วันพฤหัสบดี, เมษายน 21, 2565

ศาลสั่งถอนประกัน ‘ตะวัน’ คดี ม.112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก และพยายามขับรถเข้าใกล้ขบวนเสด็จ


...
ศาลถอนประกัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ผู้ต้องหาคดี ม. 112 กรณีทำโพลล์-ไลฟ์สดเรื่องขบวนเสด็จ


ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน นักศึกษาและนักกิจกรรมวัย 20 ปี หนึ่งในผู้ต้องหาคดี 112 จากกรณีทำโพลขบวนเสด็จที่สยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 และคดี 112 จากกรณีไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กก่อนมีขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565

ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนประกัน น.ส. ทานตะวัน หรือ "ตะวัน" ตัวตุลานนท์ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จและจากการเผยแพร่ข้อความทางเฟซบุ๊ก

ตะวัน นักกิจกรรมวัย 20 ปี ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ขณะยืนไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จบริเวณถนนราชดำเนินนอก เธอถูกแจ้งข้อกล่าวหารวม 5 ข้อหาโดยข้อหา ม.112 เป็นข้อหาหลัก ตำรวจระบุว่าเนื้อหาที่ตะวันพูดขณะไลฟ์เป็นการ "ด้อยค่า" พระมหากษัตริย์ ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่นั้น ตำรวจ สน.ปทุมวันได้เข้าแจ้งข้อหา ม.112 เพิ่มเติมอีกคดีหนึ่งจากการเข้าร่วมกิจกรรมทำโพลล์สำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ.

ต่อมาวันที่ 7 มี.ค. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน โดยให้วางหลักทรัพย์วงเงิน 100,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามการกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก และให้ติดกำไลติดตามตัวหรือกำไลอีเอ็ม

ขบวนเสด็จฯ: เสียงจากผู้ต้องหาในคดีประวัติศาสตร์ มาตรา 110 "ประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี"
ขบวนเสด็จ: เกิดอะไรขึ้นที่วงเวียนใหญ่ สรุปเหตุการณ์นักกิจกรรมชูป้าย ยกเลิก 112-หญิงวิ่งประชิดรถพระที่นั่ง
ขบวนเสด็จฯ: "เอกชัย" ผู้ต้องหาคดี ม.110 แจ้งความกลับตำรวจกรณีขบวนเสด็จฯ ผ่านที่ชุมนุม
จาก #ขบวนเสด็จ ถึง #SaveTwitterTH เกิดอะไรขึ้นกับทวิตภพไทย

หนึ่งเดือนหลังจากได้รับอิสรภาพชั่วคราว ตำรวจ สน.นางเลิ้งได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ขอถอนประกันผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันรายนี้ โดยอ้างว่าตะวันทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวด้วยการโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊ก ตำรวจยังอ้างด้วยว่าตะวันและพวกพยายามขับรถเข้าใกล้พื้นที่ที่มีขบวนเสด็จในช่วงค่ำของวันที่ 17 มี.ค.

วันนี้ (20 เม.ย.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ตะวันแจ้งว่า ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนประกันนักกิจกรรมรายนี้ โดยระบุว่า การเข้าร่วมขบวนเสด็จเมื่อ 17 มี.ค. มีจุดประสงค์สร้างความวุ่นวายแก่บ้านเมือง และการโพสต์เฟซบุ๊กซ้ำเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ จึงถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

"หลังจากฟังคำสั่งในวันนี้ ทำให้ตะวันถูกควบคุมตัวอยู่ห้องเวรชี้ใต้ถุนศาล ต่อมา 11.37 น. ตำรวจศาลแจ้งว่าจะควบคุมตัวตะวันไปทัณฑสถานหญิงทันที ทั้งที่ทนายความยังไม่ได้ทำเรื่องยื่นประกันแต่อย่างใด" ศูนย์ทนายฯ ระบุ

คดีทำโพลล์ขบวนเสด็จ

นักกิจกรรมที่ใช้ชื่อว่ากลุ่ม "ทะลุวัง" จัดกิจกรรมบริเวณลานหน้าห้างสยามพารากอน เมื่อ 8 ก.พ. 2565 โดยถือป้ายซึ่งเป็นกระดาษแข็งที่มีข้อความสอบถามความคิดเห็นด้วยข้อความว่า "คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่" แล้วให้ประชาชนร่วมติดสติ๊กเกอร์ แสดงความคิดเห็นในช่องที่มีให้เลือก ระหว่างเดือดร้อน และไม่เดือดร้อน

นักกิจกรรมทั้ง 6 คน ถูกตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 ข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 และข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368

วันที่ 10 มี.ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุญาตให้ประกันตัวนักกิจกรรม 5 คน ด้วยการวางหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท พร้อม 4 เงื่อนไข ได้แก่ ห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้ติดอุปกรณ์กำไลอีเอ็ม (electronic monitoring device) ส่วนนักกิจกรรมอีก 1 ราย ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 14 ปี ศาลครอบครัวและเยาวชนกลาง อนุญาตประกันตัวด้วยการวางหลักทรัพย์ 20,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไข


โพลสำรวจความเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จของสมาชิกราชวงศ์ที่ห้างสยามพารากอน เมื่อเดือน ก.พ.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยเพิ่มเติมว่า ผู้ถูกกล่าวหา 6 คน ถูกแจ้งข้อหาในคดี ม.112 และ 116 ทั้งหมด ในจำนวนนี้ 4 ราย ถูกแจ้งข้อหาทั้งหมด 4 ข้อหา ซึ่งรวมถึงข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ฯ มาตรา 138 และข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ขณะที่บางรายถูกแจ้งข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เมื่อถามถึงพฤติการณ์ของการทำโพลสำรวจว่าถูกกล่าวหาตามความผิด ม.112 อย่างไร ศูนย์ทนายฯ ระบุกับบีบีซีไทยว่า ตำรวจไม่ได้ระบุชัดเจน มีแค่บรรยายกิจกรรมมา

#ขบวนเสด็จ บนโลกออนไลน์

กรณี "ขบวนเสด็จ" เป็นกรณีที่ถูกแสดงความคิดเห็นบนโลกทวิตเตอร์เป็นระยะ ๆ ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2562 แฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ ขึ้นเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์ประเทศไทยเมื่อ 1 ต.ค. 2562 หลังจากมีผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งรายงานปัญหาการจราจรหยุดนิ่งบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยบางคนระบุว่าเป็นการปิดการจราจรอันเนื่องมาจากมีขบวนเสด็จ และมีผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งรายงานว่าพบเห็นรถพยาบาลอย่างน้อย 2 คันที่อยู่ระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดอยู่บนถนนด้วย

ในเวลานั้น พ.ต.อ.เจษฎา คุ้มศาสตรา ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพญาไท ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่าเจ้าหน้าที่ยังคงปฏิบัติตามคู่มือ"นโยบายและแนวทางการปฏิบัติในการถวายความสะดวกด้านการจราจรในการเสด็จพระราชดำเนิน (เป็นการส่วนพระองค์)" ที่เผยแพร่เมื่อปี 2553