วันจันทร์, เมษายน 04, 2565

จริงหรือไม่ "ปูตินเดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง" ไม่จริง ! นักเศรษฐศาสตร์ไทยว่า

ผุ้ประท้วงในซานฟราซิสโก สหรัฐอเมริกา ถือป้ายประณามประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เมื่อ 6 มี.ค. หลังเขาส่งกองทัพรุกรานยูเครนเมื่อ 24 ก.พ. 2022

รัสเซีย : พิสูจน์วาทกรรม "ปูตินเดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง" ผ่านนักเศรษฐศาสตร์ไทย

ปณิศา เอมโอชา
นักศึกษาปริญญาโท Chevening Scholarship
3 เมษายน 2022บีบีซีไทย

เข้าเดือนที่ 2 ของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย โลกโซเชียลและสื่อไทยจำนวนหนึ่งเลือกเสนอเนื้อหาที่ออกแนวเห็นอกเห็นใจชาติผู้รุกราน บางส่วนเลือกเบนความสนใจสังคมเข้าสู่ประเด็นเชื่อมโยงเศรษฐกิจของรัสเซียกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9

ประโยค "ปูตินเดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง" กลับมาโลดแล่นบนโซเชียลมีเดียอีกครั้ง

บีบีซีไทยพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและรวบรวมข้อมูลมาพิสูจน์ว่าคำกล่าวอ้างข้างต้นเป็นความจริงหรือไม่




เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร

มูลนิธิชัยพัฒนาให้คำจำกัดความ "เศรษฐกิจพอเพียง" ว่าเป็นปรัชญาในการใช้ชีวิตของผู้คนในทุกระดับตั้งแต่ประชาชนไปจนถึงรัฐบาล โดยเน้นให้ประเทศดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ พร้อมระบุ 2 เงื่อนไขสำคัญในการดำเนินกิจการต่าง ๆ คือต้องมีความรู้และคุณธรรม

อย่างไรก็ดี คำอธิบายดังกล่าวไม่ได้ให้หลักทฤษฎีอย่างชัดเจนว่าแท้จริงแล้วถ้าประเทศจะดำเนินรอยตามเศรษฐกิจพอเพียง ต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบใด

ผศ.ดร.ธร ปิติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เมื่อมองปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยสายตาของนักเศรษฐศาสตร์อาจยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่ามีลักษณะเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากเนื้อหายังสามารถตีความได้ลื่นไหลและกว้างขวางไปตามผู้ที่สนับสนุน ทำให้ยากที่จะ "พิสูจน์ว่าถูกหรือผิดได้"


ผศ.ดร.ธร ปิติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อย่างไรก็ดี แนวทางที่มักจะพบในการเชื่อมโยงหลักการดังกล่าวเข้ากับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ ตามการวิเคราะห์ของ ผศ.ดร.ธร คือประเด็นการกระจายความเสี่ยง และการพึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะในฝั่งของภาคเกษตรกรรมที่มีการพูดถึงอย่างมากในสังคมไทย และมีความพยายามสาธิตแนวทางอย่างเป็นรูปธรรม


แต่เมื่อพิจารณาจากหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นมุมมองไปที่ระดับปัจเจกบุคคล ครัวเรือน หรือชุมชน ให้ใช้แนวทางพึ่งพาตนเองหรือพัฒนาตนเองนั้น ก็อาจมองได้อีกทางว่ามีหลายประเด็นที่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร อาทิ การมุ่งแก้ไขโครงสร้างแวดล้อมที่นำมาสู่ปัญหาของเกษตรกร รวมไปถึงบทบาทของรัฐในการเข้าแทรกแซงเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาค ซึ่งเมื่อนำมาปรับใช้จริงก็อาจทำให้เกิดปัญหาจากการละเลยสภาพความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วของคนในแต่ละชนชั้นได้

"แนวคิดแบบที่เน้นให้เกิดการพัฒนาจากการพึ่งพาตนเองนี้ ในบริบทสากลก็ถูกวิพากษ์อยู่บ่อยครั้งว่าเหมือนกับปล่อยให้คนจนที่ต้องแบกภาระหนักอึ้งอยู่แล้ว ต้องพยายามหาทางปีนขึ้นจากปัญหาที่มากมายด้วยตนเอง" ผศ.ดร.ธร กล่าว

อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. ยกตัวอย่างว่า จากที่เคยได้พูดคุยกับเกษตรกรที่เคยทดลองนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ พบว่าอุปสรรคสำคัญที่หลายคนเผชิญคือต้นทุนที่สูงขึ้นจากการกระจายความเสี่ยง เช่น การเปลี่ยนจากการเพาะปลูกพืชชนิดเดียวในพื้นที่เป็นการทำเกษตรหลายชนิดในพื้นที่เดียว ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เพราะผลิตจำนวนน้อย นอกจากนี้การจะกระจายความเสี่ยงที่ดี ยังต้องอาศัยการมีทรัพยากรที่ค่อนข้างพร้อมในการเริ่มต้นการจัดการ ในขณะที่เกษตรกรไทยจำนวนมากยังติดปัญหาเรื่องการไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินทำกินและหนี้สิน

ในบทความจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า จากจำนวนครัวเรือนเกษตรกรไทยทั้งสิ้น 5 ล้านครัวเรือน เมื่อปี 2561 มากถึง 40% ยังไม่มีกรรมสิทธิสมบูรณ์ในที่ดินทำกินของตัวเอง

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ธร ชี้ว่า "ในพื้นฐานที่สุด แนวคิดนี้มันถูกตีความไปได้กว้างและหลากหลายมาก ไม่ว่าเราจะมีข้อวิจารณ์ทางไหน มันก็สามารถตีความไปอีกทางได้อยู่ดี เพื่อให้ก้าวข้ามข้อวิจารณ์นั้น เราสามารถตั้งข้อสังเกตได้เช่นกันว่า ถ้าจะตีความให้ลื่นไหลได้มาก ก็อาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์เท่าไรนักที่จะถกเถียงเรื่องความถูกผิดของแนวคิดนี้"

ด้าน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นสำนักคิดเศรษฐศาสตร์เหมือนอย่างของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (Keynesian Economics) แต่เป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิตมากกว่า อาจใกล้เคียงพุทธเศรษฐศาสตร์อันเป็นแนวคิดเศรษฐศาสตร์ทางเลือกแต่ยังต้องมีพัฒนาองค์ความรู้ต่อเนื่อง รัฐไทยพยายามขยายผลสิ่งที่เป็นแนวพระราชดำริของ ในหลวง ร. 9 อย่างต่อเนื่อง ความจริงแนวนี้ก็สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนของสหประชาชาติ

อาจารย์เศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยรังสิตมองว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ตั้งอยู่บนรากฐานของศาสนาพุทธ เน้นไปที่ความสมดุล ความพอดี ความพอเพียงในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่


วิดีโอของ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊กของสถาบันทิศทางไทยเมื่อ 1 ก.ค. 2563

จริงหรือไม่ที่รัสเซียใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

รศ.ดร.อนุสรณ์ อธิบายว่า แท้จริงแล้วเศรษฐกิจพอเพียงหรือ sufficiency economy ไม่เท่ากับเศรษฐกิจแบบยังชีพด้วยตัวเองหรือ self-sufficient economy ซึ่งมักเกิดขึ้นในหลายประเทศอยู่แล้วก่อนที่จะมีการเปิดประเทศ สำหรับประเทศไทยคือในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนที่จะมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงระหว่างสยามกับอังกฤษ

เมื่อหันไปมองที่รัสเซีย รศ.ดร.อนุสรณ์ ย้ำว่า "ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงแน่นอน" เป็นการกล่าวอ้าง แต่ไม่ได้ดำเนินตามกรอบคิดนี้ในการบริหารประเทศ สร้างภาพว่า มีชีวิตเรียบง่ายสมถะ แต่ความจริงตรงกันข้าม

เขาอธิบายด้วยว่าเริ่มแรกในสมัยสหภาพโซเวียต ประเทศนี้มีระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลางหรือ centrally planned economy ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจแบบตลาดหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองสมัยนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ เป็นประธานาธิบดีปี 1990-1991

การปฏิรูปไม่ประสบความสำเร็จ เพราะระบบเศรษฐกิจแบบตลาดต้องมีการแข่งขันต้องปรับโครงสร้างตลาดด้วยการเปลี่ยนการผูกขาดโดยรัฐมาเป็นการแข่งขันเสรีในระบบตลาด ต้องมีความเข้มแข็งของสถาบัน กฎระเบียบ วัฒนธรรมที่เกื้อกูลต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจแบบเสรี สถานการณ์ที่แท้จริงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตหลังยุคกอร์บาชอฟ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคนายบอริส เยลต์ซิน มาจนถึง ระบอบปูติน ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

อำนาจเศรษฐกิจผูกขาดโดยพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต เคลื่อนย้ายมาอยู่ที่นักธุรกิจที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ ที่เรียกว่า โอลิการ์ก (oligarchs) หรือ กลุ่มคณาธิปไตย หลายคนเป็นคนวงในของอดีตรัฐบาลโซเวียต ส่วนใหญ่ร่ำรวยจากโครงการของรัฐ โดยเฉพาะสัมปทานโครงการพลังงานต่าง ๆ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำรุนแรง พร้อมการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองและยังมีการทุจริตในหมู่นักธุรกิจระดับสูงและกลุ่มผู้นำทางการเมือง

รศ.ดร.อนุสรณ์ วิเคราะห์ว่า โดยเนื้อแท้ของปูตินนั้นเป็นเผด็จการ ซึ่ง "ประชาธิปไตยเป็นแบบเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ เผด็จการจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ ไม่ได้อยู่ที่ระบอบการปกครอง แต่อยู่ที่การบริหารแบบสมดุลและพอประมาณหรือไม่"

เขาเสริมว่าา หากเป็นทุนนิยมสุดโต่งมากก็ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การเมืองแบบเผด็จการหรือประชาธิปไตย

"อย่างเกาหลีเหนือเหมือนเศรษฐกิจพอเพียงเลยนะ แต่ไม่ใช่ เพราะประชาชนพอเพียงและอดอยาก คุณภาพชีวิตต่ำมาก ผู้นำไม่พอเพียง มีความโลภทั้งอำนาจและทรัพย์สิน และ เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ เป็นระบอบการปกครองแบบสืบสายโลหิต ตั้งแต่รุ่นปูและเป็นเผด็จการมาตลอด ปูตินดีกว่าเกาหลีเหนือเพราะเปิดประเทศและบริหารเศรษฐกิจดีกว่า รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตได้ดีกว่าเกาหลีเหนือ แต่กำลังทรุดตัวลงอย่างแรงจากการทำสงครามรุนแรงยูเครน" รศ.ดร.อนุสรณ์ อธิบาย


รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

หากหันไปมองข้อมูลดิบสะท้อนสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันของรัสเซียก็จะพบว่าแม้จะมีความพยายามเปลี่ยนผ่านมาเป็นตลาดเสรีมากขึ้น แต่รัสเซียไม่ได้บังคับใช้นโยบายทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อความเสรีของฝั่งทุนนิยม หรือมีคุณธรรมตามฝั่งเศรษฐกิจพอเพียงแต่อย่างใด

รายงานดัชนีความเสรีทางเศรษฐกิจประจำปี 2022 ของ Heritage Foundation จัดให้รัสเซียอยู่ในอันดับที่ 113 จากทั้งหมด 177 ประเทศ ด้วยคะแนนรวมผ่านครึ่งมาเพียงนิดเดียว หรืออยู่ที่ 56.1/100 คะแนน

เมื่อเจาะลงไปดูคะแนนย่อยจะพบว่า รัสเซียพบปัญหาอย่างหนักด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้คะแนนเพียง 36.8 ในเรื่องสิทธิของเอกชนในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ความมีประสิทธิภาพของระบบศาลและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอยู่แค่เพียง 34.7 และ 29.7 คะแนน ตามลำดับ

ในฝั่งความเปิดกว้างของตลาด รัสเซียได้คะแนนเรื่องความเสรีทางการค้าที่ 69 คะแนน ส่วนคะแนนด้านความเสรีทางการลงทุนและการเงินอยู่ที่เพียง 30 คะแนน เท่ากัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้คะแนนโดยรวมในดัชนีเดียวกันของไทยห่างกับรัสเซียอยู่ประมาณหนึ่ง โดยไทยได้คะแนนรวมที่ 63.2 คะแนน ส่งผลให้อยู่ในอันดับที่ 70 จากทั่วโลก ทว่าในฝั่งการบังคับใช้กฎหมายกลับมีคะแนนน้อยไม่ต่างกันมากนัก ตัวเลขเรื่องสิทธิทางทรัพย์สินของไทยอยู่ที่ 44.2 คะแนน ขณะที่ประสิทธิภาพทางศาลและความน่าเชื่อมั่นของรัฐบาลอยู่ที่เพียง 36.2 และ 38.5 คะแนนเท่านั้น ตามลำดับ


ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียตกลง ขณะที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น หลังถูกคว่ำบาตรในหลายด้าน

ย้อนเส้นทางเศรษฐกิจรัสเซียหลังโซเวียตล่มสลาย

รัสเซียที่สังคมรู้จักกันทุกวันนี้ถือกำเนิดขึ้นจากซากการล่มสลายของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต หรือ สหภาพโซเวียต ในปี 1991

หลัง มิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตออกมาตั้งโต๊ะแถลงครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยสภาพ "อ่อนเพลียอย่างมาก" ตามคำบอกเล่าของผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเอพี อลัน คูเปอร์แมน สหภาพโซเวียตที่เคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจลำดับที่ 3 ของโลกในปี 1990 เป็นรองเพียงสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ตามข้อมูลจากธนาคารโลก แตกระแหงทันทีออกเป็น 15 ประเทศอิสระ

ในบทความปี 2015 ของ ซีเมียน เจนคอฟ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบัลแกเรีย ทั้งยังเป็นนักวิชาการผู้มาเยือนของสถาบันเพื่อการศึกษาเศรษฐกิจนานาชาติปีเตอร์สัน เขาให้คำจำกัดความช่วงแรกของเศรษฐกิจรัสเซียหลังพยายามเปลี่ยนผ่านจากระบอบคอมมิวนิสต์มาเป็นเศรษฐกิจตลาดว่าเป็น "ทุนนิยมแบบพวกพ้อง" หรือ crony capitalism ซึ่งหมายถึงสังคมทุนนิยมที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของนักธุรกิจและรัฐ

ทั้งนี้ตั้งแต่ วลาดิเมียร์ ปูติน เข้ามายึดเก้าอี้ผู้นำประเทศ เจนคอฟชี้ว่ารูปแบบการบริหารประเทศในเชิงเศรษฐกิจเปลี่ยนมาเป็น "รัฐทุนนิยม" หรือ state capitalism แทน โดยบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกแม็คเคนซี่ให้คำอธิบายว่าเป็นระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าเพื่อให้ตลาดเกิดความมั่งคั่งสูงสุด

ในบทความของเจนคอฟ เขาแบ่งเศรษฐกิจรัสเซียออกเป็น 5 ช่วง คือระหว่างปี 1990-94, 1995-99, 2000-04, 2005-09 และ 2010-14 และสิ่งที่น่าสนใจคือนโยบายเศรษฐกิจในแต่ละช่วง

ในช่วงต้นที่รัสเซียพยายามเปลี่ยนผ่านมาเป็นเศรษฐกิจตลาดผ่านการขายสินทรัพย์ของรัฐเข้าสู่มือเอกชนนั้น ความหวาดกลัวว่าทรัพย์สินเหล่านี้จะตกไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติทำให้การโอนกิจการของรัฐไปเป็นของเอกชนแม้จะประสบความสำเร็จแต่ก็ต้องใช้เงินสูง และไม่ได้กำไรอย่างที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับการปล่อยให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงสนามประมูลราคาด้วย

ต่อมาเมื่อเข้าสู่ปี 1995 รัฐบาลรัสเซียออกมาตรการที่ชื่อว่า "เงินกู้แลกหุ้น" หรือ loans-for-share ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านความเป็นเจ้าของจากรัฐสู่เอกชน โดยเอกชนได้จำนวนหุ้นความเป็นเจ้าของไป ส่วนรัฐบาลได้เงินกู้มาใช้จ่าย นโยบายนี้เองที่นำไปสู่จุดเริ่มต้นของกลุ่มสถาบันทางการเงินรัสเซีนที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาล อาทิ อาณาจักรทางธุรกิจของ โอลิการ์ก หรืออภิมหาเศรษฐีผู้ล่วงลับบอริส เบเรซอฟสกี, เจ้าพ่อสื่อรัสเซียวลาดิเมียร์ กุซินสกี และประธานบริหารบริษัทอินเทอรอสที่มีทั้งธุริจเหมือง พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์อยู่ในมืออย่าง วลาดิเมียร์ โพทานิน

5 สาเหตุที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย
ใครเป็นใครในวอร์รูมของปูติน
ใครเป็นใครในมหาเศรษฐีรัสเซียที่ตกเป็นเป้าการคว่ำบาตร

ในช่วงครึ่งทศวรรษแรก จีดีพีของรัสเซียติดลบเฉลี่ยมากกว่า 8% ต่อปี ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย มาติดลบที่ราว 1% ต่อปี ในช่วงครึ่งทศวรรษหลัง

รัสเซียเข้าสู่ยุคทองด้วยตัวเลขจีดีพีต่อปีเติบโตมากกว่า 7% ระหว่างปี 2000-04 ซึ่งมาพร้อมกับการขึ้นสู่อำนาจของปูติน โดยเจนคอฟอธิบายว่า ในช่วงสองสมัยแรกของการนั่งเก้าอี้ผู้นำ (1999-2008) ปูตินปฏิรูปตลาดให้มีความเสรีมากขึ้น เช่น มีการปรับลดภาษีเงินได้ให้มาอยู่ที่อัตราคงที่ 13% ทั้งยังมีการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับใหม่ ๆ เกี่ยวกับที่ดินเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี นั่นไม่ได้หมายความว่าปูตินเข้าไปแตะเรื่องโครงสร้างความไม่เท่าเทียม และกลุ่มโอลิการ์กใหม่ ๆ อันรวมไปถึง โรมัน อับราโมวิช เจ้าของสโมสรฟุตบอลเซลชี ก็ได้เติบโตขึ้นภายใต้รัสเซียที่มีปูตินเป็นผู้นำ

แม้จะพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นแบบตลาดมากแค่ไหน แต่ก็ดูเหมือนความพยายามของรัสเซียจะไม่ถึงไหนอยู่ดี ในความเป็นจริง เจนคอฟชี้ว่า ณ กลางปี 2015 มากถึง 55% ของเศรษฐกิจรัสเซียอยู่ในมือของรัฐบาล และคนงานกว่า 20 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 28% ของแรงงานทั้งประเทศเป็นลูกจ้างของรัฐบาล


ประธานาธิบดีปูติน และ นายโรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีที่ได้ชื่อว่าใกล้ชิดกับนายปูติน

เศรษฐกิจรัสเซียในปัจจุบัน

แหล่งรายได้ของรัสเซียตามข้อมูลจากธนาคารโลกแบ่งออกได้เป็น 3 ช่องทางหลัก คือ ภาคเกษตรกรรมที่ดินส่วนแบ่งราว 3.7% ของจีดีพีรวม ตามมาด้วยภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เป็นแหล่งรายได้ถึง 30% และ 56.3% ของจีดีพีรวม ตามลำดับ

ฝั่งเกษตรกรรมของรัสเซียแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือฝั่งผู้ผลิตเพื่อการค้ารายใหญ่ และกลุ่มเกษตรกรรายเล็กที่ทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ แม้รัสเซียส่งออกธัญพืชเป็นจำนวนมาก ทว่าเมื่อคำนวณโดยรวมแล้วรัสเซียก็ยังนำเข้าสินค้าเกษตรมากกว่าตัวเลขส่งออกอยู่ดี

ด้านอุตสาหกรรมของรัสเซียทรงตัวในระดับ 30% ของจีดีพีมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ประกอบไปด้วยเหมืองแร่ การผลิตสินค้า ก่อสร้าง ไฟฟ้า รวมไปถึงพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมัน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจรัสเซียอย่างมาก

ภาคบริการนับเป็นตัวขับเครื่องเศรษฐกิจรัสเซียอย่างมาก กว่า 67% ของประชากรรัสเซียประกอบอาชีพในสายงานนี้ ซึ่งแบ่งเป็นภาคส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ โรงแรมและการจัดเลี้ยง ธุรกิจก่อสร้าง รวมไปถึงฝั่งวัฒนธรรม บังเทิง และการค้า

ในรายงานประเมินเศรษฐกิจรัสเซียจากธนาคารโลกที่ตีพิมพ์เมื่อปลายปีที่ผ่านมาก่อนจะมีสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะโตราว 2.4% ในปีนี้ ก่อนจะขยายตัวช้าลงไปอยู่ที่ราว 1.8% ในปี 2023 จากระบบการกระจายวัคซีนที่ยังล่าช้าอยู่

ขณะเดียวกัน เมื่อมองออกไปในอนาคต ธนาคารโลกระบุว่ารัสเซียมีความเสี่ยงต่อสภาพเศรษฐกิจเติบโตได้น้อยเนื่องจากสภาพตลาดที่ต้องได้รับการพัฒนาให้สามารถแข่งขันรวมถึงเอื้อต่อนวัตกรรมได้ดีขึ้นกว่านี้ รัสเซียยังเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านเศรษฐกิจแบบยั่งยืน อาทิเรื่องแผนพัฒนาการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อย่างไรก็ดีภายหลังจากวิกฤตสงครามและการบุกยูเครน สถาบันการเงินระดับโลกต่างออกมาประกาศคาดการณ์จีดีพีรัสเซียหดตัวอย่างต่อเนื่อง โกลด์แมน แซคส์ ประกาศลดคาดการณ์จีดีพีรัสเซียจากเดิมที่โต 2% ลงมาติดลบ 7% ขณะที่เอสแอนด์พีโกลบอล ปรับคาดการณ์ลงมาติดลบ 8.5%