วันศุกร์, มกราคม 20, 2566

บันทึกเยี่ยม: ชีวิต 3 วันหลังกรงขังของ “ตะวัน-แบม” ก่อนตัดสินใจยกระดับ “อดอาหาร-น้ำ” จนกว่า 3 ข้อเรียกร้องจะถูกตอบรับ



เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2566 ทนายความได้เดินทางเข้าเยี่ยม “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แบม” อรวรรณ 2 นักกิจกรรมอิสระที่ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 มาตั้งแต่เย็นวันที่ 16 ม.ค. 2566 จากการยื่นขอเพิกถอนประกันตัวเองเพื่อยืนหยัดตาม 3 ข้อเรียกร้องที่ได้ประกาศไว้หน้าศาลอาญา ได้แก่ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
  1. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง
  2. พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116
  3. ทั้งสองประกาศว่าจะให้เวลาศาลและพรรคการเมืองทุกพรรค 3 วัน หากในวันพุธที่ 18 ม.ค. 2566 ผู้ต้องขังคดีการเมืองยังไม่ถูกปล่อยตัวทุกคน และข้อเรียกร้องทั้งสามข้างต้นนี้ยังไม่เป็นผล จะมีการยกระดับจากทั้งในและนอกเรือนจำ ในวันที่ 19 ม.ค. 2566
หลังประกาศถึง 3 ข้อเรียกร้องนี้แล้วเสร็จ ตะวันและแบมได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกันตัวเองต่อศาลทันที โดยตะวันยื่นคำร้องต่อศาลอาญาในคดีมาตรา 112 กรณีไลฟ์สดหน้า UN ก่อนเวลาที่ขบวนเสด็จจะผ่านถนนราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ซึ่งตะวันเคยถูกถอนประกันมาแล้ว 1 ครั้ง ครั้งนั้นเธอถูกคุมขังพร้อมกับอดอาหารประท้วงเป็นเวลานานถึง 37 วัน จนมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพหลายอย่างด้วยกัน

ด้านแบมยื่นเพิกถอนประกันตัวเองต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565

ต่อมาศาลรับคำร้องและอนุญาตให้เพิกถอนประกันได้ ทั้งสองจึงถูกส่งตัวไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลางทันทีในช่วงเย็นของวันที่ 16 ม.ค. 2566
 


จนถึงตอนนี้ (19 ม.ค. 2566) ดูเหมือนว่าข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อจะไม่ได้รับการตอบรับและเป็นผล เพราะเพียง 1 วันหลังจากตะวันและแบมถูกคุมขัง ในวันที่ 17 ม.ค. “สิทธิโชค เศรษฐเศวต” ก็ถูกคุมขังเพิ่มอีกรายในคดีมาตรา 112 หลังจากศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน ทำให้สิทธิโชคต้องถูกคุมขังระหว่างรอคำสั่งประกันจากศาลอุทธรณ์

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 18 ม.ค. ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังรวมทั้งสิ้น 7 ราย ได้แก่ คทาธร, คงเพชร, พลพล, ณัฐพล, จตุพล, วัชรพล และทัตพงศ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงระหว่างการชุมนุม แต่ศาลยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเช่นเดิม

เมื่อครบตามกำหนด 3 วัน ทั้งสองจึงได้ตัดสินใจที่จะยกระดับจากภายในเรือนจำทันทีด้วยการอดอาหารและน้ำ (Dry Fasting) ตั้งแต่กลางคืนของวันที่ 18 ม.ค. 2566 อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าก่อนหน้านั้นทั้งสองต่างก็มีอาการเพลียและย่ำแย่ไม่น้อยอยู่แล้ว จากการทานอาหารเพียงน้อยนิดมาตลอด 2-3 วันที่ถูกคุมขัง

แต่ละวันแบมและตะวันทานอาหารไปเพียงวันละครั้ง ครั้งละไม่กี่คำ ส่วนน้ำก็ดื่มไปได้ไม่มาก เพราะในเรือนจำเป็นน้ำก๊อก ทำให้ 2-3 วันมานี้ทั้งสองต่างมีอาการหน้ามืด รู้สึกอยากอาเจียน และอ่อนเพลีย



16 ม.ค. – วันแรกของการถูกคุมขัง ต้องทนดื่ม ‘น้ำก๊อก’ เหม็นคลอรีนฟุ้ง กินข้าวแค่คนละไม่กี่คำ

ย้อนกลับไปในวันที่ 16 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่ทั้งสองทำกิจกรรมประกาศข้อเรียกร้องและแสดงออกด้วยการราดสีแดงลงบนตัว บริเวณด้านหน้าป้ายศาลอาญา รัชดาฯ ก่อนจะเดินเข้าไปยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวเอง

แบมและตะวันเล่าว่า วันนั้นทั้งคู่จดจ่อและเตรียมตัวอยู่แต่กับการทำกิจกรรมและยื่นถอนประกันตัวเองจึงไม่ค่อยได้กินข้าว ภายหลังเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนประกันในช่วงเย็น แบมและตะวันได้กินแค่ ‘ข้าวกับแกงฟักทอง’ เป็นมื้อแรกในเรือนจำ รสชาติและหน้าตาอาหารทำให้แบมและตะวันตักเข้าปากแค่เพียงคนละคำสองคำเท่านั้น

ส่วนน้ำก็ต้องกิน ‘น้ำก๊อก’ แทน ตะวันบอกว่า รอบนี้น้ำก๊อกดีขึ้นกว่าครั้งก่อนที่เคยถูกขัง “ยังกินได้บ้าง แต่ถ้าเลือกได้ก็กินน้ำขวดดีกว่า” ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่วันแรกของการถูกคุมขังแบมและตะวันจึงกินกลั้นใจดื่มน้ำก๊อกไปเพียงคนละนิดเดียว

ตะวันบอกอีกว่า

“เรื่องน้ำก๊อกนี่มันดีกว่ารอบก่อนนะ แต่มันก็ยังแย่อยู่ มันยังไม่ดีพอสำหรับคุณภาพชีวิตคน มันมีกลิ่นฉุนของคลอรีน มันกินแค่ประทังชีวิตได้นะ แต่ถ้าเลือกได้ก็คงไม่มีใครกิน”



17 ม.ค. – ‘แบม’ หน้ามืดกลางดึก กดปุ่มฉุกเฉิน-ตะโกนนานกว่าครึ่งชม. จนท.ถึงจะมา

วันต่อมา (17 ม.ค.) ผู้ต้องขังใจดีได้เอาน้ำบรรจุขวดขนาด 1.5 ลิตร มาแบ่งให้ทั้งสองได้ดื่ม จึงค่อยบรรเทาความกระหายน้ำได้บ้าง วันนี้แบมและตะวันกินข้าวแค่ไปเพียงมื้อเดียว ในมื้อกลางวันซึ่งเป็นเมนูผัดมาม่า แกงหน่อไม้ และผัดผักบุ้ง ตะวันกินผัดมาม่าไปแค่ 3 คำ ข้าวอีก 2 คำ ส่วนแบมก็กินข้าวกับแกงหน่อไม้ไปนิดหน่อย

“เราไม่ค่อยอยากกินข้าวในนี้และตอนนี้เท่าไหร่ ที่กินเพราะแค่จะประทังชีวิตไป ถ้ามีทางเลือกก็คงกินอย่างอื่นดีกว่า”

ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันแบมมีอาการไม่สู้ดีนัก เธอมีอาการหน้ามืด อ่อนเพลีย ปกติแบมเป็นคนที่ชอบดื่มชานมเป็นชีวิตจิตใจ ดื่มแทบจะทุกวัน หลายวันมานี้อย่าว่าแต่ชานมเลย แค่ข้าวเธอยังลงไปถึงท้องไม่กี่คำเอง เมื่อร่างกายได้รับพลังงานน้อยกว่าปกติที่เป็นอยู่ทุกวัน ร่างกายแบมจึงเริ่มประท้วงขึ้นมาแล้ว

ในคืนนั้นเวลาประมาณ 22.00 น. จู่ๆ แบมก็มีอาการพะอืดพะอม และหน้ามืด ตะวันจึงกดออดเรียกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปถึง 2 ครั้ง แต่ปรากฏว่า ‘ไม่มีเจ้าหน้าที่มาเลย’ จากนั้นตะวันพยายามโบกมือใส่กล้องวงจรปิดในห้องขัง แต่ก็ยังไม่มีใครสนใจจะมาหาเลยแม้แต่คนเดียว

“ช่วยด้วยค่ะพี่ เพื่อนหนูจะเป็นลม พี่มาดูเพื่อนหนูด้วย” ตะวันตะโกนเสียงดังหน้าห้องขัง

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีใครเข้ามา สุดท้ายตะวันเลยเอาผ้าขี้ริ้วไปปิดกล้องวงจรปิดไว้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เห็นความผิดปกติในห้องขังนี้และจะได้รีบมา

แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กดออดครั้งแรกและอีกสารพัดวิธี อีกสักพักหนึ่งกว่าเจ้าหน้าที่จึงมาหา ตะวันและแบมต้องรอเป็นเวลาราวๆ 30 นาทีได้ เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงก็ได้เข้ามาตรวจและถามอาการ

จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงโทรหาหมอและบอกกับปลายสายว่า “มันบอกว่า ผะอืด ผะอม หน้ามืดไม่ไหว จะเป็นลม” ไม่นานหมอจึงเข้าไปตรวจแบมถึงในห้องขัง

“ใช่, เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรียกเราว่า ‘มัน’ ”

ตะวันและแบมแสดงความเห็นถึงเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างหนักแน่นว่า อยากให้เจ้าหน้าที่ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่อยากให้มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มี Mindset เช่นนี้ อยากให้มองนักโทษว่าเป็น ‘คนเท่ากัน’

เมื่อหมอมาถึงได้ทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดของแบม ผลออกมาว่าน้ำตาลในเลือดยังไม่ได้อยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อตรวจเสร็จหมดจึงให้กินน้ำและน้ำหวานเข้าไปเพื่อช่วยบรรเทาอาการ

ตะวันและแบมพูดย้ำว่า “การกดออดแสดงว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน แต่กว่าเจ้าหน้าที่จะมา กว่าจะตามหมอได้ เขาทำเหมือนมันไม่ได้เป็นเรื่องฉุกเฉินเลย สมมติเราใกล้ตายจริงตอนนั้นเราคงจะตายไปแล้ว เพราะต้องรอนานมากจริงๆ”

“ตอนแรกหวังว่าแค่โบกมือก็น่าจะมาแล้ว แต่นี่ต้องตะโกนอยู่นาน จนต้องเอาผ้าปิดกล้องวงจร เจ้าหน้าที่ถึงจะมา แล้วถ้ามันฉุกเฉินจริงๆ ป่วยหนัก แล้วให้เรามารอแบบนี้ ชีวิตเราไม่มีค่าเลยเหรอ”



18 ม.ค. – ตะวันเพลียอีก ก่อนยืนยันหนักแน่น ‘จะอดทั้งข้าวทั้งน้ำ’ ยกระดับจากในเรือนจำ


ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวัน ประมาณตี 5 ตะวันก็รู้สึกว่ามีอาการไม่ค่อยดี รู้สึกเพลีย ไม่มีแรง ปวดท้อง และรู้สึกอยากจะอาเจียน ตะวันบอกว่าอาการที่เป็นอยู่นี้หนักกว่าตอนที่เคยอดอาหารประท้วงแล้วกินแต่น้ำกับนม

ตะวันบอกว่าการถูกคุมขังครั้งนี้ ตั้งแต่เข้าไปตลอด 2 วันกินข้าวแค่ไม่กี่คำ ส่วนน้ำไม่ได้กินทั้งวัน เพิ่งจะมาได้กินตอนเช้าวันนี้ เพราะมีคนส่งน้ำแบบขวดลิตรเข้ามาให้แล้ว

แม้ว่าตะวันกับแบมจะกินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ และอาการไม่ดีนัก แต่ทั้งสองก็ยังยืนยันว่าจะยกระดับการต่อสู้ขึ้นไปอีก ด้วยวิธี ‘อดอาหารและน้ำ’ ตั้งแต่กลางคืนของวันนี้เลย เพราะยังไม่มีผู้ต้องขังคดีการเมืองคนใดได้รับการปล่อยตัวเลยสักคน

“จะอดน้ำด้วยเหรอ อย่างน้อยขอให้กินน้ำได้ไหม” เราบอก

แต่ทั้งสองยืนยันหนักแน่นว่า

“ไม่เอา ไม่กินข้าว ไม่กินน้ำ, ถ้าเพื่อนไม่ได้ประกัน ก็ไม่ต้องยื่นประกันตะวันกับแบม แล้วพวกหนูก็ยืนยันจะยกระดับการประท้วงตามที่ได้บอกกับทุกคนไว้”

สารถึงสมบัติ ทองย้อย ผู้ต้องขังคดี ม.112 “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ”

สุดท้ายตะวันและแบมฝากข้อความถึงพี่หนุ่ม (สมบัติ ทองย้อย) ว่า

“ตะวันกับแบมติดตามข่าวพี่สมบัติมาตลอด คอยอ่านบันทึกเยี่ยมมาเสมอ รู้ว่าพี่ไม่มีกำลังใจแล้ว อยากออกมาอยู่ข้างนอก อยากออกมาหาลูก มีภาระหนี้สิน มีครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ

“หนูเลยอยากส่งข้อความให้ว่า ‘อย่าหมดหวัง อยากให้ลองดูสิ่งที่พวกหนูกำลังทำ หวังว่าการลงมือครั้งนี้ของพวกหนูจะช่วยอะไรพี่สมบัติและผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นๆ ได้บ้าง”
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง