วันจันทร์, พฤศจิกายน 14, 2565

เมื่อเลือกชีวิตที่เป็นอยู่ไม่ได้ งั้นขอเลือกความตายบ้างได้ไหม "เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม" เสวนาว่าด้วยความตายของคนพิการ คุยถึงช่วงสุดท้ายที่อยากขอเลือกเอง



สรุปเสวนา “เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม” เสวนาว่าด้วยสิทธิที่จะเลือกความตายของคนพิการ

2022-11-10
เวป This Able Me

5 พ.ย.2565 Thisable.me, ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พุทธมณฑล สมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (นธส.) และประชาไท จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘เสรีภาพ หรือเสรีพร่อง’ ตอน ‘เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม’ ชวนพูดคุยเกี่ยวกับทัศนคติเรื่องความตายของคนพิการ และสิทธิที่จะเลือกความตายของตัวเอง ที่ดีคอมมูเน (Die Kommune) เลียบคลองทวีวัฒนา โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 คน คือ อดิศักดิ์ พาพรชัย, นลัทพร ไกรฤกษ์ และนพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย ดำเนินรายการโดยพรเพ็ญ​ เธียร​ไพศาล ​


ลิงก์ชมเสวนา ‘เสรีภาพ เสรีพร่อง’ เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม https://www.facebook.com/thisAble.me/videos/3264901300424767/

มุมมองความตาย มุมมองการุณยฆาต

นลัทพรหรือหนู บรรณาธิการจากเพจ Thisable.me เธอเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Spinal Muscular Atrophy: SMA) ตั้งแต่ยังเด็ก เธอเล่าว่าตอนเด็กยังไม่เข้าใจว่า การตายคืออะไร เด็กตายคืออะไร เพราะคิดว่าเด็กตายไม่ได้ แต่หายไปได้ จำได้ว่าตอนที่อยากหายไป ตอนนั้นอายุประมาณ 4-5 ขวบ อยู่บ้านชั้นสองแล้วลงไม่ได้ จึงตะโกนสุดเสียงเป็นชั่วโมงเรียกแม่ให้พาลงไปเป็นชั่วโมง ตอนนั้นเธอเล่าว่า ครั้งนั้นน่าจะเป็นแว๊บแรกที่หนูอยากหายไปจากตรงนี้ แต่เธอไม่รู้ว่านี่คือความอยากตายหรือเปล่า แต่รู้สึกไม่อยากอยู่แล้วตรงนี้ เพราะทำอะไรเองไม่ได้เลย

จุดเริ่มต้นที่ทำให้หนูได้รู้จักความตายอีกรอบก็คือ ตอนสร้างเพจเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง แล้วมีโอกาสได้คุยผู้ปกครองที่มีลูกป่วยอาการคล้ายๆ กันประมาณสองอาทิตย์ ลูกเขาเสียชีวิต เธอแชร์ความรู้สึกตอนนั้นให้ฟังว่า กลัวมากและไม่อยากทำเพจต่อเพราะกลัวเจอความตายไปเรื่อยๆ แต่ต่อมาเธอก็ยังสูญเสียคนรู้จักที่เป็นโรคเดียวกันเฉลี่ย 3-4 คนต่อปี ไม่ว่าจะเป็นเพราะโรคฆ่าเขา สภาพแวดล้อมฆ่าเขา หรือการตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง



อดิศักดิ์หรือแจ็ค เป็นคนพิการบาดเจ็บที่ไขสันหลังระดับคอ C4 - C5 ทำให้ตั้งแต่ใต้ราวนมขยับไม่ได้มาเป็นระยะเวลา 14 ปี แจ็คมีมุมมองเรื่องความตายแตกต่างจากหนู เพราะไม่เคยสูญเสียคนใกล้ตัวหรือเพื่อนที่มีความพิการคล้ายกันมาก่อน จะเห็นความตายจากข่าวมากกว่า และส่วนตัวแจ็คมีความเห็นเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายว่า เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ แต่การุณยฆาตไม่ใช่แบบนั้น กว่าจะมีสิทธิที่จะตายในรูปแบบของการุณยฆาตนั้นมีกระบวนการอีกเยอะ



ส่วนมุมมองสิทธิที่จะตายทางการแพทย์จาก นพ.ภิญโญหรือหมอโย เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนหากผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่อยากอยู่แล้ว เขาต้องฆ่าตัวตายเอง แต่พอกาลเวลาผ่านไป ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความรู้สึกว่าการจากไปด้วยการฆ่าตัวตายนั้นน่ากลัวและเจ็บ จึงพยายามหาทางออกให้การจากไปสบายยิ่งขึ้น พวกเขาจึงมาปรึกษาวงการแพทย์ว่าช่วยอะไรได้บ้าง แต่ตอนนั้นวงการแพทย์ยังไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ยังมองว่าวิธีทางการแพทย์ยังสามารถดูแลผู้ป่วยได้ หลังจากได้พยายามใช้วิธีต่างๆ นานาแล้ว ก็พบว่ายังมีผู้ป่วยที่รักษาไม่หายจริงๆ จึงเริ่มคิดทางเลือกให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ตายอย่างสงบ และการุณยฆาตจึงได้ถูกบัญญัติขึ้นมา

ต่อมามีการศึกษาเก็บข้อมูลจากประเทศที่อนุญาตให้ทำการุณยฆาตว่าปัจจุบันทำแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง อัตราการการุณยฆาตมากน้อยขนาดไหน หมอโยได้กล่าวว่าการศึกษานี้เป็นของประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลการศึกษาพบว่าเมื่อปี ค.ศ.2002 มีการทำการุณยฆาตประมาณ 2,000 รายต่อปี สิบปีต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 รายต่อปี และในปี ค.ศ.2016 เพิ่มขึ้นเป็น 6,000 รายต่อปี พอลงไปดูรายละเอียดก็พบว่ายังมีผู้ป่วยกลุ่มอื่นที่ขอมาทำการุณยฆาตคือ ผู้สูงอายุ โดยให้เหตุผลว่ามีอาการเทียบเท่ากับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งประเทศเนเธอร์แลนด์ก็อนุญาตให้ผู้สูงอายุทำการุณยฆาต อย่างไรก็ดีกลับพบว่า ผู้ป่วยหลายคนไม่ได้ตัดสินใจเองแต่ถูกกดดันจากครอบครัวและสังคมว่าไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมายแล้ว ปัญหานี้ทำให้ประเทศเนเธอร์แลนด์สะท้อนกลับมาดูระบบการดูแลผู้สูงที่อาจไม่ดีพอจนทำให้ผู้สูงอายุตัดสินใจที่จะทำแบบนี้

เพราะอะไรถึงอยากให้มีการุณยฆาต

แจ็คกล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้อยากให้ประเทศไทยมีการุณยฆาต เพราะเมื่อเป็นคนพิการที่มีอาการบาดเจ็บไขสันหลังแล้วต้องใส่สายสวนปัสสาวะ ทำให้แจ็คมีอาการแทรกซ้อนเข้ามา เช่น ติดเชื้อ หายใจไม่ออก รู้สึกร้อนหรือหนาวจนจะขาดใจตาย อาการเหล่านี้ทำให้แจ็คทรมานมาก ถ้าเลือกได้ขอไปก่อน แต่ทุกวันนี้ไม่มีทางให้เลือก มีให้เดินทางเดียวคือ การมีชีวิตอยู่
 


ระหว่างพูดคุยแจ็คได้แชร์ความคิดหนึ่งที่ว่า พ่อแม่ของแม่ก็ตายไปแล้ว พ่อของผมหรือแฟนแม่ก็ตายแล้ว เขาผ่านความสูญเสียมาเยอะแล้ว ถ้าวันหนึ่งไม่มีผมเขาก็เสียใจอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้เขาทำอะไรไม่ได้เลย ต้องอยู่ดูแลผมตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าเลือกได้ก็จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย แจ็คก็มีความสุขจนวันสุดท้ายและแม่จะใช้ชีวิตในแบบของเขาได้

ส่วนหนูมองว่าอาการป่วยของตน อาการไม่ได้ทรงตัวตลอดเวลา มีโอกาสที่อาการจะแย่ลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ถ้าวันหนึ่งหนูไม่สามารถทำอะไรได้เลยหรือแม้จะบอกความต้องการของตัวเองว่าอยากจะทำอะไร คิดว่าจุดนั้นก็อยากเลือกได้ว่าอยากมีชีวิตแค่นี้แหละ

จากกรณีที่ผู้สูงอายุโดนกดดันให้เซ็นต์ทำการุณยฆาตในประเนเธอร์แลนด์และได้ฟังความคิดของหนูและแจ็คเกี่ยวกับประเด็นนี้ หมอโยกล่าวว่า การที่ใครคนหนึ่งตัดสินใจว่าจะจากไป ก็อยากให้การจากไปอย่างสมศักดิ์ศรี คำว่า ‘สมศักดิ์ศรี’ นี้หมายความว่า ผู้ที่ตัดสินใจการุณยฆาตได้รับสวัสดิการทุกอย่างแล้ว แต่ชีวิตก็ยังไม่โอเค กรณีที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ทำให้เห็นว่า อย่าปล่อยให้มาไกล มาเร็วจนเกินไป อยากให้ดูก่อนว่าตอนนี้เรามีสวัสดิการเพียงพอหรือยัง ปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ดูแลอยู่ก็ยังไม่สามารถให้บริการทางการแพทย์ได้อย่างเต็มที่ และคนพิการก็ยังเข้าไม่ถึงเช่นกันเดียวกัน



ปัญหาสวัสดิการของรัฐไทยกับการุณยฆาต

แจ็คสะท้อนปัญหาว่า มีคนพิการอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าทำอะไรได้บ้าง ถ้าเขารู้ว่ามีสิทธิ สวัสดิการอะไรบ้าง เขาสามารถทำอะไรได้อีกเยอะแยะ คนพิการจะคิดเรื่องการุณยฆาตน้อยลง แจ็คเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ถูกเชิญไปพูดแนวคิดการดํารงชีวิตอิสระของคนพิการที่ประเทศสิงค์โปร์และญี่ปุ่น พอเขาได้เห็นทางเท้า รถเมล์ที่นู้นก็อดเปรียบเทียบกับประเทศไทยไม่ได้ ที่นี่คนพิการออกมาใช้ชีวิตง่ายและไม่ถูกมองเป็นตัวประหลาด คนพิการรุนแรงมีผู้ช่วยตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ไม่ต้องทรมานเพราะมีคนช่วยตลอด

หนูพูดเสริมจากแจ็คว่า สวัสดิการที่มีต้องทำให้คนพิการรู้สึกว่าอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีด้วย ทุกวันนี้หนูเดินทางไปทำงานเองได้ด้วยรถไฟฟ้า แต่ต้องร้องขอทุกคนในเส้นทางว่า ‘ช่วยเปิดให้หน่อยนะคะ’ ‘ช่วยยกนิดนึงนะคะ’ พูดแบบนี้วันหนึ่งประมาณ 15 รอบ ถึงแม้จะเป็นคนพิการที่ใช้ชีวิตได้ ไปไหนมาไหนเองได้ แต่หนีไม่พ้นการต้องขอความช่วยเหลือตลอดเวลา ไม่มีความเป็นส่วนตัวในการเดินทาง เวลาเข้าสถานีรถไฟฟ้าเจ้าหน้าที่ก็จะตะโกนไปบอกว่าคนนี้จะไปไหน สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่านี่ยังไม่ใช่การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น

หนทางการุณยฆาตในประเทศไทย

หมอโยได้พูดถึงการุณฆยาตในประเทศไทยไว้ว่า หากผู้ป่วยระยะสุดท้ายและคนพิการยังเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์อย่างเต็มที่ เรื่องการุณยฆาตก็จะไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง

ในฐานะที่เป็นหมอดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เขาเจอผู้ป่วยที่เพิ่งเข้ามารักษาจำนวนไม่น้อยมาขอการุณยฆาต แต่หมอจะขอโอกาสจากคนไข้ให้ได้รับการรักษาอย่างดีที่สุดก่อน แล้วค่อยกลับมาคุยว่ายังอยากการุณยาตอยู่ไหม ที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการดูแลดีๆ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เขาก็ไม่ได้ต้องการตายแล้ว นี่เป็นการตอกย้ำว่าสวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญ คนไม่ได้อยากตายแต่มีอะไรบางอย่างบีบคั้น

คำตอบของคำถาม ‘เลือกเกิดไม่ได้ เลิกตายได้ไหม’



หนูมองว่า สิทธิที่เราจะตายควรเป็นสิทธิที่เลือกได้โดยที่เราไม่ต้องฆ่าตัวตาย ปัจจุบันเราไม่มีพื้นที่ในการตาย จนต้องฆ่าตัวตายในสักที่หนึ่งแล้วคนอื่นต้องมาใช้ต่อ เธอคิดว่าการุณฆาตไม่ได้ทำให้คนตายมากขึ้น เพราะกระบวนการุณยฆาตอาจยาวนานกินเวลาไปถึงสองปี ต้องผ่านการคุยกับนักจิตวิทยา ผ่านการประเมินว่าคุณตัดสินใจอย่างนี้แล้วจริงๆ ซึ่งอาจจะทำให้คนที่ไม่ได้ทบทวนตัวเองมีโอกาสทบทวนและเห็นว่าชีวิตสามารถไปทางไหนได้บ้าง อย่างสถิติการทำการุณยฆาตในเนเธอร์แลนด์ที่หมอโยที่กล่าวไว้ว่า เพิ่มขึ้นจาก 2,000 เป็น 4,000 เป็น 6,000 นี่ก็สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอ ตรงนี้อาจเป็นภาพสะท้อนของเมืองไทยได้ด้วยว่ามีสวัสดิการเพียงพอไหม หากมีสวัสดิการมากพอแล้วแต่สุดท้ายยังตัดสินใจจบชีวิต การุณยฆาตก็ควรเป็นทางเลือก

ส่วนแจ็คยังยืนยันคำตอบเดิมตั้งแต่ต้นว่าอย่างน้อยน่าจะมีทางให้เลือก ให้เขาเลือกได้เท่านั้นเอง ถ้าวันหนึ่งระบบสวัสดิการของรัฐเหมือนญี่ปุ่นแจ็คอาจไม่มีความคิดแบบนี้ก็ได้ เพราะเขาเองไม่เคยได้ลองสัมผัสการใช้ชีวิตที่นั่น หากแม่ไม่ต้องเหนื่อย ทำอะไรได้มากขึ้น ผมอาจไม่มีความคิดนี้ก็ได้
.....
เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม

Prachatai

Streamed live on Nov 5, 2022

663 views • Streamed live on Nov 5, 2022เมื่อเลือกชีวิตที่เป็นอยู่ไม่ได้ งั้นขอเลือกความตายบ้างได้ไหม "เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม" เสวนาว่าด้วยความตายของคนพิการ คุยถึงช่วงสุดท้ายที่อยากขอเลือกเอง ขอไปในช่วงที่อยากไป ดีกว่าอยู่อย่างทรมาน ร่วมด้วย อดิศักดิ์ พาพรชัย, นลัทพร ไกรฤกษ์ และ นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย ดำเนินรายการโดย พรเพ็ญ​ เธียร​ไพศาล
 
หากเชื่อว่าคนพิการคือมนุษย์คนหนึ่งที่มีวิถีชีวิต การตัดสินใจ และเสรีภาพในการมีชีวิตไม่ต่างจากมนุษย์คนอื่น เหตุใดเรื่องราวของคนพิการจึงต้องถูกนำเสนอเฉพาะในแง่มุมวิชาการ หรือทางการแพทย์เพียงไม่กี่มิติ? 
ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณทล, Thisable.me สมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ และ Die Kommune (ดี คอมมูเน) ชวนฟังเสวนาเพื่อเปิดพื้นที่แห่งเสรีภาพและคืนความเป็มนุษย์ให้กับเพื่อนคนพิการ ผ่านการแลกเปลี่ยนชุดประสบการณ์ในรูปแบบของงานเสวนาโดยคนพิการรุ่นใหม่ที่เชื่อว่า ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ต้องตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง