ภายหลัง พล.อ. ประยุทธ์แยกทางไป รทสช. พล.อ. ประวิตรยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า “ยังรักกันเหมือนเดิม-ไม่ถือว่าเป็นคู่แข่ง-ทางการเมือง ใครดีกว่าคนนั้นก็เป็นไป”
เลือกตั้ง 2566 : ทางเดินของนายกฯ “คนดี” ที่รวมไทยสร้างชาติ หลัง “2 ป.” แยกทาง
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
เลือกตั้ง 2566 : ทางเดินของนายกฯ “คนดี” ที่รวมไทยสร้างชาติ หลัง “2 ป.” แยกทาง
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
2 มกราคม 2023
ในปี 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีอายุครบ 69 ปี และยังไม่หยุดเดินต่อทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่าต้องการ “สานต่อในสิ่งที่ค้างคา”
เขานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปี เป็นผู้นำรัฐบาลตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 และหลังเลือกตั้ง 2562 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
แม้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ส่งชื่อ พล.อ. ประยุทธ์เข้าประกวดในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรค มีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ด้วยกลไกของ “รัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์หวนคืนทำเนียบรัฐบาลได้เป็นสมัยที่ 2
ทว่าสิ่งที่ต่างออกไปในศึกเลือกตั้ง 2566 คือ กติกาใหม่ที่ถูกมองว่าเอื้อต่อพรรคใหญ่มากกว่า, การมีสถานะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองครั้งแรกในชีวิตที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และที่สำคัญคือทางที่ต้องเดินไม่มี “พี่ใหญ่” ที่ชื่อ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ คอยเคียงข้าง
ตรงกันข้าม ต่างคนต่างเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคตัวเอง จึงถือเป็นคู่แข่งขันทางการเมืองอย่างไม่อาจปฏิเสธ
บีบีซีไทยชวน รศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ทิศทางการเมืองไทยในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง และอนาคตของผู้นำคนที่ 29 หลัง “2 ป.” แยกทาง
ใครทิ้งใคร
“ทั้งคู่ดูเหมือนคนที่ไม่มีใจให้กันแล้ว” รศ.ดร. สิริพรรณตอบคำถามของบีบีซีไทยที่ว่าใครทิ้งใคร ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า ในขณะที่แกนนำ พปชร. เชิญชวนให้ พล.อ. ประยุทธ์อยู่ต่อ แต่กลับประกาศหลายกรรม-หลายวาระว่าจะเสนอชื่อ พล.อ. ประวิตรเป็นแคนดิเดตนายกฯ เบอร์ 1 ในบัญชีของพรรค ซึ่งเหมือนเป็นการ “ไล่ทางอ้อม” ถึงแม้ยังมีเยื่อใย แต่ พล.อ. ประยุทธ์ก็กลับไปไม่ได้แล้ว
2 มกราคม 2023
ในปี 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีอายุครบ 69 ปี และยังไม่หยุดเดินต่อทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่าต้องการ “สานต่อในสิ่งที่ค้างคา”
เขานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปี เป็นผู้นำรัฐบาลตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 และหลังเลือกตั้ง 2562 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
แม้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ส่งชื่อ พล.อ. ประยุทธ์เข้าประกวดในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรค มีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ด้วยกลไกของ “รัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์หวนคืนทำเนียบรัฐบาลได้เป็นสมัยที่ 2
ทว่าสิ่งที่ต่างออกไปในศึกเลือกตั้ง 2566 คือ กติกาใหม่ที่ถูกมองว่าเอื้อต่อพรรคใหญ่มากกว่า, การมีสถานะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองครั้งแรกในชีวิตที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และที่สำคัญคือทางที่ต้องเดินไม่มี “พี่ใหญ่” ที่ชื่อ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ คอยเคียงข้าง
ตรงกันข้าม ต่างคนต่างเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคตัวเอง จึงถือเป็นคู่แข่งขันทางการเมืองอย่างไม่อาจปฏิเสธ
บีบีซีไทยชวน รศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ทิศทางการเมืองไทยในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง และอนาคตของผู้นำคนที่ 29 หลัง “2 ป.” แยกทาง
ใครทิ้งใคร
“ทั้งคู่ดูเหมือนคนที่ไม่มีใจให้กันแล้ว” รศ.ดร. สิริพรรณตอบคำถามของบีบีซีไทยที่ว่าใครทิ้งใคร ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า ในขณะที่แกนนำ พปชร. เชิญชวนให้ พล.อ. ประยุทธ์อยู่ต่อ แต่กลับประกาศหลายกรรม-หลายวาระว่าจะเสนอชื่อ พล.อ. ประวิตรเป็นแคนดิเดตนายกฯ เบอร์ 1 ในบัญชีของพรรค ซึ่งเหมือนเป็นการ “ไล่ทางอ้อม” ถึงแม้ยังมีเยื่อใย แต่ พล.อ. ประยุทธ์ก็กลับไปไม่ได้แล้ว
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ให้เหตุผลในการย้ายมาซบ พปชร. เมื่อ 6 ธ.ค. 2565 ว่าเพราะ พล.อ. ประยุทธ์ไม่อยู่แล้ว และอ้างด้วยว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ
จุดแตกหักระหว่าง พรรค กับ นายกฯ คนนอก ในทัศนะของอาจารย์สิริพรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพรรคการเมืองและระบบการเลือกตั้ง มาจากประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้
- “กบฏการเมืองล้มนายกฯ” ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรี เมื่อ ส.ค.-ก.ย. 2564 ก่อนที่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการ พปชร. จะแยกตัวออกไปทำพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.)
- แนวทางการทำพรรค และความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ กับสมาชิก พปชร. ที่เป็น ส.ส. และ ครม.
- ผลการสำรวจของโพลสำนักต่าง ๆ ชี้ว่า คะแนนนิยมในตัว พล.อ. ประยุทธ์ เหนือกว่าพรรค พปชร. โดยอยู่ที่ 15% ต่อ 10% ณ เดือน ธ.ค. 2565 “จุดนี้น่าจะเป็นจุดที่ พล.อ. ประยุทธ์ตัดสินใจได้ง่ายว่าถ้าเดินออกจาก พปชร. ก็มีคะแนนในกระเป๋าตัวเอง”
ทั้งหมดนี้กลายเป็นเงื่อนไขบังคับให้ “ป.ผู้น้อง” ต้องแยกทางจาก “ป.ผู้พี่” และทำให้มีพรรคการเมืองที่อาจารย์สิริพรรณเรียกว่า “พรรคชูทหาร” ลงสู้ศึกเลือกตั้งพร้อมกัน 2 พรรค
โจทย์ใหญ่ใน “เรือ ป.ประยุทธ์”
จากจงใจเล่นบท “อยู่เหนือการเมือง” ไม่เอาตัวไปผูกพันใกล้ชิดกับบรรดานักเลือกตั้งอาชีพ แต่เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ตัดสินใจทิ้งสถานะเก่า-ลงมา “คลุกการเมือง” เต็มตัว-เตรียมสมัครสมาชิกพรรค รทสช. มีหลายสิ่งที่เขาไม่เคยพบ แล้วต้องเจอ
แม้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่ถ้า 2 ป. ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในทางวิชาการก็ยังถือว่าเป็น “นายกฯ คนนอก” อยู่ดี
“ตอนอยู่พลังประชารัฐ พล.อ. ประยุทธ์แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย... พลังประชารัฐ กับ พล.อ. ประวิตรเป็นคนพายเรือให้นั่ง แต่ถ้า พล.อ. ประยุทธ์มารวมไทยสร้างชาติ แล้วมาลงแข่งขันครั้งนี้ ต้องบอกเลยว่า พล.อ. ประยุทธ์จะต้องพายเรือด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่พายเรือเองเท่านั้น แต่ต้องแบกผู้สมัครจำนวนหนึ่งที่มีข่าวว่าจะย้ายมาร่วมด้วย เพราะผู้สมัครเหล่านี้เกินครึ่งเลยที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ในพื้นที่ ณ ปัจจุบัน แล้วก็อาศัยแสงของ พล.อ. ประยุทธ์มาช่วย” รศ.ดร. สิริพรรณกล่าว
นักรัฐศาสตร์แห่งจุฬาฯ ชี้ว่า 3 โจทย์สำคัญใน “เรือ ป.ประยุทธ์” ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ในฐานะ “ต้นเรือ” ต้องนำพาพรรค รทสช. ไป มีดังนี้
การบริหารจัดการพรรค: ต้องเกลี่ยพื้นที่ทับซ้อนของ ส.ส. ที่ย้ายมาร่วมงาน และทำหน้าที่ “กาวใจ” เป็นตัวกลางประสานเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งภายใน
นโยบาย: แม้ พล.อ. ประยุทธ์อาจไม่ใช่คนคิด แต่ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ จะขายนโยบายให้พรรคได้อย่างไร และจะขึ้นเวทีดีเบตหรือไม่ หรือนโยบายที่โดดเด่นของรัฐบาล “ประยุทธ์ 1-2” เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” หรือโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” นายกฯ จะอ้างเป็นผลงานของตัวเองได้หรือไม่ “เชื่อว่าจะถูกยื้อแย่งและรุมทึ้งโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคสร้างอนาคตไทย และ พล.อ. ประยุทธ์เองด้วยที่จะต้องเทคเครดิต”
พล.อ. ประยุทธ์ปฏิเสธเมื่อ ส.ค. 2565 ว่า ไม่ได้เป็นคนสั่งตั้งชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังนักการเมืองคนสนิทออกมาบอกว่า “เป็นคำที่ พล.อ. ประยุทธ์ชื่นชอบและตั้งคำนี้ขึ้นมาเอง” ทว่านายกฯ มักพูดถึงคำนี้อยู่บ่อย ๆ ในช่วงแก้ปัญหาโควิด-19
ทุนในการหาเสียงเลือกตั้ง: กลุ่มทุนทั้งหลายต้องคำนวณว่า รทสช. มีโอกาสชนะทางการเมืองหรือไม่ และคุ้มหรือไม่กับรัฐบาล “ประยุทธ์ 3” (ถ้ามี) ที่บริหารประเทศได้เพียง 2 ปี
“อันนี้คือโจทย์ใหญ่ว่าทุนที่ไหนจะสนับสนุน เรากำลังตั้งสมมติฐานบนความคิดที่ว่า ชนชั้นนำอนุรักษนิยมกลุ่มหนึ่งมองว่า พล.อ. ประยุทธ์ยังเป็นทางเลือกที่มีโอกาสไปต่อได้ อันนี้คือมุมของเขา แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ ในทางเศรษฐกิจ กลุ่มทุนยังคิดแบบนี้อยู่หรือเปล่า เพราะว่าการบริหารประเทศที่เศรษฐกิจเงียบฉี่ แต่เราก็เชื่อว่าด้วยบารมี ด้วยสายสัมพันธ์บางอย่างที่ค่อนข้างพิเศษของ พล.อ. ประยุทธ์ อาจทำให้กลุ่มทุนให้เงินอุดหนุนบ้าง แต่แน่นอนเวลาเขาให้เงินอุดหนุนเขาไม่ได้อุดหนุนแค่ พล.อ. ประยุทธ์ หรือรวมไทยสร้างชาติ เขาอุดหนุนพรรคอื่นด้วย สัดส่วนที่จะให้รวมไทยสร้างชาติคงไม่เยอะมากถ้าเทียบกับพรรคอื่น ๆ”
หากถามว่า พล.อ. ประยุทธ์อยู่มา 8 ปี มีคุณูปการอะไรกับการเมืองไทยบ้าง
“คุณูปการสำคัญนะคะ คือทำให้การรัฐประหารไม่พึงประสงค์อีกต่อไป” รศ.ดร. สิริพรรณตอบเพียงสั้น ๆ
ทางเลือกของ “ตัวช่วยเก่า”
ความท้าทายของ พล.อ. ประยุทธ์ ในวัยย่าง 69 ปี คงไม่ได้หยุดอยู่ที่การแยกทางจาก “พี่ชายต่างสายเลือด” ไปทำงานการเมืองกับพรรคใหม่เท่านั้น
นักวิเคราะห์และผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองเริ่มตั้งสมมติฐานแล้วว่า หาก รทสช. หรือ พปชร. มีคะแนนเสียงเป็นรองพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ความชอบธรรมในการชิงเสียงจัดตั้งรัฐบาลจะอยู่ตรงไหน
ประชาธิปัตย์ร่างสอง? – หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค รทสช. ให้การต้อนรับนายชุมพล กาญจนะ, นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี, นายชัชวาลล์ คงอุดม เมื่อ 27 ธ.ค. 2565 โดยทั้งหมดเป็นอดีต ปชป. ยกเว้น “ชัช เตาปูน” ที่ย้ายมาจากพรรคพลังท้องถิ่นไทย
รศ.ดร. สิริพรรณมองว่า ประเด็นนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของ รทสช. และ พปชร. พร้อมยกสถิติในการเลือกตั้ง 2562 มาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในสนามเลือกตั้ง 2566 โดยเชื่อว่าทั้ง 2 พรรคนี้ไม่น่าจะเป็นพรรคอันดับ 2 ของสภาได้ เนื่องจากผู้เล่นหลักของ รทสช. ย้ายมาจาก ปชป. จนดูเหมือน “ประชาธิปัตย์ร่างสอง” และอีกบางส่วนมาจาก พปชร. ที่เตรียมเก็บกระเป๋า-ย้ายเข้าบ้านใหม่พร้อม พล.อ. ประยุทธ์
จากการคาดการณ์ของอาจารย์สิริพรรณ 3 พรรคการเมือง - พปชร. (เดิม 116 เสียง) ปชป. (เดิม 53 เสียง) และ รทสช. (เพิ่งก่อตั้งพรรค ไม่มีเสียง) - น่าจะได้ที่นั่งรวมกันไม่เกิน 160 เสียง ภายใต้การประเมินบนฐานที่ว่าทุกคน-ทุกพรรคมีคะแนนนิยมเท่าเดิม ทว่าโดยข้อเท็จจริง คะแนนของทั้ง พปชร. และ ปชป. ได้ย้ายไปเติมให้พรรคอื่น ๆ ด้วยหลังผู้แทนราษฎรหลายคนย้ายไปสังกัดทั้ง ภท. และ พท.
จึงไม่แปลกหากสังคมจะเริ่มจับจ้อง-ดักคอ “ตัวช่วยเก่า” ของพี่น้อง 2 ป. นั่นคือ 250 ส.ว. ที่มาจากกระบวนการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่ง ส.ว. ชุดนี้เคยลงมติเป็นเอกฉันท์สนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 มาแล้ว และยังมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 ร่วม ส.ส. ภายหลังการเลือกตั้ง 2566 อีกครั้ง
“ทั้งสองท่านยังหวังพึ่ง ส.ว. แน่นอน ซึ่งบางทีเราก็คิดว่าเอ๊ะ ท่านได้เข้าใจอุณหภูมิทางการเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์จักรวาลทัศน์ของคนในสังคมนี้มากน้อยแค่ไหน” รองศาสตราจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ระบุ
ส.ว. เฉพาะกาล ลงมติเป็นเอกฉันท์ 249 เสียง งดออกเสียง 1 (ประธาน) สนับสนุนให้แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชี พปชร. เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ในระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 5 มิ.ย. 2562
อย่างไรก็ตามเมื่อ 2 ป. แยกพรรค ทำให้เกิดคำถามว่า “พลพรรค ส.ว.” จะเลือก ป. ไหน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. สิริพรรณเห็นว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับในสนามเลือกตั้ง โดยมีแกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นตัวแปรสำคัญ
กรณีแรก พท. ได้ต่ำกว่า 220 ที่นั่ง >> โอกาสจัดตั้งรัฐบาลยากขึ้น
หากพรรคฝั่งอนุรักษนิยม ไม่ว่านำโดย ภท. พปชร. หรือ รทสช. สามารถรวมเสียง ส.ส. ได้ใกล้เคียงกับ 250 ที่นั่ง >> คาดว่า ส.ว. พร้อมโหวตให้ และอาจไม่แตกแถว
กรณีที่สอง พท. ได้มากกว่า 220 ที่นั่ง และสามารถรวมเสียงพรรคพันธมิตรฝ่ายค้านเดิมได้ราว 280-300 ที่นั่ง >> อาจเห็น พปชร. พลิกมาร่วมกับ พท. และอาจเห็น “ส.ว. แตกแถว” โดยมี ส.ว. บางส่วนย้ายตาม พล.อ. ประวิตรมาด้วย
“ถ้าเราประเมิน พล.อ. ประยุทธ์ อาจมี ส.ว. ราว 150 คน พล.อ. ประวิตรมีราว 100 คน อันนี้ประเมินคร่าว ๆ จากการนั่งดูการโหวตในกรณีหนึ่งแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ กับ พล.อ. ประวิตรเห็นไม่ตรงกัน พบว่า พล.อ. ประยุทธ์มี ส.ว. ที่โหวตด้วย 150 คน ดังนั้นในแง่นี้การที่พลังประชารัฐจะชู พล.อ. ประวิตร แล้วมี ส.ว. อยู่ 100 คน มันก็เป็นช่องทางที่ทำให้พรรคไปจับมือกับพรรคอื่น ๆ ได้ด้วย” รศ.ดร. สิริพรรณกล่าว
พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของนายกฯ เป็น 1 ใน 250 ส.ว. ด้วย
สำหรับปรากฏการณ์ “ส.ว. เสียงแตก” เคยเกิดขึ้นในระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวาระ 2 และ 3 เมื่อ ก.ค. 2565 ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องการคำนวณหายอด ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ว่าจะใช้สูตรหารด้วย 100 หรือ 500 โดย พล.อ. ประยุทธ์ส่งสัญญาณสนับสนุนสูตรหลัง ขณะที่ พล.อ. ประวิตรบอกว่า “เอาหาร 100” ก่อนปรับท่าทีใหม่
ผลปรากฏว่า สมาชิกสภาสูง 154 คน ร่วมโหวตคว่ำสูตรหาร 100 เพื่อให้กลับไปใช้สูตร 500 ตามเสียงเชียร์ของ พล.อ. ประยุทธ์ ขณะที่อีก 7 คนโหวตหนุนสูตรหาร 100 และอีก 88 คน ของดออกเสียง ไม่ลงคะแนน และลาประชุม
“นายกฯ คนละครึ่ง”
อย่างไรก็ตาม ส.ว. 250 คนจะอยู่ในตำแหน่งถึงปี 2567 เท่านั้น การยืดระยะเวลาครองอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งเหลืออายุขัยทางการเมืองเพียง 2 ปี จึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสูตร “นายกฯ คนละครึ่ง” ที่นักการเมืองผู้ประกาศตัวเป็น “กองหนุน” ของ พล.อ. ประยุทธ์ ออกมาโยนหินถามทางเอาไว้
ไม่ว่าจะสูตร “ลุงตู่ครึ่ง ลุงป้อมครึ่ง” ที่อาจารย์สิริพรรณ “มองไม่เห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์จะขึ้นมาได้ในจังหวะไหน” เนื่องจาก พปชร. ย้ำชัดเจนหลายรอบว่า พล.อ. ประวิตรจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงหนึ่งเดียวของพรรค และสมมติ พล.อ. ประวิตรได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ จริง จะยอมลงจากอำนาจในปี 2568 หรือไม่ ถ้าเกิดไม่ยอม พล.อ. ประยุทธ์จะขึ้นมาได้อย่างไร
“หลังจากสองปี จะไม่มี ส.ว. 250 คนร่วมโหวตแล้ว จะมีแค่การเลือกในสภาผู้แทนฯ เท่านั้น ถ้าเราวิเคราะห์กันตอนนี้ ทั้งพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ อาจจะเป็นพรรคประมาณ 40 ที่นั่ง คุณจะเอาเสียงที่ไหนในสภาอย่างเดียวมาโหวตให้อีกคนสลับขึ้นมา”
นายอนุทินตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อ 8 ธ.ค. 2565 ถึงความเป็นไปได้ในการรับไม้ต่อการเมืองจาก พล.อ. ประยุทธ์ว่า “ผมไม่ประสงค์ ถ้าผมจะเป็นอะไร ต้องทําตัวเองให้มีความพร้อม ทําความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ไม่ให้ใครมาตั้ง”
เช่นเดียวกับสูตร “ลุงตู่ครึ่ง เสี่ยหนูครึ่ง” ที่อาจารย์สิริพรรณเห็นว่า “โอกาสริบหรี่” หลังจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. ประกาศความพร้อมในการเป็นนายกฯ คนต่อไป และไม่ประสงค์จะรับไม้ต่อจากใครทั้งสิ้น
“โอกาสของการส่งไม้ต่อคนละครึ่ง มันเหมือนกับจินตนาการในความฝัน มากกว่าที่เป็นจริงได้ในเงื่อนไขปัจจุบัน ด้วยเหตุผลทางการเมืองของคนรอบข้างที่จะดัน พล.อ. ประยุทธ์ และยังไม่พร้อมจะเห็นความเปลี่ยนแปลง” รศ.ดร. สิริพรรณให้ความเห็น
“คนดี” ใน “สมรภูมิสุดท้ายของฝ่ายขวา”
ในขณะที่ชาวพลังประชารัฐมองว่าการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศได้ถึงปี 2568 เป็นอุปสรรค แต่ชาวรวมไทยสร้างชาติเห็นต่าง
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค รทสช. บอกว่า เงื่อนไข 2 ปี บอกเพียงห้ามเป็นนายกฯ แต่ไม่ได้ห้ามทำงานการเมือง หรืออยู่กับพรรคการเมือง หรือรับตำแหน่งใด ๆ ทั้งสิ้น “ที่สำคัญคิดว่า คนดี ๆ อย่างท่าน หนึ่งวันก็อยู่ได้”
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นำทีมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ปิดท้ายการประชุมใหญ่พรรค รทสช. เพื่อปรับโครงสร้าง กก.บห. เมื่อ 3 ส.ค. 2565
ในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารปี 2557 และเป็นการเลือกตั้งหนแรกภายหลังยุค “เปลี่ยนผ่าน” พล.อ. ประยุทธ์ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยม 4 ปีผ่านไป อาจารย์สิริพรรณเชื่อว่า พล.อ. ประยุทธ์ก็ยังเป็นตัวเลือกเดียวของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมที่เรียกว่า “ขวาค่อนข้างสุดโต่ง”
ถึงขณะนี้ รศ.ดร.สิริพรรณบอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินทิศทางการเมืองไทยหลัง “ระบอบประยุทธ์” (Post-Prayuth) แต่ชี้ว่าโลกทัศน์ในพื้นที่การเมืองไทยในเวลานี้แตกต่างจากช่วงก่อนรัฐประหารโดย คสช. ค่อนข้างมาก จากเคยมี พท. พรรคเดียวที่เป็น “กลางซ้าย” ปัจจุบันมีหลายพรรคที่อยู่เฉดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่แม้เป็นเฉดซ้ายสุด แต่ก็ยังอยู่ตรงกลาง, พรรคประชาชาติ (ปช.) ที่มีฐานเสียงเฉพาะ หรือพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ที่เป็นพรรคอนุรักษนิยมก้าวหน้า
ส่วนฝั่งขวา เดิมมี ปชป. และ ภท. ต่อมาได้เกิด พปชร., พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช. ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น พรรครวมพลัง), พรรคไทยภักดี (ทภด.) และ รทสช.
“มันเหมือนดึงชักเย่อทางการเมือง พอขยับซ้ายหน่อย เขาก็อยากดึงกลับมาให้สมดุล จึงเกิดพรรคขวาและขวาสุดโต่งอย่างไทยภักดี หรือรวมไทยสร้างชาติเองก็เป็นภาพสะท้อนของการดึงกลับ เพราะมองว่าพลังประชารัฐขวาไม่พอ แถมอาจจะเป็นขวาที่ทรยศจุดยืนเดิมทางการเมืองด้วย มีโอกาสไปรวมกับเพื่อไทยได้ ดังนั้นการเกิดขึ้นของพรรครวมไทยสร้างชาติจึงเป็นเหมือนสมรภูมิสุดท้ายที่จะดึงสังคมกลับ และรองรับกลุ่มคนที่ขวากว่าพลังประชารัฐให้มาอยู่รวมกัน ขอตั้งไว้ก่อน ส่วนจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร จะสำเร็จหรือไม่ ก็ไปตายเอาดาบหน้า แต่ถ้าไม่สู้ตอนนี้ก็เท่ากับแพ้ ถ้าไม่ส่ง พล.อ. ประยุทธ์ตอนนี้ คุณก็จะไม่มีตัวแทนที่จะสู้ได้เลย” รศ.ดร. สิริพรรณวิเคราะห์
รศ.ดร. สิริพรรณชี้ว่า การมีพรรคทางเลือกมากขึ้นเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมที่ยอมรับการประนีประนอม การต่อรองทางการเมือง และไม่ต้องการเห็นพรรคใดพรรคหนึ่งคุมเสียงข้างมากในสภา
การเลือกตั้งหนที่ 2 หลังยุค “เปลี่ยนผ่าน”
เมื่อให้นักรัฐศาสตร์วิเคราะห์การเลือกตั้งครั้งที่ 2 ภายหลังยุค “เปลี่ยนผ่าน” ว่าการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์จะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน หลังผ่านการชุมนุมของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม “ราษฎร” เมื่อปี 2563-2564 และมีพรรคการเมืองที่เดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง 2566 ด้วยนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
รศ.ดร. สิริพรรณเชื่อว่า บทเรียนจากพรรค รปช. ที่ได้ ส.ส. เพียง 5 ที่นั่ง เมื่อ 4 ปีก่อน ทำให้เกิดพรรค รทสช. ในปีนี้ ซึ่งเป็นการประกอบร่างใหม่ของ 3 ส่วนคือ พรรคอนุรักษนิยมที่ขวากว่า พปชร., สมาชิก ปชป. ที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ และตัว พล.อ. ประยุทธ์เอง
“รวมไทยสร้างชาติคงไม่ได้หวังพื้นที่ตรงกลางแม้เป็นพื้นที่ใหญ่สุด แต่เขาก็อยากจะหวังว่ามันมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่เป็นขวาค่อนข้างมาก ขวาสุดโต่งอยู่พอสมควร แล้ว พล.อ. ประยุทธ์ก็ยังมีคะแนนนิยมอยู่บางส่วน มี ส.ว. ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการเลือกนายกฯ อยู่บ้าง ดังนั้นถ้ามองในมุมของเขาก็เป็นตรรกที่น่าจะลงทุนสำหรับเขา เพราะถ้าไม่ลงทุนตั้ง รทสช. ขึ้นมา และถ้ามันไม่สำเร็จ ก็เท่ากับพลังของอนุรักษนิยมขวาจะเหือดหายไปจากสังคมไทยและถูกกลืน” นักรัฐศาสตร์หญิงวิเคราะห์
ขณะเดียวกัน “ภัยคุกคาม” ในสายตาของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยม ได้เคลื่อนจาก “ระบอบทักษิณ” มาเป็นพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล ทว่าจากการวิเคราะห์ล่าสุดของ รศ.ดร. สิริพรรณคือ ก.ก. ตระหนักถึงจุดยืนที่ค่อนข้างแข็งกร้าวของตัวเอง และมีท่าทีจะลดโทนลงมา เช่น ม.112 อาจไม่ถูกนำมาชูในเรื่องการหาเสียง และพร้อมจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่แน่นอนว่า ก.ก. จะไม่สามารถรวมกับ รทสช. พรรคที่มี พล.อ. ประยุทธ์ได้
“แล้วถ้าเพื่อไทยรวมกับพลังประชารัฐ ก้าวไกลจะรับได้หรือเปล่า” เธอโยนคำถามทิ้งไว้
ท้ายที่สุดถ้าคนไทยได้ “นายกฯ หน้าเดิม” เป็นสมัยที่ 3 หลังเลือกตั้ง 2566 ความผิดหวังของผู้คนที่สั่งสมมาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จะทบทวีหรือไม่
“ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของประชาชน และไม่สามารถร่วมกันเกินครึ่งของสภาผู้แทนฯ โอกาสของการยอมรับให้จัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปได้ยาก และจุดสำคัญที่สุดคือ ส.ว. จะมีท่าทีไง เชื่อจริง ๆ ว่าก่อนเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีข้อเรียกร้องให้ ส.ว. ออกมาบอกว่าจะเคารพเสียงประชาชน” รศ.ดร. สิริพรรณกล่าวทิ้งท้าย