วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 13, 2565

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า “เอเปค” ชุมนุมได้-ไม่ได้ห้าม เพราะตามกฎหมายห้ามล่วงหน้าไม่ได้

.....
Saiseema Phutikarn
6h

<“เอเปค”ชุมนุมได้-ไม่ได้ห้าม เพราะตามกฎหมายห้ามล่วงหน้าไม่ได้>
ใครได้อ่านข่าวเรื่อง ประกาศสำนักนายกฯ วันที่ 11 พ.ย. 65 เรื่อง สถานที่ตาม ม.8(5) พรบ.ชุมนุมฯ ในช่วงเอเปค จากสื่อไทยแล้วคงได้แต่ส่ายหัว ทำไม บก.เกือบทุกสื่อ พาดหัว สรุปเนื้อหา ได้ผิดพลาดเหมือนกันหมด? ก็อปๆกันมาแบบไม่อ่านเนื้อประกาศเลยหรือไง? ถ้าได้เปิดตัวบท พรบ.ชุมนุมจะรู้ว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจให้ประกาศสถานที่ห้ามชุมนุมล่วงหน้าได้ แต่ถึงแม้ไม่มีเวลาไปเปิดกฎหมาย แค่อ่านตัวประกาศก็น่าจะเห็นว่า ไม่มีสักคำที่บอกว่า “ห้ามชุมนุม” แล้วทำไมเกือบทุกสื่อถึงพาดหัวผิดไปว่า “ห้ามชุมนุม” ได้ (ยกเว้น ประชาไท Prachatai.com ที่พาดหัวถูก) ?
วันต่อมายิ่งหนัก พาดหัวว่า ตร.ย้ำว่าห้ามชุมนุม(เด็ดขาด) ทั้งๆที่ถ้าไปอ่านเนื้อข่าว ตำรวจก็ไม่ได้พูดว่า “ห้ามชุมนุม” แค่บอกว่าให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยตำรวจจะพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากมีการฝ่าฝืนประกาศจะดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด หรืออย่างข่าวเดียวกันในไทยรัฐ ที่พาดหัวว่า “ผบ.ตร.ขู่ใช้กฎเข้ม ห้ามชุมนุมฯ” แต่ในเนื้อข่าวตรงกันข้าม ผบ.ตร. พูดเองว่า กลุ่มไหนจะชุมนุมก็ “ต้องปฏิบัติตาม พรบ.การชุมนุมฯ” … โดยมีอธิบายเพิ่มว่า ถ้าเป็นพื้นที่รอบศูนย์การประชุมแห่งชาติฯ จะถือเป็นพื้นที่ปิด จะไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมใดๆ
จะเห็นว่าเนื้อหาจริงๆโดยสรุปก็คือ ชุมนุมได้แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องไปเปิด “พรบ.ชุมนุมฯ 58” ดู ซึ่งก็พบว่าตามหลักการในกฎหมายนั้น การชุมนุมในที่สาธารณะโดยทั่วไปสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า โดยเจ้าหน้าที่เพียงแค่รับแจ้ง ไม่ได้มีอำนาจอนุญาต ยกเว้นกรณีเห็นว่าการชุมนุมอาจขัดกับ ม.7 และ ม.8 เท่านั้นที่เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ผู้แจ้งไปแก้ไขได้ ถ้าไม่แก้ไขจึงมีอำนาจสั่ง “ห้ามชุมนุม” ได้
โดยในตัวบท ม.7 ของพรบ. ดังกล่าวกำหนดสถานที่ “ห้ามชุมนุม” ไว้เพียงแค่ 2 กลุ่มตาม ม.7 คือ 1. พื้นที่ 150 ม.จากพระราชวัง… และ 2. พื้นที่ “ภายใน” รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และ ศาลฯ ส่วนใน ม.8 นั้นกำหนดว่าการชุมนุมสาธารณะต้อง ไม่กีดขวางทางเข้าออก รบกวนการทำงาน หรือ การใช้บริการสถานที่สาธารณะที่สำคัญต่างๆ (เช่น ที่ทำการหน่วยงานรัฐ สถานีขนส่งต่างๆ โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานทูต หรือ อื่นที่มีการประกาศเพิ่มเติม) จะเห็นว่ามาตรานี้ไม่ได้ให้อำนาจในการประกาศสถานที่ห้ามชุมนุมแต่อย่างใด สถานที่ตาม ม.8 สามารถจัดชุมนุมได้ เพียงแค่ต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก ไม่รบกวนการปฏิบัติงาน หรือ การใช้สถานที่ (เหมือนการชุมนุมในอดีต ที่เคยปิดทำเนียบ ล้อมสถานที่ราชการ สนามบิน จนเดือดร้อนกันทั้งบ้านทั้งเมือง)
นอกจากพื้นที่ตาม ม.7 แล้ว กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจรัฐในการประกาศ “ห้ามชุมนุม” ในสถานที่อื่นใดล่วงหน้า โดย ม.11 กำหนดว่าการประกาศห้ามชุมนุมสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อ มีผู้มาแจ้งขอจัดการชุมนุมแล้วเจ้าหน้าที่เห็นว่าการชุมนุมขัดต่อ ม.7 หรือ ม.8 จึงแจ้งให้ผู้แจ้งการชุมนุมแก้ไข แต่ผู้แจ้งไม่ยอมปฏิบัติตาม จึงสามารถออกคำสั่ง “ห้ามชุมนุม” สำหรับการชุมนุมสาธารณะที่มาแจ้งในครั้งนั้นได้
เพราะฉะนั้น สำหรับพื้นที่จัดการประชุมเอเปคทั้ง 20 แห่งที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ตาม ม.8(5) นั้น เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสั่ง “ห้ามชุมนุม” ล่วงหน้าได้ โดยจะสามารถออกคำสั่ง “ห้ามชุมนุม” ได้ก็ต่อเมื่อ มีผู้มาแจ้งจัดการชุมนุมก่อน แล้วเจ้าหน้าที่เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวไปกีดขวางทางเข้าออก หรือ รบกวนการทำงานหรือใช้สถานที่ ของพื้นที่ดังกล่าวจึงแจ้งให้ผู้จัดการชุมนุมแก้ไขสถานที่แต่ผู้จัดไม่ยอมปฏิบัติตามเท่านั้น แต่เมื่อ ผบ.ตร. พูดอย่างนี้ก็เป็นไปได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณว่า การขอแจ้งชุมนุมใดๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานที่ประชุมเอเปค จะถูกพิจารณาล่วงหน้าไว้แล้วว่า เข้าข่าย กีดขวาง ทางเข้าออก รบกวนการทำงาน หรือ การใช้สถานที่ ซึ่งถือเป็นการชุมนุมที่ขัดกับ ม.8 และจะถูกสั่ง “ห้ามชุมนุม” ทั้งหมด
ถ้าดูกฎหมายในส่วน “บทกำหนดโทษ” ม.27 และ ม.29 จะพบว่าโทษของการฝ่าฝืนคำสั่ง “ห้ามชุมนุม” นั้นเท่ากับการฝ่าฝืนชุมนุมในพื้นที่ตาม ม.7 หรือการชุมนุมที่เป็นการกีดขวางทางเข้าออก รบกวนการทำงาน หรือใช้สถานที่ตาม ม.8 คือ โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ในขณะที่โทษของการจัดชุมนุมโดยไม่แจ้งช่วงหน้ามีเพียงโทษปรับ ไม่เกิน 1หมื่นบาทเท่านั้น ไม่มีโทษจำคุก
ดังนั้นถ้าผู้ใดต้องการ “อารยะขัดขืน” ยืนยันว่าจะจัดการชุมนุมในพื้นที่เอเปคให้ได้แม้จะต้องรับโทษตามกฎหมาย โดยมั่นใจว่าการชุมนุมของตนไม่กีดขวางทางเข้าออก ไม่รบกวนการทำงาน หรือ การใช้สถานที่แน่ๆ ทางเลือกที่มีโทษเบากว่าก็คือ การจัดชุมนุมโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า แล้วยอมรับโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ถ้ามั่นใจว่าสามารถต่อสู้ในชั้นศาลได้ว่าการชุมนุมของตนไม่เป็นการ กีดขวางทางเข้าออก รบกวนการใช้สถานที่ ตาม ม.8 แน่ๆ เพราะถ้าแจ้งการชุมนุมไปแล้วยังยืนยันจะชุมนุมต่อ แม้เจ้าหน้าที่มีคำสั่งห้ามชุมนุม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนด้วย หรืออีกทางหนึ่งที่อาจจะไม่มีโทษเลยก็คือ การแจ้งชุมนุมก่อนชุมนุมไม่นาน พร้อมคำขอผ่อนผันที่ทำให้ไม่สามารถแจ้งชุมนุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงได้ ตาม ม.12 เพราะถ้าแจ้งโดยกระชั้นชิดเจ้าหน้าที่อาจไม่สามารถดำเนินการสั่งให้แก้ไขสถานที่ และดำเนินการสั่ง “ห้ามชุมนุม” ตามกระบวนการใน ม.11 ได้ทัน
ปล. ตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชาติ เหมือนจะเป็นสื่อเดียวที่ให้ข้อมูลเพิ่มว่าโรงแรมแต่ละแห่งเป็นที่พักของผู้แทนประเทศไหนบ้างเกือบทุกแห่ง ยกเว้นแค่ เกาหลีใต้ และ รัสเซีย เท่านั้นที่ไม่มีข้อมูล และมีเพียงโรงแรม แชง-กรีลา เท่านั้นที่ไม่ระบุข้อมูลผู้แทนประเทศไหน
"2. สถานที่พำนักผู้แทนประเทศในการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ รวม 19 โรงแรม
2.1 โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ ผู้แทน บูรไน
2.2 โรงแรมอนันตรา สยาม ผู้แทน สหรัฐอเมริกา
2.3 โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพ ผู้แทน สิงคโปร์
2.4 โรงแรมโรสวูด กรุงเทพ ผู้แทน นิวซีแลนด์
2.5 โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพ ผู้แทน เปรู
2.6 โรงแรมดิ แอทธินี ผู้แทน ไต้หวันและเวียดนาม
2.7 โรงแรมคอนราด กรุงเทพ ผู้แทน ญี่ปุ่น
2.8 โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพ ผู้แทน อินโดนีเซีย
2.9 โรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพ ผู้แทน ฮ่องกงและกัมพูชา
2.10 โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท ผู้แทน ชิลีและปาปัวนิวกินี
2.11 โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพ ผู้แทน แคนาดา
2.12 โรงแรมโซ แบงคอก ผู้แทน ฝรั่งเศส
2.13 โรงแรมวอลดอร์ฟแอสโทเรีย ผู้แทน มาเลเซีย
2.14 โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส ผู้แทน ซาอุดิอาราเบีย
2.15 โรงแรมแบงคอก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ ปาร์ค ผู้แทน ฟิลิปปินส์
2.16 โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพ ผู้แทน ออสเตรเลีย
2.17 โรงแรมบันยันทรี ผู้แทน เม็กซิโก
2.18 โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ ผู้แทน จีน
2.19 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพ"
เขียนเป็น Blog ไว้ใน Medium ตามนี้
https://p-saiseema.medium.com/เอเปค-ชุมนุมได้-ไม่ได้ห้าม-เพราะตามกฎหมายห้ามไม่ได้-22c57afae1a9
-ประชาไท: ประกาศชุมนุมต้องไม่รบกวน-กีดขวางสถานที่จัดประชุมเอเปค-19 โรงแรม 14-19 พ.ย.นี้
https://prachatai.com/journal/2022/11/101368
-มติชน: ‘ตู่’ ออกประกาศห้ามชุมนุมรอบพื้นที่ศูนย์สิริกิติ์-19 โรงแรมทั่วกรุง ช่วงประชุมเอเปค
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3669118
-ประชาชาติฯ: ราชกิจจาฯ ออกประกาศห้ามชุมนุม “ศูนย์สิริกิติ์-19 โรงแรม” ช่วงประชุมเอเปค
https://www.prachachat.net/general/news-1116981
-เนชั่น: ตร.ย้ำ ห้ามชุมนุมรอบศูนย์สิริกิติ์ และ 19 โรงแรมที่พักผู้นำ ช่วงประชุมเอเปค
https://www.nationtv.tv/news/crime/378892577
-ไทยรัฐ: ผบ.ตร.ขู่ใช้กฎเข้ม ห้ามชุมนุม ทำกิจกรรมรอบพื้นที่จัดประชุมเอเปก 2022
https://www.thairath.co.th/news/politic/2550525