รายงานระบุว่า กองทัพเมียนมามีความสามารถที่จะผลิตอาวุธด้วยตัวเองเพื่อโจมตีพลเรือนตัวเองอยู่แล้ว
เมียนมา : อดีต จนท. ยูเอ็นชี้ เอกชนหลายชาติช่วยกองทัพผลิตอาวุธปราบประชาชน
โดย ซีเลีย แฮตตัน
บีบีซีนิวส์
เมื่อ 8 ชั่วโมงที่แล้ว
อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสสหประชาชาติ ระบุ กองทัพเมียนมาปราบปรามประชาชนตัวเองด้วยอาวุธหลายประเภทโดยได้เครื่องจักรและวัตถุดิบในการผลิตจากบริษัทใน 13 ประเทศเป็นอย่างน้อย
ในจำนวนนั้นมีสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, อินเดีย และญี่ปุ่นด้วย แม้ว่าชาติตะวันตกได้ร่วมกันใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อโดดเดียวเมียนมา
เมียนมาต้องเผชิญกับความรุนแรงในประเทศหลังกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ ก.พ. 2021 โดยฝ่ายต่อต้านรัฐประหารได้เข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลทหาร
รายงานโดยที่ปรึกษาพิเศษด้านเมียนมา ระบุว่า มีประเทศสมาชิกยูเอ็นหลายประเทศยังคงขายอาวุธให้กับกองทัพเมียนมา แม้กองทัพเมียนมามีความสามารถผลิตอาวุธเองเพื่อโจมตีพลเรือนในประเทศอยู่แล้ว
รายงานระบุว่า บริษัทที่ถูกพูดถึงจัดส่งวัตถุดิบ และเครื่องจักรให้กองทัพเมียนมาและช่วยเรื่องการฝึกสอนด้วย โดยอาวุธเหล่านั้นไม่ได้ใช้เพื่อการป้องกันประเทศ
"เมียนมาไม่เคยถูกต่างขาติโจมตี" ยังฮี ลี อดีตผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในผู้เขียนรายงานนี้ ระบุ
"และเมียนมาก็ไม่ได้ส่งออกอาวุธ ตั้งแต่ปี 1950 มา พวกเขาทำอาวุธเองเพื่อใช้กับผู้คนของตัวเอง"
ตัวเลขทางการชี้ว่ามีประชาชนมากกว่า 2,600 รายที่ถูกกองทัพสังหารตั้งแต่การก่อรัฐประหาร อย่างไรก็ดี คาดกันว่าตัวเลขจริงอาจสูงกว่านั้นเป็น 10 เท่า
ตัวเลขทางการชี้ว่ามีประชาชนมากกว่า 2,600 รายที่ถูกกองทัพสังหารตั้งแต่การก่อรัฐประหาร อย่างไรก็ดี คาดกันว่าตัวเลขจริงอาจสูงกว่านั้นเป็น 10 เท่า
"ตอนเริ่มต้น ดูเหมือนว่ากองทัพสามารถเอาชนะขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านที่กำลังก่อตัว แต่ในช่วงไม่กี่เดือนและไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนสถานการณ์จะพลิกผันนิดหน่อย" โซ วิน ตัน บรรณาธิการแผนกภาษาเมียนมา ระบุ เขาอธิบายต่ออีกว่า สิ่งที่ฝ่ายต่อต้านไม่มีในสิ่งที่กองทัพมีคือ ความสามารถในการโจมตีทางอากาศ
รายงานฉบับนี้ระบุอีกว่า มาตรการคว่ำบาตรโดยนานาชาติและการโดดเดี่ยวเมียนมาหลังจากการก่อรัฐประหาร ไม่ได้หยุดยั้งผู้นำรัฐประหารเมียนมาจากการผลิตอาวุธมากมาย ซึ่งประกอบไปด้วยปืนสไนเปอร์, ปืนต่อสู้อากาศยาน, เครื่องยิงจรวดขีปนาวุธ, ระเบิดมือ, ระเบิด และกับระเบิด
นอกจาก ยังฮี ลี แล้ว ผู้เขียนรายงานคนอื่น ๆ ได้แก่ คริส ซิโดติ และ มาร์ซูกิ ดารัสแมน ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในเมียนมาของยูเอ็น
อดีตเจ้าหน้าที่สหประชาชาติอาวุโส ระบุ ตั้งแต่ปี 1950 มา พวกเขาทำอาวุธเองเพื่อใช้กับผู้คนของตัวเอง
ข้อมูลที่พวกเขาได้มาจากเอกสารทางการทหารที่หลุดออกมา, การสัมภาษณ์อดีตทหารเมียนมา และภาพถ่ายดาวเทียมของโรงงานผลิตอาวุธ รูปถ่ายก็มีประโยชน์มากเช่นกันเพราะรูปที่ถ่ายเมื่อปี 2017 พิสูจน์ว่ามีการใช้อาวุธที่ผลิตในประเทศก่อนการก่อรัฐประหารแล้ว
คริส ซิโดติ บอกว่า จากเหตุสังหารหมู่เมื่อไม่นานมานี้ที่ภูมิภาคสะแกง ซึ่งเป็นการระเบิดและถล่มยิงโรงเรียนที่ทำให้เด็กหลายคนเสียชีวิต มีการพบอาวุธที่เห็นได้ชัดเจนว่ามาจากโรงงานผลิตอาวุธเหล่านั้น
เชื่อกันว่าเครื่องมือบางอย่างที่ใช้ในการผลิตอาวุธมาจากออสเตรีย เครื่องจักรความแม่นยำสูงที่ผลิตโดยบริษัทจากออสเตรีย GFM Steyr ถูกพบที่โรงงานหลายแห่งโดยถูกนำไปใช้ในการผลิตกระบอกปืน
เมื่อต้องซ่อมบำรุงเครื่องจักรเหล่านี้ มันจะถูกส่งไปยังไต้หวัน และมีรายงานว่าช่างเทคนิคของบริษัท GFM Steyr จะซ่อมแซมมันที่นั่น ก่อนที่จะส่งกลับไปเมียนมา รายงานบอกว่ายังไม่แน่ชัดว่าช่างเทคนิคของบริษัทจากออสเตรียทราบหรือไม่ว่าพวกเขาซ่อมแซมเครื่องจักรที่จะถูกนำไปใช้ในเมียนมา
GFM Steyr ไม่ตอบบีบีซีที่ขอความคิดเห็นในเรื่องนี้ไป
- ผู้เขียนรายงานยอมรับว่าอาวุธที่พบเป็นแค่ส่วนน้อยของเครือข่ายการผลิตทั้งหมด แต่คิดว่ามีหลายประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ :
- การผลิตอาวุธในเมียนมาได้วัตถุดิบจากจีน โดยในจำนวนนี้มีทองแดงและเหล็กที่เชื่อว่ามาจากจีนและสิงคโปร์
- จากข้อมูลการค้นส่งสินค้าและการสัมภาษณ์แหล่งข่าวทางทหาร ส่วนประกอบสำคัญอย่างฟิวส์และเชื้อปะทุไฟฟ้ามาจากบริษัทในอินเดียและรัสเซีย
- ว่ากันว่าเครื่องจักรในโรงงานผลิตอาวุธเมียนมามาจากเยอรมนี, ญี่ปุ่น, ยูเครน และสหรัฐฯ ส่วนซอฟแวร์ในการตั้งโปรแกรมเครื่องจักร เชื่อว่ามาจากอิสราเอลและฝรั่งเศส
- รายงานฉบับนี้ชี้ว่า ดูเหมือนสิงคโปร์จะเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้า โดยบริษัทสิงคโปร์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างกองทัพเมียนมากับบริษัทผู้ขาย
ถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าเมียนมาไม่ได้ส่งออกอาวุธให้ประเทศอื่น อย่างไรก็ดี พวกเขาก็เอาอาวุธไปจัดแสดงที่งานจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไทยเมื่อปี 2019 โดยมีจัดการแสดงทั้งกระสุน, ระเบิด และที่ยิงระเบิดมือ
"ชีวิตในเมียนมาสำหรับคนธรรมดาทั่วไปยากลำบากมาก" โรแนน ลี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลัฟบะระในลอนดอน เขาบอกว่าเมียนมาไม่ได้เป็นประเทศที่สามารถดำเนินต่อไปได้และเขาคิดว่าระบบภายในประเทศใกล้จะล้มครืนลง
"ตอนนี้เป็นโอกาสของชุมชนนานาชาติที่รู้สึกเป็นห่วงผู้คนในเมียนมาที่จะบอกกับกองทัพว่าพวกเขาไม่สามารถผลิตอาวุธเพื่อใช้กับพลเรือนตัวเองได้อีกต่อไป"