วันจันทร์, พฤศจิกายน 14, 2565

โปรดฟังเรื่องราวของเค้าหน่อย "บางที่พอไปสัมภาษณ์ เขาเห็นว่านั่งรถเข็นมา เขาก็ไม่ให้สัมภาษณ์และโดนปฏิเสธเลย เราเจอมาเยอะมาก” ปุ๊กปิ๊กใช้เวลากว่าสี่เดือนหลังเรียนจบจากภาควิชาการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการหางานที่ตรงกับสิ่งที่เธออยากทำ เธอไม่คิดว่าความพิการมีผลอะไรต่อการทำงาน แต่...


ThisAble.me
6h

ปุ๊กปิ๊กใช้เวลากว่าสี่เดือนหลังเรียนจบจากภาควิชาการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการหางานที่ตรงกับสิ่งที่เธออยากทำและตรงกับความสามารถ เธอเลือกที่จะยื่นใบสมัครในเว็บไซต์หางานตามปกติและไม่คิดว่าความพิการมีผลอะไรต่อการทำงาน ในช่วงแรกเธอจึงไม่ได้แจ้งเรื่องความพิการไปพร้อมกับใบสมัคร แต่เมื่อผู้ประกอบการรับรู้ถึงความพิการของเธอ คำตอบเดียวที่เธอได้รับคือคำปฏิเสธการรับเข้าทำงาน
“ตอนแรกเราไม่ได้แจ้งเพราะมองโลกในแง่บวกมาก คิดว่าเขาไม่น่าจะติดขัดอะไรมั้ง แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด ประเทศไทยยังไม่ได้ก้าวหน้าขนาดนั้น สังคมในภาพรวมมีความเข้าใจต่อคนพิการไม่เหมือนกับสังคมที่เราเจอมาตั้งแต่เด็กจนถึงตอนมหาลัย บางที่พอเขารู้ว่าเราเป็นคนพิการ เขาก็ไม่รับเลย
“บางที่พอไปสัมภาษณ์ เขาเห็นว่านั่งรถเข็นมา เขาก็ไม่ให้สัมภาษณ์และโดนปฏิเสธเลย เราเจอมาเยอะมาก”
เมื่อได้รับการปฏิเสธซ้ำ ๆ ปุ๊กปิ๊กจึงเลือกที่จะแจ้งเงื่อนไขทางด้านร่างกายของเธอไปกับบริษัทตามตรง
“เวลาบริษัทโทรมา เราก็แจ้งไปว่าเรามีความพิการ เรามืองอนะ ยืนได้นะ แต่อาจจะต้องเกาะ บางครั้งก็ถามเขาว่า ต้องการดูรูปเราไหม แต่ก็พบว่า ไม่มีที่ไหนคุยอะไรกับเราต่อ กระทั่งเจอที่แรกก็คือที่ที่ได้ไปทำงาน ตอนที่เขาโทรมาคุยกับเราและเราแจ้งเรื่องความพิการไป เขาบอกว่า พี่ไม่ได้มองว่าน้องพิการนะ พี่มองว่าน้องทำงานได้ก็แค่นั้น เป็นประโยคที่ทำให้รู้สึกดีมาก
“พอเข้าไปทำงานทุกอย่างก็ดีมาก ทั้งเพื่อนในทีม คนจากทีมอื่น แม่บ้าน รปภ. ทุกคนดีกับเรามาก แล้วที่นี่ก็มีกฏเกี่ยวกับ Disability Harassment กำหนดไม่ให้กีดกันคนพิการออก ให้ดูคนที่ความสามารถไม่ใช่ความพิการ ถ้าเกิดมีการละเมิดใด ๆ เกิดขึ้น ก็สามารถแจ้งทางบริษัทได้เลย
“สถานที่ก็สะดวกมากเพราะตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ข้างในออฟฟิศก็กว้าง สามารถเข็นรถเข้าไปได้เลย เรียกว่า Universal Design ก็ได้ เขาทำทุกอย่างไว้พร้อม ตั้งแต่ยังไม่มีคนพิการเข้ามาทำงานด้วยซ้ำ ห้องน้ำก็สะดวกทั้งในออฟฟิศ และในห้างสรรพสินค้า ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการเดินทางในที่ทำงาน หรือสภาพแวดล้อมตรงนั้นเลยเพราะเราสามารถเข้าไปได้ทุกที่ รู้สึกว่าสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติและมีความมั่นใจมากตลอดเวลาที่ทำงานที่นี่”
เมื่ออยู่ในสังคมที่เข้าใจ สถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถใช้งานและเข้าถึงได้ ความพิการก็เป็นแค่เงื่อนไขหนึ่งในการดำเนินชีวิตเท่านั้น หากแต่ในประเทศไทยของเรามีเพียงไม่กี่ที่ที่สามารถสร้างสังคมและสถานที่แบบนั้นได้
ปุ๊กปิ๊กจำเป็นต้องเปลี่ยนงานเนื่องจากเหตุผลทางด้านครอบครัว สถานที่ทำงานใหม่ และเพื่อนร่วมงานกลุ่มใหม่ทำให้ความมั่นใจในความสามารถ และความเชื่อมั่นในตนเองในฐานะมนุษย์โดนสั่นคลอน
“เขาปฏิบัติกับเราไม่ดีจริงๆ สีหน้าท่าทางของเขามันบ่งบอกออกมาเลย บางคนก็ล้อท่าทางของเรา ด้วยความที่เรามืองอ บางทีมือจะแข็ง ก็ต้องสะบัดมือเพื่อที่จะทำให้ทำงานต่อได้ แต่เขากลับมาพูดว่า ทำไมต้องสะบัดด้วย แล้วก็หัวเราะกัน มองว่าเป็นเรื่องตลก แต่ถ้าถามว่าเราตลกด้วยหรือเปล่า คำตอบคือไม่
“บางคนก็มาถามว่า ทำไมไม่ใส่รองเท้าคัชชู ทั้งที่เราคุยกับ HR แล้ว แต่ฝ่ายอื่นก็มาจี้กับเราว่ามันผิดกฎ บางครั้งก็บอกว่า ต้องใส่ยูนิฟอร์มอย่างกระโปรงสอบหรือกางเกงขายาว แต่ไม่คิดว่า คนพิการที่เป็นแบบเราจะใส่ยังไง แม้หัวหน้าใหญ่ไม่ได้บังคับให้เราใส่ แต่คนรอบข้างบังคับ สุดท้ายเราก็ทนไม่ได้ ก็ต้องใส่ให้ได้
“สถานที่ทำงานไม่สะดวกเลย มีแค่ห้องน้ำคนพิการอย่างเดียว ออฟฟิศแคบมาก แค่คนจะเดินสวนกันก็ยากอยู่แล้ว ต้องตะแคงตัวกันเดิน พอเราไปพร้อมรถเข็น เขาก็พูดกันว่าเกะกะหรือบางทีไม่พูดอะไร แต่ยืนอยู่ตรงนั้นจนกว่าเราจะถอยไปเพราะเขาจะเดินก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตอนอยู่บริษัทแรก มีแต่คนบอกให้เราไปก่อนเลย ให้ทำแบบที่ปิ๊กสะดวก เพราะเขาไม่มองว่าเราแตกต่างหรือแบ่งแยกเราออกไป
“เวลาหิวน้ำต้องไปกดที่ที่กดน้ำ เราต้องขอให้แม่บ้านช่วยกดน้ำให้เพราะหน้าตู้มีสเตป แต่คนอื่นมองว่า ทำไมเราไม่ทำเอง มองว่า การให้แม่บ้านมาช่วยกดน้ำมันทุเรศเหมือนคนไม่มีความสามารถ ทั้งที่เราไม่สามารถเข้าสเตปที่ขวางอยู่ได้ บางทีเอกสารที่ต้องหยิบต้องปีนบันไดขึ้นไป เราทำไม่ได้ก็ต้องพึ่งคนอื่น เขาก็มาบอกกับเราว่า ไหนบอกว่าทำได้ทุกอย่างไง
“เวลาที่มีเอกสารกองใหญ่ๆ ด้วยความที่มือเราไม่ดี ไม่สามารถใช้แรงเยอะในการหนีบหรือแม็กก็เลยต้องขอให้คนอื่นช่วย มีคนหนึ่งเข้ามาช่วยเราดีมาก แต่กลับไปบอกหัวหน้าใหญ่ว่า รับเราเข้ามาทำไม รับเข้ามาแล้วทำให้เดือดร้อน ไล่มันออกไปเถอะ โดยที่เขาไม่ได้บอกเราซักคำว่า เขาไม่สะดวกหรือไม่เต็มใจช่วยเรา”
เมื่อปุ๊กปิ๊กเจอกับความกดดันจากที่ทำงานที่มองว่าเธอเป็นคนไร้ความสามารถ เธอจึงพยายามทำทุกอย่างให้มากขึ้น ยกดัมเบลข้างละ 2 กก. ทุกวัน ฝึกกล้ามเนื้อมือ เพื่อให้พร้อมที่จะทำทุกอย่างให้ได้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด
“เราก็พยายามจัดการตัวเอง เลือกที่จะฝึกฝนและพัฒนาตัวเอง เพราะถ้าลาออกไปตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปทำงานที่ไหน ในเมื่องานของคนพิการมันหายาก แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนใช้
“พอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น คำพูดต่างๆ ที่เขาคอยพูดก็ทำให้เราถูกกลืนไปว่าทุกอย่างเป็นเพราะเรา เป็นเพราะความพิการของเรา เพราะสังคมที่เราเจอทุกวัน วันละหลายชั่วโมงคือตรงนี้ ถึงคนใกล้ชิดนอกที่ทำงานจะบอกว่าอย่าไปสนใจ แต่พอโดนทุกวันก็ไม่ไหว เราถูกกลืนไปจริงๆ สมองสั่งให้เราโทษตัวเอง โทษตัวเอง โทษตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ความผิดเราเลย
“เราเริ่มโทษตัวเองว่า ทำไมเราถึงเกิดมาพิการ รู้สึกแย่มาก เราได้ยินแต่คำพูดที่ไม่ดีที่คนพูดให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองจะได้ลาออกไป เขาพยายามพูดว่าเราไร้ความสามารถ พิการก็ให้ไปหางานของคนพิการทำเถอะ จนเราเชื่อว่า เราไม่มีความสามารถจริง ๆ ตอนนั้นเราเอาคำพูดของเขามาด้อยค่าตัวเองจนกลายเป็นว่าไม่มีความมั่นใจในตัวเองไปเลย กลัวไปหมดทุกคน”
สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับเมื่อจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 หรือ 35 คือ สถานประกอบการนั้นๆ สามารถที่จะเอาค่าจ้างคนพิการไปลดหย่อนภาษีได้เป็นสองเท่าของหลักเกณฑ์ปกติ และถ้าจ้างคนพิการครบตามที่ พ.ร.บ.ระบุเอาไว้ ก็ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนคนพิการตามมาตรา 34
ฝั่งผู้ประกอบการก็ได้ลดหย่อนภาษี ฝั่งคนพิการก็ได้งานทำ เหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่ดีสำหรับทั้งสองฝ่าย แต่การต้องทำงานในสถานที่ที่ไม่ได้เอื้อกับคนพิการ รวมถึงเพื่อนร่วมงานที่ไม่เข้าใจ การถูกมองว่าไร้ความสามารถ และเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อลดหย่อนภาษี ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนักในฐานะมนุษย์คนหนึ่งดังเช่นที่ปุ๊กปิ๊กเจอ
"เราได้มารู้ทีหลังว่าจริงๆ แล้วจุดประสงค์หลักที่เขารับเราเข้ามาก็คือเพื่อให้มีคนพิการอยู่ในที่ทำงาน เพราะบริษัทเขามีพนักงานหลายร้อยคน เราเป็นคนพิการคนแรกที่เขารับ ปีหนึ่งบริษัทต้องเสียเงินให้กับกองทุนคนพิการเป็นล้าน การรับเราเข้ามาสามารถที่จะเอาไปใช้ลดหย่อนภาษีได้"
ปุ๊กปิ๊กที่มองว่า ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้คนพิการหลายคนเข้าไม่ถึงการทำงาน เพราะถึงแม้มีกฏหมาย แต่การบังคับใช้กลับไม่เคร่งครัด
"ภาครัฐไม่สนใจก็มีส่วนทำให้คนพิการไม่ถูกจ้างงาน รัฐจะสนตอนที่คนพิการโวยวาย แล้วคนที่ออกไปโวยวายก็ถูกมองว่าเป็นคนมีปัญหา เราเองก็เคยคิดอย่างนั้นกระทั่งตอนนี้รู้แล้วว่าบางอย่างเราไม่ต้องทนก็ได้ เพราะถ้าเราไม่พูดถึงปัญหาแล้วใครจะมารู้ ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เราที่ต้องเผชิญคนเดียว คนพิการแบบเรามีอีกมาก คนรุ่นหลังที่พิการ หรือคนแก่ก็เยอะ ถ้าสิ่งที่เรียกร้องเกิดขึ้นยังไงก็มีคนที่ได้ใช้ประโยชน์
"ถ้ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ ไม่ส่งเสริมให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตข้างนอก ไม่ว่าจะด้วยแนวคิดของคนไทยที่ว่า คนพิการเกิดมาพร้อมเวรกรรม จนทำให้หลายครอบครัวอายที่มีลูกพิการ จึงเก็บไว้บ้าน ไม่ให้ไปเรียนหนังสือ ไม่ให้ไปทำงาน คนพิการก็จะถูกมองว่าเป็นภาระของคนอื่น ทั้งที่จริงแล้วมีหลายอย่างที่คนพิการทำได้ และควรเข้าใจว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เราทุกคนช่วยเหลือกันและกันได้ ต่างก็มีสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นบริษัทต้องมีสถานที่ที่ตรงกับความพิการของเรา และเรื่องนี้เป็นอุปสรรคแน่ๆ ในเมืองไทย แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้มีทางลาด กำหนดให้ทุกบริษัทที่มีพนักงานเกิน 100 คนมีพนักงานคนพิการ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าทำได้จริง ในหลายประเทศไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ เขาทำตามอย่างเคร่งครัด สถานที่ต่างๆ จะต้องออกแบบให้เป็น Universal Design ทั้งหมดผ่านกฎหมายบังคับ สำคัญที่สุดคือทัศนคติ ในเมืองนอกไม่ว่าพิการจะเป็นแบบไหนถ้าเขาคิดว่าทำงานได้ เขาก็จะพยายามปรับสภาพแวดล้อมให้เข้ากับเรา"
ปุ๊กปิ๊กคิดว่าทัศนคติของคนในองค์กรต้องมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อบ้านเรายังมีปัญหาด้านต่างๆ เต็มไปหมด
"ถ้าคุณมองว่าคนพิการคือคนคนหนึ่ง ที่เป็นคน มีสิทธิ เสรีภาพ มีความเสมอภาค เท่าเทียมและมองเห็นถึงความสามารถของเขา ทุกอย่างจะตามมาได้เองหมดเลย เรื่องสภาพแวดล้อมหรือสิ่งอื่นใดมาปรับกันได้ทีหลังหมดเลย คนพิการเองรู้ตัวอยู่แล้วว่าหางานยาก มีความแตกต่าง มีอุปสรรค พวกเราก็พยายามเป็นสองเท่า เวลามีบริษัทรับเราเข้าไป หลายคนก็พยายามตอบแทนให้เต็มที่ที่สุดอยู่แล้ว คนพิการทุกคนพร้อมที่จะทุ่มเททั้งกายและใจ แม้บางทีกายอาจจะไม่พร้อมแต่ใจทุ่มเทให้เต็มที่เท่าที่ความสามารถของเขาจะทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าบริษัทต้องการเปิดรับคนพิการ ก็ควรจะมีการทำความเข้าใจกับคนในองค์กรเรื่องข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ของคนพิการ คนที่มีอำนาจในบริษัทควรจะมีนโยบายการปฏิบัติต่อคนพิการในองค์กร เพื่อที่ทุกคนในองค์กรจะได้เข้าใจร่วมกันและต้อนรับ เปิดใจให้คนพิการกันมากขึ้น"
"รัฐบาลเป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดของประเทศนี้ คุณสามารถออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับทุกหน่วยงานในประเทศได้ ฉะนั้นถ้าคุณออกกฎมา บริษัทต่างๆ ก็ต้องทำตาม นอกจากนี้จะต้องทำให้มีผลในทางปฏิบัติและใช้ได้จริงด้วย การบังคับให้มีเพียงอย่างเดียวไม่ได้แปลว่าจะมีประสิทธิภาพ เช่น หากกำหนดให้สถานีรถไฟฟ้าทุกที่ต้องมีทางลาดให้วีลแชร์ แต่ไม่ได้กำหนดมาตรฐาน ใช้ทางลาดลงมาก็เจอเสาไฟฟ้า เจอดินลูกรัง เจอทางตัน ฯลฯ ฉะนั้นก็หวังว่า ถ้าออกกฏต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงการใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ อาจหยิบยกตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างญีปุ่น เกาหลี สิงคโปร์หรือไต้หวัน หากมีกฏที่ชัดเจนก็เชื่อว่า บริษัทเอกชนก็จำเป็นจะต้องออกนโยบายให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่กำกับไว้" - ปุ๊กปิ๊กกล่าว