วันเสาร์, มกราคม 21, 2566

ปชช.ปักหลักหน้าศาลอาญารัชดา ร้องสิทธิประกันตัวคู่ขนานนอกเรือนจำ หลัง ‘แบม-ตะวัน’ ประกาศอดข้าว-น้ำ



ปชช.ปักหลักหน้าศาลอาญารัชดา ร้องสิทธิประกันตัวคู่ขนานนอกเรือนจำ หลัง ‘แบม-ตะวัน’ ประกาศอดข้าว-น้ำ

2023-01-20
ประชาไท

ปชช.ปักหลักหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องหาทางการเมือง คู่ขนานจากนอกเรือนจำ หลัง ‘แบม-ตะวัน’ ประกาศอดน้ำ-ข้าวตั้งแต่คืน 18 ม.ค. ดัน 3 ข้อทะลุวัง พร้อมสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมชุมนุมที่อยากให้ทุกคนออกมาร่วมผลักดันก่อนทุกอย่างจะสายไป

20 ม.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (20 ม.ค.) เมื่อเวลา 21.00 น. มีประชาชนมาชุมนุมหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาทางการเมืองทุกคน และผลักดันข้อเรียกร้องของทะลุวัง 3 ข้อ หลังมีคลิปวิดีโอเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ‘แบม’ อรวรรณ ภู่พงษ์ และ ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ สองนักกิจกรรมยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวของตัวเอง และประกาศอดอาหาร และน้ำ ในเรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่คืน 18 ม.ค.ที่ผ่านมา


ภาพบรรยากาศการชุมนุมหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อ 19 ม.ค. 2566

สำหรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของกลุ่มทะลุวัง ประกอบด้วย 
  1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
  2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง
  3. พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116
บรรยากาศการชุมนุมตั้งแต่วานนี้เต็มไปด้วยความเป็นห่วงนักกิจกรรมแบม และตะวัน และมีการแสดงดนตรีจาก 'อาเล็ก' โชคดี ร่มพฤกษ์

ภราดร เกตุเผือก หรือลุงดร ยูทูบเบอร์วัย 56 ปี วันนี้นัดกับเพื่อนมาร่วมปักหลักหน้าศาลอาญา รัชดาฯ คู่ขนานกับการยกระดับการชุมนุมในเรือนจำของแบม และตะวัน ซึ่งประกาศอดอาหารและน้ำ ตั้งแต่คืน 18 ม.ค. 2566 ภราดร กล่าวว่า พวกเขาเดินทางมาชุมนุม หลังทราบข่าวว่า แบม และตะวัน ประกาศอดอาหารและน้ำ

ภราดร เล่าให้ฟังว่า พอมาถึงที่หน้าศาลอาญา เมื่อเวลาประมาณบ่ายสามโมง ก็มีตำรวจจาก สน.พหลโยธิน บอกให้ผู้ชุมนุมไปจดแจ้งการชุมนุมสาธารณะที่ สน.

“มีข้อสำคัญข้อหนึ่ง วัตถุประสงค์ในการชุมนุม ลุงดรเขียนว่า เรียกร้องให้ศาลได้คำนึง และยอมรับในการที่จะเป็นการได้รับสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหา” ลุงดร กล่าวถึงข้อเรียกร้องการชุมนุม ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเดียวกับทะลุวัง 3 ข้อ


'ลุงดร' ภราดร เกตุเผือก

ยูทูบเบอร์วัยเก๋า กล่าวด้วยความเป็นห่วงหลังนักกิจกรรมประกาศอดอาหาร-น้ำว่า คราวนี้มีสิ่งที่น่ากลัวสำหรับตะวัน และแบม คือเรื่องสุขภาพ คือเด็กจะยืนไหวได้สักกี่วัน อดทั้งข้าว ทั้งน้ำ จึงรีบมาชุมนุมวันนี้เลย และลุงดรเชื่อว่า ตะวัน และแบม จะไม่เปลี่ยนแนวทางแน่นอน จนกว่าจะสำเร็จ “ใจแข็ง ถึงตายก็ไม่กิน กลัวว่างกายน็อกก่อน ...นี่ละครับจึงเป็นเหตุให้มากันในวันนี้”

เคารพการตัดสินใจ

หลัง แบม-ตะวัน ประกาศอดอาหาร-น้ำ มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก ทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วย และอยากให้เปลี่ยนวิธีการต่อสู้ และผู้ที่เคารพการตัดสินใจ และเอาใจช่วยนักกิจกรรม

แต่สำหรับขุนแผน ชาวนครปฐม วัย 50 ปี มองว่า เราสามารถทำได้มากกว่าการภาวนา คือการออกมาร่วมต่อสู้กับนักกิจกรรมที่อยู่ข้างนอกเรือนจำ

“มันคือการต่อสู้ มันคือสิทธิการตัดสินใจ เราก็ควรจะต้องเคารพการตัดสินใจของน้อง ทนายอานนท์ ถึงบอกว่าได้แต่ภาวนา แต่สำหรับผมมันมีมากกว่าการภาวนานะ ออกมาต่อสู้ร่วมกับน้องๆ ถ้าเกิดเราออกมาเยอะพอ มากพอ ทำอะไรหลายๆ ที่ หลายๆ จุด ถ้าศาลเห็นว่า ตรงนี้คนเยอะ กดดันเขามากพอ เขาอาจจะยอมให้ประกันตัวไหม นักการเมืองอาจจะให้ความสนใจกับเยาวชน และรับฟังเยาวชนไหม ถ้าอย่างนั้นแล้ว เงื่อนไขมันก็ได้รับการตอบรับ น้องก็ไม่ต้องเดินไปถึงจุดนั้น นี่แหละผมถึงบอกว่าต้องทำแล้ว” ขุนแผน กล่าว
 

ขุนแผน อายุราว 50 ปี

เสียงถึงสื่อ ช่วยผลักดันข้อเรียกร้องด้านประชาธิปไตย

สำหรับลุงดร อยากฝากถึงสื่อที่ติดตามเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ หรือติดตามการอ่านแถลงการณ์ของ ‘ตะวัน’ และ ‘แบม’ ตั้งแต่เมื่อ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา สามารถช่วยผลักดันข้อเรียกร้องของทะลุวัง ได้โดยการช่วยถ่ายไลฟ์การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือตามที่ต่างๆ ที่พอจะเป็นไปได้ตามขีดจำกัดของแต่ละสำนักข่าว พร้อมกันนี้ ลุงดร ยังเชิญชวนให้ผู้สื่อข่าวสามารถไปถ่ายทำข่าวการยืน หยุด ขัง ของพลเมืองโต้กลับ ที่หน้าศาลฎีกาด้วย

ฝากถึงพรรคการเมืองช่วยแสดงจุดยืน ม.112

ขณะที่ ขุนแผน ส่งเสียงถึงนักการเมืองว่า เขายังคงมีหวัง มากกว่ารัฐบาลที่มาจากโจร และยังคงหวังว่านักการเมืองจะมีสำนึก และยังคงหวังว่าพรรคการเมืองจะกล้าออกมาแสดงจุดยืนต่อกฎหมาย มาตรา 112 และมาตรา 116

“คุณตั้งพรรคการเมือง ถ้าเจตจำนงของคุณทำเพื่อประชาชน ทำเพื่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ วันนี้คุณต้องมองว่าประชาชนต้องการอะไร และเสียงที่ดังที่สุดคือเสียงของน้องแบม น้องตะวันในวันนี้ ซึ่งคุณต้องฟังและต้องขานรับข้อเรียกร้องของเขา คุณต้องกล้าออกมาแสดงจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องของมาตรา 116 และ 112 ซึ่งมันเป็นปัญหาในระบอบประชาธิปไตย เป็นปัญหาต่อคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ว่าในทางอ้อมทางตรง แต่มันเป็นแน่นอน พรรคการเมือง ควรให้ความสนใจ ไม่ใช่คุณพยายามจะตะเกียกตะกายเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อไปสู่การเลือกตั้ง มันไม่ต่างอะไรเลยกับจะตะกายเข้าสภา เพื่อหาผลประโยชน์” ขุนแผน กล่าว
 

ภาพบรรยากาศการชุมนุมหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อ 19 ม.ค. 2566

นอกจากนี้ ขุนแผน ฝากถึงประชาชนผู้รักประชาธิปไตยว่า อยากให้ออกมาช่วยผลักดันข้อเรียกร้องของนักกิจกรรมที่เท่าที่จะเป็นไปได้ ดีกว่าเป็นห่วง และรอลุ้นอยู่ที่บ้าน

“สำหรับผู้รักประชาธิปไตย ทำออกมาทำเท่าที่คุณทำได้ ออกมาตรงไหนก็ได้มารวมกัน อย่านอนรออยู่บ้าน ถ้ามัวแต่ลุ้นอยู่ที่บ้านไม่ต่างอะไรกับการนอนรอรับศพนักกิจกรรม ถ้ามันเป็นจริง เขาเสียชีวิตจริงๆ ต่อให้ไปรวมกันหน้าคุกเป็นพันเป็นหมื่นไปเสียใจ มันก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้น เราเซฟชีวิตน้องไว้ดีกว่า

“วันนี้อยากให้ทุนคนออกมาในวงเล็บคนที่พร้อม คนที่สะดวก หลายๆ คนคงไม่สะดวกไม่ว่ากัน ไทยเฉยคงไม่พูดถึง ไม่อยากไปว่าใครว่าไทยเฉย คนที่พร้อมคนที่มีเวลา อยากให้ออกมาช่วยกัน ออกมาต่อสู้ด้วยกัน แทนที่จะเป็นห่วงน้อง” ขุนแผน ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ การชุมนุมหน้าศาลอาญา รัชดาฯ จัดขึ้นคู่ขนาน ‘แบม-ตะวัน’ จากด้านนอกเรือนจำ มีทุกวัน 15.00-6.00 น. ของอีกวัน ส่วนจะมีการชุมนุมถึงเมื่อไร จะไม่ทราบแน่ชัด ขุนแผน ระบุว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์
 
ภาพบรรยากาศการชุมนุมหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อ 19 ม.ค. 2566