We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง
April 12 at 7:13 AM ·
We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง คือการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศไทย
.
#เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ คือ Hashtag สำคัญที่เราอยากให้เกิดการรวมพลังประชาชนทุกคนที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ (หากแชร์รบกวนติด Hashtag)
.
ขณะที่การแข่งขันเสนอนโยบายในการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยากำลังเข้มข้น ผู้สมัครทุกคนพยายามแข่งกันทำนโยบายที่ถูกใจประชาชน
.
แต่อีก '75 จังหวัด' ทั่วประเทศไทยยังคงมีผู้ว่าฯ แบบแต่งตั้ง เราอยากเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของเราเองเช่นกัน และอยากเห็นทุกพรรคการเมืองบรรจุการแก้ไข รธน.ให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ทั่วประเทศ เป็นนโยบายพรรคก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า มีเหตุผลมากมายที่เราควรเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้เอง ดังนี้
.
1. เกิดการแข่งขันเสนอนโยบายที่เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่
.
ภารกิจส่วนใหญ่ของผู้ว่าฯ แต่งตั้งนั้น มักผูกกับ 'ส่วนกลาง' เราอยากเห็นคนมีศักยภาพมาเเข่งขันกันนำเสนอนโยบาย ที่จะทำให้ประชาชนมี 'คุณภาพชีวิต' ที่ดี และเหมาะสมกับการอยู่บ้านเกิด ไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ
.
เช่น มีโรงเรียนประจำจังหวัดที่มีหลักสูตรเหมาะสม มีหลักสูตรสอนการทำเกษตรอย่างมีคุณภาพและมีแนวนโยบายปฏิรูปที่ดิน กระทั่งการกู้เงินเพื่อเพาะปลูกอย่างเป็นธรรมในจังหวัดที่เน้นการทำเกษตร มีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพในจังหวัดที่เน้นการท่องเที่ยว เป็นต้น
.
เราเชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ประชาชนแต่ละพื้นที่จะมีคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างกันมากและมีโครงสร้างพื้นฐานครบถ้วน
.
2. เกิดการกระจายทรัพยากรที่ทั่วถึง
เราเชื่อว่าประชาชนพร้อมจะเสียภาษี ถ้ารู้ว่าเงินที่จ่ายไปได้ทำประโยชน์ให้ท้องถิ่นของตน แต่ในระบบผู้ว่าฯ แต่งตั้งไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผู้ว่าฯ แต่งตั้งมาพร้อมกฎหมายที่จัดสรรส่วนแบ่งรายได้ของแต่ละจังหวัดอย่างไม่เท่าเทียม
.
ส่วนกลางได้ร้อยละ 65 ท้องถิ่นร้อยละ 35 และยังใช้งบประมาณอย่างไม่เป็นอิสระ แม้แต่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร หรือที่ถูกเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ผู้ว่าหมูป่า’ ยังออกมายอมรับว่าตนแก้ปัญหาหมอกควันที่ลำปางไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณ
.
หากเรามีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ จะสามารถกำหนดได้ว่าในวาระ 4 ปี ที่ดำรงตำแหน่งจะทำอะไรบ้างให้ประชาชนและจัดสรรงบได้เอง
.
3. ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น เพื่อป้องกันการทุจริตได้ตลอดเวลา
.
หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะเกิดกลไกที่เรียกว่า 'สภาพลเมือง' และมีกลไกที่ท้องถิ่นต้อง 'เปิดเผย' ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนให้รับรู้ได้โดยง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่าย การตรวจสอบการทุจริตจะทำได้ง่ายกว่าผู้ว่าฯ ในระบบแต่งตั้ง
.
4. จังหวัดได้คนที่เข้าใจปัญหาท้องถิ่นของตนอย่างแท้จริงและคนธรรมดามีสิทธิลงรับเลือกตั้ง
.
จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำให้เราได้เห็นผู้สมัครอิสระหลายคนลงรับสมัครอย่างเท่าเทียมกับผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง เราอยากเห็นประชาชนที่ 'รู้จักพื้นที่ รักพื้นที่' มีโอกาสลงรับเลือกตั้งและก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารเพื่อพัฒนาบ้านเกิดเช่นเดียวกัน
.
5. ตัดปัญหาผู้ว่าฯ ถูกโยกย้ายแบบตรวจสอบไม่ได้
.
บ่อยครั้งเราได้เห็นกรณีผู้ว่าฯ ที่ทำงานได้ถูกใจคนพื้นที่ แต่กลับต้องถูกโยกย้าย เช่น อดีตผู้ว่าฯ ท่านหนึ่งสามารถแก้ไขปัญหาหมอกควันให้บรรเทาเบาบางลงได้ โดยสามารถลดจำนวนจุดความร้อนจากหลักพันให้เหลือเพียงหลักสิบได้ และผ่านฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้ายตามรอบปกติไปแล้ว
.
แต่กลับโดนมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.ให้ย้ายด่วนเข้าส่วนกลาง หรือกรณีผู้ว่าฯ จังหวัดปทุมธานีผู้สละเงินเดือนของตนให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากโควิดก็ถูกโยกย้ายท่ามกลางความงุนงงของประชาชนเช่นกัน
.
หากผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง การโยกย้ายตามอำเภอใจเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ผู้ว่าฯ สามารถทำเพื่อประชาชนในจังหวัดได้เต็มที่โดยไม่ต้องกลัวถูกแทรกแซง
.
6. ส่งเสริมประชาธิปไตยและความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยรวม ไม่กระทบระบอบกษัตริย์
.
สำหรับข้อกังวลว่าหากให้แต่ละจังหวัดเลือกผู้ว่าฯ เองได้นั้น จะทำให้เกิดรัฐอิสระหรือกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในความเป็นจริงผู้ว่าฯ ไม่ได้มีอำนาจด้านการทหาร การต่างประเทศและการจัดเก็บภาษีนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด
.
จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดรัฐอิสระ ขณะเดียวกันสถาบันพระมหากษัตริย์ตามสถานะในรัฐธรรมนูญนั้นอยู่เหนือการเมือง การปรับปรุงระบบบริหารส่วนท้องถิ่นจึงไม่มีผลกระทบต่อสถาบันฯ
.
ตัวอย่างหนึ่งของประเทศที่มีระบอบกษัตริย์และเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไปด้วยในขณะเดียวกันคือญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นมีสิทธิออกเสียงเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 รวมถึงนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาจังหวัดทั่วประเทศ
.
ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างยับเยิน แต่กลับ 'เจริญก้าวหน้า' อย่างรวดเร็ว หัวใจสำคัญของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คือการกระจายอำนาจ เพิ่มอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และลดอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งให้ประชาธิปไตยและความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยรวม
.
เพราะหากแต่ละจังหวัดจัดการตัวเองได้ดี ทั้งประเทศย่อมเจริญก้าวหน้าไปด้วย
.
สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้สิทธิประชาชน 5 หมื่นคน เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาได้ เราเชื่อว่าการรวบรวมรายชื่อ 50,000 ชื่อ เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศไม่ใช่เรื่องยากเกินไป
.
แต่การผ่านกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาทั้งสามวาระ เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยพลังและความจริงใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นคนต่างจังหวัด
.
เราหวังว่าท่านจะเห็นความสำคัญของท้องถิ่นที่ท่านเป็นตัวแทน และบรรจุเรื่องนี้เป็นนโยบายหาเสียงของพรรค อีกทั้งให้คำสัญญาว่าจะผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศอย่างเต็มกำลัง หลังการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า
.
และเราขอพลังจากประชาชนทุกคน ร่วมส่งเสียงถึงทุกพรรคการเมือง และผู้ลงรับสมัครรับเลือกตั้งในสมัยหน้าทุกคน ว่าเราต้องการกฎหมายที่เปลี่ยนให้ทุกจังหวัดสามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้เอง และเราต้องการคุณภาพชีวิตที่เรากำหนดเอง ผ่านการลงชื่อในแคมเปญ Change.org/WeAllVoters
.
เพื่อนำไปสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป อาทิ การปรับให้ผู้ว่าฯ ทำงานร่วมกับ ส.ส. ของจังหวัดและส่วนท้องถิ่นเช่น อบจ. อย่างมีประสิทธิภาพ
.
กลุ่ม We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง คือ สื่อมวลชนอิสระและมีสังกัด
.
* รวมถึงเสียงอันสำคัญยิ่งของประชาชนทุกท่าน