วันอังคาร, มกราคม 03, 2566

เผื่อใครสนใจ อ.พวงทอง รีวิวหนังสือ Amnesia: A History of Democratic Idealism in Modern Thailand by Arjun Subrahmanyan “สภาวะความจำเสื่อม: ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่ออุดมคติประชาธิปไตยในสังคมไทยสมัยใหม่”


Puangthong Pawakapan
9h

ทำตามสัญญา รีวิวหนังสือ Amnesia: A History of Democratic Idealism in Modern Thailand by Arjun Subrahmanyan (Albany: State University of New York Press, 2021). “สภาวะความจำเสื่อม: ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่ออุดมคติประชาธิปไตยในสังคมไทยสมัยใหม่”
หนังสือเล่มนี้ท้าทายแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ 2475 ที่ครอบงำวงวิชาการไทยและเทศมาหลายทศวรรษที่ว่า 2475 คือการชิงสุกก่อนห่ามที่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์ของสมาชิกคณะราษฎรเป็นหลัก ขณะที่ประชาชนไทยส่วนใหญ่ในขณะนั้นไม่สนใจ ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร และ 2475 คือจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ของการรัฐบาลจากการเลือกตั้ง-รัฐประหาร-รัฐบาลทหาร สำหรับ Arjun Subrahmanyan (อรชุน สุพรามห์มันยัน) ความทรงจำหลักเกี่ยวกับ 2475 เช่นนี้แท้ที่จริงแล้วก็คือสภาวะความจำเสื่อม (amnesia) ที่รัฐใช้พลังอำนาจสารพัดกระทำกับประชาชนในสังคม ซึ่งอันที่จริงรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำกันอย่างกว้างขวาง แต่เขาเห็นว่ารัฐไทยกระทำได้อย่างหมดจดงดงาม (In a region where state-enforced historical amnesia is rife, Thailand has turned it into an art form.)
Subrahmanyan ชี้ว่าสิ่งสำคัญของการปกปิดบิดเบือนประวัติศาสตร์ก็คือการขวางกั้นไม่ให้ผู้คนเกิดการเปรียบเทียบว่าอะไรดีกว่าอะไร ซึ่งจะทำให้ผู้คนเกิดการยอมรับว่าการเมืองดังที่เป็นอยู่นั้นคือสภาวะธรรมชาติของสังคมนั้น และสภาวะที่เป็นอยู่นั้นไม่ว่าจะดีจะเลว ผู้คนก็จะรู้สึกว่ายอมรับได้ ซึ่งการทำให้อดีตเงียบงันก็คือเสาหลักของอำนาจเผด็จการของระบอบ Oceania ในนวนิยาย 1984 ของจอร์จ ออร์เวลนั่นเอง
แม้ว่า Subrahmanyan จะเห็นถึงคุณค่าของ 2475 เขาก็ไม่ได้พยายาม romanticize การปฏิวัติ 2475 –ใช่ เขายืนยันว่า 2475 คือ a revolution- เขาไม่ได้พยายามทำให้ผู้นำ 2475 โดยเฉพาะจอมพล ป. กลายเป็นวีรบุรุษหรือนักประชาธิปไตยขึ้นมา แบบที่กำลังเป็นกระแสในสังคมไทยขณะนี้
ความโดดเด่นของงานวิจัยชิ้นนี้คือ การศึกษาบทบาทของสามัญชนที่มาจากหลากหลายชนชั้น-อาชีพ-เชื้อชาติ ที่พยายามผลักดัน “อุดมคติแบบประชาธิปไตย” ให้เป็นจริง อุดมคตินี้คือแรงบันดาลใจที่พวกเขาได้รับจากคำป่าวประกาศของคณะราษฎรที่จะสร้างสังคมที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง Subrahmanyan ชี้ว่านี่คือสิ่งสำคัญที่เป็นผลของการปฏิวัติ 2475 แต่น่าเสียใจว่าด้วยอุปสรรคมากมาย ความพยายามต่อสู้เพื่ออุดมคติของสามัญชนจึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไรนัก หลายคนหมดกำลังใจ หลายคนจบชีวิตในโศกนาฏกรรม อีกทั้งคณะราษฎรก็พ่ายแพ้ให้กับกลุ่มรอยัลลิสต์ในที่สุด คุณูปการและอุดมคติของสามัญชนเหล่านี้จึงถูกลืม ถูกฝังไว้ใต้ความเชื่อที่ชนชั้นนำรอยัลลิสต์พยายามกล่าวย้ำกับคนไทยว่า ระบอบปกครองที่มีพวกเขาเป็นผู้นำทางหรือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” คือสิ่งที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ยุติธรรมที่สุดสำหรับคนไทยแล้ว
Subrahmanyan แบ่งผู้ที่มีบทบาทในการต่อสู้เพื่ออุดมคติ 2475 ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งคือ “คนใน” (the insiders) กับ “คนนอก” (the outsiders) ซึ่งมาจากปัญญาชนชนชั้นกลางใหม่ของสยามในขณะนั้น ที่คาดว่ามีอยู่ราว 100,000 คน (จากจำนวนประชากรวัยทำงาน 6 ล้านคน)
“คนใน” คือผู้นำพลเรือนและทหารในคณะราษฎร ผู้ที่สร้างคำมั่นสัญญาและเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่ประชาชนถึงการร่วมสร้างสังคมที่ดีกว่า พวกเขาพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบต่างๆ ซึ่งไม่ง่ายเลย เพราะระบบต่างๆ ถูกละทิ้งให้อยู่ในสภาพล้าหลังอย่างที่สุด อีกทั้งยังขาดแคลนงบประมาณและทรัพยากรบุคคลที่จะทำให้ระบบขับเคลื่อนไปได้ ตัวอย่างง่ายๆคือคณะราษฎรเห็นความสำคัญของการกระจายการศึกษาให้กับประชาชน แต่มีไม่งบประมาณ ไม่มีครูเพียงพอ ยังไม่นับว่าพวกเขาต้องเผชิญกับการต่อต้าน-บ่อนทำลายจากพวกระบอบเก่าด้วย
กระนั้น แม้ว่า Subrahmanyan จะเห็นใจต่อข้อจำกัดต่างๆ ที่คณะราษฎรเผชิญ เขาไม่ได้พยายามแก้ต่างให้กับคณะราษฎรไปเสียทุกเรื่อง เช่น เขาชี้ให้เห็นว่าบ่อยครั้งอุปสรรคของการปฏิรูปก็มาจากทัศนคติและพฤติกรรมที่สืบทอดมาจากสังคมเก่า ไม่ว่าจะเป็นระบบอุปถัมภ์ ระเบียบสังคมแบบลำดับชั้นที่ให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสและผู้มีอำนาจ วัฒนธรรมอำนาจนิยม ทัศนคติแบบชาตินิยม ซึ่งเขาเรียกมันว่า “democratic paternalism” (โลกทัศน์พ่อขุนอุปถัมภ์ในระบอบประชาธิปไตย) โลกทัศน์เช่นนี้ส่งผลต่อการปฏิบัติที่บางครั้งนำไปสู่นโยบายที่ละเลยและส่งผลร้ายต่อประชาชนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพวกเขาโดยตรง แต่เป็นประชาชนที่พวกเขาไม่ได้ให้คุณค่าเพียงพอ เช่น แรงงานจีนและผู้หญิง บางครั้งผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำคณะราษฎรบางคนก็เป็นตัวกำหนดมุมมอง (perception) ที่มีต่อประชาชนที่มีความเห็นต่างว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบอบใหม่ การผิดพลาดเหล่านี้ได้สังหารความหวังและเจตน์จำนงของประชาชน หรือกลุ่ม “คนนอก” ที่ต้องการร่วมกับคณะราษฎรผลักดันให้เกิดสังคมที่ดีกว่า นี่เป็นผลลัพธ์อันน่าเศร้าที่ขัดแย้งกับจุดมุ่งหมายเดิมของการปฏิวัติ 2475
“คนนอก” คือศูนย์กลางของหนังสือเล่มนี้ พวกเขาคือสามัญชน ชนชั้นกลางใหม่ที่ก่อกำเนิดขึ้นในกรุงเทพและในตัวเมืองของจังหวัดต่างๆ ที่มีโอกาสได้รับการศึกษาดีกว่าคนทั่วไป เป็นแนวหน้าของการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ต้องการเห็นสังคมไทยที่มีเสรีภาพมากขึ้น เหลื่อมล้ำน้อยลง ยุติธรรมมากขึ้นในทุกด้านสำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนนอกที่ Subrahmanyan นำเสนอในหนังสือเล่มนี้มีหลากหลายกลุ่ม อาทิเช่น
ผู้นำแรงงาน และนักหนังสือพิมพ์ที่อุทิศตนให้กับการพยายามสร้างขบวนการแรงงานไทย สร้างอำนาจต่อรองให้กับพวกเขา เพื่อให้พวกเขาได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น คนแบบนายถวัติ ฤทธิเดช ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร
บทบาทของนายทุนไทยเชื้อสายจีนที่พยายามช่วยเหลือและปกป้องสิทธิของกรรมกรจากการกดขี่-ขูดรีดของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เพราะกรรมกรสยามในขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นคนจีนหรือกุลีจีน รัฐบาลไทยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่กำลังดำเนินนโยบายคลั่งชาติ (ที่รวมถึงการต่อต้านคนจีนอพยพ) จึงมองขบวนการแรงงานไทยด้วยความไม่ไว้วางใจ โอกาสของการเกิดขบวนการทางสังคมใหม่ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างอำนาจต่อรองให้กับคนชั้นล่างและสร้างสังคมประชาธิปไตย จึงถูกดับลง
“คนนอก” ในขบวนการนี้หลายคน ที่เริ่มต้นวัยหนุ่มด้วยความกระฉับกระเฉง ยุติบทบาทของตนในสภาพสิ้นหวัง
“คนนอก” ที่พยายามผลักดันความฝันของการปฏิวัติ 2475 ให้เป็นจริงยังประกอบด้วยครูหนุ่มสาวในจังหวัด - การปฏิรูปการศึกษาให้ทันสมัยและกระจายไปสู่สำหรับคนทุกชนชั้นทั่วประเทศเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของคณะราษฎร การปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยจะเป็นจริงภายใต้ระบบการศึกษาที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงไม่ได้ ซ้ำยังมีเนื้อหาล้าหลัง ผลิตซ้ำวัฒนธรรมศักดินาอำนาจนิยมต่อไป แต่อุปสรรคใหญ่ของเรื่องนี้อยู่ที่ระบบการศึกษาไทยหลัง 2475 ยังถูกควบคุมโดยเครือข่ายคนของสังคมเก่าที่เชื่อในวัฒนธรรมอำนาจนิยม-พ่อขุนอุปถัมภ์ คนของสังคมเก่าควบคุมระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับเจ้ากระทรวงในเมืองหลวงไปจนถึงผู้บริหารระดับจังหวัดและโรงเรียน คนเหล่านี้คืออุปสรรคของความก้าวหน้าในสายตาของครูหนุ่ม-สาวในหลายจังหวัด พวกเขาวิพากษ์คัดค้านนโยบายของคนในระบอบเก่าอย่างเข้มข้น แต่สิ่งที่น่าเสียใจคือเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น และเรื่องไปถึงระดับกระทรวง ครูก้าวหน้าเหล่ากลับถูกมองว่าเป็นพวกก้าวร้าวไม่มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ ไม่เคารพระเบียบทางสังคม พวกชอบสร้างปัญหา และเมื่อพิจารณาตำราเรียน กระทรวงศึกษาธิการในยุคคณะราษฎรก็ยังผลิตซ้ำหน้าที่พลเมืองแบบไทยๆ ต่อไป นั่นคือพลเมืองไทยต้องเชื่อฟังเคารพอำนาจรัฐ ความสงบและความมั่นคงของสังคมสำคัญกว่าสิทธิของปัจเจกชน พวกเขาตกเป็นเหยื่อของ democratic paternalism
การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยอมรับมานานแล้วว่าเปิดโอกาสการศึกษาให้กับสามัญชนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบจำนวนนักศึกษาของธรรมศาสตร์กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2478 จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน คือ มธ. มีนักศึกษา ลงทะเบียนมากกว่า 7,000 คน ซึ่งมากกว่าของจุฬาฯ 10 เท่าตัว ซึ่ง Subrahmanyan ชี้ให้เห็นว่าโอกาสทางการศึกษาใหม่นี้ได้สร้าง “คนนอก” ของการปฏิวัติ 2475 ขึ้นมาหลายคนทีเดียว รวมทั้งนักการเมืองหัวก้าวหน้าจากภาคอีสาน เช่น ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จำลอง ดาวเรือง และเตียง ศิริขันธ์ (แม้ว่าเตียงจะไม่จบการศึกษาก็ตาม) อย่างไรก็ตาม Subrahmanyan ชี้ให้เห็นความขัดแย้งบางประการคือ เกือบ 100% ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคนี้เป็นผู้ชาย ในขณะที่สัดส่วนของนักศึกษาหญิงที่จุฬาฯ มีสูงกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ผู้หญิงจึงเป็นพลเมืองที่ไม่ได้ประโยชน์มากนักจากการเมืองใหม่ของคณะราษฎร
การปฏิวัติ 2475 เปิดทางให้ “คนนอก” ก้าวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เสมือนก้าวเข้ามาเป็น “คนใน” ผู้กำหนดทิศทางการเมือง สภาผู้แทนฯ กลายเป็นพื้นที่ใหม่ที่นักการเมืองหน้าใหม่จากภูธรใช้เพื่อส่งเสียงความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกล นักการเมืองที่โดดเด่นที่สุดคือ สส.จากภาคอีสาน คือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และทองเปลว ชลภูมิ พวกเขาเรียกร้องให้ตัดงบประมาณทหาร เพิ่มงบพัฒนาเพื่อทำให้ชีวิตคนยากจนดีขึ้น พวกเขาเป็นพลังหลักที่โจมตีโครงการอันอื้อฉาวของจอมพล ป. คือโครงการสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์ และโครงการพุทธบุรีมณฑล จ.สระบุรี จนทำให้ทั้งสองโครงการล้มลง การอภิปรายในสภาฯของพวกเขาวางอยู่บนการปกป้องหลักการประชาธิปไตย แต่ความพยายามต่อสู้เพื่ออุดมคติของการปฏิวัติ 2475 ของพวกเขาก็ถูกทรยศ การหักหลังที่รุนแรงที่สุดก็คือการจับมือระหว่าง จอมพล ป. กับคณะรัฐประหาร 2490 และกลุ่มรอยัลลิสต์ พวกเขาตกเป็นเหยื่อของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ-ความหวาดระแวงทางการเมือง และถูกวิสามัญฆาตกรรมในที่สุด
แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วีรประวัติของ สส. อีสานทั้ง 5 คนจะได้รับการฟื้นฟูมากขึ้นผ่านงานเขียนประวัติศาสตร์ของฝ่ายประชาชน แต่สิ่งที่งานของ Subrahmanyan แตกต่างออกไปก็คือ เขาจับวางบทบาทของคนเหล่านี้ด้วยกรอบของ “คนนอก” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติ 2475, ได้รับประโยชน์จากการขยายระบบการศึกษาหลัง 2475 พวกเขาเป็นคนนอกที่ก้าวเข้ามาเป็นคนในของระบบอย่างกล้าหาญ แต่ก็ถูกทำลายลงทั้งด้วยความผิดพลาดของผู้นำคณะราษฎรบางคน และกลุ่มทหาร-รอยัลลิสต์
แม้ว่าความพ่ายแพ้ของนักอุดมคติประชาธิปไตยเหล่านี้จะเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ Subrahmanyan ก็หวังว่าการเสียสละของพวกเขาไม่ควรถูกลืมเลือนและกลายเป็นสิ่งเปล่าประโยชน์ แม้ว่าการปฏิวัติจะถูกหักหลัง แต่อุดมคติไม่ควรตายตามไปด้วย
Amnesia ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2564 อันเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเฝ้ามองขบวนการเยาวชนหลากหลายกลุ่มเติบโต-โลดแล่น-ท้าทายอุดมการณ์ศักดินาอำนาจนิยมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หลายครั้งพวกเขาอ้างอิงถึงสังคมอุดมคติที่คณะราษฎรทำไม่สำเร็จ วีรกรรมของ สส. อีสานทั้ง 5 คนถูกบอกเล่าให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้อีกคราหนึ่ง Subrahmanyan เฝ้าติดตามปรากฎการณ์การฟื้นฟูประวัติศาสตร์ 2475 ของคณะราษฎร 2563 และความพยายามของฝ่ายรอยัลลิสต์ที่จะลบประวัติศาสตร์ 2475 ระลอกใหม่ดังปรากฏให้เห็นจากการรื้อถอนทุบวัตถุ-สถานที่ประวัติศาสตร์มากมายนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง เราต้องบันทึกไว้ด้วยว่าปรากฏการณ์ฟื้นคืนชีพ “อุดมคติของการปฏิวัติ 2475” ในหมู่สามัญชนนั้น เริ่มมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2549 โดยกลุ่มคนเสื้อแดงหลากหลายกลุ่ม และเราต้องไม่ลืมว่านับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ฝ่ายอำนาจนิยมศักดินายังไม่สามารถควบคุมสังคมไทยให้สงบแน่นิ่งตามที่พวกเขาต้องการได้ ก็เพราะสามัญชน “คนนอก” หลากหลายกลุ่ม-ชนชั้นทั้งในเมืองและต่างจังหวัดนี่แหละที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ให้กับอำนาจอันไม่ชอบธรรม คนจำนวนมากถูกฆ่า จับกุมคุมขัง ทรมาน อุ้มหาย และต้องหนีออกนอกประเทศ ปรากฏการณ์เหล่านี้บอกเราว่าอุดมคติ 2475 ยังไม่ได้ตายไปจากสังคมไทย