วันพุธ, เมษายน 20, 2565

ตอนผู้หญิงสัมภาษณ์ต้องเรียกแทนตัวเองว่าอะไรดี เรียกชื่อตัว เรียกหนู เรียกดิฉัน ?


Teepagorn Champ Wuttipitayamongkol
Yesterday at 12:45 AM ·
เขียนดีนะ ไม่งั้นผู้หญิงตอนสัมภาษณ์ต้องเรียกแทนตัวเองว่าอะไรดี - เรียกชื่อตัวเอง ก็ไม่ทางการพอๆ กับคำว่าเรา เรียกตัวเองว่าหนู ก็ดูตัวเล็กตัวน้อยไป ดิฉัน ก็ทางการไป
คิดว่าคำว่าเราเนี่ยเหมาะๆ ดีเลย

Anuchit Toomaneejinda
April 17 at 11:03 AM ·
วันนี้ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์เพื่อรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สิ่งที่น่าสนใจของวันนี้ คือ การที่มีนักศึกษาผู้หญิงคนหนึ่งเลือกที่จะใช้คำว่า 'เรา' แทนตัวเองทุกครั้งเมื่อต้องการพูดคุยกับกรรมการสอบซึ่งก็มีผมเป็นหนึ่งในนั้น เด็กคนนี้อยากเข้าเรียนสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ เพราะตัวเองชอบภาษาอังกฤษและการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยเฉพาะประเด็นทางด้านสิทธิสตรี
ตอนที่ผมได้ยินการใช้สรรพนาม 'เรา' ในครั้งแรก ผมก็รู้สึกอยู่นิดนึงว่าทำไมนักศึกษาถึงเลือกที่จะใช้คำนี้กับกรรมการสอบซึ่งเป็นผู้ใหญ่มากกว่า เพราะการใช้คำ ๆ นี้ มันจะมีแนวโน้มที่ตัวผู้พูดน่าจะคิดว่าตัวเองมีอำนาจหรือมีอายุเท่ากับหรือสูงกว่าผู้ฟัง แต่นี่คือการสัมภาษณ์ที่กรรมการสอบมีอำนาจมากกว่า และที่เห็นชัด ๆ คือแก่กว่านักศึกษาแน่ ๆ
สัมภาษณ์เสร็จ ผมก็มานั่งหาคำตอบ.... และสิ่งที่คิดได้ คือ จากการพูดคุยกับนักศึกษา นักศึกษาน่าจะอยู่ในกลุ่ม LGBTQ ผมก็เลยต้องกลับมาถามตัวเองว่า "ถ้าไม่ให้เค้าใช้คำว่า 'เรา' แล้วจะให้เค้าใช้คำว่าอะไร จะให้เค้าใช้คำว่า 'ผม' หรอ หรือจะให้เค้าใช้คำว่า 'หนู' รึไง"
สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ คือ การเป็นมนุษย์ที่อยู่ในสังคมที่ระดับชั้นและโครงสร้างทางสังคมมีความเข้มข้นอย่างสังคมไทย บางครั้งมันก็ทำให้เรายึดติดอยู่กับขนบเดิม ๆ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์และสังคมมนุษย์มีความซับซ้อนมากกว่านั้นเยอะ และมีอะไรที่สำคัญไปกว่ามิติเรื่องอำนาจของคนในสังคม
การใช้ 'เรา' ของเด็กคนนี้ในวันนี้ มันทำให้ผมรู้สึกว่าผมอยากเขียนเรื่องนี้ เพราะอยากจะบอกให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจว่า การใช้คำว่า 'เรา' ของเด็ก ๆ ในปัจจุบันที่สังคมมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นนั้น เด็กไม่ได้มีเจตนาที่จะก้าวร้าวหรือ 'ตีตน' เสมอผู้ใหญ่ หากแต่คำว่า 'เรา' ที่เด็กเลือกใช้นั้นมันคือคำกลาง ๆ ที่จะช่วยให้เค้าสะดวกใจและมั่นใจมากขึ้นในการแสดงตัวตนและในการสื่อสารความคิดของตัวเอง
สิ่งนี้คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง 'พลวัต' ของภาษาที่ยังมีชีวิตหรือยังมีการใช้งานอยู่ ซึ่งภาษาต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและตอบโจทย์การใช้งานของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ... ดังนั้นไอ้สิ่งที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจึงไม่ได้เรียกว่า 'ภาษา' แต่เราเรียกสิ่งนั้นว่า '(ซาก)ไดโนเสาร์'
#เมื่อความเป็นมนุษย์สำคัญไม่น้อยกว่าความอาวุโส
#ภาษาสะท้อนสังคมและสังคมสะท้อนภาษา
#เพราะภาษาคือเครื่องมือในการสื่อสาร