Rosa Parks
Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
6h
กรณี #ตะวันแบม ตัดสินใจถอนประกันตนเอง และตัดสินใจอดอาหาร และน้ำเพื่อประท้วงต่อกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพของประชาชน
.
ผมรับรู้ถึงความเด็ดเดี่ยว และเจตนาที่ดี อันแน่วแน่ของทั้งสองคน และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า สังคมในอนาคต เมื่อมองกลับมายังสิ่งที่ทั้งคู่ทำในวันนี้ จะเข้าใจความตั้งใจดีของพวกเขาทั้งสองคน อย่างไม่มีข้อสงสัย
.
สิ่งที่ทั้งสองคนกำลังทำอยู่ ไม่ต่างจากการประท้วง เพื่อเรียกร้องสิทธิลาคลอด 90 วัน ที่แรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์กรีดเลือด และอดข้าวประท้วงในปี พ.ศ.2536 จนในที่สุด คณะรัฐมนตรีจึงยอมเห็นชอบแก้กฎหมายให้ผู้หญิงทุกคน ลาคลอดได้ 90 อย่างที่เป็นในทุกวันนี้
.
ไม่ต่างจากหญิงผิวสี ที่ชื่อว่า โรซา พาร์คส์ ที่ไม่ยอมลุกจากที่นั่งบนรถเมล์ที่สงวนไว้สำหรับคนผิวขาว จนถูกจับกุม ถูกไล่ออกจากงาน ถูกขู่ฆ่า จนนำมาสู่การคว่ำบาตรระบบขนส่งมวลชนในเมืองมอนโกเมอรี่ รัฐอลาบาม่า นานเกือบ 400 วัน จนศาลสูงตัดสินว่าการแบ่งแยกที่นั่งตามสีผิวบนรถเมล์เป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และนำมาซึ่งการออกกฎหมายสิทธิพลเมืองในปี 1964 ที่ห้ามมิให้มีการกีดกันสีผิวเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา
.
ในปี 2536 ก็คงมีหลายคนที่คิดว่าแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์หาเรื่องเจ็บตัวเอง อยู่ดีไม่ว่าดี จะไปกรีดเลือดตัวเองทำไม แต่ถ้าไม่มีเหตุการณ์ในวันนั้น ในวันนี้จำนวนวันลาคลอดก็ยังอาจจะเป็น 60 วัน อยู่เหมือนเดิม ก็ได้
.
ในปี 1955 ก็คงมีหลายคนคิดว่า ถ้าโรซา พาร์คส์ลุกออกจากที่นั่งของคนผิวขาว ก็ไม่มีเรื่องแล้ว ไม่รู้จะหาเหาใส่หัวสู้กับคนผิวขาวไปทำไม เจ้าหน้าที่ และศาล ก็เป็นคนผิวขาว สู้ไปก็ไม่ชนะ แต่ถ้าโรซา พาร์คส์ ยอมลุกจากที่นั่งในวันนั้น การเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ ก็อาจจะยังเป็นค่านิยมปกติ ที่คนในสังคมต้องจำใจยอมรับอยู่ก็ได้
.
ข้อเรียกร้องของ #ตะวันแบม จึงไม่ใช่ข้อเรียกร้องส่วนตัวของพวกเขา แต่เป็นข้อเรียกร้องสาธารณะต่ออนาคตของสังคมไทย ที่พวกเราทุกคนควรรับฟัง
.
1. ศาล หรืออำนาจตุลาการที่ปัจจุบันมีอำนาจล้นเกิน จนอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ ไม่อาจถ่วงดุลได้ตามสัดส่วน ควรจะได้รับการปฏิรูปให้การพิจารณาคดี เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้แล้ว ทั้งตำรวจ อัยการ และศาล ควรได้รับการปฏิรูปให้มีความอิสระในการทำหน้าที่ ปราศจากการแทรกแซง และครอบงำของผู้มีอำนาจ
.
2. กระบวนการยุติธรรมต้องปรับตัวตามยุคสมัย ต้องยึดหลักปกป้องสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ให้สังคมครหาได้ว่ามีไว้ปกป้องจารีตของกลุ่มผู้มีอำนาจ หรือมีไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเครือข่ายศักดินาที่กินรวบทรัพยากรของประเทศนี้อยู่
.
3. ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องธรรมดาโลก การกดขี่คนที่เห็นต่างโดยใช้คดีความเป็นเครื่องมือ มีแต่จะทำให้สังคมปริแตก ความคับแค้นที่สุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้สังคมแตกแยกจนยากประสาน อย่าลืมนะครับว่าโลกนี้ ไม่มีใครเป็นอมตะ ไม่มีใครเป็นนิรันดร์ ถ้ายังกดขี่แบบนี้ อยู่ต่อไป ก็เท่ากับนับถอยหลังสู่ความแตกหักของสังคม ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ต้องแก้ไขด้วยการพูดคุยกัน เปิดให้คนที่คิดต่างกันได้แลกเปลี่ยนกัน มีโอกาสในการกำหนดกติการ่วมกัน บนพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจ สังคมมันถึงจะไปข้างหน้าได้
.
4. กรณีมาตรา 112 และ 116 ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่ทุกๆ ฝ่ายต้องวางอคติลง แล้วหันมาพูดคุยกันในเชิงบวก ชวนกันคุยอย่างมีวุฒิภาวะ โดยนึกถึงบริบทในปัจจุบัน และฉากทัศน์ในอนาคต ละหาแนวทางในการปรับปรุงที่สร้างสรรค์ เพื่อธำรงรักษาระบบระบอบ โดยเคารพความคิดเห็นของทุกคน บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
.
ผมไม่อยากให้ในอนาคต เมื่อพวกเรามองกลับมาที่วันนี้ แล้วเราต้องรู้สึกละอายใจที่วันนี้พวกเราไม่ได้ช่วยกันเงี่ยหูฟัง #ตะวันแบม อย่างที่ควรจะเป็นเลย ต้องถูกคนรุ่นลูกรุ่นหลานตั้งคำถามในเชิงประณามว่าทำไมวันนี้คนในรุ่นของพวกเรา ถึงไม่พยายามทำอะไรเลย
.
ผมไม่อยากให้สังคมในอนาคตได้รับความสุข จากสิทธิ และเสรีภาพ ที่แลกมาด้วยชีวิตของพวกเขา และแก้เกี้ยวด้วยการยกย่องพวกเขาให้เป็นวีรบุรุษ ทั้งๆ ที่ในวันนี้เราทำอะไรได้มากกว่านั้น
.
โพสต์ๆ นี้ของผม เป็นสิ่งที่ยืนยันทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตว่า ผมเชื่อว่าสิ่งที่ #ตะวันแบม ทำ นั้นเป็นเจตนาที่ดี และผมขอยืนหยัดเคียงข้างในสิ่งที่พวกเขาทำ และไม่ต้องการให้ความสุขจากสิทธิ และเสรีภาพของพวกเราในอนาคต ต้องแลกมาด้วยชีวิตของพวกเขาในวันนี้
.
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร