วันพฤหัสบดี, มกราคม 05, 2566

ฉันคือสถานีกลางบางซื่อ ถ้าเธอจะคิดว่าชั้นคือ หัวลำโพงที่ใหม่ ก็ไม่ว่ากัน



ฉันคือสถานีกลางบางซื่อ

ถ้าให้นิยามสถานีกลางบางซื่ออย่างง่ายที่สุด คงบอกได้ว่าที่นี่คือหัวลำโพงที่ใหม่

สถานีกลางบางซื่อปักหมุดอยู่โซนทิศเหนือของกรุงเทพฯ ในเขตจตุจักร ใกล้กับตลาดนัดจตุจักร บางซื่อ เตาปูน บางโพ สะพานควาย ตัวสถานีขนาดใหญ่โดดเด่นสะดุดตา มองเห็นได้จากหลายจุดในกรุงเทพฯ ที่เป็นตึกสูง และยังมองเห็นได้จากบนรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่วงสถานีหมอชิตถึงห้าแยกลาดพร้าว รวมถึงจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ตั้งแต่สถานีบางซ่อนจนถึงเตาปูน

ไม่ได้แค่ใหญ่อย่างเดียว ที่นี่ยังเป็นการรวมตัวของรถไฟระหว่างเมืองจากจังหวัดต่างๆ รถไฟจากชานเมือง และรถไฟความเร็วสูงไว้ที่เดียวกัน พร้อมมีระบบ Feeder อื่นๆ ที่เข้ามาในบริเวณของสถานีกลาง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มุดเข้ามาใต้สถานีกลาง รถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอส) และสายสีม่วงที่อยู่ใกล้ๆ กัน รถเมล์ ขสมก. และสถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่ไม่ได้ห่างกัน สามารถเดินทางเชื่อมถึงกันได้ง่าย นั่นเท่ากับว่าเราจะลงรถไฟ ต่อรถไฟฟ้า หรือต่อรถเมล์ได้ง่ายกว่าเดิม

ตัวสถานีมีขนาด 274,192 ตารางเมตร มากกว่าสถานีกรุงเทพซึ่งมีพื้นที่เพียง 192,000 ตารางเมตร รายล้อมพื้นที่โดยรอบจำนวน 2,325 ไร่ มีย่านเก็บรถไฟ โรงซ่อมบำรุง โรงรถจักร ย่านเตรียมขบวนรถ และพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ที่จะกลายเป็นตึกสูง โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย ฯลฯ

กลับมาที่อาคารสถานีกลาง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือตึกหน้าและตึกหลังที่ดูไม่ออกว่ามันถูกแยกฟังก์ชันออกจากกัน มีเพียงชั้น 1 และชั้นใต้ดินที่เชื่อมถึงกันได้

ฝั่งทิศตะวันออก เป็นอาคาร Main Entrance ที่มีหลังคาโค้งติดกระจกพร้อมนาฬิกาบานใหญ่คล้ายกับสถานีรถไฟกรุงเทพ รูปแบบอาคารฝั่งด้านตะวันออกมี 2 ชั้น โดยชั้น 1 เป็นพื้นที่ส่วนกลาง โถงทางเข้า พื้นที่เชิงพาณิชย์ ชั้นลอยเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านค้า ส่วนชั้น 2 เป็นสำนักงาน

ฝั่งทิศตะวันตก เป็นอาคารสำหรับพื้นที่ปฏิบัติการ มีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้น 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วและทางเชื่อมสู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชั้น 2 เป็นชานชาลารถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รถไฟทางไกลระหว่างเมือง ส่วนชั้น 3 เป็นชานชาลาสำหรับรถไฟความเร็วสูง

ส่วนชั้นใต้ดินของทั้งสองอาคารเป็นลานจอดรถที่มีความจุกว่า 1,600 คัน และใต้ดินลงไปอีกเป็นสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ทอดตัวอยู่ใต้สถานีกลาง



ทางเข้าหลักด้านทิศตะวันออกชวนให้นึกถึงสถานีรถไฟกรุงเทพในเวอร์ชันที่ทันสมัยกว่า หลังคาสีเงินวาดตัวเป็นรูปโค้งเป็นครึ่งวงกลม ด้านหน้าประดับกระจกกรองแสงสีเข้ม และมีนาฬิกาสีขาวขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่บนนั้น ทางเข้าหลักนี้น่าจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่ใครๆ ก็ไม่พลาดมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกก่อนออกเดินทาง

เมื่อเดินเท้าเข้าไปตามทางเดินผ่านประตูชั้นแรก จะพบกับโถงหลักที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางกว้างขวางและเพดานสูงลิ่วพร้อมแอร์เย็นฉ่ำ มีแสงอาทิตย์ลอดผ่านกระจกกรองแสงเข้ามาให้ความสว่างไสวไปทั่ว ว่ากันแล้วก็เหมือนโซนห้องรับแขกที่ต้อนรับผู้คนจากทั่วสารทิศ เมื่อสถานีเปิดแล้วจะมีร้านค้าต่างๆ ให้กับผู้โดยสารเพื่อเลือกซื้อก่อนเดินทาง หรือใครที่ไม่ได้เดินทาง ก็เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่เชิงพาณิชย์และศูนย์อาหารได้



ถัดจากโถงหลักเข้ามาด้านในมีประตูซ้อนอีกชั้น เมื่อเดินเข้ามาจะพบพื้นที่ขายตั๋ว ซึ่งออกแบบให้กระจายกันไปทั่วบริเวณ ไม่ได้รวมตัวกันที่จุดใดจุดหนึ่ง เพื่อกระจายให้คนที่เข้ามาจากทุกทิศทางเข้าถึงการซื้อตั๋วได้ง่ายในสถานีที่กว้างขวางแบบนี้

ซึ่งพื้นที่ชั้น 1 นี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ โซนรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอยู่ด้านทิศใต้ของอาคาร โซนรถไฟทางไกลระหว่างเมืองอยู่ตรงกลาง และโซนรถไฟฟ้าความเร็วสูงอยู่ด้านทิศเหนือ และทุกๆ โซนมีบันได บันไดเลื่อน และลิฟต์พาผู้โดยสารขึ้นไปสู่ชั้น 2 ยกเว้นโซนรถไฟความเร็วสูงที่ทางขึ้นจะพาไปส่งถึงชั้นสามโดยไม่แวะชั้นอื่น

มีตั๋วแล้วก็ไปขึ้นรถไฟที่ชั้น 2

ชั้น 2 ทั้งฟลอร์เป็นชานชาลาสำหรับรถไฟทางไกลระหว่างเมืองและรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง มีทั้งหมด 12 ชานชาลา แบ่งเป็นรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มไปรังสิต 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนไปตลิ่งชัน 2 ชานชาลา และรถไฟทางไกลระหว่างเมือง 8 ชานชาลา ซึ่งที่ออกไปต่างจังหวัด มีบางส่วนจะทยอยมาออกที่สถานีกลางนี้แทนสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพง
 


ตลอดแนวของชานชาลามีเครื่องดูดควันสำหรับรถจักรดีเซลที่เข้ามาในสถานี เนื่องจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการเดินรถไฟด้วยระบบดีเซลมาเป็นระบบไฟฟ้า ซึ่งรถไฟทางไกลระหว่างเมืองนั้นเป็นรถไฟดีเซล 100 เปอร์เซ็นต์ โดยการรถไฟเองก็มีโครงการจัดหารถไฟแบบใหม่ที่ใช้ระบบไฟฟ้าและดีเซล (Bi-mode) มาให้บริการในอนาคตด้วย



ชั้นบนสุดเป็นส่วนที่ตื่นตาตื่นใจมาก มันคือชั้นชานชาลารถไฟความเร็วสูงจำนวน 12 ชานชาลา แบ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ สายอีสาน สายใต้ และสายตะวันออกที่แชร์ร่วมกับแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ชั้นบนสุดโล่ง โปร่ง และชวนให้มองโครงสร้างหลังคาที่เล่นโค้งสวยงาม มีช่องแสงที่คล้ายกับสถานีกรุงเทพ ทำให้ชานชาลาสว่างไสวโดยไม่ต้องเปิดไฟในระหว่างวัน พื้นที่ชั้นนี้ยังไม่เปิดให้บริการใน พ.ศ. 2564 เพราะรถไฟความเร็วสูงเป็นโปรเจกต์ในอนาคต ซึ่งที่นี่ได้ออกแบบไว้เผื่อเรียบร้อยแล้ว และเมื่อมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็แค่วางรางเข้ามาโดยไม่ต้องต่อเติมสถานีเพิ่ม

และรถไฟความเร็วสูง 2 สายแรกที่เราจะได้ใช้บริการในราวๆ พ.ศ. 2568 คือ เส้นทางจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมาที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง กับอีกสายหนึ่งคือ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ที่ใกล้จะได้ลงมือก่อสร้างเร็วๆ นี้

จากชั้นบนสุดเราลงมาสู่ชั้นล่างสุดกัน



บริเวณด้านทิศใต้ของสถานีนอกพื้นที่ Paid Area ของรถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นทางลงสู่ชั้นใต้ดิน พื้นที่ส่วนนี้คือทางเชื่อมลงไปสู่สถานีบางซื่อของ MRT สายสีน้ำเงิน

เราเชื่อว่าหลายคนที่ได้ใช้บริการ MRT บางซื่อ คงสงสัยว่าทำไมทางออกสถานีถึงได้เดินไกลนัก ทำไมไม่สร้างให้ใกล้ๆ กับถนน หนึ่งเลยคือด้านเทคนิค เพราะเมื่อรถไฟฟ้าออกจากสถานีบางซื่อและมุ่งหน้าไปเตาปูนจะต้องเปลี่ยนไปยกระดับ หากสถานีอยู่ใกล้ถนนตรงทางออกมาเกินไป ความชันในการพุ่งขึ้นไปสู่สถานีเตาปูนจะไม่ได้ระดับที่เหมาะสม สองคือการเชื่อมต่อระหว่าง MRT กับสถานีกลางบางซื่อนี่แหละ สถานีทั้งสองคร่อมกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หากเราออกมาจาก MRT ไปที่ทางออกหมายเลข 3 ก็จะมีทางเดินนำเราขึ้นมาสู่สถานีกลางบางซื่อในโซนรถไฟฟ้าสายสีแดงได้อย่างพอดิบพอดี

และ MRT นี่แหละที่จะพาเราเดินทางต่อจากสถานีกลางบางซื่อ ออกไปในสถานที่ต่างๆ ที่เส้นนี้ผ่าน ไม่ว่าจะเป็น ลาดพร้าว รัชดา พระราม 9 สีลม หัวลำโพง หรือฝั่งธนบุรีอย่างบางยี่ขัน ไฟฉาย ท่าพระ บางแค หลักสอง หรือจะไปต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นก็ไม่ติดขัด นั่นเป็นเพราะสายสีน้ำเงินเชื่อมต่อกับรถไฟสายอื่นๆ มากที่สุดเลยก็ว่าได้ ทั้งสายสีเขียวอ่อนที่สวนจตุจักรและพหลโยธิน สายสีเขียวเข้มที่สีลมและบางหว้า สายสีเหลืองที่ลาดพร้าว สายสีส้มที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และว่าที่สายสีแดงอ่อนที่มุ่งหน้าเข้าศิริราชที่บางขุนนนท์
ฉันคือก้าวใหม่

สถานีกลางบางซื่อและรถไฟชานเมืองสายสีแดง นับได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทยที่ถูกแช่แข็งมาหลายทศวรรษ แม้ว่าก้าวใหม่นี้จะไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแบบพลิกจนต้องร้องว้าว แต่ก็นับได้ว่ามีการขยับจากการเดินรถไฟชานเมืองด้วยรถจักรดีเซลเป็นระบบรถไฟฟ้าที่ออกจากเขตเมืองมากขึ้น และต่อยอดถึงการเดินรถไฟด้วยระบบไฟฟ้าทางไกลออกสู่ต่างจังหวัด โดยใช้รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเป็นรากฐาน และค่อยๆ ต่อไปจนถึงรถไฟแบบใหม่ให้เรานั่งไปยังที่ไกลๆ

เมื่อสถานีกลางบางซื่อเปิดใช้งานเต็มรูปแบบในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นี้ บทบาทของสถานีกรุงเทพซึ่งเคยเป็นพี่ใหญ่ของรถไฟไทยมานานนับร้อยปีก็จะต้องปรับบทบาทลงกลายเป็นสถานีรอง ส่งไม้ต่อให้บางซื่อได้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในระยะแรกก็จะมีรถไฟให้บริการควบคู่กันทั้งสองสถานีและค่อยๆ ลดจำนวนลง

จนเมื่อรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายจากบางซื่อ-หัวลำโพง เปิดให้บริการ สถานีกรุงเทพก็จะยุติหน้าที่ความเป็นสถานีหลักของประเทศอย่างสมบูรณ์ และเปลี่ยนบทบาทสู่หน้าที่ใหม่ ในการเป็นสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงรวมถึงหน้าที่อื่นๆ ต่อไป

ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง และเราก็จะเฝ้าดูการเติบโตและเปลี่ยนแปลงนั้นไปพร้อมๆ กัน

ที่มา เจาะลึกสถานีกลางบางซื่อ
อ่านบทความเต็มที่ https://readthecloud.co/inside-bang-sue-grand-station/

ผู้เขียน : วันวิสข์ เนียมปาน
ภาพ : มณีนุช บุญเรือง เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล