วันอังคาร, พฤษภาคม 05, 2563

อ่านแล้วจะอึ้ง 😱 "สฤณี อาชวานันทกุล" เผยทำไมเงินประกันสังคมได้ยากเย็นนัก




ปัญหาที่สังคมให้ความสนใจในช่วงนี้ คือความล่าช้า (เป็นเดือนๆ) ของการเบิกเงินกรณีว่างงานของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่มีคนไปขอใช้สิทธิจำนวนมากเป็นประวัติการณ์

ความเดือดดาลที่เข้าใจได้ของคนเดือดร้อน ส่งผลให้บางคนถึงขนาดออกมาขู่ฆ่า จนท.สปส. เพราะมองว่า จนท. นิ่งดูดายต่อปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ตกงาน

มีเจ้าหน้าที่รัฐหลังไมค์มา อยากให้ข้อมูลตามนี้นะคะ —

เรื่องความล่าช้าในการรับแจ้ง วินิจฉัย อนุมัติกรณีว่างงานครั้งนี้ ต้องขอเรียนว่า จนท. สปส. หลายพันคนถูกเกณฑ์ทำงานกันอย่างเต็มที่ และมูลเหตุของปัญหานี้หลักๆ ไม่ได้อยู่ที่ จนท. แต่เป็นเพราะ ความผิดปกติของระบบ IT ที่ สปส. ใช้ระบบเดิมมาอย่างยาวนานถึง 20 ปี

ระบบ IT ที่ใช้กับผู้ประกันตนในกรณีว่างงานครั้งนี้ (และใช้ทั่วไปเกี่ยวกับ ม.33 และ 39) ชื่อ SAPIENS เป็นระบบที่ สปส. ได้ว่าจ้างให้พัฒนาขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ. 2000 และที่ปรึกษาด้าน IT ของ สปส. ในขณะนั้น บอกว่าระบบนี้จะทันสมัยอยู่แค่ 3-5 ปีเท่านั้น วันนี้เวลาผ่านมาอีกสิบกว่าปี ดังนั้นคำถามคือ ทำไมทุกวันนี้ สปส. ยังใช้ระบบนี้อยู่ และทำไมถึงได้ยอมเสียค่าบำรุงรักษาปีละมหาศาล กับระบบที่ล้าสมัยสุดขีด ทำไมไม่ซื้อระบบใหม่มาใช้แทน

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สปส. มีการตั้งงบประมาณอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อพัฒนาระบบ SAPIENS เป็นระบบอื่น เช่น Web Application (จริงๆ น่าจะมากกว่า 3 ครั้ง แต่อะไรที่เกี่ยวกับ IT จะเป็นความลับระดับคอขาดบาดตายใน สปส.) โดยครั้งหนึ่ง เคยตั้งวงเงินสูงถึงกว่า 2 พันล้านบาท และได้ดำเนินการไปจนมีการตรวจรับแล้วเสร็จ แต่ทว่าทุกวันนี้ก็ไม่มีระบบใหม่มาทดแทนระบบ SAPIENS อย่างเต็มรูปแบบ และกรณีว่างงานครั้งนี้ก็ยังใช้งานระบบ SAPIENS อยู่เช่นกัน

เรื่องจ่ายเงิน 2 พันกว่าล้านแล้วไม่รู้ว่าได้อะไรกลับมานี้ ได้ยินมานานแล้วว่า เรื่องอยู่ที่ ปปช. แล้ว แต่จนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่เห็นมีผลการตัดสินอะไรออกมา ก่อนหน้านี้หลายคนก็คุยกันเล่นๆ ว่า ถ้าเกิดวิกฤติหนักๆ ขึ้นมา ระบบนี้จะรองรับไหวได้อย่างไร ในที่สุดก็มาเกิดเหตุการณ์ไวรัส COVID19 ขึ้น

ในกระบวนการใช้ระบบ SAPIENS กับการรับแจ้ง วินิจฉัย และอนุมัติเงินทดแทนกรณีว่างงานในครั้งนี้นั้น จนท.สปส. จะต้องนำข้อมูลลงทะเบียนของผู้ว่างงานแต่ละคน ที่เป็นข้อมูล Digital อยู่แล้ว ปรินท์ออกมาเป็นกระดาษ ปรินท์กันเป็นร้อยๆ รีม จนเครื่องปรินท์พังแล้วพังอีก แล้วก็เอาข้อมูลในกระดาษเหล่านั้น มาให้ จนท. พิมพ์มือใส่เข้าไปใหม่ใน SAPIENS โดยต้องพิมพ์ข้อมูลเข้าไปทีละคน ทั้งที่อยู่ เบอร์โทร บัญชีธนาคาร ฯลฯ แบบ manual สุดขีด

จากนั้น จนท. ต้องเข้าไปดูอีกหน้าหนึ่งของ SAPIENS ว่า นายจ้างมีการรับรองมาแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่รับรอง ก็ทำต่อไม่ได้ (บางกรณีรับรองแล้วแต่ระบบยังไม่อัพเดทก็มี ต้องมาเช็คอีกครั้งวันรุ่งขึ้น ทำให้ช้าไปอีก) ถ้ารับรองแล้ว จนท. ต้องกดยืนยันและบันทึกการรับรองนั้นในระบบอีกครั้ง แล้วถึงจะเข้าไปดูการเกิดสิทธิได้ ว่ามีเงินสมทบ 6 ใน 15 เดือนหรือไม่ วิธีดู 6/15 คือ จนท. ต้องกดเข้าไปในหน้าแสดงเงินเดือน แล้วใช้ตาดู แล้วนับนิ้วเอาว่า ประสบเหตุเดือนไหน แล้วถ้านับถอยหลังไป 15 เดือน จะเริ่มนับที่เดือนอะไรปีไหน และดูด้วยตาอีกครั้งว่ามีเงินสมทบครบ 6 เดือนหรือเปล่า

ต่อมา ในการคำนวนเงินทดแทนกรณีว่างงาน จนท. ต้องดูในหน้าเงินสมทบใน SAPIENS เหมือนเดิม แล้วดูด้วยตาอีกครั้งว่า 3 เดือนไหนมีเงินเยอะสุด ดูเสร็จแล้ว ถ้าตัวเลขซับซ้อน ไม่เหมือนกัน 3 เดือน เช่น เดือนนึง 9,826 บาท อีกเดือน 6,378 บาท อีกเดือนนึง 11,720 บาท สมอง จนท. จำไม่ไหว ก็ต้องจดลงกระดาษ แล้วค่อยเอาเลขที่จดนั้นมากรอกลงใน SAPIENS อีกหน้าหนึ่งด้วยมืออีกครั้ง

ในกระบวนการ digital to manual แบบสุดยอด manual เหล่านี้ ต้องยอมรับว่ามีโอกาสเกิดความผิดพลาดของมนุษย์หรือ human error แน่นอน

นอกจากนี้ จนท.รับแจ้ง (ที่ถูกเกณฑ์มาเฉพาะกิจ) กับ จนท.วินิจฉัยอนุมัติ ก็เป็นคนละคนกัน เพราะเป็นเรื่องเงิน จึงต้องละเอียดอ่อน และต้องใช้คนมีประสบการณ์ในการวินิจฉัยอนุมัติ ทำให้ จนท.วินิจฉัยอนุมัติ ต้องมาตรวจอีกว่า จนท.รับแจ้ง กรอกข้อมูลถูกหรือไม่ แถมบางครั้งก็มีความซ้ำซ้อน เพราะ จนท. ไม่รู้ว่าข้อมูลกระดาษที่ตัวเองได้มา มี จนท. จากหน่วยอื่นเอาไปทำแล้วหรือยัง เหล่านี้ก็ทำให้ยิ่งล่าช้าเข้าไปอีก

นี่ยังไม่รวมถึง คำสั่งควบคุมของ SAPIENS ที่มีลักษณะไม่เหมือนกับคำสั่งของโปรแกรมสมัยใหม่ คือ มีหน้าจอเหมือน DOS และต้องกดปุ่ม F1-F12 ร่วมกับปุ่มอื่นๆ ในการสั่งการ อีกทั้ง การที่ จนท. นับพันคนใช้ระบบพร้อมกัน ทำให้ระบบช้า อืด บางทีก็ค้าง กดทีนึงแล้วต้องรอไป 3-10 วินาที หรือบางทีก็เจ๊งไปเลยครึ่งวัน เข้าไปทำงานไม่ได้ ที่ช้าอยู่แล้ว ก็ยิ่งช้าเข้าไปอีก

เชื่อว่าประชาชนคงจะงง และสงสัยว่านี่มันยุคสมัยไหนแล้ว เรื่องพวกนี้ทำไมทำให้มันอัตโนมัติไปเลยไม่ได้ ข้อมูลที่เป็น Digital แล้ว ทำไมต้องมากรอกมือใส่เข้าไปใหม่อีก ซึ่งขอบอกว่า จนท.สปส. ทุกคนเองก็งง และสงสัยไม่ต่างกัน แต่เขาสั่งมา และเงื่อนไขมันเป็นอย่างนี้ ทุกคนก็มีหน้าที่เดียว คือทำไปเงียบๆ (หลายคนไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของปัญหา SAPIENS นี่ด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่บอกว่า ลับระดับคอขาดบาดตาย คนข้างในก็ไม่ค่อยกล้าคุยกันเรื่องนี้)

สรุปได้ว่า ความล่าช้าในการดำเนินงานกรณีว่างงานในช่วง COVID19 นี้ จนท.สปส. ไม่ได้มีส่วนในการทำผิดเลย แต่เป็นผู้ที่ต้องมารับผิดชอบต่อความผิดที่ตนไม่ได้ก่อด้วยซ้ำ คือต้องถูกเกณฑ์ให้มาทำเรื่องรับแจ้ง วินิจฉัย และอนุมัติ ไปพร้อมๆ กับทำงานในหน้าที่หลักของแต่ละคน ซึ่งหลายคนถูกสั่งให้ทำงานนี้ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม อาทิตย์ละ 7 วัน คือทำเต็มที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยระบบ SAPIENS มันทำให้ทำได้เร็วที่สุดได้แค่นี้

ถ้าถามว่า แล้วใครที่ต้องรับผิดชอบในความล้มเหลวนี้ คิดว่าน่าจะเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ในโครงการพัฒนาระบบ IT ของ สปส. ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คนพวกนี้ต้องมาตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมเอาเงินในกองทุนประกันสังคมจ่ายออกไปแล้วเป็นพันๆ ล้าน ทำไมมีการตรวจรับเซ็นงานกันมาหมดแล้วทุกครั้ง แต่ทำไมทุกวันนี้ยังต้องใช้ SAPIENS อยู่ ทั้งๆ ที่มันล้าหลัง และเน้นใช้แรงงานคนขนาดนี้ (ถ้า สปส. มี IT ที่ดี เราจะไม่จำเป็นต้องจ้าง จนท. เยอะขนาดนี้) และในช่วงเวลาสำคัญอย่างนี้ ต้องมาทำให้ผู้ว่างงานจำนวนมากต้องมาเดือดร้อนไปด้วย ทั้งๆ ที่เขาก็จ่ายเงินสมทบให้เราทุกเดือน

ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงต้องช่วยกันกระทุ้งสื่อมวลชนให้สืบหาข้อเท็จจริง และส่งเสียงดังๆ ไปถึง สำนักงาน ป.ป.ช. ว่าเคยสอบสวนกรณี IT ใน สปส. หรือไม่ ถ้าทำ เรื่องไปถึงไหนแล้ว ทำไมถึงไม่มีความคืบหน้า


Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล

(https://www.facebook.com/148266578533520/posts/3654614297898713/)