"เมื่อตะวันส่องฟ้า" หมายมาตรา 112 จึงส่งถึงเธอตะวัน เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยความโกรธ คาดหวังกับคนอื่นน้อย อยากให้คนอื่นได้พัก แต่คาดหวังกับตัวเองเยอะ ออกจากการเรียน ทิ้งอนาคตตอนอายุ 20 มาทำกิจกรรมเต็มตัว
— ยิ่งชีพ (เป๋า) (@yingcheep) April 23, 2022
ออกแบบกิจกรรมเอง จัดเล็กๆ เพื่อให้ไม่ผิดกฎหมายใด แต่ตอนนี้ก็อยู่ในเรือนจำ #saveตะวัน https://t.co/cYTNt79V8G pic.twitter.com/umV2RPJVva
โดย ilaw-freedom
11 เมษายน 2022
ในช่วงต้นปี 2565 แม้ว่าปริมาณการนัดหมายชุมนุมทางการเมืองมีไม่มากนัก ผู้เข้าร่วมการชุมนุมก็ลดจำนวนลง และผู้นำการชุมนุมที่มีชื่อเสียงหลายคนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่ความเคลื่อนไหวต่อประเด็น “เพดานสูง” ไม่ได้ลดลงเมื่อปรากฏกลุ่มนักเคลื่อนไหวหน้าใหม่ ที่มาพร้อมกับกิจกรรมรูปแบบใหม่ที่มุ่งเป้าสื่อสารตรงไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์
ตะวัน ชื่อจริงว่า ทานตะวัน อายุ 20 ปี ปรากฏตัวขึ้นในนามกลุ่ม “ทะลุวัง” ที่เพียงแค่ชื่อกลุ่มก็บอกเป้าหมายได้โดยไม่ต้องตีความมากนัก กิจกรรมที่กลุ่มนี้ออกแบบอาศัยจำนวนคนไม่มาก ใช้ต้นทุนไม่มาก ไม่ขัดต่อกฎหมายใด และไม่ก่อผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป แต่ส่ง “สาร” ที่แหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่องไปยัง “ฟ้า” ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น การไปชูป้าย “คุกไม่ใช่ที่เค้าท์ดาวน์ของคนเห็นต่าง” ที่ไอคอนสยาม การไปชูป้าย “ยกเลิกมาตรา 112” ขณะที่ขบวนเสด็จวิ่งผ่าน การไปทำโพลสำรวจความคิดเห็นเรื่องขบวนเสด็จที่ห้างสยามพารากอน และนำไปส่งที่หน้าวังสระปทุม
กิจกรรมเหล่านี้แม้จะทำได้สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง แต่ยิ่งได้รับความสนใจบนหน้าข่าวมากขึ้น เมื่อตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ทั้งการขัดขวาง ติดตาม ข่มขู่ และใช้กำลังเข้าจับกุม พร้อมพยายามหาข้อกล่าวหาทางกฎหมายมายัดเยียดให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แสดงออกอย่างสันติ
หลังเคลื่อนไหวในกิจกรรมเล็กๆ ที่สร้างผลกระทบใหญ่ๆ ได้ไม่กี่ครั้งในเวลาไม่กี่เดือน ตำรวจก็ต้องหยิบเอา “เครื่องมือหลัก” คือ การตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 มาใช้กับตะวันไปแล้วสองคดี พร้อมเงื่อนไขติดกำไล EM ติดตามตัว ในวันนี้เราจึงชวนมารู้จักกับตะวันให้มากขึ้น
ในช่วงต้นปี 2565 แม้ว่าปริมาณการนัดหมายชุมนุมทางการเมืองมีไม่มากนัก ผู้เข้าร่วมการชุมนุมก็ลดจำนวนลง และผู้นำการชุมนุมที่มีชื่อเสียงหลายคนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่ความเคลื่อนไหวต่อประเด็น “เพดานสูง” ไม่ได้ลดลงเมื่อปรากฏกลุ่มนักเคลื่อนไหวหน้าใหม่ ที่มาพร้อมกับกิจกรรมรูปแบบใหม่ที่มุ่งเป้าสื่อสารตรงไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์
ตะวัน ชื่อจริงว่า ทานตะวัน อายุ 20 ปี ปรากฏตัวขึ้นในนามกลุ่ม “ทะลุวัง” ที่เพียงแค่ชื่อกลุ่มก็บอกเป้าหมายได้โดยไม่ต้องตีความมากนัก กิจกรรมที่กลุ่มนี้ออกแบบอาศัยจำนวนคนไม่มาก ใช้ต้นทุนไม่มาก ไม่ขัดต่อกฎหมายใด และไม่ก่อผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป แต่ส่ง “สาร” ที่แหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่องไปยัง “ฟ้า” ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น การไปชูป้าย “คุกไม่ใช่ที่เค้าท์ดาวน์ของคนเห็นต่าง” ที่ไอคอนสยาม การไปชูป้าย “ยกเลิกมาตรา 112” ขณะที่ขบวนเสด็จวิ่งผ่าน การไปทำโพลสำรวจความคิดเห็นเรื่องขบวนเสด็จที่ห้างสยามพารากอน และนำไปส่งที่หน้าวังสระปทุม
กิจกรรมเหล่านี้แม้จะทำได้สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง แต่ยิ่งได้รับความสนใจบนหน้าข่าวมากขึ้น เมื่อตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ทั้งการขัดขวาง ติดตาม ข่มขู่ และใช้กำลังเข้าจับกุม พร้อมพยายามหาข้อกล่าวหาทางกฎหมายมายัดเยียดให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แสดงออกอย่างสันติ
หลังเคลื่อนไหวในกิจกรรมเล็กๆ ที่สร้างผลกระทบใหญ่ๆ ได้ไม่กี่ครั้งในเวลาไม่กี่เดือน ตำรวจก็ต้องหยิบเอา “เครื่องมือหลัก” คือ การตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 มาใช้กับตะวันไปแล้วสองคดี พร้อมเงื่อนไขติดกำไล EM ติดตามตัว ในวันนี้เราจึงชวนมารู้จักกับตะวันให้มากขึ้น
เรียนการตลาดที่สิงคโปร์ แต่เลิกเรียนเมื่อมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
ตะวันเล่าว่า เธอเป็นลูกคนเล็กในครอบครัวคนจีน พ่อมีเชื้อสายจีน แม่เป็นคนจากจังหวัดกาฬสินธุ์ พ่อทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับยางที่ใช้เป็นชิ้นส่วนสิ่งของต่างๆ ที่บ้านของเธอเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยางเหล่านั้น เธอเกิดและเติบโตมาในกรุงเทพมหานคร เรียนหนังสือที่โรงเรียนเอกชนใกล้บ้าน เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมแล้วไปเรียนต่อด้านการตลาดที่สิงคโปร์ เป็นโรงเรียนเอกชนที่สอนในระดับ ปวช. ปวศ. เปิดรับนักเรียนจากหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาเรียนร่วมกัน
“เลือกไปสิงคโปร์เพราะดูประเทศเขาพัฒนาแล้ว และก็ใกล้บ้านด้วย หนูเลือกเรียนเรื่องธุรกิจและการตลาด ที่เลือกเพราะคิดอะไรไม่ออกแล้วที่บ้านก็ทำธุรกิจด้วย ... ไม่ชอบ ...” ตะวันเล่า
ในช่วงปี 2563 ระหว่างที่โรงเรียนของเธอปิดเทอม เธอก็เดินทางกลับมาประเทศไทยซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของโรคโควิด19 โรงเรียนของเธอจึงปรับการเรียนเป็นรูปแบบออนไลน์ เธอจึงไม่ได้กลับไปสิงคโปร์อีก ในระหว่างนั้นเองก็เป็นช่วงที่ขบวนการคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยเริ่มเกิดขึ้นและขยับตัวลงถนนเพื่อแสดงออกถึงข้อเรียกร้องต่ออนาคตของประเทศ เธอเข้าร่วมการเคลื่อนไหวและตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินในชีวิต
“จริงๆ หนูก็เรียนการตลาดไปงั้นแหละ แล้วก็มาทำงานเคลื่อนไหวด้วย มันหนักด้วย ก็เลยออก กะว่าถ้าไปเรียนนิติรามฯ คงพอจะช่วยเรื่องงานเคลื่อนไหวได้บ้าง เพราะหนูก็รู้ว่ากฎหมายมันก็ไม่ค่อยได้เป็นกฎหมายนักในประเทศนี้” ตะวันเล่าถึงแผนการศึกษาระยะสั้นของเธอ
เมื่อถามว่า ถ้าชีวิตของเธอสามารถเลือกได้อย่างอิสระ เธออยากเข้าเรียนด้านไหน ตะวันตอบว่า “ไม่อยากเรียน” แล้วก็หัวเราะ
ตะวันเล่าแทนการตอบคำถามนี้ว่า ตอนเด็กๆ เธอเคยมีความฝันคล้ายกับเพื่อนคนอื่น เช่น อยากเป็นแอร์โฮสเตส อยากเรียนด้านนิเทศศาสตร์ แต่สิ่งที่เธอค้นพบว่าตัวเองชอบ คือ ศิลปะการต่อสู้ ตะวันชอบดูคลิปสอนศิลปะการต่อสู้ในยูทูป แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้เรียน หรือได้ใช้งานจริง เธอเล่าว่า เคยขออนุญาตแม่ที่จะไปเรียนแล้วแต่ยังไม่มีเวลาพอ ซึ่งยังคงเป็นความฝันของเธออยู่ที่วันหนึ่งจะได้ลองเรียนรู้ศาสตร์ด้านนี้บ้าง
ชีวิตสายบู๊ สู่ถนนการเมืองด้วยการเป็นการ์ด
ตะวันมีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นหญิงสาวตัวเล็ก และค่อนไปทางผอม แต่เธอเลือกที่จะสมัครเป็นการ์ดร่วมกับกลุ่ม Wevolunteer หรือกลุ่มมวลชนอาสาที่คอยทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุม และเป็นแนวหน้าของขบวนเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงจากรัฐ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเริ่มทำกิจกรรมร่วมกับขบวน
ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้เธอตัดสินใจ “ยกระดับ” ตัวเองเกิดขึ้นในคืนวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เมื่อเพนกวิ้น พริษฐ์, ไมค์ ภาณุพงศ์ และรุ้ง ปนัสยา จะถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่ถูกตำรวจสน.ประชาชื่นมาอายัดตัวเพื่อจะนำไปดำเนินคดีอื่นต่อ แต่เพนกวิ้นและไมค์ขัดขืน จึงเกิดการใช้กำลังกัน ทั้งสามคนถูกตำรวจพาตัวขึ้นรถไปที่สน.ประชาชื่น โดยมีประชาชนบางส่วนเข้าขัดขวางรถตำรวจ และเกิดเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณหน้าสถานีตำรวจ ซึ่งวันนั้นตะวันทำได้เพียงนั่งชมภาพที่เกิดขึ้นอยู่ที่บ้าน
“ตอนนั้นดูข่าวอยู่บ้านก็โกรธมากเลย แต่ทำอะไรไม่ได้ เลยไปหาดูว่ามีที่ไหนเขารับสมัครบ้าง ก็สมัครไปเป็นการ์ด อาจจะเพราะว่าหนูสายบู๊ด้วยมั้ง นั่งดูยูทูปเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้มานาน คิดว่าการ์ดน่าจะตอบโจทย์ของหนูได้ที่สุด”
เมื่อถามว่า ตะวันชอบการทำงานในฐานะการ์ดหรือไม่ ตะวันตอบว่า “ก็แฮปปี้นะ อย่างน้อยเราก็ได้ช่วยมากขึ้น ไม่รู้หรอกว่าช่วยได้แค่ไหน แต่อย่างน้อยก็ได้ช่วย อย่างเช่น ม็อบ17พฤศจิกา (หน้าอาคารรัฐสภาเกียกกาย) ก็ได้ถือขวดน้ำไปช่วยคน พอแก๊สมาก็ราดน้ำ ดับ ก็ได้ช่วยเป็นแรงอีกนิดนึง”
หลังจากมีบทบาททำงานเป็นการ์ดอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อเข้าปี 2564 ตะวันก็ยังเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ตัวเองด้วยการทดลองเข้าไปร่วมงานกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นอีกหลายกลุ่มตามที่มีคนชักชวน จนกระทั่งเธอได้เรียนรู้กระบวนการทำงานและวิธีออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ก่อนตัดสินใจมาเคลื่อนไหวแบบอิสระด้วยตัวเองในช่วงต้นปี 2565
คนรุ่นใหม่ที่จะไม่ย้ายประเทศ แต่จะเปลี่ยนแปลงให้ได้
ช่วงเวลาในปี 2563 ระหว่างที่กระแสการชุมนุมทางการเมือง “บูม” ในหมู่คนรุ่นใหม่ ตะวันยังเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม เธอชวนเพื่อนไปเข้าร่วมเป็นบางครั้งที่สามารถไปได้ โดยไม่ได้มีบทบาทเป็นจัดหรือคนออกแบบกิจกรรมด้วยตัวเอง เราจึงอยากฟังความคิดเห็นของตะวันเกี่ยวกับทิศทางการเดินไปของกิจกรรมในช่วงเวลานั้นในฐานะผู้เฝ้ามอง
“ตอนนั้นคนออกมาเยอะมาก หนูไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อนเลย มันดีนะที่ได้แสดงพลังของประชาชน แต่พอมันมีทุกวันๆๆ มันมีเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเข้ามาด้วย ไม่มีใครมีทุนทรัพย์มากพอที่จะออกมาได้ทุกวันขนาดนั้น ก็คงเป็นผลให้คนออกมาน้อยลงด้วย”
สำหรับบรรยากาศรอบๆ ตัวในฐานะคนรุ่นใหม่ ตะวันเล่าว่า สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเพื่อนที่เรียนหนังสือด้วยกันตั้งแต่สมัยมัธยม ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะ “ตาสว่าง” แต่ก็ยังมีเพื่อนในวัยเดียวกันอีกหลายคนที่ไม่ได้สนใจการเมือง และเธอกล่าวว่า “ก็เสียใจกับเรื่องนี้เหมือนกัน”
ในช่วงปี 2564 เมื่อกระแสการสนับสนุนการชุมนุมลดลงบ้าง เกิดความสิ้นหวังขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เห็นว่า การพยายามเรียนให้จบและประกอบอาชีพในประเทศไทยภายใต้โครงสร้างทางการเมืองที่รวบอำนาจให้คนกลุ่มเดียวไม่อาจตอบสนองความฝันของพวกเขาได้ จึงเกิดเป็นกระแส “ย้ายประเทศ” ขึ้นมาบนโลกออนไลน์ โดยเชื่อว่า การแสวงหาชีวิตใหม่ในประเทศที่ระบบการเมืองเปิดกว้างมากกว่าอาจเป็นทางเลือกที่ดี
แต่ไม่ใช่สำหรับตะวัน ที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่สิงคโปร์มาแล้วเกือบสองปี
“ถามว่าอยู่นู่นดีกว่าไหม? ก็สารภาพตามตรงเลยว่า ดีกว่าแน่นอน...” ตะวันพูดไปยิ้มไป
“ความรู้สึกส่วนตัว คือ ไม่อยากย้าย เพราะเรารู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงให้ได้ เพื่อคนรุ่นต่อๆ ไปมากกว่า ดีกว่าที่จะให้เขาโตขึ้นมาแล้วคิดว่าจะย้ายประเทศเหมือนเรา” ตะวันบอกด้วยน้ำเสียงนิ่งๆ
ตรงกันข้ามกับกระแส “ย้ายประเทศ” ก็ยังมีคำขวัญของการชุมนุมอีกคำหนึ่ง คือ “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ซึ่งดูจะเหมาะกับคนอย่างตะวันที่ตั้งใจปักหลักต่อสู้อยู่ในบ้านเกิดจนกว่าจะเห็นเป้าหมายปลายทางด้วยตัวเอง
“มันก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ บางคนรู้สึกว่า มันจะจบได้ยังไง สวยหรูเกินไปหรือเปล่า หนูว่าในความสวยหรูก็พยายามให้มันเป็นไปได้สิ ถ้าพยายามยังมีโอกาสอยู่ที่มันจะจบที่รุ่นเราจริงๆ” ตะวันพูดถึงคำขวัญคำนี้ ที่มีคนหยิบยกมาใช้น้อยลงเรื่อยๆ ในปี 2565
ชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อมีทั้งตำรวจติดตาม กำไล EM และมาตรา 112
แม้ว่า การเคลื่อนไหวแสดงออกของตะวันจะออกแบบมาอย่างรัดกุมให้เป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่เนื้อหาชัดเจน ไม่มีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ อันจะทำให้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 แต่เมื่อชื่อของ “ตะวัน” ปรากฏอยู่ในหน้าสื่อครั้งแล้วครั้งเล่า และการจับกุมไปเสียค่าปรับในข้อหาเล็กๆ น้อยๆ ไม่สามารถหยุดกิจกรรมครั้งต่อๆ ไปของเธอได้ ตำรวจจึงจำเป็นต้อง “ควัก” เอาข้อกล่าวหาหลักมาใช้กับเธอจนได้
5 มีนาคม 2565 ตะวันไปทำกิจกรรมเฝ้ารับเสด็จที่บริเวณถนนราชดำเนินนอก ก่อนถูกตำรวจเข้าจับกุมบริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติก่อนที่ขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่านมา ตะวันถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดี เมื่อตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุมโดยไม่มีหมายจับเช่นนี้ ตำรวจย่อมต้อง “หาคำอธิบาย” ถึงเหตุในการจับกุมให้ได้ว่า ผู้ต้องหากระทำความผิดตามกฎหมายใด หลายชั่วโมงหลังการจับกุมตำรวจตัดสินใจตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 โดยอ้างว่า เนื้อหาที่ตะวันกล่าวระหว่างถ่ายไลฟ์สดเหตุการณ์การเข้าจับกุม มีเนื้อหา “ด้อยค่า” พระมหากษัตริย์ และทำให้ตะวันกลายเป็นหนึ่งใน 183 คนที่ถูกดำเนิคดีมาตรา 112 ในยุคนี้
จากเหตุการณ์จับกุมในกิจกรรมดังกล่าวตะวันยังถูกตั้งข้อหาฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 368 และฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามมาตรา 138 ด้วย ทั้งที่เธอเป็นคนได้รับบาดเจ็บจากการถูกตำรวจเข้าจับกุม
ระหว่างที่ตะวันยังถูกควบคุมตัวอยู่ในสโมสรตำรวจนั้นเอง ตำรวจจากสน.ปทุมวัน ได้มาหาตะวันและแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มอีกคดีหนึ่ง โดยเอาเหตุจากการทำกิจกรรมโพลสำรวจความคิดเห็นว่า “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” ที่ห้างสยามพารากอนเมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น มาเป็นเหตุให้ต้องคดีเพิ่มขึ้น ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า ในเอกสารการแจ้งพฤติการณ์ข้อกล่าวหาของตำรวจ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าส่วนใดของกิจกรรมดังกล่าวที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามข้อหามาตรา 112
แม้ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว แต่สัญญาประกันตัวจากศาลก็เหมือน “กรงขัง” ที่เก็บเธอไว้ไม่ให้ทำกิจกรรมต่อได้อย่างอิสระ เพราะกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำในลักษณะแบบเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือการกระทำใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกับให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็คทรอนิกส์ (EM) ซึ่งจะทำให้ภาครัฐรู้อยู่ตลอดเวลาว่า วันไหนเธอจะเดินทางไปที่ไหนบ้าง
“ใครจะไปคิดว่าวันนึงเราจะโดนตำรวจตาม ใครจะไปคิดว่าวันนึงจะมีตำรวจเป็นสิบคนบุกมาที่บ้าน ใครจะไปคิดว่าวันนึงเราจะโดนกำไล EM โดน 112 เสี่ยงติดคุก หนูก็ไม่เคยคิดว่าวันนึงหนูจะต้องมาโดนอะไรแบบนี้เหมือนกัน แต่ก็เลือกแล้ว” ตะวัน กล่าว
ตะวันยอมรับว่า การตัดสินใจเปิดหน้าเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเต็มตัวทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปมาก นอกจากไม่ได้เรียนต่อให้จบแล้ว ยังต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามต่างๆ แม้เธอจะเคยมั่นใจว่า ได้ออกแบบกิจกรรมให้รัดกุม ไม่ผิดต่อกฎหมายแล้ว แต่มาตรา 112 ก็ยังคงตามมาถึงตัวเธอจนได้
“ยิ่งรัฐยัดคดี ยิ่งแสดงให้เห็นว่า มาตรา 112 ถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้งทางการเมืองกันจริงๆ น่าจะทำให้คนที่ยังไม่เห็นด้วยกับเราเห็นชัดมากขึ้นถึงปัญหา เพราะตอนเราทำโพลก็ชัดเจนว่า เราไม่ได้ให้ติดแค่ช่องเดียว เราไม่ได้บังคับว่าคนที่คิดเห็นไม่เหมือนเราจะเข้ามาไม่ได้”
“หนูอ่านบันทึกจับกุมแล้วหนูก็ขำนะ มาตีความยังงี้ได้ยังไง ตอนแรกตำรวจถามว่า ไม่ต้องอ่านแล้วเนอะ? หนูก็บอกว่า ไม่ค่ะ อ่านให้ฟังหน่อย แล้วหนูก็นั่งมอง... เผื่อเขาจะคิดได้ในประโยคที่เขาอ่านบ้างว่า คุณยัดคดีมาน่ะ ที่พูดไปจริงหรือเปล่า” ตะวันเล่าถึงกระบวนการดำเนินคดีต่อตัวเธอ ที่ถึงวันนี้ข้อกล่าวหาก็ยังไม่ชัดเจนว่า สิ่งที่เธอทำเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 อย่างไร
“เรียกว่าเป็นตลกร้ายแล้วกัน แต่จะขำก็ขำไม่ออกนะ บางที...”
ไม่มีความกลัว มันเป็นความโกรธ
เมื่อถามตะวันว่า การต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากรัฐแบบนี้ ทำให้เธอกลัวบ้างหรือไม่ ตะวันตอบเสียงแข็งทันทีว่า “ไม่กลัวเลย ไม่ได้มีความกลัวเลยแม้แต่น้อย”
“อย่างล่าสุดที่โดนจับไปแล้วอยู่ในบช.ปส. (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด) สองคืน มันเป็นความโกรธว่า สิ่งที่เราพูดมันก็เป็นความจริง ทำไมถึงไปตีความว่าเป็นการดูหมิ่น เป็นการด้อยค่า คิดแต่ว่า ถ้าออกไปแล้วเราจะทำโทษมันอย่างหนัก คือ การเคลื่อนไหวอย่างหนัก ไม่ใช่ไม่คิดนะ ต้องออกแบบไม่ให้ต้องเข้าคุกด้วย”
เมื่อถามว่า ครอบครัวของเธอมีความกลัวหรือความเครียดบ้างหรือไม่ ตะวันเล่าว่า ครอบครัวของเธอก็เป็นห่วง เช่น เวลาโพสเฟซบุ๊ก กลัวว่าจะขัดกับเงื่อนไขในสัญญาประกันตัว สิ่งที่เธอพยายามจะทำ คือ การบอกกับครอบครัวว่า สิ่งที่เธอทำอยู่ เป็นสิ่งที่ควรจะทำได้ แต่ประเทศไทยเป็นแบบนี้ ไม่อยากให้ครอบครัวต้องกังวลและให้เชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด
“ตอนอยู่ในบชปส. ได้โทรศัพท์คุยกัน เขาก็พูดว่า ตำรวจก็เป็นของเขา อัยการก็เป็นของเขา ศาลก็เป็นของเขา ยังไงมันก็พวกเดียวกันมันจะทำอะไรก็ทำได้ เขาก็รู้แหละว่าประเทศมันเป็นแบบนี้” ตะวันเล่า
บอกคนอื่นให้พัก แต่เราทำไม่ได้
ในช่วงต้นปี 2565 เป็นช่วงที่คนรุ่นใหม่ที่เคยขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองหลายคนเริ่มอยู่ในภาวะ “ท้อ” หลังออกแรงตะโกนเรียกร้องมานานเกือบสองปีแล้วมีคดีความติดตัวมากมายโดยที่ยังไม่บรรลุถึงข้อเรียกร้องใดๆ แต่ประกายไฟความหวังได้ส่องไปทั่วท้องฟ้าจากคน “ไม่ท้อ” อย่างตะวันที่ริเริ่มกิจกรรมที่ไม่ "ลดเพดาน" แต่มุ่งเป้าสื่อสารประเด็นไปให้ถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
“มันยังมีความหวังอยู่ มีความหวังอยู่ทุกที่ ทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่เคลื่อนไหวอยู่ด้วย ถึงจะผ่อนไปบ้างแต่ยังมีความหวังอยู่ทุกการเคลื่อนไหว วันนึงเราชนะแน่ๆ แค่อย่าหยุดก็พอ” ตะวันกล่าว
เมื่อถามตะวันว่า ชัยชนะที่เธอกำลังมุ่งไปนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ตะวันก็ตอบได้ทันทีว่า อาจจะมีวันที่เราได้ข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ แต่อาจจะไม่มีวันที่เราไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว หากเราได้ชัยชนะมาสักก้อนหนึ่ง ก็ไม่ใช่ว่า เราจะหยุดการเคลื่อนไหวอยู่ตรงนั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงยังต้องมีเสมอ เรายังต้องพัฒนาประเทศให้มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อยู่ดี
ในวัย 20 ปี เมื่อชวนมองไปยังอนาคตที่ต้องเติบโตและเลี้ยงดูตัวเองในวันข้างหน้า ตะวันมองตัวเองเป็นเพียงคนที่จะทำธุรกิจขนาดเล็กๆ พอให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง แต่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นใหญ่โต กับการทำงานเคลื่อนไหวทางการเมืองไปเรื่อยๆ
“ตราบใดที่เรายังหายใจอยู่ และประเทศยังไม่พัฒนา ก็คงจะเห็นเราอยู่ในการเคลื่อนไหวนี้ต่อไปเรื่อยๆ เรื่องอนาคตตัวเองจริงๆ มีความคิดว่าอยากทำธุรกิจของตัวเอง อะไรก็ได้ ธุรกิจที่บ้านก็ไม่ได้อยากทำขนาดนั้น อยากทำของตัวเองมากกว่า”
และนี่คือส่วนหนึ่งจากบทสนทนาของเรา เมื่อชวนกันมองไปในอนาคต
อยากเห็นอะไรจากคนอื่นๆ บ้าง?
“สำหรับนักกิจกรรมทุกคน เราคิดว่า ไม่ต้องทุ่มเททั้งชีวิตกับการเคลื่อนไหวก็ได้ เราขอให้ไปใช้ชีวิตให้เต็มที่ ตื่นมาได้เล่นกับแมว ไปกินข้าวกับเพื่อน ไปเที่ยวทะเล ไปสวนสนุกบ้างหาความสุขให้ตัวเองบ้างแบบที่มนุษย์ตัวเองสมควรที่จะได้รับ เราแค่อยากให้ทุกๆ คนได้ใช้ชีวิตของตัวเองแล้วทำสิ่งที่เขาพอจะทำได้ เท่านั้นก็พอแล้ว”
แล้วคุณทำได้ไหม?
“ตอนนี้ยัง ยังหาเวลาไม่ได้”
คุณบอกตัวเองอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า?
“เราบอกคนอื่น แต่เราทำไม่ได้...”
ในวันที่แสงส่องถึงตะวัน
หลังจากกิจกรรมของตะวันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากการเปิดส่องแสง “ทะลุเพดาน” ไปเรื่อยๆ ความสนใจก็เริ่มพุ่งเป้ามาที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ เมื่อเธอถูกจับกุมในเดือนมีนาคม 2565 มีการทำกิจกรรม “ผูกโบว์แดง” เรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอ และภาพถ่ายของเธอยืนหน้าตรงแววตามุ่งมั่น “ชูสามนิ้ว” หรือชูป้ายข้อความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ถูกแชร์ไปกว้างขวางบนโลกโซเชี่ยลมีเดีย
“จริงๆ หนูก็ดูน่ารักนะ ทำไมถึงไม่มีใครถ่ายมุมนั้นเลย มันกลายเป็นภาพหนูโดนอุ้มบ้าง สู้กับตำรวจบ้าง หนูไม่ใช่คนแข็งกร้าวขนาดนั้นนะ ก็แข็งกร้าวแหละ แต่มุมอื่นก็มีอยากได้มุมอื่นบ้าง” คำตอบเจือเสียงหัวเราะหลังจากได้รับคำถามว่าเธอชอบรูปตัวเองที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ไหม
ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เราจึงขอถ่ายภาพเธอในมุมคู่กับดอกไม้สวยๆ หรือต้นไม้ใบหญ้า ให้มากกว่าสัญลักษณ์ทางการเมือง แล้วให้เธอเล่าถึงตัวเองในมุมมองที่อยากเล่าบ้าง
“ที่บ้านมีหมาสามตัว แล้วก็แมวสองตัว เป็นไซบีเรียสองตัว แล้วก็พันธุ์ไทยที่เขาหาบ้านเลยเอามาเลี้ยง แล้วก็แมวสองตัวเป็นแมวหาบ้านเหมือนกันทั้งสองตัวเลย เวลาเจอหมาแมวข้างถนน ต้องแวะทักทายก่อน ไม่แวะทักไม่ได้ จะไปเล่นด้วย ถ้าเค้าไม่เล่นด้วยอย่างน้อยก็ได้ทัก ถ้าน้องไม่เล่นด้วยก็ อ้าว! ไปแล้ว บ๊ายบาย...”
และนี่เป็นบทสนทนาที่ปราศจากการเมืองแทบจะวรรคเดียวที่ตะวันเล่าถึงเพราะเมื่อเราถามว่า ในเวลาว่างตะวันชอบทำอะไร เธอตอบได้เพียงว่า ตั้งแต่เริ่มทำกิจกรรมทางการเมือง ก็ไม่ค่อยมีเวลาว่างแล้ว แต่เมื่อต้องให้สัมภาษณ์ก็มีคนถามมาก ก็ทำให้ได้เริ่มคิดว่าปกติทำอะไร? ก็มีอ่านการ์ตูนบ้าง ในเว็บตูน เล่นเกม แล้วก็ฟังเพลงบ้าง ส่วนใหญ่เวลาเล่นเกมก็จะคิดไปด้วยว่าพรุ่งนี้จะทำกิจกรรมอะไรดี
ในวันที่เธอมีชื่อเสียงแล้ว และถูกจับตาอย่างหนักจากเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงแล้ว คำถามสุดท้ายจึงอยู่ที่ว่า เธอคิดถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเองในทางที่เลวร้ายไว้บ้างหรือไม่ และตะวันตอบว่า
“จากการออกแบบกิจกรรมของเรา ก็คิดว่าไม่ผิดฐาน 112 หรอก มาตรา 112 ไม่อยู่ในแผนการเลย แต่ก็โดนมาจริงๆ เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้ประเมินไว้ แล้วสถานการณ์แบบนี้เขาจะทำอะไรก็ได้ สิ่งที่เลวร้ายกว่านี้ก็จึงอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ ... แต่เขาก็ทำได้เท่านั้นแหละ”