วันอาทิตย์, เมษายน 24, 2565

ความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีที่ กกต.แพ้คดีใบส้ม ๖๑.๔ ล้านบาท ใครจะต้องจ่าย และจ่ายอย่างไร


Sa-nguan Khumrungroj
April 21 at 7:57 PM ·

ความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีที่ กกต.แพ้คดีใบส้ม ๖๑.๔ ล้านบาท
ใครจะต้องจ่าย และจ่ายอย่างไร
ตามที่ได้มีผู้ให้ความเห็นไว้เกี่ยวกับกรณี กกต.ชุดปัจจุบัน ๗ คน ได้ให้ใบส้ม (เลือกตั้งเสร็จ ชนะแล้ว ไม่ประกาศผล สั่งให้เลือกตั้งใหม่ โดยตัดสิทธิลงแข่งขัน) แก่ผู้สมัคร ส.ส. เชียงใหม่ เขต ๘ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒
ต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำพิพากษาว่าไม่ผิด และศาลจังหวัดฮอด ได้มีคำพิพากษาให้ กกต.เยียวยาชดใช้ค่าเสียหาย ๖๔.๑ ล้านบาท โดยได้มีการให้ความเห็นไปในหลายแนวทาง นั้น
ผมขออธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายว่า
เราต้องดู พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และพรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายค่อนข้างใหม่ แม้ว่าจะออกมาบังคับใช้ยี่สิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันมากนัก เพราะส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กกต.และเจ้าหน้าที่อีกเป็นรายคนโดยหารเท่ากัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะการเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้นั้นไม่ต้องไปฟ้องศาลอีกและหากเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิใช่การประมทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้วหากเป็นเพียงการประมาทเลินเล่อธรรมดาหรือไม่ได้ประมาทก็ไม่ต้องชดใช้แต่อย่างใด และแม้ว่าหากจะต้องชดใช้ก็ต้องมีการคำนวณตามสัดส่วนความรับผิดชอบ มิใช่นำมาหารตามจำนวนผู้ต้องชดใช้ และหากหน่วยงานมีส่วนในความบกพร่องด้วย ก็ต้องรับผิดชอบไปด้วยน่ะครับ
ลองลำดับเหตุการณ์ว่าหากคดีถึงที่สุด(จะโดยการอุทธรณ์หรือฎีกาหรือไม่ก็ตาม) สิ่งแรกก็คือต้องแจ้งกระทรวงการคลังเพื่อตั้งงบประมาณชดใช้พร้อมกับการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่ง โดยไม่ชักช้าเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิด และจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้
๑.ถ้าสอบสวนแล้วไม่ปรากฏว่ามีการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่เป็นการประมาทเลินเล่อธรรมดาที่เป็นปฏิบัติหน้าที่ตามที่วิญญูชนอาจผิดพลาดได้ กกต.และจนท.ทั้งหลายก็ไม่ชดใช้แต่อย่างใด ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากภาษีเรานั่นเอง เพราะถือว่าทำงานให้รัฐแล้ว ถ้าได้ประโยชน์รัฐก็ได้ประโยชน์เช่นกัน
๒.ถ้าสอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือเจตนาไม่สุจริต เช่น ในการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่มีใบเหลือใบแดงก่อนการรับรองผลเลย งั้นเอาใบส้มไปสักใบหนึ่งก็ยังดี อย่างนี้ต้องโดนชดใช้เงินแน่ และต้องมาดูว่าใครรับผิดชอบแค่ไหน ถึงเจ้าหน้าที่หรือไม่ อย่างไร ทั้งหมดทั้งปวงก็ต้องพิสูจน์กัน
ขอเน้นว่าหน่วยงานสามารถเรียกให้ผู้ที่จะต้องชดใช้เงินได้เลยโดยไม่ต้องไปฟ้องศาลอีก ถึงไปฟ้องศาลอีกศาลก็ไม่รับ เพราะหน่วยงานสามารถใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยสามารถยึด อายัดทรัพย์สิน ฯลฯ ได้เลย ถ้าใช้ไม่ได้จึงจะสามารถไปฟ้องศาลปกครองได้ และในทำนองกลับกันเมื่อคำสั่งชดใช้เงินเป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้ที่ถูกคำสั่งหรือถูกมาตรการบังคับทางกครองก็สามารถไปฟ้องที่ศาลปกครองเพื่อโต้แย้งได้ ตัวอย่างก็คือคดีคุณยิ่งลักษณ์ที่เอาคดีไปฟ้องศาลปกครองเพิกถอนการยึดอายัดทรัพย์สินของตนเองน่ะครับ
เข้าใจตรงกันนะครับ
ชำนาญ จันทร์เรือง
๒๑ เม.ย.๖๕