วันอาทิตย์, มกราคม 15, 2566

เราจะมีวันเด็กและคำขวัญวันเด็กกันไปทำไมกัน หากไม่มีใครมองเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็กอย่างจริงใจ



จะอนาคตหรือคำขวัญ ฉันขอเขียนมันด้วยตัวเอง!
 
14/01/2566
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เมื่อครั้งที่ “วันเด็ก” ถูกจัดขึ้นเป็นปีแรก รัฐไทยได้ให้เหตุผลถึงความตั้งใจในการจัดงานวันเด็กไว้ว่า เพื่อให้ประชาชนทุกคนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมสู่การเป็นกำลังสำคัญของชาติ

“รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี” เป็นคำขวัญวันเด็กปี 2566 จากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คำขวัญวันเด็กมักถูกแต่งขึ้นและมอบให้กับเด็กไทยทุกคนโดยผู้เป็นนายกฯ ของประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498

แต่เราจะมีวันเด็กและคำขวัญวันเด็กกันไปทำไมกัน หากไม่มีใครมองเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็กอย่างจริงใจ โดยเฉพาะ “รัฐไทย” เพราะหลายปีที่ผ่านมานี้มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากถูกติดตามคุกคาม ถูกดำเนินคดี และบางคนถึงกับถูกทำร้ายร่างกาย เพียงเพราะก้าวออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องบางอย่างต่อสังคม

โดยปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่ามีเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามไม่น้อยกว่า 24 ราย และพบว่าตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 283 ราย ใน 210 คดี

วันเด็กปีนี้ 8 ตัวแทนเด็กและเยาวชนผู้ไม่ใช่ “เด็กดี” ในสายตาของรัฐไทยขอหยิบปากกาขึ้นมาเขียนคำขวัญจากใจและจุดยืนของตัวเอง เพราะไม่ว่าจะอนาคตหรือคำขวัญ พวกเขาขอเขียนมันด้วยสองมือของพวกเขาเอง

เอีย – เยาวชนอายุน้อยที่สุดที่ถูกจับกุมจากเหตุชุมนุม เพียง 12 ปี

“เอีย” ปัจจุบันอายุ 13 ปี เยาวชนผู้ถูกจับกุมจากเหตุชุมนุมที่มีอายุน้อยที่สุด ด้วยอายุในขณะนั้นเพียง 12 ปี จากเหตุชุมนุมที่บริเวณดินแดง

การถูกดำเนินคดีแรกในชีวิต รวมถึงการได้เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระที่บริเวณดินแดงถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำด้วย ‘ความรุนแรง’ สารพัดวิธีในหลายครั้ง ทำให้เอียพยายามเรียนรู้และเข้าใจเรื่องการเมืองมากขึ้น

จนตอนนี้เอียในวัย 13 ปี เอ่ยปากว่า เขาเห็นด้วยกับการ “ให้นายกฯ ลาออก” รวมถึงเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวที่แม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังสองจิตสองใจว่าจะเอายังไงดีอย่าง “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”

ปัจจุบันเอียถูกดำเนินคดีจากแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุม อย่างน้อย 2 คดี จากการถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมและทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการชุมนุม

อ่านเรื่องของเอีย

มีมี่ – ขับเคลื่อนเพศหลากหลาย จนตกเป็นผู้ต้องหาถึง 6 คดี


“มีมี่” ณิชกานต์ ปัจจุบันอายุ 18 ปี เยาวชนผู้มุ่งมั่นทำงานในประเด็นเรื่องเพศสภาพ (Gender) และความหลากหลายทางเพศ เธอเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2563 ทดลองทำกิจกรรมในหลากหลายประเด็น กระทั่งถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมทางการเมืองไปแล้วรวม 6 คดี

มีมี่ได้อธิบายคำขวัญของตัวเองไว้ว่า “เปล่งประกายจากภายใน” หมายถึง เป็นตัวของตัวเอง มั่นใจกับคุณค่าของตัวเอง ความเปล่งประกายจะมาจากตรงนั้น ไม่ได้มาจากการไปแข่งขัน ไขว่คว้าหาแสงข้างนอก

“มีดวงดาวของตนเอง” หมายถึง มีคุณค่าที่ตัวเองยึดถือ มีเป้าหมาย จุดประสงค์ที่เรามั่นใจกับมันจนไม่มีอะไรมาสั่นคลอนได้ เช่น เป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อมนุษย์ และมันเป็นคุณค่าที่เรายึดไว้ในการใช้ชีวิต

“ดำรงอยู่ด้วยความฝัน” หมายถึง ต่อให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่จะยากลำบาก จะไม่เหมือนกับที่คิดเอาไว้ แต่ก็ขอให้ยังคงเก็บความหวังและความฝันเอาไว้ในใจ ไม่ทิ้งมันไปไหน

“อิสระเป็นของเรา” หมายถึง เรามีสิทธิที่จะเลือกทางเดินของเรา มีสิทธิที่จะผิดพลาด ล้มเหลว หรือสำเร็จ การมีอิสระและยึดมั่นในทางเลือกของตัวเอง จะทำให้เรามีความมั่นคงกับตัวเอง รับผิดรับชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ มากกว่าการเดินไปตามทางที่ผู้ใหญ่วางเอาไว้ ที่นอกจากจะบั่นทอนตัวเรา ยังทำให้เราไม่สามารถค้นหาตัวเองเจออีกด้วย

อ่านเรื่องของมีมี่

จัน – แนวหน้ารุ่นใหม่ของชุมชนในภารกิจทวงคืน ‘ใจแผ่นดิน’


“จัน” ปัจจุบันอายุ 18 ปี เยาวชนปกาเกอะญอ ผู้เป็นความหวังใหม่ของชุมชนในการทวงคืนผืนดินบ้านเกิด “ใจแผ่นดิน” ด้วยการเคลื่อนไหวและเรียกร้องผ่านการทำกิจกรรมของกลุ่ม “บางกลอยคืนถิ่น” และจันเชื่อว่าสักวันหนึ่งเธอจะพาทุกชีวิตกลับบ้านได้

การออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องต่อสังคมเพื่อขับเคลื่อนให้ภารกิจเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น ทำให้จันถูกดำเนินคดีในข้อหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” มาแล้ว 1 คดี จากการที่จันเข้าไปเป็นล่ามภาษากลางให้กับชาวบ้านบางกลอย ในการชุมนุมของภาคีเซฟบางกลอยเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 ซึ่งมีหลายเครือข่ายรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ภายใต้ขบวนการ P-move

อ่านเรื่องของจัน

อันนา – ‘นักเรียนเลว’ ผู้ติดลิสต์รายชื่อ ‘ภัยความมั่นคงของรัฐ’


“อันนา” ปัจจุบันอายุ 16 ปี นักกิจกรรมเยาวชนจากกลุ่มนักเรียนเลว ความตั้งใจสูงสุดของเธอและกลุ่มนักเรียนเลว คือ อยากจะช่วยเหลือนักเรียนไทยให้มีสิทธิและเสรีภาพอย่าง ‘เท่าเทียม’ อาทิเช่น เรื่องการแต่งกาย กฎระเบียบทรงผม ปัญหาหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนปัญหาการคุกคามนักเรียนที่แสดงออกทางการเมือง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้

เธอมองว่าในปัจจุบัน นักเรียนไทยไม่ได้ถูกมองเป็นประชาชนทั่วๆ ไปคนหนึ่งในสังคม ผู้ใหญ่ยังมองพวกเขาว่าเป็นแค่ ‘เด็ก’ ที่ไม่ได้มีสิทธิในการตัดสินใจเทียบเท่ากับกลุ่มคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งอันที่จริงเธอมองว่า ‘เด็ก’ ก็คือประชาชนธรรมดาคนหนึ่งในสังคมเฉกเช่นกับ ‘ผู้ใหญ่’ ทุกคน ที่ควรได้รับสิทธิอย่างพลเมืองคนหนึ่ง

อ่านเรื่องของอันนา

ไนซ์ – ถูกติดตามคุกคามหลายปี เพียงอยากให้บ้านเกิดเป็นเมืองในฝัน

ไนซ์ ปัจจุบันอายุ 17 ปี เธอเป็นอดีตนักกิจกรรมเยาวชนจากกลุ่ม Korat Movement แม้จะไม่เคยถูกดำเนินคดีใดๆ มาก่อน แต่ไนซ์คือหนึ่งในเยาวชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามมานานหลายปีตั้งแต่เริ่มทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวทางการเมือง

การถูกคุกคามครั้งแรกๆ เกิดขึ้นเมื่อเธออายุได้เพียง 15-16 ปีเท่านั้น โดยมักจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐขับรถตาม ถูกเฝ้าและจับตาขณะเตรียมทำกิจกรรม ถูกแอบถ่ายรูป และอื่นๆ แต่ช่วงหลังการคุกคามจะถูกเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการกดดันและสร้างความหวาดกลัวต่อผู้ปกครองแทน โดยพ่อแม่ของไนซ์มักจะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐในทำนองให้เลิกทำกิจกรรม

ปัจจุบัน ไนซ์ย้ายออกจากโคราชมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาแล้ว โดยเธอตั้งใจไว้ว่าจะเข้าเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ไนซ์เล่าว่าได้ตั้งใจแต่งคำขวัญวันเด็กของตัวเองบทนี้ให้ล้อไปกับคำขวัญวันเด็ก ปี 2566 ของประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยแต่ละวรรคมีความหมาย ดังนี้

“รอบรู้สิทธิ” หมายถึง อยากให้เด็กทุกคนได้รู้และตระหนักในสิทธิที่มีอยู่

“มีอุดมการณ์” หมายถึง ไม่ว่าทุกคนจะมีอุดมการณ์เรื่องอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ยืนหยัดในอุดมการณ์นั้น เป็นตัวของตัวเอง และกล้าที่จะก้าวออกนอกกรอบของสังคม

“ใฝ่ประชาธิปไตย” หมายถึง อยากให้ทุกคนมีความรู้เรื่องการเมืองควบคู่ไปด้วย การออกมาแสดงความคิดเห็นและทำกิจกรรมทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรจะทำได้ และไม่ถูกกีดกันจากรัฐไทย เพราะเรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องของคนทุกช่วงวัย ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น

ทั้งนี้ กลุ่ม Korat Movement ก่อตั้งขึ้นในปี 2563 เพื่อเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมการเมืองทั้งในระดับประเทศ และในจังหวัด ทั้งการเรียกร้องประชาธิปไตย การปฏิรูปการศึกษา นำเสนอปัญหาความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมในโคราช

เบลล์ – เยาวชนพัทลุง ผู้ตกเป็นจำเลย ม.112 – ม.116 ตั้งแต่อายุ 17 ปี


“เบลล์” ปัจจุบันอายุ 19 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 จากรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อครั้งที่อายุ 17 ปี เบลล์ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์ภาพถ่ายจุดต่างๆ ในพัทลุง และใส่ข้อความทางการเมืองประกอบในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” เมื่อปี 2563

เบลล์อธิบายคำขวัญของตัวเองไว้ว่า “กำจัดเผด็จการ” หมายถึง รัฐบาลนี้มาจากเผด็จการ ใช้งบประมาณสิ้นเปลือง และอาจมีการคอร์รัปชั่น แต่เมื่อเยาวชนออกมาตั้งคำถามก็กลับถูกติดตามคุกคาม

“ต่อต้านศักดินา” หมายถึง ชนชั้นนำที่กดขี่และปกครองประชาชนด้วยความโหดร้ายควรจะถูกต่อต้านเช่นเดียวกับรัฐบาลเผด็จการ

“คิดอย่างก้าวหน้า” หมายถึง เยาวชนทุกคนต้องกล้าที่จะตั้งคำถาม กล้าวิพากษ์วิจารณ์ และกล้าที่จะคิดออกนอกกรอบ การตั้งคำถามเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้คิดไปไกลเกินกรอบของสังคม

“นำพาประชาธิปไตย”หมายถึง สิ่งที่พวกเรากำลังฝันถึงและเฝ้ารอกันอยู่ ขอให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อนำพาประเทศไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงโดยเร็ววัน

เปเปอร์ – เด็กโคราชที่หวังสร้างบ้านเกิดให้เป็นเมืองในฝันสำหรับทุกคน


เปเปอร์ (นามสมมติ) ปัจจุบันอายุ 16 ปี อาศัยอยู่ใน จ.นครราชสีมา หนึ่งในเยาวชนที่เคลื่อนไหวในนามกลุ่ม Korat Movement มาตั้งแต่อายุ 13 ปี สำหรับเปเปอร์ Korat Movement มีเป้าหมายอยากให้โคราช (นครราชสีมา) เป็นจังหวัดจัดการตนเองได้ ทั้งนโยบายและการพัฒนาควรมาจากคนในพื้นที่ การทำงานของกลุ่มแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกขับเคลื่อนเมืองร่วมกับกลุ่มเยาวชน Cover Dance, Hip Hop, สเก็ตบอร์ด จัดพื้นที่การแสดงออกของคนรุ่นใหม่ อีกด้านหนึ่งทำงานกับคนในชนบทปัญหาเรื่องทรัพยากรและการเมืองท้องถิ่น เช่น ลงไปศึกษาปัญหาพื้นที่เหมืองด่านขุนทด โดยเปเปอร์มีบทบาทดูแลด้านข้อมูลวิชาการเวลาทำวงศึกษาการเมือง และเข้าร่วมกิจกรรมตามที่กลุ่มจัดขึ้น ตั้งแต่คาร์ม็อบ และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อื่น ๆ

ปีที่ผ่านมา เปเปอร์กับเยาวชนส่วนหนึ่ง ร่วมทำเทศกาล KOLLAGE ด้วยคิดเห็นว่าโคราชเป็นเมืองที่ไม่อนุญาตให้ฝัน แม้เป็นจังหวัดที่ใหญ่ แต่เสมือนเป็นเมืองทางผ่าน ทุกปีสมาชิกที่เคยเคลื่อนไหวทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม ต่างย้ายไปแสวงหาตัวตนในพื้นที่อื่น ๆ นั่นเพราะโคราชไม่สามารถรองรับความฝันของเขาเหล่านั้นได้ พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อแสดงให้เห็นว่า โคราชมีพื้นที่แสดงออกทางวัฒนธรรม พวกเขาอยากสร้างเมืองให้มีชีวิตชีวา จนเกิดเป็นงานกิจกรรมศิลปะต่อเนื่อง

ด้านส่วนร่วมทางการเมือง เปเปอร์เห็นว่า เด็กก็เป็นส่วนประกอบของสังคม ควรได้ออกแบบชีวิตของตนเองที่จะเติบโตขึ้น เช่น อยากจะทำอะไร อยากไปเป็นอะไร แต่แรงเสียดทานสำคัญส่วนใหญ่คือครอบครัว เปเปอร์รู้สึกว่าเด็กไทยโดนอำนาจกดไว้หลายทางมาก โดนปลูกฝังให้กลัว ทำให้ไม่กล้าออกมาทำอะไรสักอย่าง ส่วนตัวเปเปอร์สะท้อนต่อการเคลื่อนไหวการเมืองว่า “เรารู้สึกว่ามันต้องทำ และไม่ได้ส่งผลกระทบชีวิตขนาดนั้น อยู่ในระดับที่เรายอมรับผลของมันได้”

เยาวชนนักกิจกรรมโคราชเล่าอีกว่า เจอเพื่อนหลายคนที่เห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตยมาก ยิ่งในโซเชียลที่ต่างพยายามแชร์โพสต์ความคิดต่าง ๆ แต่ในทางชีวิตจริงกลับไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวร่วมกันได้ เพราะกลัวพ่อแม่ กลัวครู ส่วนมากพ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านั้นไม่อยากให้มายุ่งและมีอคติบางอย่างกับการเมือง

เปเปอร์ให้ทัศนะว่า ถ้าผู้ใหญ่จะปรับเข้าหาเด็ก ก็ขอแค่เคารพกันในฐานะมนุษย์ ไม่ต้องเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ พอข้ามเส้นแบ่งตรงนั้นไปได้ เป็นมนุษย์เท่ากันเราก็จะให้ความสำคัญกับทุกคนเท่ากัน แล้วมันจะไม่มีเหตุการณ์ที่ว่าเด็กต้องขอร้องให้ผู้ใหญ่รับฟัง หรือผู้ใหญ่มาเปิดโอกาสให้เด็กแสดงออก

“เด็กต้องการเวลาชีวิต หมายถึงทุกวันนี้มีเรื่องเครียดเยอะมาก เรื่องเรียน เรื่องโควิด-19 เรื่องเศรษฐกิจการเมือง เด็กวัยนี้มันไม่ควรเครียดขนาดนี้ เรื่องการเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ควรเป็นตัวบ่งชี้ขนาดนั้นว่าชีวิตจะเป็นยังไงต่อไป เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้เด็กเครียดมาก ๆ ก็เลยอยากให้เด็กได้มีช่วงเวลาที่มีความสุขมากขึ้น” เปเปอร์สะท้อนความรู้สึกไว้อีกตอน

ยิ่งกับความคาดหวังของสังคมไทยมักจะบอกว่า อายุเท่านี้ต้องมีอย่างนี้ ต้องเข้ามหาวิทยาลัย ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนจบ ม.6 อาจอยากมีช่วงเวลาค้นหาตัวเอง แต่ด้วยบรรทัดฐานของสังคมและสภาพเศรษฐกิจไม่อนุญาตให้เด็กทำแบบนั้นได้

ท้ายสุด เปเปอร์ตั้งคำขวัญวันเด็กประจำปีนี้ว่า ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน สร้างสรรค์ เชื่อมั่นในทางที่เลือก พร้อมอธิบายว่า ใช้ชีวิตให้ตัวเองสนุกสนาน ให้มองกลับมาแล้วไม่เสียใจที่ตอนเด็กใช้ชีวิตแบบนี้ ทำให้เต็มที่กับสิ่งที่ตัวเองเลือก สร้างสรรค์ คือ มีจินตนาการ ไม่อยู่แต่ในกรอบที่มีแต่คนกำหนดมาให้ เชื่อมั่นในทางที่เลือก เพราะอยากให้มั่นใจว่า เลือกจะทำอะไรแล้ว ขอให้เชื่อมั่นและทำเลย

ส่วนปี 2566 เธอคาดหวัง อยากขยายพื้นที่งานทั้งศิลปะและการเมือง จาก อ.เมือง ไปถึงที่อื่น ๆ ในนครราชสีมา ทำเท่าที่ทำได้ในนามส่วนตัวและนาม Korat Movement

เพชร – เยาวชนที่ถูกสั่งฟ้องคดี ม.112 และถูกตั้งข้อหา ม.116 เป็นคนแรก


“เพชร” ธนกร เยาวชนนักเคลื่อนไหวและผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+) ปัจจุบันอายุ 19 ปี เยาวชนคนแรกที่ถูกฟ้องคดีที่มีข้อหาหลักเป็นมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ เมื่อปี 2563 (ขณะนั้นอายุ 17 ปี) เพชรยังเป็นเยาวชนคนแรกที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อีกด้วย โดยถูกกล่าวหาจากกรณีชุมนุม #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ บริเวณท่าน้ำนนท์ เมื่อปี 2563 เช่นเดียวกัน

ต่อมาทั้งสองคดีข้างต้นศาลเยาวชนฯ ได้มีคำพิพากษาแล้ว โดยคดีแรกซึ่งเป็นข้อหาตามมาตรา 112 นั้น ศาลเยาวชนฯ ได้พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ก่อนจะเปลี่ยนเป็นการคุมประพฤติแทน โดยต่อมาศาลได้อนุญาตให้ประกันระหว่างการอุทธรณ์คดี

ส่วนคดีหลังซึ่งเป็นข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และมาตรา 112 นั้น ศาลเยาวชนฯ นนทบุรีได้พิพากษาจำคุกในความผิดตาม ม.112 รวม 3 ปี ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่ง และให้รอการลงโทษไว้ ส่วนความผิดตามมาตรา 116 ศาลได้พิพากษายกฟ้องไป

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน เพชร ธนกร ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรวมแล้ว 8 คดี (มีจำนวน 3 คดีที่เหตุเกิดหลังอายุเกิน 18 ปีแล้ว) โดยเป็นคดีมาตรา 112 รวม 3 คดี

อ่านเรื่องของเพชร

อ่านเพิ่มเติม
สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-65

‘Young มีหวัง’ เพราะเยาวชนไทยไม่เคยหมดหวัง