วันอาทิตย์, เมษายน 24, 2565

เอกสารความจริงในประวัติศาสตร์ เมื่อคุณเห็นแล้วอาจไม่เชื่อสายตา รายละเอียดใบอนุญาตสั่งฆ่าหมู่ผู้มีบุญกว่า 300 ศพ ที่บ้านสะพือใหญ่ จ.อุบลราชธานีเมื่อ 120 ปีก่อน


The Isaan Record
April 21 at 7:06 PM ·

หลังการสังหารหมู่ผู้มีบุญกว่า 300 ศพที่บ้านสะพือใหญ่ จ.อุบลราชธานีเมื่อ 120 ปีก่อน ที่ปรึกษากฎหมายชาวฝรั่งเศสตั้งคำถามข้าหลวงต่างพระองค์ว่า มีอำนาจอะไรในการสั่งประหารคน
“วิทยากร โสวัตร” เจอหลักฐานชั้นต้น ที่ยืนยัน (อนุญาต) ให้ประหารชีวิตผีบุญ ในหนังสืองานศพของอัยการคนหนึ่ง เมื่อคุณเห็นแล้วอาจไม่เชื่อสายตา
หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564
อ่านต่อ https://theisaanrecord.co/2021/12/03/the-killing-letter/
#ซีรีส์ชุดผู้มีบุญในอีสานซีซั่นสอง #บ้านสะพือ #อุบลราชธานี #TheIsaanRecord

คำสั่งประหารผีบุญ

ธันวาคม 3, 2021
Isaan Record

หลังการสังหารหมู่ผู้มีบุญกว่า 300 ศพที่บ้านสะพือใหญ่ จ.อุบลราชธานีเมื่อ 120 ปีก่อน ที่ปรึกษากฎหมายชาวฝรั่งเศสตั้งคำถามว่า ข้าหลวงต่างพระองค์ว่า มีอำนาจอะไรในการสั่งประหารคน “วิทยากร โสวัตร” เจอหลักฐานชั้นต้น ที่ยืนยัน (อนุญาต) ให้ประหารชีวิตผีบุญ ในหนังสืองานศพของอัยการคนหนึ่ง เมื่อคุณเห็นแล้วอาจไม่เชื่อสายตา

วิทยากร โสวัตร เรื่อง

ว่าไปแล้ว ผมเขียนเรื่องขบวนการผู้มีบุญ (ตามที่เรียกขานตัวเองและหมู่ประชาชนในตอนนั้นเรียก) หรือกบฏผีบุญ (ตามอย่างที่รัฐเรียก) มามากพอสมควรแล้ว แต่พอได้หนังสืองานศพเล่มหนึ่งมาในนั้นก็พบว่า มีข้อเขียนเรื่องผีบุญค่อนข้างยาวร่วม 7 บท (ยาว 16 หน้า A4) และมี ‘ข้อมูล’ หรือหลักฐานชั้นต้นในเรื่องที่ค้างคาใจมาตลอดในการศึกษาค้นคว้าเรื่องผู้มีบุญอีสานหรือผีบุญ

เรื่องของเรื่องก็คือ ผมก็เหมือนคนส่วนใหญ่ที่อ่านเรื่องผีบุญจากหนังสือประวัติศาสตร์อีสาน ของเติม วิภาคย์พจนกิจ (ไม่นับที่เคยฟังจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่) มีความตอนหนึ่งในบทที่ 18 กบฏผีบาปผีบุญ เติมบันทึกไว้ว่า – –

“เนื่องในการประหารชีวิตพวกผีบาปผีบุญครั้งนี้ เมอร์สิเออร์ลอร์เรน ชาวฝรั่งเศส ซึ่งทางการเราจ้างมาเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ณ เมืองอุบลราชธานี ได้ทูลถามเสด็จในกรมฯ ข้าหลวงต่างพระองค์ว่า “พระองค์มีอำนาจอย่างไรในการรับสั่งให้ประหารคน ก่อนได้รับพระบรมราชานุญาต” เสด็จในกรมฯ ทรงรับสั่งตอบว่า “ให้นำความกราบบังคมทูลดู” ทำให้เมอร์สิเออร์ลอร์เรนเงียบไป”

ความเป็นมาเป็นไปก็คือ หลังการล้อมฆ่ากลุ่มผีบุญที่บ้านสะพือใหญ่ตายไปราว 300 ก็ฝังทิ้งกันที่นั่น และที่บาดเจ็บและจับได้ร่วม 500 ก็ใส่ขื่อคาเครื่องจองจำต้อนให้เดินมาที่เมืองอุบลฯ คุกนั้นไม่พอขัง (เคยฟังจากผู้เฒ่าบางท่านว่า ผีบุญบางคนถูกขังไว้ห้องด้านล่างตึก ตอนนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งก็น่าจะเป็นระดับหัวหน้ากบฏ แต่เมื่อเช็คแล้ว อาคารนี้สร้างทีหลัง วาทกรรมนี้อาจเป็นความคับแค้นของคนที่ถูกกระทำ แต่ก็น่าสนใจว่า คุก ที่ใช้ขัง สอบสวน จนไม่พอขัง อยู่ตรงไหน) ส่วนใหญ่ก็จึงถูกกักไว้กลางทุ่งศรีเมืองกลางแดดกลางฝนโดยมีเวรยามเจ้าหน้าที่ติดอาวุธคุมเข้มจนกว่าคณะผู้พิพากษาที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาจะทำการไต่สวนพิพากษาแล้วเสร็จ

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการยุติธรรมก็มีผีบุญหลายคนถูกพิพากษาประหารชีวิต จุดนี้เองที่เมอร์สิเออร์ลอร์เรน (เพราะเขาเป็นนักกฎหมาย) ตั้งคำถามและคำตอบที่มีในหนังสือของเติมก็ค่อนข้างคลุมเครือ และมีแนวโน้มชี้ว่า ข้าหลวงต่างพระองค์มีอำนาจตัดสินประหารชีวิตได้เลย

เมื่ออ่านหนังสือ เอกสาร บทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างก็ไม่มีใครหรือชิ้นไหนกล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมา ส่วนใหญ่ละเว้นที่จะกล่าวอ้างถึง จะมีก็แต่งานวิจัยของ ไพฑูรย์ มีกุศล หัวข้อเรื่อง “การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานสมัยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทรงเป็นข้าหลวงใหญ่ (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๕๓)” ซึ่งเมื่อได้ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ระบุไว้ แต่ก็ผ่านหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเมื่ออ่านดูแล้ว เป็นการเขียนเล่าหรือบันทึกความอีกที โดยไม่ระบุต้นตอหรือเอกสารชั้นต้นว่า

“ส่วนการพิพากษาคดีและลงโทษพวกขบถที่จับได้นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้กระทรวงมหาดไทยส่งโดยทางโทรเลขถึงกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ มีข้อความว่า “…มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาญาสิทธิ์แก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ให้มีอำนาจที่จะประหารชีวิตผู้ซึ่งควรแก่โทษ ตามพระราชกำหนดกฎหมายตลอดเวลาที่ระงับจลาจลในมณฑลอีสาน”

จากพระบรมราชโองการนี้ ไพฑูรย์ มีกุศล ยังตั้งข้อสังเกตว่า อำนาจขององค์ข้าหลวงต่างพระองค์ลดน้อยลงกว่าสมัยที่กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว (มณฑลอีสานในเวลาต่อมา) เพราะกรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงมีอำนาจพิพากษาลงโทษประหารชีวิตได้ แล้วจึงกราบบังคมทูลให้ทรงทราบภายหลัง แต่ถึงกระนั้นในงานวิจัยที่สำคัญชิ้นนี้ก็ไม่ได้แสดงตัวหลักฐาน (ลายพระหัตถ์)

“กระทั่งไม่กี่วันมานี้ ผมเปิดอ่านหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ วรา ไวยหงส์ 2 พฤศจิกายน 2545 จึงได้พบหลักฐานชิ้นนั้น

ตามประวัติแล้ว วรา ไวยหงส์ ถือกำเนิด ณ บ้านพักครูประจำอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2467 แล้วปีถัดมาได้โยกย้ายตามบิดาที่เป็นข้าราชการครูเข้ามาอยู่ในตัวเมืองอุบลราชธานี สอบไล่ชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนเบญจมะมหาราชได้แล้ว พ่อก็ส่งมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (แผนกอักษรศาสตร์) วรา เป็นคนใช้ภาษาอังกฤษได้ดีและเรียนเก่งสามารถสอบไล่ข้ามชั้นได้หลายครั้ง จึงทำให้จบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตด้วยอายุเพียง 19 ปี แล้วเข้าทำงานที่สภาวัฒนธรรม

ภายหลังสอบเป็นอัยการได้ รับราชการอัยการอยู่ 10 ปี และสอบเป็นผู้พิพากษาได้เมื่อปี พ.ศ. 2499 รับราชการเป็นผู้พิพากษาจนกระทั่งเกษียณอายุเมื่อปี พ.ศ. 2527 ในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา



ในบทความทั้ง 9 เรื่องในหนังสือเล่มนี้ ล้วนเป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งสิ้น โดยมีถึง 4 เรื่องที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเมืองอุบลราชธานี ซึ่งทั้งหมดได้ตีพิมพ์เป็นเล่มมาก่อนแล้วในโอกาสครบรอบวันเกิด 80 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2545 กล่าวเฉพาะบทความเรื่อง ผีบุญ วรา ไวยหงส์ ได้เกริ่นนำว่า – –

“ไม่นานมานี้ ได้รับคำถามจากเพื่อนที่นับถือกันมา ถือเป็นคำปรารภของเขาความว่า เคยรู้เรื่องผีบุญ-ผีบาป ครั้งเก่าก่อนบ้างไหม? มันเกิดที่ภาคอีสานของเรานี้เอง เพื่อนคนนี้มีคนหนุ่มรุ่นใหม่ถามเรื่องนี้ ถ้าได้รู้เรื่องมีหลักฐานเชื่อถือได้ ก็น่าจะได้ตีพิมพ์เรื่องราวไว้ ให้รู้กันไปถึงคนรุ่นหลัง ประโยชน์คงจะมีบ้าง ข้าพเจ้าตอบว่า ก็พอรู้บ้าง ผู้รู้ชาวอุบลราชธานีบางท่านก็ได้เขียนไว้พอรู้เรื่องเป็นแนวทาง ข้อเขียนของท่านผู้รู้ดังกล่าว ข้าพเจ้าเคารพและศึกษาเพิ่มเติมมาอีกนาน พอได้ความมากขึ้นจากหลายสาขา จึงตกลงว่าจะเล่าเรื่องผีบุญตามคำร้องขอ…”

เมื่ออ่านบทความเรื่องผีบุญนี้จบพบว่า 80% ของเนื้อหาหรือกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง บทที่ 1 – 6 เป็นภาพรวมทั่วๆ ไป อาจมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนอกเหนือจากเล่มอื่นๆ (ด้วยความที่เป็นคนเก่าแก่ของจังหวัดอุบลฯ) ก็พอได้เป็นข้อมูลเพิ่มเต็มเป็นสีสัน

แต่จุดเด่นที่สุดของข้อเขียนชิ้นนี้ คือ การให้ภาพการพิจารณาคดีความผีบุญได้อย่างแจ่มชัดเป็นขั้นตอน ซึ่งตรงนี้อาจเป็นเพราะคุณสมบัติของผู้เขียน (วรา ไวยหงษ์) เคยเป็นทั้งอัยการและผู้พิพากษา สิ่งหนึ่งที่ทำให้งานเขียนชิ้นนี้หนักแน่นทางกฎหมาย ในแบบฉบับคนทำงานด้านตุลาการแบบเถียงไม่ได้ก็คือ การยกเอาหลักฐานชิ้นสำคัญซึ่งเป็นเอกสารชั้นปฐมภูมิมากำกับคำวินิจฉัยเพื่อตัดสินประหารชีวิตผีบุญ

“คณะตุลาการพิจารณาเสร็จแล้วพิพากษาว่า ผีบุญพวกอง ระดับหัวหน้ามีความผิดฐานกบถก่อการจลาจลภายใน ให้ลงโทษประหารชีวิต ส่วนพระครูอินทร์กับภิกษุอีก 2 รูป พวกเดียวกัน ให้อยู่ในสมณเพศ และในเขตจำกัดตลอดไป ถ้าสึกออกมาเมื่อใด ให้จำคุกตลอดชีวิต บรรดาชาวบ้านที่หลงเชื่อเข้าเป็นพวกผีบุญ เป็นแต่ปลายเหตุ ผู้ทำอุกอาจบ้างแต่มิใช่หัวหน้าก็ให้จำคุกบ้าง ที่ไม่ค่อยรู้เท่าทันผู้อื่นพลอยตามเขามาให้ภาคทัณฑ์บ้าง ปล่อยตัวไปส่วนมากรวมทั้งตัวพระเขมรัฐเดชประชารักษ์ (หรือเขมรัฐเดชนารักษ์) ผู้ถูกผีบุญจับตัว รอดพ้นจากกระสุนปืนใหญ่ ก็ได้ปล่อยไป คำพิพากษานั้นได้นำขึ้นกราบทูลเสด็จในกรม มีรับสั่งให้เป็นไปตามนั้น การประหารชีวิต ให้นำไปประหาร ณ ที่เกิดเหตุและตัดศรีษะเสียบประจานไว้มิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

มีคำถามจากบางท่านว่า เสด็จในกรมท่านมีอำนาจอนุมัติคำตัดสินประหารชีวิตถึงเช่นนั้นหรือ ขอคัดพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งมาอธิบายดังนี้



ที่ 10/309 พระที่นั่งวิมานเมฆ

วันที่ 9 พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก 121

ถึง กรมหลวงดำรงราชานุภาพ

ได้รับหนังสือที่ 150/1705 ลงวันที่ได้ทราบแล้ว ฉันได้เขียนคำอนุญาตมอบอาญาสิทธิ ให้กรมขุนสรรพสิทธิ มีอำนาจที่จะประหารชีวิต ผู้ซึ่งมีความผิดตามพระราชกำหนดกฎหมาย ได้ส่งมาด้วยฉบับ 1 ขอให้เธอมีโทรเลขนำส่งออกไป

สยามมินทร์