่งด่วน 20 นาที นอกช่วงเวลาเร่งด่วน 30 นาที วิ่งให้บริการวันละ 92 เที่ยว
.
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 รถไฟสายสีแดงมีจำนวนผู้โดยสารทำสถิติสูงสุด (นิวไฮ) ที่ 22,885 คน-เที่ยว
.
สำหรับ สถานีกลางบางซื่อ ได้เปิดพื้นที่บางส่วนภายในสถานีเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่บุคลากรด่านหน้าด้านขนส่งสาธารณะ ทั้งคนขับรถเมล์, แท็กซี่, รถตู้ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยมีสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลัก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 และต่อมาได้เปิดบริการศูนย์ฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกกลุ่ม และกำหนดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 วันสุดท้ายในวันที่ 30 กันยายน 2565
.
ขอบคุณข่าว : ผู้จัดการออนไลน์
.....
ปรีดีศัพท์ : “อภิวัฒน์” “กษัตริย์” และ “ราษฎร”

อภิวัฒน์

‘ปรีดี พนมยงค์’ เป็นผู้เสนอให้เรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่า “อภิวัฒน์” ซึ่งมาจากคำว่า “อภิ” หมายถึง ยิ่ง วิเศษ เหนือ กับคำว่า “วัฒน์” หมายถึง ความเจริญ ความงอกงาม เมื่อรวมความเข้าด้วยกันจึงหมายถึง “ความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษ” ทั้งนี้ ในทัศนะของปรีดี เขาเห็นว่า “ไม่สมควรที่ผู้รักชาติประชาธิปไตยไทยซึ่งต้องการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์จะใช้คำว่า “ปฏิวัติ” เพื่อเรียกการกระทำของตน”[1]

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปรีดีไม่เห็นด้วยกับการแปล “Revolution” เป็นภาษาไทยว่า “ปฏิวัติ” เขาเล่าว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองราว 1-2 เดือน หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงแสดงปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงวินิจฉัยว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นการเปลี่ยนหลักมูลของการปกครองแผ่นดิน ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Revolution” จึงทรงบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “ปฏิวัติ” และต่อมาราชบัณฑิตยสถานได้บรรจุคำว่า “ปฏิวัติ” ลงในพจนานุกรม โดยให้ความหมายว่า การหมุนกลับ หรือ การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล

ทั้งนี้ พจนานุกรมได้ให้ความหมายของคำว่า “ปฏิ-” ว่าเป็นคำอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นำหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ ซึ่งปรีดีตั้งข้อสังเกตว่า ตามมูลศัพท์ภาษาบาลีอันเป็นที่มาของคำว่า “ปฏิวัติ” นั้น หมายถึง “การหมุนกลับ” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถอยหลัง ส่วนความหมายที่ว่าเป็นการผันแปรเปลี่ยนหลักมูลนั้น ราชบัณฑิตยสถานก็ได้ให้ไว้เป็นความหมายรองตามหลัง “การหมุนกลับ” ซึ่งอาจทำให้ตีความได้ว่าเป็นการผันแปรชนิดถอยหลังกลับไปเป็นระบบเก่าหรือทำนองระบบเก่า[2]

เหตุผลอีกประการหนึ่งซึ่งทำให้ปรีดีไม่นิยมชมชอบคำว่า “ปฏิวัติ” ก็เนื่องมาจากคณะบุคคลที่ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งมี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ได้เรียกคณะของตนว่า “คณะปฏิวัติ” และทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ซึ่งใชบังคับอยู่ในเวลานั้น โดยเปลี่ยนไปปกครองประเทศแบบเผด็จการ ปรีดีจึงเห็นว่าควรปล่อยให้ “ปฏิวัติ” เป็นคำที่มีความหมายเฉพาะสำหรับเรียกการกระทำของจอมพล สฤษดิ์ และพวก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบสังคมให้ถอยหลังกลับไป[3] โดยเสนอให้ผู้ที่ก้าวหน้ารับเอาคำใหม่ คือ “อภิวัฒน์” ไปใช้สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า[4]

อ่านต่อที่ https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1143