วันเสาร์, เมษายน 23, 2565

วิกฤตประชาธิปัตย์เที่ยวนี้หนักหนานัก กระทั่ง ‘แม่ย่านาง’ ของพรรคก็อาจจะลาออกไปด้วย

วิกฤตประชาธิปัตย์เที่ยวนี้หนักหนานัก นอกจากเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะได้ ส.ส.ไม่มากกว่าครึ่งหนึ่งของเดี๋ยวนี้ (๕๓) แล้วยังจะไม่มีสมาชิกระดับหัวกะทิที่ไม่ใช่ก๊วน อู๊ดด้า เหลืออยู่สักกี่คนก็ได้ กระทั่ง แม่ย่านาง ของพรรคก็อาจจะลาออกไปด้วย

นพเก้า คงสุวรรณ นักข่าว/นักกิจกรรมสายเสื้อแดง แซวแรง “ด่วน แม่พระธรณีสุดยื้อ จ่อลาออกจาก โลโก้พรรคประชาธิปัตย์ ทนเรื่องฉาวยาวนานเกือบศตวรรษไม่ไหว” ก็ขนาด แอดมิน เพจพรรคประชาธิปัตย์ (Democrat Party) ยังบอกเลยว่า

“แอดภูมิใจ เข้าใจและไม่เคยเสียใจที่คุณลุง” วิทยา แก้วภราดัย ประกาศลาออกจากพรรค เพราะ “อยากให้กรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคแสดงความรับผิดชอบ และแสดงสปิริตกับเรื่องที่เกิดขึ้นให้มากกว่านี้...ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เหลือพรรค”

เขาพูดชัดเจน “โดยเฉพาะกรณี ปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่สร้างความเสียหายให้กับพรรค...เมื่อคนในพรรคทำผิด ผู้บริหารพรรคก็ต้องรับผิดชอบด้วย...ต้องรู้จักรับผิดชอบต่อสังคม และความรู้สึกของประชาชน”

เสียงยี้ต่อการรับมือปัญหารองหัวหน้าพรรคต้องคดีข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศถึง ๑๔ ราย ไม่เพียงจากอดีตรองหัวหน้าพรรคและ ส.ส.เมืองคอนหลายสมัย ส.ส.บัญชีรายชื่อในปัจจุบัน อย่าง พนิต วิกิตเศรษฐ์ ก็ยังฟันธง “ลาออกไม่ใช่การทิ้งปัญหา”

เขาให้สัมภาษณ์รายการ THE STANDARD NOW ว่าต้องเรียกศรัทธากลับมา “ให้กับพวกเราชาวประชาธิปัตย์อย่างเร็วที่สุด” เรื่องที่เกิดมา ๓ ปีแล้วเพิ่งฉาวโฉ่ขึ้นมาส่งกลิ่นแรงมากอย่างนี้ ‘Responsibility’ เท่านั้นไม่พอ ต้องมี ‘Accountability’ ด้วย

การพูดแสดงความรับผิดชอบเท่านั้น ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น ต้อง มีการกระทำ “ดำเนินการกับสิ่งที่คุณได้ทำลงไป” ให้เห็นโดยไว “การกระทำของผู้บริหาร การกระทำของคนที่แต่งตั้งบุคลากรเข้าไปแล้วมีปัญหา มันจะต้องมากกว่า” แค่คำพูด

พนิตพูดไม่อ้อมค้อม ดูจะเป็นครั้งแรกในเวลายาวนานที่มีนักการเมืองพูดได้อย่างตรงไปตรงมาเช่นนั้น “ตนเองเป็น ๑ ใน ๑๖ เสียงที่ไม่สนับสนุนการเข้าร่วมรัฐบาล และคิดว่าประชาธิปัตย์มีจุดยืนตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา ๗๖ ปี คือจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจและเผด็จการ”

เขาพาดพิงถึงการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ซึ่งพรรค ปชป.ได้ ส.ส.เพียง ๕๓ คน “ประชาชนคนไทยได้ตัดสินแล้วว่ามันไม่เหมาะสมในสถานการณ์ ณ วันนั้น และกรุงเทพฯ เองก็ชัดเจน...ประชาธิปัตย์ใน ๓๐ เขต จึงกลายเป็นศูนย์ไปเลย” เขารำพันแถม

การกระทำเพื่อแก้ไขปัญหา “ผมจะไม่พูดว่าการลาออกของผู้บริหารคือการทิ้งปัญหาไว้ ไม่ใช่ เพราะพรรคยังอยู่ ต้องมีคนมาสานต่อ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารชุดปัจจุบันหรือชุดใหม่” ชัดเจนว่าเสียงตำหนิจากภายในพรรคเองเหล่านี้ส่งถึงจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ประเด็นอยู่ที่จะเปลี่ยนโลโก้จากสาวสำอาง บีบมวยผม เอาแต่อ้อล้อคอยเกาะกับอำนาจ รอให้คดีความสร่างซาแล้วเกาะชายเสื้อพวกสืบทอดอำนาจ เอาตัวรอดไปอีกสมัย ไปสู่โลโก้ใหม่ใช้สัญญลักษณ์เก่า แมลงสาบ อยู่ยงคงกระพัน แต่กลิ่นแรงร้ายเหลือ

ทางใดทางหนึ่ง ย่อมแสดงแจ่มแจ้งธาตุแท้ถาวรของจุดยืนทางการเมืองพรรคนี้ ว่ายังมีลักษณะที่มุ่งมั่นต่อหลักการ โดยเฉพาะด้านประชาธิปไตยและความซื่อตรงต่ออุดมการณ์ไม่เพียงพอ ไม่ได้วิเศษวิโสอะไรไปกว่าพรรคใหญ่อื่นๆ

(https://www.facebook.com/thestandardth/posts/3023149004644638, https://www.youtube.com/watch?v=zBrSoYOF_Ik และ https://www.matichon.co.th/politics/news_3302605)